น้ำผักและผลไม้ : เติบโตต่อเนื่องในปีกุน’50

ธุรกิจน้ำผัก-ผลไม้นับว่าเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง และคาดว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2550 ภายหลังจากที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาธุรกิจนี้ก็ประสบผลสำเร็จจากยอดขายในประเทศที่เพิ่มขึ้นและมูลค่าการส่งออกที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น อันเป็นผลมาจากปัจจัยหนุนหลายประการ กล่าวคือกระแสผู้บริโภคหันมาใส่ใจในสุขภาพยังคงมาแรง ผู้บริโภคเริ่มหันมาบริโภคน้ำผัก-ผลไม้มากขึ้นแทนการบริโภคชาเขียวและน้ำอัดลม โดยตลาดชาเขียวพร้อมดื่มที่เคยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมาจนสามารถแย่งลูกค้าบางส่วนจากน้ำผัก-ผลไม้นั้น ตั้งแต่ปี 2549 อัตราการขยายตัวของตลาดชาเขียวเริ่มจะชะลอตัวลง รวมทั้งตลาดเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน ทำให้คาดหมายว่าผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องดื่มจะเริ่มหันมาเพิ่มสายการผลิตเครื่องดื่มประเภทน้ำผัก-ผลไม้ ทำให้คาดว่าสภาพตลาดน้ำผัก-ผลไม้จะคึกคักขึ้น เนื่องจากมีผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องดื่มประเภทอื่นๆหันมาผลิตน้ำผัก-ผลไม้ และมีการนำเข้าน้ำผัก-ผลไม้จากต่างประเทศมาจำหน่าย ทำให้การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการรายเดิมต้องการปกป้องส่วนแบ่งตลาดจากผู้ผลิตหน้าใหม่ที่เริ่มเข้ามาแข่งขันในตลาด

ปริมาณการผลิตน้ำผัก-ผลไม้ในปี 2550 คาดว่าจะมีปริมาณ 175 ล้านตัน (ประมาณ 220 ล้านลิตร ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับในปี 2549 ซึ่งปริมาณการผลิตในปี 2549 มีทั้งสิ้น 157 ล้านตัน(ประมาณ 219 ล้านลิตร) อันเป็นผลมาจากความต้องการบริโภคน้ำผัก-ผลไม้ในประเทศมีแนวโน้มขยายตัว ทำให้คาดการณ์ว่าผู้ประกอบการจะเริ่มขยายกำลังการผลิต รวมทั้งมีผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาในตลาด

ตลาดน้ำผัก-ผลไม้ในปี 2550 มีแนวโน้มแข่งขันรุนแรงมากขึ้น โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ปรับกลยุทธ์ทั้งการทุ่มงบโฆษณากระตุ้นยอดขาย เปิดตัวสินค้าใหม่เป็นน้ำผลไม้ที่เจาะกลุ่มลูกค้าได้กว้างขึ้น และยังให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพเป็นหลัก การปรับตำแหน่งทางการตลาดใหม่ จากน้ำผลไม้ที่เจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่มาสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพที่เหมาะกับทุกวัย โดยได้เตรียมขยายฐานลูกค้ามาสู่กลุ่มเด็กอายุระหว่าง 15-29 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่อยู่ระหว่างการศึกษาและกำลังเข้าสู่วัยทำงาน จากเดิมเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ใหญ่เป็นหลัก นอกจากนี้ยังใช้กลยุทธ์สร้างการรับรู้ในเชิงรุก ปรับระบบการจัดจำหน่ายใหม่ แยกทีมการขายไปในแต่ละช่องทาง เช่น ช่องทางโรงเรียน ร้านอาหาร เพื่อรองรับกับแผนการตลาดเปิดตัวสินค้าใหม่ลงในตลาดน้ำผลไม้ระดับแมสหรือน้ำผลไม้เปอร์เซ็นต่ำ โดยการทำตลาดน้ำผลไม้ใหม่ เจาะช่องทางโรงเรียน ร้านค้าอาหาร รวมทั้งยังมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาในตลาดทำให้การแข่งขันในตลาดน้ำผัก-ผลไม้เป็นไปอย่างดุเดือดมากขึ้น ในขณะที่ตลาดน้ำอัดลมและชาเขียวนั้นเริ่มมีทิศทางหรือแนวโน้มที่ชะลอตัวลง ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะน้ำผลไม้มากขึ้น

คาดว่าในปี 2550 ตลาดน้ำผัก-ผลไม้ในประเทศมีมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 15 ต่อปี แบ่งเป็นตลาดน้ำผลไม้100% มีมูลค่า 2,500 ล้านบาทอัตราการขยายตัวร้อยละ 10.0 ต่อปี ตลาดน้ำผลไม้40%มูลค่า 500 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 8.0 ต่อปี และตลาดน้ำผลไม้ 25% มีมูลค่า 2,000 ล้านบาท อัตราการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 10.0 ต่อปี

การแข่งขันในตลาดน้ำผัก-ผลไม้เป็นการแข่งขันทั้งในตัวสินค้าและแบรนด์มากขึ้น อัตราการขยายตลาดน้ำผัก-ผลไม้ที่อยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของตลาดน้ำผัก-ผลไม้ในประเทศ นับว่าเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะธุรกิจน้ำอัดลมหันมาขยายธุรกิจผลิตน้ำผัก-ผลไม้และเครื่องดื่มผสมน้ำผัก-ผลไม้ โดยอาศัยความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายการกระจายตลาดช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากผู้ประกอบการรายเดิมในตลาด ซึ่งการเข้ามาทำตลาดของผู้ผลิตรายใหม่จะเร่งให้ตลาดตื่นตัวและผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการรายเดิมในตลาดก็เริ่มปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนเองไว้ ทั้งนี้เพื่อรับมือกับผู้ผลิตรายใหม่โดยอาศัยความคุ้นเคยและยอมรับในรสชาติของลูกค้า รวมทั้งความหลากหลายของสินค้าที่มีให้ลูกค้าเลือกมากมาย ซึ่งการยอมรับในรสชาติของน้ำผัก-ผลไม้นั้นนับว่าเป็นกุญแจสำคัญในการประสบความสำเร็จในการทำตลาดน้ำผัก-ผลไม้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการรายเดิมยังเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับระบบการกระจายสินค้าสู่ร้านค้าในท้องถิ่น ซึ่งตัวแทนจำหน่ายเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญในการกระจายสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค ทั้งนี้เพื่อให้สินค้าเข้าถึงมือผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง รวมไปถึงการเริ่มวิจัยและพัฒนาสินค้า เช่น การเพิ่มสารอาหารหรือวิตามินเสริมเข้าไปในน้ำผักและผลไม้ ทั้งนี้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและวางตำแหน่งของสินค้าใหม่ให้กับผู้บริโภค นอกจากการเลือกดื่มเพื่อสุขภาพและดับกระหายแล้วยังได้ประโยชน์อย่างอื่นๆเพิ่มขึ้นด้วย ปัจจุบันตลาดน้ำผัก-ผลไม้ผสมวิตามินต่างๆ และผสมคอลลาเจนกำลังมีอัตราการเติบโตที่น่าจับตามอง ซึ่งผู้ประกอบการต้องสื่อสารข้อมูลการสร้างมูลค่าเพิ่มของน้ำผัก-ผลไม้นี้ให้กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบด้วย ทั้งนี้นับว่าเป็นการขยายฐานตลาดของน้ำผัก-ผลไม้ ปัจจุบันคนไทยมีอัตราการบริโภคน้ำผัก-ผลไม้โดยเฉลี่ย 3 ลิตร/คน/ปี ซึ่งถือว่าน้อยมาก เนื่องจากในเมืองไทยมีผลไม้หลากหลายชนิดให้เลือกบริโภคได้ตลอดทั้งปี ทำให้สามารถหาผลไม้สดรับประทานได้ง่าย จึงนิยมบริโภคผลไม้สดมากกว่า เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนามีอัตราการบริโภคน้ำผัก-ผลไม้สูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯมีอัตราการบริโภคน้ำผัก-ผลไม้สูงถึง 31.5 ลิตรต่อคนต่อปี ดังนั้นตลาดน้ำผัก-ผลไม้ในไทยยังมีโอกาสในการขยายตัวได้อีกมาก

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ตลาดในต่างประเทศจะเรียกว่าน้ำผลไม้พร้อมดื่ม(Fresh Fruit Juices) เฉพาะน้ำผลไม้100% หากมีการเติมน้ำตาลในน้ำผลไม้จะไม่ถือว่าเป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่มแต่จะเรียกว่าเป็นเนคตาร์ (Nectars) ซึ่งตลาดในไทยไม่ได้จำแนกประเภทเป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่มหรือเนคตาร์แต่จะเรียกในลักษณะรวมๆว่าน้ำผลไม้

สำหรับการส่งออกน้ำผัก-ผลไม้ของไทยมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 จากที่มูลค่าการส่งออกชะลอตัวในปี 2547 โดยในปี 2549 ปริมาณการส่งออกเท่ากับ 315,227 ตัน มูลค่า 8,854 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2548 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.0 และร้อยละ 17.8 ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลักทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐฯมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ประเทศในแถบยุโรปจะบริโภคน้ำผลไม้โดยเฉลี่ย 22.1 ลิตร/คน/ปี และนิยมบริโภคน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวมากกว่าน้ำผลไม้ที่มีรสหวาน ทำให้สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกสำคัญของน้ำสับปะรด ส่วนตลาดสหรัฐฯนั้นจะเป็นตลาดส่งออกน้ำผลไม้อื่นๆ ส่วนน้ำผัก-ผลไม้ผสมนั้นตลาดส่งออกหลักคือประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะพม่า กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน มาเลเซียและอินโดนีเซีย

ประเภทของการส่งออกน้ำผัก-ผลไม้ของไทยนั้นน้ำสับปะรดมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60.0 ของมูลค่าการส่งออกน้ำผัก-ผลไม้ทั้งหมด โดยในปี 2549 ไทยส่งออกน้ำสับปะรด 187,632 ตัน มูลค่า 5,252 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2548 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 57.0 และร้อยละ 16.3 ตามลำดับ ส่วนที่เหลือเป็นการส่งออกน้ำส้ม น้ำผัก-ผลไม้รวม และน้ำผัก-ผลไม้อื่นๆ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการส่งออกน้ำผัก-ผลไม้ชนิดอื่นๆโดยเฉพาะน้ำผัก-ผลไม้เมืองร้อน เช่น น้ำมะพร้าว น้ำมะขาม เป็นต้น มีอัตราการขยายตัวที่น่าสนใจ แม้ว่าในปัจจุบันทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกจะยังไม่สูงมากนักก็ตาม กล่าวคือ โดยในปี 2549 ไทยส่งออกน้ำผัก-ผลไม้ชนิดอื่นๆ 110,139 ตัน มูลค่า 3,203 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2548 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 และร้อยละ 19.7 ตามลำดับ ตลาดส่งออกน้ำผัก-ผลไม้ที่สำคัญของไทยคือ สหภาพยุโรปสัดส่วนร้อยละ 42.7 ของมูลค่าการส่งออกน้ำผัก-ผลไม้ทั้งหมด รองลงมาคือ สหรัฐฯร้อยละ 27.9 อาเซียนร้อยละ 5.9 และญี่ปุ่นร้อยละ 3.7 ตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวคือ ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน และตลาดในตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ตามปัจจุบันไทยยังมีการนำเข้าน้ำผัก-ผลไม้โดยมีมูลค่านำเข้าในปี 2549 ปริมาณ 16,964 ตัน มูลค่า 925 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2548 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 และร้อยละ 29.4 ตามลำดับ ซึ่งน้ำผัก-ผลไม้ที่นำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นน้ำผัก-ผลไม้ที่ไม่สามารถผลิตในประเทศ โดยเฉพาะผัก-ผลไม้เมืองหนาว สำหรับน้ำผลไม้เข้มข้นที่มีการนำเข้ามากที่สุดได้แก่ น้ำส้ม น้ำแอปเปิ้ล น้ำสับปะรดและน้ำเกรฟฟรุ้ตตามลำดับ แหล่งนำเข้าสำคัญคือ สหรัฐฯ บราซิล จีน ไต้หวัน และสหภาพยุโรป ซึ่งน้ำผัก-ผลไม้นำเข้านี้มุ่งเจาะขยายลูกค้าตลาดบนที่นิยมบริโภคน้ำผัก-ผลไม้ต่างประเทศ และในปัจจุบันมีความพยายามขยายตลาดผู้บริโภคระดับกลางด้วย

แนวโน้มตลาดน้ำผัก-ผลไม้ในตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและรสนิยมของผู้บริโภค ทำให้ตลาดน้ำผัก-ผลไม้มีแนวโน้มในการผลิตน้ำผัก-ผลไม้เข้มข้นที่ไม่ได้มีส่วนผสมของน้ำตาลหรือที่เรียกกันว่าน้ำผัก-ผลไม้100% มากขึ้น และแนวโน้มที่น่าจับตามองในตลาดน้ำผัก-ผลไม้ที่ยังคงความสดและมีเซลล์หรือเนื้อเยื่อของผัก-ผลไม้(Not-from-concentrate : NFC) ซึ่งน้ำผัก-ผลไม้ประเภทนี้นับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของการผลิต ซึ่งเกิดจากแนวคิดของโรงงานผลิตน้ำผัก-ผลไม้ที่ต้องการผลิตน้ำผัก-ผลไม้คุณภาพสูง มีความแตกต่างจากน้ำผัก-ผลไม้ที่มีอยู่ในตลาด และใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งคาดว่าโรงงานผลิตน้ำผัก-ผลไม้ในไทยคงจะมีการปรับการผลิตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและรสนิยมของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ และคาดว่าต่อไปคนไทยก็จะหันมานิยมน้ำผัก-ผลไม้ประเภทนี้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้มีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำผัก-ผลไม้ในตลาดโลกในปี 2551 เท่ากับ 39,000 ล้านลิตร และอัตราการบริโภคเฉลี่ยเท่ากับ 6 ลิตรต่อคนต่อปี ทั้งนี้คาดว่าอัตราการขยายตัวของปริมาณการบริโภคน้ำผัก-ผลไม้ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.8 ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนคือ กระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพและรายได้เฉลี่ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มการส่งออกน้ำผัก-ผลไม้ของไทยคาดว่าจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดสหภาพยุโรป ส่วนในตลาดสหรัฐฯซึ่งนับว่าเป็นตลาดน้ำผัก-ผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นไทยยังสามารถเจาะขยายตลาดได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการเจาะขยายตลาดญี่ปุ่นที่ในปี 2549 นั้นการส่งออกน้ำผัก-ผลไม้ไปยังตลาดนี้มีแนวโน้มลดลง ส่วนตลาดส่งออกที่น่าสนใจคือ ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน และตลาดในตะวันออกกลาง นอกจากนี้การวิจัยและพัฒนาน้ำผัก-ผลไม้ประเภทใหม่ๆออกมาจำหน่าย ซึ่งอาศัยจุดเด่นทางคุณค่าทางโภชนาการที่มีการยืนยันจากห้องแล็บ โดยเฉพาะน้ำสมุนไพรพื้นบ้านของไทย นับว่าเป็นแนวโน้มในการขยายการส่งออกในช่วงต่อไป