แนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตปี 2550 รักษาระดับการเติบโตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ธุรกิจประกันชีวิตในปี 2549 ได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากปัจจัยการเมือง ราคาน้ำมัน และการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ จนส่งผลให้การเติบของธุรกิจชะลอตัวลงไปจากเป้าหมายเดิมค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามในปี 2550 หลายปัจจัยได้คลี่คลายลง แต่เนื่องจากธุรกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีก่อนหน้า ประกอบกับภาวะตลาดเริ่มอิ่มตัว จึงต้องหันมาเน้นประเภทธุรกิจหลัก คือ การขายความคุ้มครองแทนการเสนออัตราผลตอบแทน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อธุรกิจประกันรวมถึงแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ โดยสรุปดังนี้

การดำเนินงานในปี 2549

1. ผลการดำเนินงานเมื่อวัดจากเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมในปี 2549 คาดว่าจะเติบโตในอัตราชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปี 2548 เป็นประมาณไม่เกิน 5% ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งจากที่เติบโตประมาณ 10% ในปี 2548 โดยการเติบโตของธุรกิจ ยังคงถูกผลักดันด้วยฐานลูกค้าเดิมที่นำส่งเบี้ยประกันภัยปีต่อไปเป็นตัวนำ ด้วยอัตราเพิ่มประมาณ 10% จากปีที่แล้ว ขณะที่การขยายฐานลูกค้าใหม่ คาดว่าจำนวนเบี้ยประกันภัยรับน่าจะหดตัวลงประมาณ 8-10% จากปีที่แล้ว เทียบกับที่ขยายตัวประมาณ 3-4% ในปี 2548 ซึ่งเกิดจากการหดตัวของเบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียวประมาณ 35-40% แต่เบี้ยประกันภัยรับปีแรกยังคงเติบโตได้แต่ช้าลงเป็นประมาณ 3-4%

2. ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของธุรกิจในปี 2549 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย สภาพเศรษฐกิจที่ทรงตัว รวมกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 2-3 ไตรมาสแรกของปี นอกจากนี้ การแข่งขันปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ ยิ่งกดดันให้การขายประกันชีวิตทำได้ยากขึ้น เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจประกันชีวิตขยายตัวอย่างก้าวกระโดดได้ด้วยการเสนอจุดขายให้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงิน แต่ความได้เปรียบดังกล่าวได้หมดไปในปีนี้ เมื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งใหญ่และเล็ก ต่างแข่งขันเสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำพิเศษขึ้นไปสูงถึง 5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่บริษัทประกันใช้คำนวณเบี้ยประกันยังคงอยู่ที่ 3-4% เท่าเดิม

3. ผลิตภัณฑ์หรือรูปแบบกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ขายได้ในปีนี้ ต้องปรับเปลี่ยนจากกรมธรรม์ประเภทสะสมทรัพย์ ซึ่งมีค่าเบี้ยประกันแพง มาเป็นกรมธรรม์ประเภทเน้นความคุ้มครอง ซึ่งมีค่าเบี้ยประกันต่ำลงแทน ในจำนวนเงินเอาประกันที่เท่ากัน จึงส่งผลให้การเติบโตของธุรกิจใหม่ที่วัดจากเบี้ยประกันภัยรับ ชะลอตัวลง

4. อย่างไรก็ตามผลของการลดการแบ่งปันผลกำไรให้กับผู้ถือกรมธรรม์ลง นอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา ที่นำมาใช้ในการคำนวณเบี้ยประกัน จะถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ 3-4% ในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ ตามทิศทางดอกเบี้ยในระบบสถาบันการเงินซึ่งขณะนั้นอยู่ที่ประมาณ 1% แล้ว บริษัทประกันยังได้ปรับลดอัตราการจ่ายโบนัสเงินปันผล ให้สะท้อนดอกเบี้ยที่ต่ำลงด้วย แต่เมื่อทิศทางดอกเบี้ยในระบบสถาบันการเงินเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2548 บริษัทประกันชีวิตก็ยังไม่ได้ปรับอัตราผลตอบแทนดังกล่าวเพิ่มขึ้นตาม

แนวโน้มการดำเนินงานในปี 2550

สำหรับแนวโน้มในปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราการขยายตัวของธุรกิจเมื่อวัดจากเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม ก็น่าจะอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับปีนี้ คือขยายตัวไม่เกิน 5% ตามประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งแม้จะดูเหมือนมีการเติบโตน้อย แต่เนื่องจากฐานธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ จึงทำให้อัตราการขยายตัวเริ่มปรับตามปัจจัยการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้

1. ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้น ตามอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีหน้า ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าปีนี้ รวมถึงมีแนวโน้มดีกว่าเล็กน้อย หรือประมาณ 4.5-5% ขณะที่ราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในทุกกิจกรรมเศรษฐกิจ มีทิศทางอ่อนตัวลง จึงมีส่วนช่วยพยุงถึงบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคลงได้บ้าง และเป็นการเปิดโอกาสสำหรับการออมเพิ่มขึ้น

2. ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระบบสถาบันการเงินเริ่มนิ่ง และมีโอกาสปรับตัวลดลงในปี 2550 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลง จึงไม่น่าจะส่งแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่อการขยายฐานธุรกิจใหม่ของบริษัทประกัน นอกจากนี้ หากธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ยกเลิกมาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท ก็อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ อันอาจทำให้นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวมีความต้องการลงทุนทั้งการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ชะลอลง และส่งผลให้ดัชนีหลักทรัพย์มีข้อจำกัดในการปรับขึ้น ปัจจัยดังกล่าวอาจมีผลต่อเนื่องไปยังนักลงทุนในประเทศที่อาจจะลังเลในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และหันมาฝากเงินในระบบธนาคารพาณิชย์แทน ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจประกันได้รับประโยชน์ไปด้วย เนื่องจากไม่ต้องแข่งจ่ายผลตอบแทนกับธนาคารเหมือนแต่ก่อน

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า บริษัทประกันคงไม่รีบร้อนปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่นำมาใช้คำนวณเบี้ยประกันให้กับลูกค้ารายใหม่ จากปัจจุบันที่ใช้อยู่ประมาณ 3-4% แม้ว่ากรมการประกันภัยจะส่งสัญญาณการปรับขึ้นผลตอบแทนของกรมธรรม์จาก 2% เป็น 3% ตั้งแต่กลางปี 2549 ก็ตาม ซึ่งทำให้เบี้ยประกันชีวิตยังคงจัดว่าแพง และให้ผลตอบแทนไม่สูงจูงใจ โดยเฉพาะเมื่อเทียบว่าเป็นสัญญาระยะยาว

3. ดังนั้น การปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย และจุดแข็งของธุรกิจ โดยผ่านการเสนอขายกรมธรรม์ที่เน้นความคุ้มครอง และมีอายุสัญญายาวขึ้น จึงยังคงเป็นแนวทางทำตลาดหลักที่บริษัทประกันนำมาใช้ในปี 2550 เพื่อให้การนำเสนอสินค้าไม่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการออมเงินในระบบสถาบันการเงินโดยตรง อย่างไรก็ตาม กรมธรรม์ประเภทเน้นความคุ้มครอง มักจะมีเบี้ยประกันต่ำกว่ากรมธรรม์ประเภทสะสมทรัพย์ ในจำนวนเงินเอาประกันภัยที่เท่ากัน จึงอาจส่งผลให้การขยายธุรกิจใหม่ซึ่งวัดจากเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง เพิ่มขึ้นไม่เร็วเหมือนช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

4. นอกจากนี้ บริษัทประกันคงจะเริ่มปรับผลิตภัณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นในเรื่องการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ถือกรมธรรม์ โดยไม่กำหนดอัตราผลตอบแทนที่แน่นอนไว้ตายตัว ให้มากขึ้น เช่น การเสนอขายกรมธรรม์แบบ Unit Link หรือ Universal Life ให้มากขึ้น เพื่อค่อยทยอยปรับพอร์ทกรมธรรม์ให้รองรับการปรับเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Risk-Based Capital) มาใช้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันที่ขายผลิตภัณฑ์ในลักษณะ การันตีผลตอบแทนให้แก่ลูกค้าจำนวนมาก มีต้นทุนในการดำรงเงินกองทุนสูงขึ้น อันจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานในภาพรวม และอาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง

5. การแข่งขันจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้แก่ตัวแทนในอัตราสูง น่าจะยังดำเนินต่อไป ตราบใดที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจหรือต้องการทำประกันชีวิตด้วยตนเอง แต่ต้องอาศัยการรุกจากตัวแทน อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณที่ดีจากบางบริษัทที่ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในการขายประกันชีวิต ไม่ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าคอมมิชชั่นในราคาแพงมาก ซึ่งในอนาคตระยะยาวน่าจะมาเป็นคู่แข่งการขายกับตัวแทนประกัน และทำให้ตัวแทนประกันต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าเป็นประโยชน์กับลูกค้า

แม้ว่าการเติบโตของธุรกิจเมื่อวัดจากเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จะลดความหวือหวาลง โดยเริ่มขยายตัวด้วยตัวเลขหลักเดียวต้นๆ แต่ผลประกอบการในปี 2550 เมื่อวัดจากความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ น่าจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้วยปัจจัยหลัก คือ ประการแรก การลดต้นทุนโดยการขายผ่านช่องทางอื่นที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น แบงก์แอสชัวรันส์ หรือการขายผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งบริษัทมีรายจ่ายค่าคอมมิชชั่นค่อนข้างต่ำประมาณ 18% ขณะที่ถ้าขายผ่านตัวแทน ค่าคอมมิชชั่นอาจสูงกว่า 2-3 เท่าตัว ประการที่สอง บริษัทประกันน่าจะมีช่องทางในการปรับพอร์ทสินทรัพย์ลงทุนได้มีประสิทธิภาพขึ้น หลังจากที่ ในช่วงกลางปี 2549 กรมการประกันภัยได้แก้ไขประกาศการลงทุน โดยขยายขอบเขตสินทรัพย์ที่ธุรกิจประกันจะลงทุนได้ให้กว้างขวางขึ้น ครอบคลุมถึงการลงทุนในสลากออมทรัพย์ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมในต่างประเทศด้วย

กล่าวโดยสรุป ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในปี 2550 ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่เป็นการเติบโตไปควบคู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะลดความหวือหวาลง โดยมีจุดเด่นตรงการรักษาความยั่งยืนของกรมธรรม์ไว้ได้ในอัตราสูง เนื่องจากลูกค้าเริ่มมีความเข้าใจว่าการทิ้งกรมธรรม์กลางคัน จะทำให้เสียประโยชน์จากเงินออมที่จ่ายไปก่อนหน้านี้ ทำให้เบี้ยประกันที่ได้จากการต่ออายุกรมธรรม์ปีต่อไป ยังคงเติบโตอย่างมั่นคง และเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตธุรกิจประกันชีวิต ขณะที่การขยายฐานลูกค้าใหม่ น่าจะเติบโตได้ตามโครงสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น และการเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ เนื่องจากคาดว่าจะไม่มีแรงจูงใจพิเศษอื่นเข้ามาเพิ่ม เช่น เรื่องการขอเพิ่มค่าลดหย่อนในการหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยน่าจะยังคงอยู่ที่ไม่เกิน 50,000 บาท/ปี ตามเดิม
นอกจากนี้ ในเรื่องผลตอบแทนที่จะให้กับลูกค้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็เชื่อว่ายังไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่าแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทประกันจะมีกำไรเพิ่มขึ้นจากการบริหารผลตอบแทนเงินลงทุน แต่บริษัทประกันน่าจะเลือกที่จะนำไปจ่ายผลตอบแทนให้แก่ตัวแทนเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างยอดขายใหม่มากกว่า