ปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือตอนบน : กระทบธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ 2,000 ล้านบาท

ตลอดช่วงระยะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาทางภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ เชียงรายและแม่ฮ่องสอนถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก และยังส่งผลต่อจังหวัดลำปาง พะเยา น่าน แพร่ และลำพูน โดยมีปริมาณหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชากรในท้องถิ่น กล่าวคือปริมาณหมอกควันและฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นเกินค่ามาตรฐานที่ 120 ไมโครกรัม เป็น 250 ไมโครกรัม และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงสาธารณสุขมีการประกาศให้หลีกเลี่ยงการอยู่นอกอาคารเป็นเวลานาน และงดออกกำลังกายในที่โล่ง โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจและภูมิแพ้ นอกจากนี้สถานการณ์ดังกล่าวยังทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยว และส่งผลกระทบต่อทั้งธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกัน เนื่องจากสายการบินมีการงดเที่ยวบินบางเที่ยวบิน โดยเหตุผลเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร รวมทั้งข่าวสารเกี่ยวกับปริมาณหมอกควันและฝุ่นละอองที่มีผลกระทบต่อคุณภาพของอากาศอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวงดหรือเลื่อนแผนการท่องเที่ยวออกไป นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการสัญจรบนเส้นทางหลวงระหว่างจังหวัดด้วย

ไฟป่า…สาเหตุสำคัญของปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง
ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองที่ปกคลุมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนในปัจจุบันนั้นมีสาเหตุหลายประการไม่ว่าจะเป็นไฟป่าที่เกิดขึ้นจากอากาศที่แห้งและร้อนกว่าปกติเป็นผลมาจากสภาวะเอลนินโญ การเผาป่า การเผาวัชพืชในพื้นที่เกษตรกรรม การเผาขยะมูลฝอยในที่โล่ง ฝุ่นละอองจากถนน การก่อสร้างและเขม่าที่จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากท่อไอเสียรถยนต์ อย่างไรก็ตามปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่รุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากการคาดการณ์ว่าไฟป่าในประเทศไทยในปี 2550 นี้จะมีความรุนแรงมากกว่าในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2550 มีรายงานการเกิดไฟป่า 4,198 ครั้ง พื้นที่ป่าเสียหาย 65,037 ไร่ ซึ่งเป็นการเกิดไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือมากที่สุดถึง 2,160 ครั้งหรือร้อยละ 51.5 และพื้นที่ป่าในภาคเหนือเสียหาย 20,579.3 ไร่หรือร้อยละ 31.6 ซึ่งพื้นที่ป่าที่เสียหายนั้นยังเป็นอันดับสองรองจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีพื้นที่เสียหายถึง 29,246 ไร่หรือร้อยละ 45.0 นอกจากนี้ถ้าแยกเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่เกิดปัญหาไฟป่าแล้ว 300 ครั้ง พื้นที่ป่าเสียหายกว่า 1,500 ไร่

สาเหตุที่คาดการณ์ว่าไฟป่าในปี 2550 นี้จะรุนแรงมากขึ้น เนื่องจาก

-สภาวะเอลนินโญ่ สำนักงานวิจัยสภาพอากาศระหว่างประเทศ( The International Research Institute for Climate and Society : IRI )และกรมอุตุนิยมวิทยาของไทยรายงานถึงการพัฒนาตัวของปรากฏการณ์เอลนินโญ่ในช่วงเดือนกันยายน 2549 โดยฤดูไฟป่าในปี 2550 เริ่มต้นตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2549 ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่เร็วกว่าปกติ และอาจจะขยายยาวออกไปถึงเดือนมิถุนายน 2550 หากสภาวะเอลนินโญ่ยังไม่อ่อนกำลังลง ซึ่งสภาวะเอลนินโญ่นี้ทำให้เกิดสภาพอากาศแห้งแล้งและเป็นปัจจัยหนุนโอกาสในการเกิดไฟป่า เนื่องจากสภาพความแห้งแล้งในหลายพื้นที่ทำให้มีโอกาสเกิดไฟป่ารุนแรงและกินพื้นที่บริเวณกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติ รวมไปถึงบนยอดดอยสูง ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาไฟป่าก็จะสร้างปัญหาอย่างมาก เนื่องจากการเข้าไปดับไฟป่านั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก

-ปริมาณการสะสมของวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง (ใบไม้แห้ง กิ่งไม้แห้ง หญ้า และไม้พื้นล่าง)ในปี 2550 ปริมาณสะสมของวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงในป่ามีเพิ่มขึ้นมากกว่าฤดูไฟป่าที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ โดยในป่าเต็งรังมีเชื้อเพลิงสะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.0 ป่าเบญจพรรณเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.0 และป่าดิบแล้งเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 82.0 นับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตก ซึ่งปริมาณสะสมของเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นนี้นับว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เมื่อเกิดไฟป่าแล้วไฟป่ามีแนวโน้มรุนแรงและลุกลามเป็นบริเวณกว้างได้ง่าย

-สถานการณ์ไฟป่าในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นดัชนีพยากรณ์ความรุนแรงของไฟป่าของไทย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าฤดูเกิดไฟป่าในอินโดนีเซียปีนี้ยาวนานมากกว่าปีปกติ โดยปกติแล้วฤดูเกิดไฟป่าของอินโดนีเซีย ซึ่งตั้งอยู่ในซีกโลกใต้จะอยู่ระหว่างช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน และฤดูเกิดไฟป่าไทยซึ่งอยู่ซีกโลกเหนือจะอยู่ระหว่างเดือนธันวาคมถึงเมษายน และจากการติดตามเปรียบเทียบสถานการณ์ไฟป่าของทั้งสองประเทศที่ผ่านมา พบว่าหากปีใดประเทศอินโดนีเซียประสบปัญหาไฟป่ารุนแรง(อันเนื่องจากสถานการณ์เอลนินโญ่) ประเทศไทยก็จะประสบปัญหาไฟป่ารุนแรงด้วยเช่นเดียวกัน โดยอินโดนีเซียจะเป็นพื้นที่แรกที่ได้รับผลกระทบ และไทยเป็นพื้นที่ถัดมา ดังเช่นในช่วงปี 2540-2541 ซึ่งเกิดปรากฎการณ์เอลนินโญ่มีกำลังแรงมากส่งผลให้เกิดไฟป่าอย่างรุนแรงและกว้างขวางในอินโดนีเซียในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2540 และไทยก็มีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2541 ดังนั้นจึงมีโอกาสอย่างมากที่พื้นที่ภาคใต้ของไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันจากไฟป่าทั้งจากปัญหาไฟป่าในป่าพรุและปัญหาหมอกควันจากไฟป่าในอินโดนีเซียในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายนด้วย

-สถานการณ์ไฟป่าในประเทศเพื่อนบ้าน ในปี 2550 เกิดปัญหาไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ลุกลามเข้ามาในเขตไทย โดยช่วงต้นเดือนมีนาคม 2550 เกิดไฟป่าในพื้นที่ยอดดอยกูเต็งนาโย่ง จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า และลุกลามเข้ามาในเขตไทยบริเวณบ้านผาแตกและบ้านห้วยน้ำริน ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งกินบริเวณความเสียหายประมาณ 30 ไร่ แม้ว่าไฟป่าในเขตไทยจะสามารถดับได้แล้ว แต่ในฝั่งพม่าไฟยังคุกรุ่นอยู่ รวมทั้งยังมีรายงานว่ายังมีการเกิดไฟป่าในประเทศพม่าตรงข้ามสันเขาชายแดนทางเหนือของจังหวัดเชียงรายอีกหลายจุด ซึ่งยังไม่มีการเข้าไปดับไฟแต่อย่างใด ผลของการเกิดไฟป่าในครั้งนี้ทำให้สภาพอากาศในจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะอำเภอแม่สาย มีปัญหาหมอกควันปกคลุมหนาแน่น นอกจากนี้ยังมีรายงานไฟป่าบริเวณสันเขาของประเทศลาว บริเวณตรงข้ามอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ซึ่งส่งผลกระทบต่อราษฎร์ชาวเขาหลายหมู่บ้าน

ผลกระทบของการเกิดไฟป่า…ทรัพยากรป่าไม้ลด
สถานการณ์ไฟป่านั้นก่อให้เกิดผลเสียอย่างมากต่อทรัพยากรป่าไม้ซึ่งปัจจุบันมีเหลือป่าธรรมชาติอยู่น้อยมาก จากรายงานเนื้อที่ป่าแยกออกเป็นเนื้อที่ป่าสงวนแห่งชาติ 230,370.39 ตารางกิโลเมตร และเนื้อที่ป่าธรรมชาตินั้นในปี 2541 คงเหลืออยู่เพียง 129,722 ตารางกิโลเมตรเทียบกับในปี 2538 ซึ่งมีเนื้อที่ป่าธรรมชาติเท่ากับ 131,485 ตารางกิโลเมตร แล้วลดลงร้อยละ 1.3 ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ยังคงสภาพป่าอยู่เพียงร้อยละ 25.3 ของพื้นที่ทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามปัญหาของไฟป่าที่น่ากลัวคือ ภายหลังจากการเกิดไฟป่าจะมีการบุกรุกจับจองพื้นที่ ทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นป่ากลายเป็นพื้นที่ทำกินถาวร ไม่มีโอกาสได้ฟื้นสภาพกลับเป็นพื้นที่ป่าได้อีกต่อไป

ผลกระทบจากไฟป่าแยกออกได้เป็นดังนี้

1.ผลกระทบต่อผลผลิตจากป่า ได้แก่
-ลดอัตราการเติบโตของต้นไม้ ทั้งนี้เพราะไฟป่าเผาไหม้ส่วนที่ปรุงอาหารของต้นไม้ หากมีไฟป่าเป็นประจำ อัตราการเติบโตของต้นไม้ในป่าลดลง แม้ว่าไม้บางประเภทจะไม่ได้รับความเสียหายจากการเกิดไฟป่า โดยเฉพาะไม้สัก แต่ไม้ดังกล่าวก็มีอัตราการเจริญเติบโตที่ลดลงด้วย

-ทำให้คุณภาพของไม้เสื่อมลง ทำให้เกิดตำหนิ เป็นแผล ซึ่งทำให้แมลงและเห็ดราเข้าไปทำลายเนื้อไม้ได้ง่าย ทำให้ต้นไม้มีความแข็งแรงน้อย มีความต้านทานต่อเชื้อเห็ดราและแมลงต่ำ
-ทำให้สิ่งปกคลุมดิน ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติถูกเผาไหม้หมดไป

-ทำให้ระบบสังคมพืชพันธุ์ ( Plant Succession) แปรสภาพไปทำให้ไม้บางชนิดอื่นๆ บุกรุกแซมขึ้นมาได้

-น้ำฝนที่ตกลงมาบริเวณที่เกิดไฟป่าจะขุ่นข้น ไม่ใสสะอาด เพราะจะพัดพาขี้เถ้ามาด้วย

-ทำลายทิวทัศน์และความสวยงามตามธรรมชาติ

2.ปัญหาในเรื่องหมอกควัน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากในหลายด้าน ดังนี้

-ผลกระทบต่อเนื่องถึงธุรกิจการท่องเที่ยว ในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหาไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมีเพียงจังหวัดแม่ฮ่องสอนเท่านั้น แต่ในปี 2550 นี้ คาดว่าผลกระทบจากปัญหาหมอกควันจากไฟป่านั้นจะกระทบต่อ 7 จังหวัดในภาคเหนือ โดยจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบมากคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงราย ส่วนจังหวัดลำปาง พะเยา น่านและแพร่ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันจังหวัดที่ได้รับผลกระทบชัดเจนคือแม่ฮ่องสอน โดยมีการยกเลิกเที่ยวบินระหว่างเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยว ส่วนจังหวัดอื่นๆยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่คาดหมายว่าถ้าปัญหาหมอกควันยังไม่คลี่คลายก็อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและระบบเศรษฐกิจโดยภาพรวมของจังหวัด

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าถ้าปัญหาหมอกควันที่ปกคลุมในเขตภาคเหนือยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงสงกรานต์และกระจายไปจังหวัดต่างๆมากขึ้นนี้จะสร้างความเสียหายต่อธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยประเมินจากจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เฉพาะในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และเชียงราย โดยคาดว่าปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2550 ในพื้นที่ 3 จังหวัดนี้ลดลงประมาณร้อยละ 25.0 เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดนี้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2550 จะเท่ากับ 1.05 ล้านคน ซึ่งส่งผลให้ทั้งสามจังหวัดนี้สูญเม็ดเงินที่จะสะพัดจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไปสู่ธุรกิจบริการต่างๆประมาณเกือบ 2,000 ล้านบาท หรือลดลงประมาณร้อยละ 25.0 ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปีเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาว รวมทั้งยังเป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน และเป็นช่วงเทศกาลท่องเที่ยว โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์
ส่วนในด้านการท่องเที่ยวในเขตภาคใต้ ในปี 2550 มีโอกาสอย่างมากที่พื้นที่ภาคใต้ของไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันทั้งจากไฟป่าในประเทศและจากไฟป่าในอินโดนีเซีย โดยปัญหาไฟป่าในเขตพื้นที่ภาคใต้เคยสร้างปัญหาในปี 2541 จนกระทั่งทางการมาเลเซียประกาศเตือนนักท่องเที่ยวให้ระวังปัญหาหมอกควันจากไฟป่าของไทย ส่วนไฟป่าในอินโดนีเซียส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายนด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวในเขตภาคใต้

-ผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ปัญหาหมอกควันส่งผลกระทบต่อโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนเข้ามารักษาทั้งตามโรงพยาบาลและสถานีอนามัยเป็นจำนวนมาก ทำให้ทั้งโรงพยาบาลและสถานีอนามัยทุกพื้นที่ที่มีปัญหาหมอกควันต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยจากระบบทางเดินหายใจที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ การป้องกันที่ดีควรใส่หน้ากากอนามัยหรือผ้า 2-3 ชั้น ชุบน้ำหมาดๆ ปิดจมูกเมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้าน และใส่หมวกกันน็อคที่มีหน้ากาก หรือใส่แว่นตากันลมกันฝุ่นเข้าตาหากต้องขับรถมอเตอร์ไซด์ ลดหรืองดการสูบบุหรี่ลงเพื่อเพิ่มภูมิต้านทานร่างกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ กระทรวงสาธารณสุข มีมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอน และพะเยา ซึ่งมีประมาณกว่า 5 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองควันไฟจาการเผาป่า ซึ่งแนวโน้มสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องประสานกระทรวงเกษตรฯให้ทำฝนเทียมโดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะวิกฤติคือให้ฝุ่นไม่เกิน 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปด้วย ไม่เฉพาะกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น และอาจมีผลอาจทำให้ขาดออกซิเจนบางส่วน ซึ่งที่ผ่านมาในไทยยังไม่มีการเสียชีวิตจากฝุ่นละอองไฟป่า

นอกจากนี้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ที่ประสบปัญหาหมอกควันดำเนินการแจกหน้ากากอนามัย เพื่อให้ประชาชนใส่ป้องกันการสูดฝุ่นละอองเข้าปอด โดยเน้นที่กลุ่มเสี่ยงอันตรายก่อน ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด และโรคปอดเป็นการด่วน และให้ทุกจังหวัดศึกษาผลกระทบของฝุ่นละอองต่อสุขภาพในระยะยาว ทั้งนี้เพื่อวางแผนป้องกันในอนาคต สำหรับการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในระยะเบื้องต้นมีผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเข้ารักษาตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10-20 ในแต่ละโรงพยาบาลและสถานีอนามัย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2549

-ปัญหาในการจราจรทั้งทางบก และทางอากาศ ปัญหาหมอกควันส่งผลโดยตรงต่อทัศนวิสัยการมองเห็นของผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะ ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น เช่น บนถนนพหลโยธิน ตั้งแต่ตัวจังหวัดเชียงรายไปจนถึงชายแดนไทย-พม่าระยะการมองเห็นต่ำกว่า 300 เมตร เป็นต้น ส่วนบริษัทการบินไทยต้องยกเลิกเที่ยวบินเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอนตลอดทั้งวันหลังจากวันที่ 11 มีนาคม 2550 เป็นต้นมา โดยจัดให้เดินทางด้วยรถโดยสารมินิบัสไปแม่ฮ่องสอนแทน และจะประเมินสถานการณ์วันต่อวัน เนื่องจากทัศนวิสัยบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนมองเห็นประมาณ 500-700 เมตร

บทสรุป
ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ปกคลุมหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ในปี 2550 นี้ปัญหามีแนวโน้มรุนแรงมากที่สุดในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้มีปัจจัยหนุนสำคัญ คือ สภาวะเอลนินโญที่ส่งผลให้อากาศแห้งและร้อนกว่าปกติ ซึ่งเอื้ออำนวยต่อโอกาสที่จะเกิดไฟป่าและทำให้ไฟป่าที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง รวมทั้งยังลุกลามขยายบริเวณได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยเสริมจากสาเหตุการเกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยปีปกติปัญหาเกิดขึ้นจากการเผาป่า การเผาวัชพืชในพื้นที่เกษตรกรรม การเผาขยะมูลฝอยในที่โล่ง ฝุ่นละอองจากถนน การก่อสร้างและเขม่าที่จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากท่อไอเสียรถยนต์

ผลกระทบโดยตรงของปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้นส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจของท้องถิ่นด้วย โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้จะทำให้ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ เชียงรายและแม่ฮ่องสอนมีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกันในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2550 ลดลงประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 25.0 ทั้งนี้ประเมินจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะลดลง ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องลดลง ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปีเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาว รวมทั้งยังเป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน และเป็นช่วงเทศกาลท่องเที่ยว โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์