ในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ บรรดาคนไทยเชื้อสายจีนมีแนวโน้มใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆกันอย่างประหยัด ทั้งการซื้อสินค้าเครื่องเซ่นไหว้และการจับจ่ายในวันเที่ยว ส่งผลให้การใช้จ่ายโดยรวมในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย ขณะที่หน่วยงานในภาครัฐและภาคเอกชนต่างจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ ส่งผลให้บรรยากาศของการฉลองเทศกาลตรุษจีนปีนี้มีแนวโน้มคึกคักในทุกพื้นที่โดยเฉพาะกรุงเทพฯและเมืองท่องเที่ยวสำคัญ
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายและการร่วมกิจกรรมในเทศกาลตรุษจีนของคนกรุงเทพฯที่มีเชื้อสายจีน โดยทำการสำรวจเชิงคุณภาพระหว่างวันที่ 2-12 กุมภาพันธ์ 2550 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 608 คนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งครอบคลุมในทุกสาขาอาชีพหลัก และทุกระดับรายได้ เพื่อทราบถึงแนวโน้มของพฤติกรรมการร่วมกิจกรรมสำคัญๆในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ และกระแสการสะพัดของเม็ดเงินที่ใช้จ่ายในด้านต่างๆช่วงเทศกาลตรุษจีนไปสู่ธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ตลาดสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ : เม็ดเงินสะพัดในกทม. 4,400 ล้านบาท
จากการสำรวจของ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด พบแนวโน้มการจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนตามแหล่งต่างๆ ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
สินค้าเครื่องเซ่นไหว้ยอดนิยมของคนกรุงฯ 5 อันดับแรก
ในการเลือกซื้อสินค้า 5 อันดับแรกเพื่อจัดเครื่องเซ่นไหว้ในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ของผู้ตอบแบบสอบถาม ไก่ยังคงครองความนิยมอันดับ 1 รองลงมา คือ เนื้อหมูและเป็ดในสัดส่วนใกล้เคียงกัน อันดับ 3 คือ ผลไม้ รองลงมา คือ ขนม ซึ่งประกอบด้วยขนมเทียนและขนมเข่งเป็นอันดับ 4 และกระดาษเงินกระดาษทองรวมทั้งธูปและเทียน เป็นอันดับ 5
ผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 62.9 เห็นว่าการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกไม่ส่งผลกระทบต่อการเลือกซื้อเครื่องเซ่นไหว้ในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่หน่วยงานภาครัฐมีมาตรการคุมเข้มเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก โดยเฉพาะการจัดโครงการ “เนื้อสัตว์ปลอดภัยฉลองรับตรุษจีน” ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ระดับหนึ่ง ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 37.1 เห็นว่าการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกส่งผลกระทบต่อการซื้อสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ โดยส่วนใหญ่จะซื้อเนื้อสัตว์ประเภทอื่นแทนเป็ดและไก่ อาทิ เนื้อหมู หรืออาหารทะเล
การเลือกแหล่งซื้อเครื่องเซ่นไหว้ : มุ่งเน้น….ความสะดวก & ความมั่นใจในคุณภาพสินค้า
ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 46.1 ยังคงเลือกซื้อสินค้าเครื่องเซ่นไหว้จากร้านค้าในตลาดสดใกล้บ้าน รองลงมา คือ ร้อยละ 18.9 ซื้อจากร้านค้าย่านตลาดเก่าเยาวราช และร้อยละ 13.1 ซื้อจากร้านค้าปลีกรูปแบบทันสมัย คือ ซุปเปอร์มาร์เก็ตและซูปเปอร์สโตร์ ที่เหลือจะเลือกซื้อสินค้าจากหลายแหล่งประกอบกัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ร้านค้าเจ้าประจำในตลาดสดใกล้บ้าน และร้านค้าในตลาดเก่าเยาวราชยังสามารถยืนหยัดครองตลาดสินค้าเครื่องเซ่นไหว้อยู่ได้ในปัจจุบัน แม้ว่าจะเสียเปรียบร้านค้าปลีกรูปแบบทันสมัยในเรื่องความสะดวกในการเดินทาง ที่จอดรถ ความสะอาดของสถานที่จำหน่ายสินค้า และความครบครันของสินค้า แต่ร้านค้าที่มีชื่อเสียงในเรื่องคุณภาพของสินค้า และร้านค้าเจ้าประจำที่ลูกค้ามั่นใจในการคัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพให้ก็ยังสามารถดึงดูดลูกค้าขาประจำไว้ได้โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ร้านค้าปลีกรูปแบบทันสมัยต่างก็ปรับตัวรองรับความต้องการของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ โดยในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ร้านค้าปลีกรูปแบบทันสมัยบางแห่งใช้กลยุทธ์การเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มซึ่งมีกำลังซื้อสูง ด้วยการจัดชุดเครื่องเซ่นไหว้ที่ถูกต้องตามประเพณีดั้งเดิมในรูปแบบที่ทันสมัย เพื่อสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีอายุไม่มาก และไม่มีญาติผู้ใหญ่ที่ทราบประเพณีเป็นผู้จัดชุดเซ่นไหว้ให้ แต่ต้องการปฏิบัติตามตามประเพณีดั้งเดิมเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวและความเจริญรุ่งเรืองของกิจการ
ตลาดสินค้าเครื่องเซ่นไหว้…ทรงตัว
ผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งเป็นผู้ซื้อเครื่องเซ่นไหว้ในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 66.3 ตั้งงบประมาณในการซื้อเครื่องเซ่นไหว้เท่ากับปีที่แล้ว รองลงมา คือ ร้อยละ 20.6 ตั้งงบประมาณลดลงจากปีที่แล้ว และมีผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 13.1 ที่ตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว
จากการสำรวจพบว่า งบประมาณโดยเฉลี่ยในการใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องเซ่นไหว้ช่วงตรุษจีนปีนี้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการควบคุมราคาสินค้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนของหน่วยงานภาครัฐ และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาหลังเกิดเหตุระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนต่างใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ในกรุงเทพฯช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 4,400 ล้านบาทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มีมูลค่า 4,300 ล้านบาท
บุตรหลานและญาติผู้ใหญ่..รับอั่งเปาเพิ่มขึ้น : เม็ดเงินสะพัด 6,400 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 53.9 แจกอั่งเปาในเทศกาลตรุษจีนซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยร้อยละ 90.4 แจกอั่งเปาเป็นเงินสด และร้อยละ 4.6 แจกอั่งเปาเป็นทองรูปพรรณ ผู้รับอั่งเปาในช่วงเทศกาลตรุษจีนส่วนใหญ่ คือ กว่าร้อยละ 60 เป็นบุตรหลานที่ยังไม่ทำงาน รองลงมา คือ ญาติผู้ใหญ่ และลูกจ้างหรือพนักงาน ตามลำดับ
การตั้งงบประมาณในการแจกอั่งเปาในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 59.0 ตั้งงบประมาณเท่ากับปีที่แล้ว ร้อยละ 23.5 ตั้งงบประมาณในการแจกอั่งเปาเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว และร้อยละ 17.5 ตั้งงบประมาณลดลงจากปีที่แล้ว
จากการสำรวจพบว่า งบประมาณโดยเฉลี่ยในการแจกอั่งเปาปีนี้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่จากสัดส่วนของผู้แจกอั่งเปาที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้โดยรวมมีเม็ดเงินอั่งเปาสะพัดในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วโดยมีมูลค่าประมาณ 6,400 ล้านบาท
สำหรับการซื้อขายทองรูปพรรณมีแนวโน้มซบเซาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมายังช่วงต้นปีนี้ เนื่องจากพฤติกรรมการจับจ่ายของคนไทยที่หันมาประหยัดและอดออมมากขึ้น เมื่อประกอบกับราคาทองที่ทรงตัวในระดับสูงและมีความผันแปรในบางช่วง ส่งผลให้ผู้บริโภคนิยมนำเงินอั่งเปาที่ได้รับในช่วงตรุษจีนซื้อสินค้าที่จำเป็นหรือเก็บออมไว้มากกว่าจะซื้อทองเก็บไว้
อย่างไรก็ตาม จากบรรยากาศการค้าทองคำที่มีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องมาจากช่วงปลายปี ทำให้บรรดาร้านค้าทองรายใหญ่ต่างจัดรายการส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆเพื่อกระตุ้นตลาดในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ อาทิ การลดค่ากำเหน็จ การผลิตสินค้าเป็นตุ๊กตาหมูทองคำรองรับปีใหม่ การปรับขนาดทองคำแท่งให้เล็กลงเพื่อให้มีราคาเหมาะสมกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง คือ ผลิตทองแท่งหนัก 1 บาทและ 2 บาทจากปกติที่มีขนาดหนัก 5 บาทและ 10 บาทเป็นส่วนใหญ่
กิจกรรมในกทม.ช่วงเทศกาลตรุษจีน : สร้างเม็ดเงินสะพัด 2,200 ล้านบาท
เทศกาลตรุษจีนปีนี้วันขึ้นปีใหม่หรือวันเที่ยวตรงกับวันหยุด คือ วันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2550 จึงมีแนวโน้มกระตุ้นให้คนกรุงเทพฯมีกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น จากการสำรวจพบว่า ตรุษจีนปีนี้คนกรุงเทพฯเลือกพำนักอยู่ในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว และยังมีกิจกรรมนอกบ้านในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 85.9 เลือกพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ และส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 74.5 มีกิจกรรมนอกบ้าน ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามที่เหลืออีกร้อยละ 25.5 พักผ่อนอยู่กับบ้าน
กิจกรรมนอกบ้านที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เลือกทำในช่วงเทศกาลตรุษจีน คือ การทำบุญไหว้พระตามวัดหรือศาลเจ้าที่นับถือรวมทั้งมงคลสถานต่างๆในกรุงเทพฯ อาทิ วัดมังกรกมลาวาส วัดไตรมิตรวิทยาราม และศาลเจ้าพ่อเสือ ซึ่งมีคนไทยเชื้อสายจีนและคนไทยจำนวนมากเลื่อมใสศรัทธา นอกจากนี้ยังมีการรับประทานอาหารนอกบ้าน การเดินซื้อของตามห้างสรรพสินค้า และการชมภาพยนตร์ เป็นต้น เป็นกิจกรรมที่ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกทำในลำดับรองๆลงมา
งบประมาณโดยเฉลี่ยสำหรับกิจกรรมนอกบ้านในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย ส่งผลให้โดยรวมแล้วคาดว่าจะมีเม็ดเงินคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,200 ล้านบาทสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ และสวนสนุก เป็นต้น
บรรดาห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าในกรุงเทพฯต่างจัดรายการส่งเสริมการขายหลากหลายรูปแบบ เพื่อดึงดูดลูกค้ามาร่วมกิจกรรมและเพิ่มอัตราการจับจ่ายซื้อสินค้าของลูกค้า ในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ต่อเนื่องมาถึงเทศกาลตรุษจีน เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ชดเชยยอดขายที่ต่ำกว่าเป้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ จากผลกระทบของเหตุลอบวางระเบิดหลายแห่งในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา
ขณะที่ห้องอาหารและภัตตาคารชั้นนำทั้งหลายในกรุงเทพฯต่างจัดรายการส่งเสริมการขายต่างๆ อาทิ การจัดเมนูพิเศษที่มีชื่อเป็นมงคลไว้บริการลูกค้ากลุ่มครอบครัวในช่วงเทศกาลตรุษจีน นอกจากนี้ ยังมีบริการส่งถึงบ้านสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการรับประทานอาหารกันในหมู่ญาติพี่น้องที่บ้าน
คนกรุงฯเที่ยวในประเทศ : เม็ดเงินสะพัด 1,800 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 14.1 วางแผนจะเดินทางไปเที่ยวในช่วงตรุษจีนซึ่งลดลงกว่าปีที่แล้ว สำหรับการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงตรุษจีนนั้น มีทั้งการเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับ และการเดินทางไปเที่ยวแบบค้างคืนในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยส่วนใหญ่ต่างมีโปรแกรมแวะทำบุญไหว้พระตามวัดและศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงของแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่ง
ผู้ตอบแบบสอบถามนิยมเดินทางทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เนื่องจากความสะดวกในการเดินทางและค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ไม่สูงนัก ได้แก่
– แหล่งท่องเที่ยวชายทะเล อาทิ พัทยา บางแสน ชะอำ และหัวหิน
– แหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ในภาคกลาง ส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งมีวัดที่มีชื่อเสียง ได้แก่ นครปฐม (พระปฐมเจดีย์ และวัดไร่ขิง) สุพรรณบุรี (วัดไผ่ล้อม) พระนครศรีอยุธยา (วัดมงคลบพิธ วัดพนัญเชิง วัดใหญ่ชัยมงคล) สระบุรี (วัดพระพุทธบาท) ฉะเชิงเทรา (วัดโสธรวรารามวรวิหาร) เป็นต้น
– แหล่งท่องเที่ยวซึ่งมีการจัดงานฉลองเทศกาลตรุษจีนอย่างยิ่งใหญ่ อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต นครสวรรค์ หาดใหญ่ และอุดรธานี
ผู้ตอบแบบสอบถามตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายในการไปเที่ยวต่างจังหวัดช่วงตรุษจีนสูงกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย แต่จากสัดส่วนการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดที่ลดลง ส่งผลให้โดยรวมแล้วการใช้จ่ายเพื่อเดินทางท่องเที่ยวในต่างจังหวัดลดลงจากปีที่แล้วโดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1,800 ล้านบาท
ทัวร์นอกช่วงตรุษจีน…ไม่คึกคัก : เงินตรารั่วไหลออกนอกประเทศ 800 ล้านบาท
การเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต่างหลีกเลี่ยงปัญหาราคาแพ็กเกจทัวร์ที่สูงกว่าช่วงปกติ และความแออัดของนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสำคัญ โดยเฉพาะเทศกาลตรุษจีนซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมากเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ
แหล่งท่องเที่ยวในต่างประเทศที่ได้รับความนิยมของคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนในช่วงตรุษจีนเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ในเอเชีย ได้แก่ จีน และฮ่องกง โดยเฉพาะฮ่องกงในปีนี้มีการจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ดึงดูดนักท่องเที่ยว
การเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศของคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนมีแนวโน้มลดลงจากปีที่แล้ว โดยคาดว่ามีมูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท
สรุป
การร่วมกิจกรรมสำคัญในเทศกาลตรุษจีนปี 2550 มีแนวโน้มคึกคัก เนื่องจากวันไหว้และวันเที่ยวตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์ ทำให้คาดว่าจะมีสมาชิกในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนรวมทั้งครอบครัวคนไทยที่ประกอบธุรกิจการค้า ร่วมกิจกรรมในเทศกาลตรุษจีนปีนี้กันอย่างพร้อมหน้ากว่าทุกปี อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด พบว่า คนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 15,600 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปีที่แล้วที่มีมูลค่ารวม 14,700 ล้านบาท เม็ดเงินที่ใช้จ่ายในช่วงตรุษจีนปีนี้ประกอบด้วยการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ประมาณ 4,400 ล้านบาท การแจกอั่งเปาประมาณ 6,400 ล้านบาท และการใช้จ่ายในกิจกรรมนอกบ้านประมาณ 2,200 ล้านบาท ทำให้เกิดเม็ดเงินคิดเป็นมูลค่า 13,000 ล้านบาทสะพัดไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังมีการใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 1,800 ล้านบาท และการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศประมาณ 800 ล้านบาท