มาตรการผ่อนปรนสำหรับการนำเงินเข้าของภาคเอกชน ผู้ทำ Full Hedging น่าจะได้ประโยชน์มากสุด

หลังจากที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศใช้มาตรการกันสำรองร้อยละ 30 สำหรับเงินทุนนำเข้าจากต่างประเทศในเย็นวันที่ 18 ธันวาคม 2549 โดยมีข้อยกเว้นสำหรับเงินตราต่างประเทศที่รับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทที่ได้รับจากค่าสินค้า บริการ หรือเงินที่บุคคลหรือนิติบุคคลไทยได้รับคืนจากการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งต่อมา ธปท.ได้ผ่อนปรนเพิ่มเติมให้แก่ การลงทุนในหุ้น และ การลงทุนโดยตรง (FDI) (ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นหรือมีส่วนเป็นเจ้าของไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 และมีอำนาจในการบริหารจัดการกิจการดังกล่าว) รวมทั้งเงินลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน คอนโดมิเนียม (ไม่รวมหน่วยลงทุนของกองทุนอสังหาริมทรัพย์) ในขณะที่เงินลงทุนจากต่างประเทศในตลาดตราสารหนี้และกองทุนรวม ยังคงต้องกันสำรองร้อยละ 30

ล่าสุดในวันที่ 29 มกราคม 2550 ธปท. ได้ออกประกาศผ่อนปรนมาตรการกันสำรองดังกล่าวเพิ่มเติม โดยได้กำหนดทางเลือกให้การนำเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาทตามรายการต่อไปนี้สามารถที่จะกันสำรองเหมือนเดิม หรือป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ก็ได้ ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

• เงินกู้ยืมเงินตราต่างประเทศทั้งที่เป็นเงินกู้ยืมทั่วไปและเงินกู้ยืมระหว่างบริษัทในเครือ (Inter-company Loans) และเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากการออกตราสารหนี้ โดยเงินกู้นั้นมีการป้องกันความเสี่ยงกับสถาบันการเงินในประเทศไทย (on-shore) เท่ากับจำนวนเงินและระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ (Fully Hedge)ในรูปของ FX Swaps หรือ Cross-Currency Swaps ทั้งนี้ ไม่รวมการป้องกันความเสี่ยงกับสถาบันการเงินในต่างประเทศ (off-shore)

• สำหรับเงินกู้ที่อายุมากกว่า 1 ปี ต้องป้องกันความเสี่ยงแบบ fully hedged อย่างน้อย 1 ปี โดยหลังครบกำหนด 1 ปี ผู้กู้ยืมสามารถบริหารความเสี่ยงได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสม

• สินเชื่อเงินตราต่างประเทศเพื่อการส่งออกในลักษณะของ Packing Credit อายุไม่เกิน 180 วัน ที่สถาบันการเงินในประเทศให้แก่ลูกค้าในประเทศ และผู้กู้ยืมสัญญาว่าจะนำเงินตราต่างประเทศที่จะได้รับจากค่าสินค้าในอนาคตมาชำระคืนเงินกู้ให้ครบถ้วน

รวมทั้ง ธปท. ยังได้เพิ่มเติมรายการที่ไม่ต้องกันสำรอง ได้แก่
• การชำระ NPL ที่ซื้อหรือจ่ายตามภาระค้ำประกันให้แก่บุคคลในประเทศไทย เมื่อคดีถึงที่สุดหรือมีเอกสารทางการที่แสดงถึงภาระที่ต้องชำระมาแสดงต่อสถาบันการเงิน

• เพิ่มประเภทตราสารทุนที่ไม่ต้องกันเงินสำรอง จากเดิมที่จำกัดเฉพาะหุ้นทุนใน ตลาด SET และ MAI และใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์หลักทรัพย์ (Non-Voting Depository Receipt: NVDR) ให้ครอบคลุมถึงใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นทุน (Warrants) สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (Transferable Subscription Right) และใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์หลักทรัพย์อ้างอิงตราสารทุน (Depository Receipt)

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การผ่อนปรนมาตรการกันสำรองเพิ่มเติมของธปท.ในครั้งนี้ เป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนซึ่งไม่ได้มีเจตนาที่จะนำเงินเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยที่จะไม่มีผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ทั้งนี้ แม้ว่าการผ่อนปรนมาตรการของธปท.ด้วยการเพิ่มทางเลือกระหว่างการกันสำรองร้อยละ 30 กับการทำ Full Hedging สำหรับเงินกู้ยืมจากต่างประเทศ น่าจะเพิ่มความสะดวกแก่การดำเนินธุรกรรมของภาคเอกชน โดยเฉพาะสำหรับเอกชนที่มีการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแบบ fully hedged อยู่แล้ว เพราะเอกชนนั้นอาจจะมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับการกันสำรองร้อยละ 30 แต่สำหรับเอกชนที่เดิมไม่ได้มีการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงแบบ fully hedged นั้น การนำเงินกู้จากต่างประเทศเข้ามา ก็อาจต้องมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นจากการต้องทำ Full Hedging ตามข้อกำหนดของธปท. เพื่อที่จะไม่ต้องกันสำรองร้อยละ 30 นอกจากนี้ สำหรับภาคเอกชนที่ระดมเงินกู้อายุมากกว่า 1 ปี ซึ่งต้องป้องกันความเสี่ยงแบบ fully hedged อย่างน้อย 1 ปีนั้น ยังอาจจำเป็นต้องมีการบริหารสภาพคล่องเงินบาทเพื่อนำมาส่งมอบตามสัญญา Full Hedging ภายหลังครบกำหนด 1 ปี ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สะดวกหรือมีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหากวงเงินตามสัญญามีขนาดใหญ่ ในขณะที่ เงินลงทุนในตลาดรองสำหรับตราสารหนี้และกองทุนรวม ยังคงต้องทำสำรองร้อยละ 30 เนื่องจากธปท.ยังไม่ได้มีการผ่อนผันสำหรับธุรกรรมดังกล่าว

 สำหรับผลต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนนั้น หากภาคเอกชนคาดการณ์ว่า ธปท.อาจจะผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวเพิ่มเติมอีกในอนาคตที่ไม่นานนัก เอกชนเหล่านั้นก็อาจเลือกที่จะรอโดยเลื่อนการกู้ยืมจากต่างประเทศออกไป ยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หรืออาจเลือกที่จะหันมากู้ยืมจากแหล่งเงินทุนในประเทศแทน โดยในกรณีที่เอกชนเลือกที่จะรอ ก็ย่อมจะส่งผลให้กิจกรรมการลงทุนต่าง ๆ อาจจะต้องเลื่อนออกไปด้วย ส่วนในกรณีที่เอกชนหันมากู้ยืมในประเทศ แทนการทำ Full Hedging ก็น่าจะเป็นผลดีต่อการขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินในระบบ แต่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง ซึ่งในที่สุดแล้ว การตัดสินใจของเอกชนว่าจะดำเนินการอย่างไรนั้น ย่อมจะขึ้นอยู่กับค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยในและต่างประเทศ หลังจากรวมต้นทุนต่าง ๆ ตามมาตรการของธปท.แล้ว ตลอดจนการคาดการณ์ของภาคเอกชนต่อทิศทางค่าเงินบาทในอนาคต

 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในปัจจุบัน จะพบว่า หากเทียบกับระดับ ณ สิ้นปี 2549 แล้ว เงินบาทยังมิได้อ่อนค่าลง ซึ่งสวนทางกับการอ่อนค่าของเงินสกุลหลัก โดยเฉพาะเงินเยนของญี่ปุ่นและเงินยูโร ที่ล้วนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ออกมาดีเกินคาดในระยะที่ผ่านมา

สาเหตุที่ทำให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงมากนักหลังจากมาตรการกันสำรองในวันที่ 19 ธันวาคม 2549 อาจเนื่องมาจาก

– ประการแรก เงินทุนที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินบาทก่อนวันที่ 19 ธันวาคม ยังคงไม่ได้ไหลออกนอกประเทศ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเหล่านี้ยังคงหาจังหวะที่เหมาะสม เพราะเกรงว่าหากนำเงินออกทั้งหมดทันที ก็อาจจะต้องรับรู้การขาดทุนค่อนข้างมาก

– ประการที่สอง เงินบาทได้รับแรงหนุนทางด้านจิตวิทยาจากตลาดต่างประเทศที่มีอุปทานเงินบาทค่อนข้างจำกัด (ทั้งนี้ มาตรการการกันสำรองเงินทุนไหลเข้าของธปท.ได้ส่งผลให้เกิดภาวะ Two-Tier ของค่าเงินบาท ในตลาดในประเทศ (onshore) และตลาดต่างประเทศ (offshore) โดยปริมาณเงินบาทในตลาด offshore มีจำกัดมาก ส่งผลให้เงินบาทในตลาด offshore มีระดับแข็งค่ามากกว่าเงินบาทในตลาด onshore อย่างชัดเจน) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินบาทจะยังมิได้อ่อนค่าลงภายหลังธปท.นำมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นมาใช้ แต่ก็นับได้ว่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นในอัตราที่ช้าลงอย่างมาก (ในเดือนมกราคม 2550 เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 0.9 จากปลายปี 2549) เมื่อเทียบกับก่อนที่ธปท.จะมีการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ ซึ่งขณะนั้น เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงไม่นาน (นับจากปลายปี 2548 ถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 14.0)

 สำหรับความเป็นไปได้ที่ธปท.อาจจะพิจารณาผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวอีกในอนาคตข้างหน้านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ธปท.คงจะเฝ้าติดตามผลของการผ่อนปรนมาตรการการกันสำรองเพิ่มเติมในรอบนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อพิจารณาถึงข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่อาจจะยังมีอยู่สำหรับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนซึ่งไม่ได้มุ่งหวังที่จะนำเงินเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท นอกจากนี้แล้ว การดำเนินการผ่อนปรนมาตรการเพิ่มเติมในอนาคตของธปท. คงจะขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นสำคัญอีกด้วย โดยคาดว่า หากธปท.ดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่องในการประชุมครั้งถัด ๆ ไป ผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในและต่างประเทศที่เปลี่ยนไปก็น่าจะช่วยให้เงินบาทไม่แข็งค่าขึ้นมากเหมือนกับในปี 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งก็น่าที่จะทำให้ความจำเป็นในการใช้มาตรการกันสำรองหรือการทำ Full Hedging ลดลงตามไปด้วย