ตลาดรถจักรยานยนต์ไทยปิดตัวเลขปี 2549 ด้วยมีสถิติตามทะเบียนแจ้งย้ายจำนวน 2,061,601 คัน เติบโตลดลง 2% จากปีก่อนหน้า โดยฮอนด้ายังคงรักษาความเป็นผู้นำตลาดรถจักรยานยนต์ไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 ด้วยจำนวน 1,335,104 คัน เทียบเท่าอัตราครองตลาด 65% ส่วนรถยอดนิยมอันดับหนึ่งของประเทศไทยยังคงเป็นฮอนด้า เวฟ100 ด้วยจำนวน 638,809 คัน ในขณะที่กลุ่มรถแบบเอทีที่กำลังเป็นกระแสนิยมของกลุ่มวัยรุ่นไทย รถยอดนิยมอันดับหนึ่งคือ ฮอนด้า คลิก น้องใหม่ที่มีตัวเลขการขายในปี 49 เพียง 11 เดือนแต่สามารถมียอดการจำหน่ายเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มรถ เอ.ที.ที่ 254,424 คัน
ส่วนตัวเลขจดทะเบียนป้ายวงกลมใหม่ของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในปี 2549 ที่ผ่านมามีตัวเลขรวมอยู่ที่ 1,926,803 คัน เป็นยอดจดทะเบียนของรถจักรยานยนต์ฮอนด้าจำนวน 1,295,044 คัน โดยในปี พ.ศ. 2550 นี้ ฮอนด้าคาดการณ์ว่าตลาดรถจักรยานยนต์ไทย ถ้ามองจากสถิติการจดทะเบียนป้ายวงกลมซึ่งเป็นตัวเลขที่ผู้ใช้รถใหม่จดทะเบียนใช้จริงในพื้นที่ คงมีจำนวนใกล้เคียงกับปีที่แล้ว คือ 1,900,000 คัน โดยฮอนด้าจะตั้งเป้ายอดจดทะเบียนป้ายวงกลมในปี 2550 นี้ที่ 1,300,000 คัน
นายธีระพัฒน์ จิวะพงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด รายงานสรุปสภาพการจำหน่ายรถจักรยานยนต์รวมในปี พ.ศ. 2549 ปิดตัวเลขรวมทุกยี่ห้อจากตัวเลขตามทะเบียนแจ้งย้ายที่ 2,061,610 คัน เติบโตลดลงจากปีก่อนหน้า 2% คิดเป็นจำนวน 41,937 คัน โดยฮอนด้ายังคงรักษาความเป็นผู้นำตลาดรถจักรยานยนต์อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 (นับจากปี 2532 เป็นต้นมา) ด้วยยอดการจำหน่ายที่ 1,335,104 คัน เทียบเท่าอัตราครองตลาด 65%
ในด้านการจำหน่ายรถแต่ละประเภท ตลาดใหญ่อันดับหนึ่งเป็นรถแบบครอบครัวที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 56% มียอดจำหน่ายรวม 1,149,242 คัน ลดลงจากปีก่อนหน้า 30% อันดับสอง เป็นรถแบบเอทีที่ครองสัดส่วนตลาด 38% มียอดจำหน่ายรวม 790,319 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 256% นอกนั้นเป็นรถแบบสปอร์ตและแฟมิลี่สปอร์ตประมาณ 6% หรือ เทียบเท่าจำนวน 122,006 คัน ซึ่งจากการวิเคราะห์สภาพการจำหน่ายในปี 49 มองได้ว่าภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์ไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเปลี่ยนแปลงในปี 49 ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการเกษตร โดยเฉพาะภาคเกษตรกรเมื่อรายได้หลักถูกกระทบ กำลังซื้อยิ่งถดถอย จึงเกิดการชะลอซื้อรถจักรยานยนต์ ทำให้การจำหน่ายของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัวซึ่งเป็นรถของคนส่วนใหญ่ที่ใช้ได้ทั้งครอบครัวมีสัดส่วนลดลงมากถึง 30% ซึ่งรถยอดนิยมอันดับหนึ่งในกลุ่มรถครอบครัวคือ ฮอนด้าเวฟ100 ด้วยจำนวน 638,809 คัน ในขณะที่รถแบบเอทีที่เหมาะกับการใช้งานในเมือง เป็นที่นิยมของวัยรุ่นแต่มีราคาที่สูงกว่า ได้กลายเป็นทางเลือกใหม่ของกลุ่มมีกำลังซื้อซึ่งอาศัยอยู่ในเมือง และเลือกใช้รถจักรยานยนต์เพราะประหยัดน้ำมันมากกว่าการใช้รถยนต์ ประกอบกับหลายค่ายผู้ผลิตได้แนะนำรถจักรยานยนต์แบบเอทีรุ่นใหม่ๆออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนเพียง 3 รุ่นในปี 2548 ได้เพิ่มเป็น 7 รุ่นในปี 2549 ทำให้รถประเภทนี้มีการเติบโตจากปีก่อนหน้ามากถึง 256% และรถยอดนิยมอันดับหนึ่งคือ ฮอนด้า คลิก รถแบบเอทีที่เป็นระบบระบายความร้อนด้วยน้ำที่ให้กำลังขับเคลื่อนดีกว่า โดยมียอดจำหน่ายรวมที่ 254,424 คัน จากการจำหน่ายเพียง 11 เดือนนับจากวางตลาดในเดือนกุมภาพันธ์ 49 ที่ผ่านมา
นอกจากนั้น นายธีระพัฒน์ยังได้รายงานตัวเลขการจดทะเบียนป้ายวงกลมของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในปีที่ผ่านมา ว่ามีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,926,803 คัน ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าเป็นยอดการจำหน่ายจริงจากร้านผู้จำหน่ายถึงผู้ใช้และมีการจดทะเบียนป้ายวงกลม โดยส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากตัวเลขแจ้งย้ายที่ 2,061,610 คัน กับตัวเลขจดทะเบียนป้ายวงกลมที่ 1,926,803 คัน นั้น ส่วนหนึ่งเป็นตัวเลขสต๊อคคงเหลือที่หน้าร้านผู้จำหน่ายฯ และอีกส่วนเป็นตัวเลขการแจ้งย้ายข้ามจังหวัดซึ่งอาจมีการซ้ำซ้อน
สำหรับคาดการณ์ในปี พ.ศ. 2550 ฮอนด้าได้คาดการณ์การจดทะเบียนป้ายวงกลมซึ่งเป็นยอดการจำหน่ายจริงถึงผู้ใช้น่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ 1,900,000 คัน ส่วนฮอนด้าตั้งเป้ายอดจดทะเบียนป้ายวงกลมในปี 2550 นี้ที่ 1,300,000 คัน
สรุปผลการดำเนินงานในปี 2549
เครือข่ายการจำหน่าย
นอกจากนั้น นายธีระพัฒน์ยังได้สรุปถึงผลการดำเนินงานในปี 2549 ที่ผ่านมา ในด้านเครือข่ายการจำหน่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศจำนวน 864 แห่ง ฮอนด้าได้ปรับรูปแบบร้านเป็นแบบ Advanced CSI เพื่อรองรับผู้ใช้ทุกกลุ่มทุกวัยในรูปแบบใหม่ทันสมัยยิ่งขึ้นภายใต้คอนเซ็ป Advanced & Friendly แล้วจำนวน 121 แห่ง โดยจุดเด่นของร้านฮอนด้า Advanced CSI นั้นนอกจากความล้ำสมัยในด้านรูปลักษณ์แล้ว สิ่งที่ครองใจลูกค้าได้อย่างเหนียวแน่น คือ การให้บริการแก่ลูกค้าทุกกลุ่มทุกวัยอย่างเป็นกันเอง รวมทั้งการดูแลชุมชนอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การรับบริการกำจัดแบตเตอรี่ หรือ การกำจัดของเสียอย่างเป็นระบบ เป็นต้น และในปี 2550 นี้คาดว่าจะเปิดเพิ่มอีก 100 แห่ง
กิจกรรมขับขี่ปลอดภัย
ในด้านกิจกรรมขับขี่ปลอดภัย ในปี 2549 ที่ผ่านมาฮอนด้าได้จัดการแนะนำความรู้ขับขี่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ไปแล้วกว่า 1.6 ล้านคน ทั้งหลักสูตรพื้นฐาน หลักสูตรครูฝึก หลักสูตรผู้ช่วยครูฝึก และการแนะนำผู้ใช้ก่อนการส่งมอบรถ หรือ PDSA รวมทั้งกิจกรรมคาราวานขับขี่ปลอดภัยที่จัดไปทั้งหมด 3 ครั้ง ส่วนการขยายศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยส่วนภูมิภาคที่ดำเนินการโดยผู้จำหน่ายฯนั้นได้เปิดดำเนินการไปแล้ว 2 แห่ง คือที่จ.เชียงราย และ จ.ราชบุรี โดยมีโครงการขยายให้ได้ 11 แห่งในปี 2550 นี้
นอกจากนั้นฮอนด้ายังได้ริเริ่มโครงการใหม่ขึ้นในปี 2549 เพื่อส่งเสริมจิตสำนึกขับขี่ปลอดภัย อาทิ โครงการหนูน้อยปลอดภัยทางถนน หรือ Road Safety for Kids ที่จัดขึ้นสำหรับเด็กเล็กระดับประถม 1 – 6 โดยสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติโดยการทดลองขับขี่รถจักรยานในสนามจำลองเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้วินัยจราจร และจดจำเครื่องหมายจราจรต่างๆ ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ร่วมกับกรมขนส่งทางบก สวนสัตว์ดุสิต และจังหวัดปทุมธานี จัดขึ้น 3 ครั้ง และประสบความสำเร็จได้รับความสนใจจากเด็กและผู้ปกครองเป็นจำนวนมาก ในปี 2550 นี้จึงจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกเสาร์-อาทิตย์ที่สองของเดือนที่สวนสัตว์ดุสิต กรุงเทพ
อีกหนึ่งโครงการใหม่ที่ริเริ่มขึ้นในปี 2549 คือ การนำเข้าเครื่อง Riding Trainer จากประเทศญี่ปุ่นมาเป็นสื่อการสอนเทคนิคขับขี่ปลอดภัยให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเครื่องฯนี้มีคุณสมบัติพิเศษ คือ ขนาดเล็กกระทัดรัด ใช้งานง่าย แม้ผู้ขับขี่ไม่สามารถขับขี่รถได้ก็สามารถฝึกหัดกับเครื่อง Riding Trainer ได้ โดยฮอนด้ามีโครงการที่จะติดตั้งเครื่อง Riding Trainer นี้ที่ร้าน Advanced CSI ทั่วประเทศ และในปี 49 ที่ผ่านมาฮอนด้าได้จัดการอบรมเทคนิคการปฏิบัติงานและติดตั้งเครื่องนี้ให้แก่เจ้าหน้าที่ร้านผู้จำหน่ายฯ เพื่อรองรับการติดตั้งและใช้งานจริงที่ร้าน Advanced CSI ประมาณ 200 แห่งในปี 2550 นี้
กิจกรรมฮอนด้าประหยัดเชื้อเพลิง
ในด้านการจัดแข่งขันฮอนด้าประหยัดเชื้อเพลิงในปี 2549 หรือปีที่ 9 ของการจัดแข่งขัน ได้ดำเนินการจัดแข่งในระดับภูมิภาคไปแล้วจำนวน 4 สนาม เพื่อคัดทีมเข้าแข่งขันในระดับประเทศ ซึ่งทีมที่จะผ่านเข้าแข่งในระดับประเทศได้นั้นจะต้องผ่านมาตรฐานที่กำหนดคือ รถประดิษฐ์ต้องมีสถิติในระดับภูมิภาคตั้งแต่ 200 กม.ต่อลิตรขึ้นไป และรถตลาดต้องมีสถิติในระดับภูมิภาคตั้งแต่ 100 กม.ต่อลิตรขึ้นไป ซึ่งจากการแข่งขันในระดับภูมิภาคที่ผ่านมามีทีมที่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดนี้จำนวน 326 ทีม และทั้ง 326 ทีมนี้จะเข้ามาแข่งขันกันในระดับประเทศในวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์นี้ที่ลานเอนกประสงค์ กรมทหารราบที่ 11 บางเขน เพื่อคัดเลือกทีมชนะเลิศสถิติประหยัดน้ำมันสูงสุดชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
กิจกรรมเพื่อสังคม
ในด้านกิจกรรมเพื่อสังคมที่ฮอนด้าร่วมกับร้านผู้จำหน่ายฯทั่วประเทศดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ทั้งกิจกรรมเพื่อการศึกษา และกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆนั้น ในปีพ.ศ. 2549 ที่ผ่านมาฮอนด้าร่วมกับผู้จำหน่ายฯทั่วประเทศ 864 แห่งบำเพ็ญกิจกรรมเพื่อประโยชน์แก่สังคมรวมทั้งสิ้น 950 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนประมาณ 49 ล้านบาท
กิจกรรมมอเตอร์สปอร์ต
ฮอนด้าประสบความสำเร็จอย่างงดงามในด้านกิจกรรมมอเตอร์สปอร์ต ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปี โดยในปี 2549 ที่ผ่านมา นักแข่งสังกัดฮอนด้า ฟิล์ม รัฐภาคย์ วิไลโรจน์ ได้สร้างผลงานโดดเด่น ด้วยตำแหน่ง”รองแชมป์”การแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์ประเทศญี่ปุ่น และสามารถโชว์ผลงานยอดเยี่ยมในการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลกสนามที่ 15 ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยการเข้าเส้นชัยได้ในตำแหน่งที่ 10 ทำให้ได้รับการติดต่อจากทีมแข่ง Stop and Go ประเทศสเปนให้เป็นนักแข่งในสังกัด เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน WGP250cc ในปี 2550 นี้อย่างเต็มฤดูกาล ในนามทีมไทย-ฮอนด้า-พีทีที-แสค โดยฤดูกาลแข่งขันในปีนี้จะเริ่มในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ฟิล์มจึงเป็นนักแข่งไทยคนแรกที่ได้มีโอกาสลงแข่งขันในสนามระดับโลกในนามตัวแทนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ