เอสเอ็มเอส – อีการ์ด : บริการสุดฮิตช่วงปีใหม่ ’ 50

บริการสื่อสารที่พัฒนารูปแบบไปอย่างต่อเนื่องนั้นได้ส่งผลให้เกิดความสะดวกสบายในการติดต่อกันระหว่างบุคคลมากขึ้น ความรวดเร็วและความแม่นยำกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่บุคคลให้ความใส่ใจมากยิ่งขึ้น สำหรับในช่วงเทศกาลนั้น การสื่อสารนับว่ามีความสำคัญค่อนข้างมากและมีปริมาณการใช้สูงขึ้นมากกว่าในช่วงปกติ โดยเฉพาะการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทดแทนรูปแบบการสื่อสารแบบเดิม เช่น การส่งจดหมาย และการส่งการ์ดผ่านระบบไปรษณีย์ปกติได้ดี ทั้งนี้จะเห็นได้จากจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 37.8 ล้านเลขหมายในช่วงท้ายของปี 2549 หรือมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 58 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่บริการอินเทอร์เน็ตนั้นมีผู้ใช้ประมาณ 8 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 12.3 ของประชากรทั้งประเทศ

สำหรับการใช้บริการสื่อสารประเภทโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตในช่วงเทศกาลปีใหม่ของปี 2549 ต่อเนื่องในปี 2550 นั้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ปริมาณการใช้บริการในช่วงดังกล่าวดังนี้

โทรศัพท์เคลื่อนที่ : SMS ยอดพุ่ง 70 ล้านข้อความ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ การบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าในช่วงเวลาปกติค่อนข้างมาก โดยรูปแบบของบริการจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ บริการทางด้านเสียงหรือการโทรออก-รับสาย และบริการเสริม หรือบริการทางด้านอื่นๆ ที่นอกจากการโทรออกและรับสาย เช่น บริการส่งข้อความตัวอักษร (SMS) บริการส่งข้อความมัลติมีเดีย (MMS) บริการอินเทอร์เน็ต บริการซื้อสินค้า เป็นต้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) การใช้บริการทางด้านเสียง (voice service) หรือ บริการทางด้านเสียง (โทรออก-รับสาย) ส่วนใหญ่จะให้ในการกล่าวคำอวยพร สวัสดีปีใหม่ สำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลกันไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือญาติ หรือใช้สำหรับการติดต่อนัดหมายกันเพื่อไปร่วมงานเลี้ยงฉลอง การติดต่อสื่อสารกับระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวและการเดินทางกลับภูมิลำเนา เป็น ซึ่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะได้รับความนิยมสูงกว่าการใช้โทรศัพท์พื้นฐาน เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากนัก

2) บริการเสริม (value-added services) ซึ่งกำลังเป็นที่ได้รับความนิยมและมีปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนบริการที่คาดว่าจะได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ บริการส่งข้อความสั้น หรือ SMS (Short Message Service) รองลงมาเป็นบริการส่งข้อความมัลติมีเดีย หรือ MMS (Multimedia Message Service) ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ในปี 2549 ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า บริการส่งข้อความสั้นหรือเอสเอ็มเอสนั้นยังเป็นบริการที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยร้อยละ 82.9 ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยใช้บริการ ส่วนบริการที่ได้รับความนิยมรองลงมาได้แก่ บริการเสียงรอสาย ร้อยละ 53.7 บริการดาวน์โหดลริงโทน ร้อยละ 50.1 บริการดาวน์โหลดรูปภาพร้อยละ 41.3 บริการ และมีผู้ใช้บริการที่ส่งข้อความมัลติมีเดีย (MMS) ร้อยละ 21.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.5 ในปี 2548 นอกจากนี้บริการเสริมอื่นๆ ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ บริการดาวน์โหลดริงโทน ร้อยละ 50.1 ดาวน์โหลดรูปภาพ ร้อยละ 41.3 ในขณะที่การใช้บริการ WAP หรือ GPRS ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีการใช้งานถึงร้อยละ 26.1

ในช่วงปกติที่ผ่านมา การส่งข้อความสั้นมีปริมาณการส่งโดยเฉลี่ยประมาณวันละ 7-8 ล้านข้อความต่อวัน หรือ 210-240 ล้านข้อความต่อเดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25-30 จากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มีความคุ้นเคยกับบริการส่งข้อความสั้นมากขึ้นและมีการใช้กันอย่างกว้างขวาง สำหรับในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้น ผลการสำรวจพฤติกรรมการซื้อของขวัญของคนกรุงเทพในระหว่างวันที่ 1-12 ธันวาคม 2549 ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ร้อยละ 58 ของกลุ่มตัวอย่างนิยมส่งข้อความจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมในการสำรวจปี 2548 พบว่ามีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 46.6 จะส่งข้อความจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่ออวยพรปีใหม่ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2550 (31 ธันวาคม 2549 – 1 มกราคม 2550) จะมีผู้ใช้บริการส่งข้อความเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงปกติประมาณ 5 เท่า หรือรวมเป็นจำนวนประมาณ 70 ล้านข้อความ โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 20-29 ปี เป็นกลุ่มที่มีการใช้บริการส่งข้อความทางโทรศัพท์มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 45.7 รองลงมาเป็นกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 20 ปี มีสัดส่วนการส่งประมาณร้อยละ 41.7 เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีอายุสูงขึ้นไปนั้นความนิยมในการใช้บริการส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่จะน้อยกว่าในกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากความคุ้นเคยกับการส่งข้อความน้อยลและมักจะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อการสื่อสารทางด้านเสียงเพียงอย่างเดียว และนิยมที่จะส่งคำอวยพรปีใหม่โดยผ่านทางการ์ดหรือบัตรอวยพรทางไปรษณีย์มากกว่า

การส่งข้อความอวยพรทางโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น มีรูปแบบการส่งได้หลายรูปแบบ เช่น การส่งแบบข้อความสั้นหรือ เอสเอ็มเอส โดยผู้ส่งสามารถพิมพ์ข้อความด้วยตนเอง ส่งในลักษณะข้อความสำเร็จรูปที่มีให้บริการดาวน์โหลด (ค่าบริการข้อความละ 15-20 บาท) และส่งต่อให้กับผู้รับ การส่งข้อความรูปภาพ หรือ picture message การส่งข้อความมัลติมีเดียหรือเอ็มเอ็มเอส ซึ่งมีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ส่งอาจส่งเป็นข้อความที่คิดขึ้นเอง หรือสามารถดาวน์โหลดผ่านจากข้อความสำเร็จรูปที่มีให้บริการด้วย การส่งเพลงหรือเสียงอวยพร เป็นต้น ความหลากหลายของบริการอวยพรปีใหม่ในรูปแบบใหม่ๆ นั้นได้กลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้บริการเสริมของโทรศัพท์เคลื่อนที่การใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าบริการมีแนวโน้มลดลงด้วยเช่นกัน

บริการอินเทอร์เน็ต : อี-การ์ด บริการยอดนิยม การขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย โดยตัวเลขผู้ใช้บริการในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 8 ล้านราย หรือประมาณร้อยละ 12 .3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศจากการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของไทย โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พบว่า กิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้แก่ บริการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรือ อี-เมล์ โดยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึงร้อยละ 88.1 ใช้บริการรองลงมาเป็นการค้นหาข้อมูล ร้อยละ 88 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมใกล้เคียงกัน การอ่านหรือตอบเว็บบอร์ด ร้อยละ 72.9 การติดตามข่าวสารร้อยละ 70.9 การฟังเพลงออนไลน์ ร้อยละ 65 การหาความรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตร้อยละ 63.1 การสนทนาออนไลน์ร้อยละ 62.6

สำหรับในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้น จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มจำนวนเป็น 8 ล้านราย ในปี 2549 นั้น มีส่วนผลักดันให้ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นสื่อกลางในการส่งข้อความส่งความสุขขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เมล์ และ การ์ดอวยพรอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-การ์ด จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นกว่าปกติประมาณร้อยละ 30-40 และจากการสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เกี่ยวกับการส่งการ์ดอวยพรในช่วงปีใหม่ของปี 2550 พบว่า ร้อยละ 14.8 ของกลุ่มตัวอย่างจะใช้บริการส่งอี-การ์ดเพื่ออวยพรในวันปีใหม่กับผู้อื่น ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากการสำรวจในปีที่ผ่านมาซึ่งมีปริมาณเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น ส่วนกลุ่มที่นิยมส่งอี-การ์ดมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มอายุน้อยกว่า 20 ปี มีความต้องการใช้บริการส่งอี-การ์ดในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ร้อยละ 25 ส่วนกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 20-29 ปี มีสัดส่วนร้อยละ 10.9 กลุ่มอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 9 และกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 8.5

บริการ อี-การ์ด มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นทุกปีโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุน้อย เนื่องจากมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการติดต่อสื่อสารกันเป็นประจำ สามารถใช้ได้ที่บ้าน ที่โรงเรียนและที่อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ จุดเด่นของบริการ อี-การ์ด ก็คือ ประหยัดค่าใช้จ่าย รวดเร็วในการส่ง นอกจากนี้ยังมีสีสันสวยงาม รูปแบบมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งการ์ดธรรมดา การ์ดดนตรี และการ์ดที่เคลื่อนไหวได้ มีบริการให้เลือกทั้งที่เป็นบริการฟรี และบริการที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งส่วนมากบริการอี-การ์ดที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนั้นจะมีรูปแบบของการ์ดที่สวยงามและเทคนิคการสร้างที่ซับซ้อนให้เลือกใช้บริการมากกว่า นอกจากรูปการ์ดที่ให้บริการหลากหลายแล้ว บริการที่กำลังเป็นที่นิยมเช่น บริการเอ็มเอสเอ็ม หรือ บริการ MSN massagers (ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น วินโดวส์ ไลฟ์) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมาก ได้กลายเป็นช่องทางในการส่งการ์ดอวยพรได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น สามารถส่งได้เป็นกลุ่มในลักษณะเรียลไทม์ หรือตอบโต้กันได้ ส่งการ์ดให้ขณะที่ผู้เล่นอื่นยังสนทนาอยู่ได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถส่งไฟล์ขนาดใหญ่ ส่งภาพและเสียงได้ในเวลาเดียวกัน ส่งไฟล์เพลง ภาพยนตร์สั้นหรือคลิปวิดีโอ หรือเป็นโทรศัพท์ทางไกลได้ด้วย ทำให้บริการ MSN นั้นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น

นอกเหนือจากการส่งการ์ดอวยพรแล้ว ยังมีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตส่วนหนึ่งที่สั่งซื้อของขวัญและของกำนัลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งบริการดังกล่าวได้รับความนิยมมากในตลาดต่างประเทศและแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เมื่อมีร้านค้าออนไลน์และบริการการชำระเงินแบบออนไลน์ได้รับการยอมรับมากขึ้น การใช้บริการซื้อสินค้าออนไลน์ในประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.9 ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปี 2546 ร้อยละ 29.9 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 30.7 ในปี 2548 แม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนักแต่ก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มผู้ชายมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่าเพศหญิง และสินค้าที่ได้รับความนิยมมากคือ การสั่งจองสินค้าต่างๆ ร้อยละ 20 รองลงมาเป็น ภาพยนต์ ซอฟท์แวร์ และ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การใช้บริการส่งความสุขผ่านทางช่องทางโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตนั้นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นทุกปี และเป็นบริการที่สามารถใช้ร่วมกับช่องทางการสื่อสารทางด้านอื่นๆ เช่น บริการไปรษณีย์ การส่งการ์ดอวยพรแบบกระดาษ ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามแม้ว่าบริการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ นั้นได้พัฒนารูปแบบให้หลากหลายรูปแบบเพื่อตอบสนองตอบความต้องการของผู้ใช้งานได้มากขึ้น นอกจากนี้ในกลุ่มผู้ใช้เองก็มีความคุ้นเคยมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้ให้บริการก็ได้พัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังนำมาซึ่งภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องนำมาพิจารณาเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ที่เป็นอยู่และไม่เป็นภาระต่อตนเองมากจนเกินไป