มาฆบูชาปี 2550 : คนกรุงฯมุ่งเข้าวัด…ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม 2550 เป็นวันมาฆบูชา บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯในเรื่อง “กิจกรรมวันมาฆบูชาของคนกรุงเทพฯ” ในระหว่างวันที่ 19-23 กุมภาพันธ์ 2550 โดยเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกเน้นการสำรวจที่มีการกระจายไปในเขตต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ และกระจายอาชีพ เพศ และอายุของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งพิจารณาเห็นว่าปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการแสดงพฤติกรรมต่างๆในการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา โดยเล็งเห็นความสำคัญของศาสนาที่จะมีบทบาทกล่อมเกลาจิตใจคนไทยในภาวะที่บีบรัดทางเศรษฐกิจ และสังคมให้มีจิตใจที่หนักแน่น มั่นคง สามารถต่อสู้กับปัญหา อุปสรรคต่างๆอย่างมีปัญญาในการแก้ปัญหาต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไป ซึ่งล้วนเป็นคุณค่าทางจิตใจ ในขณะเดียวกัน การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาของคนกรุงเทพฯก็ทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในหลากธุรกิจ
นอกจากนี้ทาง บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ยังได้ทำการสำรวจถึงประเด็นของธุรกิจสังฆทานสำเร็จรูป โดยการสำรวจความคิดเห็นทั้ง 3 ฝ่ายคือ คนที่ถวายสังฆทาน พระสงฆ์ และร้านจำหน่ายเครื่องสังฆทาน เนื่องจากในปีนี้นับว่าเป็นปีแรกที่มีการประกาศเครื่องสังฆทานสำเร็จรูปเป็นสินค้าควบคุมฉลาก รวมทั้งยังมีการตรวจสอบเพื่อเอาผิดสินค้าในเครื่องสังฆทานส่วนใหญ่ที่บรรจุเป็นหีบห่อ เนื่องจากสินค้าบางประเภทมีปริมาณและน้ำหนักไม่ตรงกับที่ระบุไว้ ซึ่งนับว่าผิดกฎหมายชั่งตวงวัด ทั้งนี้นับได้ว่าเป็นการปกป้องไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ และเป็นการแก้ไขปัญหาเครื่องสังฆทานสำเร็จรูปที่มีปัญหามานานด้วย

ใส่บาตร บริจาคเงิน ทำสังฆทาน…กิจกรรมยอดฮิตในวันมาฆบูชา
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ“กิจกรรมวันมาฆบูชาของคนกรุงเทพฯ” ในระหว่างวันที่ 19-23 กุมภาพันธ์ 2550 โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่ากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาที่คนกรุงเทพฯตั้งใจจะทำในวันมาฆบูชาเป็นอันดับหนึ่งคือ ใส่บาตร รองลงมาคือ ถวายสังฆทานและบริจาคเงิน นับเป็นกิจกรรมยอดฮิตเช่นเดียวกับทุกปีที่ผ่านมา
ประเด็นที่น่าสนใจในช่วงเทศกาลวันมาฆบูชาในปี 2550 นี้ทางรัฐบาลเร่งประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ และวันมาฆบูชานั้นตรงกับวันเสาร์ ทำให้วันจันทร์ที่ 5 มีนาคมนับเป็นวันหยุดชดเชย ซึ่งเท่ากับว่าเป็นช่วงเทศกาลหยุดยาว กอปรกับเป็นช่วงวันหยุดกลางภาคของนักเรียนส่วนใหญ่ รวมทั้งยังเป็นปีที่เฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงมีพระชนมายุฯครบ 80 พรรษา ดังนั้นจึงคาดว่าเทศกาลวันมาฆบูชาในปีนี้จึงน่าจะคึกคักกว่าหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าในปีนี้ภาวะเศรษฐกิจจะไม่เอื้ออำนวยมากนักก็ตาม
แม้ว่าสิ่งที่ผู้ประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนานั้นคือ คุณค่าทางจิตใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่ากิจกรรมทางศาสนานั้นก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในหลากธุรกิจ โดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในปี 2550 จะมีเม็ดเงินสะพัดในช่วงวันมาฆบูชาประมาณ 500 ล้านบาท โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายเฉลี่ยและจำนวนผู้ที่ตั้งใจจะไปทำบุญในวันมาฆบูชานี้ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนาเฉลี่ย 200 บาทต่อครัวเรือน อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายนี้จะแตกต่างกันอย่างมากตามแต่กำลังซื้อของแต่ละคน อายุ และประเภทของกิจกรรมที่ตั้งใจจะทำในวันมาฆบูชาด้วย กล่าวคือ กลุ่มวัยรุ่นมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 100 บาทต่อคน กลุ่มตัวอย่างที่อายุ 20-40 ปีมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 150-200 บาท และกลุ่มที่มีอายุมากกกว่า 40 ปีขึ้นไปนั้นมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 200-400 บาท

กิจกรรมศาสนาเอื้อธุรกิจ…หลากธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์
จากการสำรวจค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯในวันมาฆบูชา ธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ในวันมาฆบูชา มีดังนี้
-ธุรกิจจำหน่ายอาหาร ผลไม้และขนม พฤติกรรมในการใส่บาตรของคนไทยส่วนใหญ่ยังคงเน้นความสะดวกเป็นสำคัญ และจะใส่บาตรในวันพระและเทศกาลวันสำคัญเป็นส่วนใหญ่ โดยปริมาณการใส่บาตรเฉลี่ย 1-3 รูป การใส่บาตรของคนไทยนั้นก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในหลากธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจจำหน่ายอาหารไม่ว่าจะเป็นร้านจำหน่ายอาหารทั้งอาหารคาว-หวาน รวมไปถึงร้านจำหน่ายผลไม้และขนมนานาชนิด สำหรับผู้ที่ต้องการใส่บาตร ซึ่งธุรกิจเหล่านี้จะมีการจัดชุดใส่บาตรอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการตักบาตร และผู้ที่ต้องการนำอาหารไปถวายพระที่วัด สำหรับคนกรุงเทพฯที่นานๆ ตักบาตรครั้งนับเป็นเรื่องใหญ่ และไม่คุ้นเคยมากนัก ดังนั้นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในการหันไปพึ่งอาหารสำเร็จรูปนอกบ้านในการตักบาตรมากขึ้น โดยอาศัยความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดเวลา ก่อให้เกิดธุรกิจที่เอื้ออำนวยความสะดวกในส่วนนี้ตามมามีมูลค่าไม่น้อยในแต่ละปี
-ธุรกิจร้านสังฆภัณฑ์ และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ โดยคาดว่ายอดจำหน่ายเครื่องสังฆทานสำเร็จรูปจะเพิ่มขึ้นในช่วงวันสำคัญทางศาสนา โดยที่สินค้าในร้านสังฆภัณฑ์และซุปเปอร์มาร์เก็ตจะเน้นไปที่กลุ่มของอาหารกระป๋อง ทั้งคาวและหวาน นอกเหนือจากเครื่องสังฆภัณฑ์ที่ปัจจุบันมีจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตอย่างแพร่หลายด้วยเช่นกัน ทั้งนี้นับว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และเป็นการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายของสินค้าประเภทเครื่องสังฆภัณฑ์
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้จ่ายในการซื้อเครื่องสังฆทานพบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของคนกรุงเทพฯในการซื้อเครื่องสังฆทานสำเร็จรูปประมาณเดือนละ 300-500 บาทต่อครัวเรือน หรือตกประมาณ 800 ล้านบาทต่อปี โดยคำนวณเฉพาะครัวเรือนที่มีการถวายสังฆทาน คนกรุงเทพฯร้อยละ 41.5 คิดว่าการถวายสังฆทานนั้นเป็นประเพณีที่ต้องถือปฏิบัติขาดไม่ได้ ร้านที่คนกรุงเทพฯนิยมซื้อเครื่องสังฆทานมากที่สุดคือ ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ร้านจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์ รองลงมาคือ ร้านค้าทั่วไป และร้านค้าในวัด
สำหรับคนกรุงเทพฯถ้าจะต้องเลือกระหว่างสังฆทานสำเร็จรูปกับสังฆทานที่เลือกซื้อของใส่เองนั้น คนกรุงเทพฯถึงร้อยละ 63.2 ยังคงนิยมสังฆทานสำเร็จรูป เนื่องจากความสะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลา ซื้อหาง่าย และเชื่อว่าร้านค้าจัดของให้ครบตามต้องการและความเชื่อที่มีอยู่ว่าจะต้องถวายให้ครบปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค รวมทั้งยังเชื่อว่าสังฆทานสำเร็จรูปสามารถใช้แทนกับเครื่องสังฆทานที่เลือกซื้อของใส่เอง อย่างไรก็ตาม ยังมีคนกรุงเทพฯอีกร้อยละ 20.8 ไม่เห็นด้วยกับการซื้อสังฆทานสำเร็จรูป เนื่องจากเชื่อว่ามีของไม่ครบ สินค้าไม่มีคุณภาพ และของบางอย่างไม่ถูกใจ
-ธุรกิจร้านจำหน่ายดอกไม้ ธุรกิจร้านจำหน่ายดอกไม้สดนี้นับว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากในช่วงวันสำคัญทางศาสนานั้นยอดจำหน่ายดอกไม้สดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพวงมาลัยและดอกบัว โดยคนกรุงเทพฯที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาในช่วงวันมาฆบูชาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 98.9 ระบุว่าตั้งใจจะซื้อดอกไม้ไปถวายพระด้วย โดยดอกไม้ที่ตั้งใจจะซื้อนั้นร้อยละ 58.9 ระบุว่าเป็นดอกบัว และอีกร้อยละ 41.1 ตั้งใจจะซื้อพวงมาลัย ซึ่งเม็ดเงินที่สะพัดเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการซื้อพวงมาลัย ดอกบัว รวมไปถึงดอกไม้ประเภทอื่นๆไปถวายวัดนั้นนอกจากจะทำให้รายได้ของร้านจำหน่ายดอกไม้เพิ่มขึ้นแล้วยังส่งผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกดอกไม้อีกด้วย

คุณภาพของเครื่องสังฆทานสำเร็จรูป…ปัญหาหนักอกของคนทำบุญและพระสงฆ์
จากความนิยมในการทำบุญโดยการถวายเครื่องสังฆทานสำเร็จรูปส่งผลให้ธุรกิจเครื่องสังฆทานสำเร็จรูปเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก โดยมูลค่าตลาดเครื่องสังฆทานสำเร็จรูปมีอัตราเติบโตถึงร้อยละ 20.0 อย่างต่อเนื่องทุกปี ยิ่งในสภาพเศรษฐกิจซบเซาและการเกิดปัญหาตึงเครียดทางสังคม นับเป็นปัจจัยหนุนให้คนไทยหันหน้าเข้าวัดและทำบุญเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ส่งผลต่อเนื่องให้ยอดจำหน่ายเครื่องสังฆทานสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้บรรดาผู้ประกอบในธุรกิจจำหน่ายเครื่องสังฆทานสำเร็จรูปปรับตัวตามความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายในการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสมกับสินค้า ซึ่งช่องทางการจำหน่ายที่สำคัญในปัจจุบันคือบรรดาร้านค้าปลีกสมัยใหม่โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าและดิสเคาน์สโตร์ จากเดิมที่บรรดาลูกค้าจะสั่งซื้อที่ร้านสังฆภัณฑ์เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้เครื่องสังฆทานที่วางจำหน่ายตามร้านค้าปลีกสมัยใหม่นั้นจะแตกต่างจากตลาดล่างหรือที่วางจำหน่ายตามร้านจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์ กล่าวคือ สินค้าที่วางจำหน่ายตามร้านค้าปลีกสมัยใหม่นั้นต้องมีมาตรฐานตามที่ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนด เช่น ข้างถังจะต้องมีรายชื่อสินค้าทุกอย่างติดเอาไว้ รวมถึงวันหมดอายุของสินค้ากำกับไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ด้วยภาวะการแข่งขันแย่งชิงชั้นวางของในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ทำให้บรรดาผู้ประกอบการที่ได้สิทธิ์เข้าไปวางจำหน่ายต้องเข้มงวดในการคัดเลือกสินค้าที่จะบรรจุลงถังสังฆทาน โดยการทดสอบคุณภาพ และมาตรฐานของสินค้ารวมไปถึงวันหมดอายุด้วย
ในขณะที่เมื่อผู้บริโภคไปซื้อเครื่องสังฆทานที่ตลาดล่างหรือตามร้านสังฆภัณฑ์มักจะประสบปัญหาหลากหลายประการ โดยเฉพาะไม่มีการระบุรายการสินค้าและวันหมดอายุที่ข้างถัง บางร้านยังใส่กระดาษหนังสือพิมพ์ไว้ที่ก้นถัง สินค้าหมดอายุ สินค้าไม่เต็มตามจำนวนที่ระบุไว้ เช่น ผ้าสบงไม่เต็มผืน ธูปแนบหนึ่งมีเพียง 3 ดอก เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ยังได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของพระในเขตกรุงเทพฯในเรื่องเกี่ยวกับเครื่องสังฆทาน โดยกระจายตามขนาดวัดและกระจายตามเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ ปรากฏว่าท่านมีความคิดเห็นว่าการถวายสังฆทานในปัจจุบันกลายเป็นประเพณีนิยม และนับเป็นหลักจิตวิทยาในการสร้างที่พึ่งทางใจสำหรับคนในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การถวายเครื่องสังฆทานในปัจจุบันร้อยละ 63.0 ยังไม่ถูกต้องตามความเชื่อ โดยเฉพาะเครื่องสังฆทานสำเร็จรูป เนื่องจากเป็นไปตามที่ร้านจัดให้ ทำให้มีปัจจัยบางอย่างหายไป ความหมายของสังฆทานผิดไป และมุ่งทำเป็นเชิงพาณิชย์มากเกินไป เนื่องจากความนิยมในการถวายสังฆทานทำให้บางวัดจะต้องระบุเวลาในการรับสังฆทานเพื่อความสะดวกของบรรดาญาติโยม สำหรับการสำรวจถึงการใช้ประโยชน์จากเครื่องสังฆทานของพระในเขตกรุงเทพฯพบว่า ของบางอย่างในเครื่องสังฆทานสำเร็จรูปเป็นสิ่งไม่จำเป็น และบางอย่างเป็นสินค้าที่หมดอายุแล้ว ซึ่งบรรดาของที่มีมากเกินความต้องการ ได้แก่ อาหารกระป๋อง ถังน้ำ ข้าวสาร ธูปเทียน สบู่ ยาสีฟัน ใบชา เกลือ น้ำตาล กระดาษชำระ ไม้จิ้มฟัน และไม้ขีดไฟ ซึ่งของที่มีมากเกินความต้องการเหล่านี้ท่านนำเอาไปบริจาคให้วัดในต่างจังหวัด บริจาคให้คนจน มอบให้ลูกศิษย์ บริจาคเป็นผ้าป่า และบางส่วนเก็บเอาไว้ก่อน สำหรับของที่ยังไม่พอใช้ ได้แก่ สมุด หนังสือ และสบง-จีวร
สิ่งที่ลูกค้าบ่นมากที่สุดในการซื้อเครื่องสังฆทานสำเร็จรูป คือ ร้อยละ 62.2 จะบ่นในเรื่องราคาสูงที่เกินไป รองลงมาร้อยละ 21.4 จะเป็นเรื่องสินค้าที่อยู่ในสังฆทานสำเร็จรูปเป็นของเก่า และอีกร้อยละ 16.4 ระบุว่าสินค้าไม่ถูกใจ รวมทั้งไม่มีความหลากหลายของสินค้าให้เลือก ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจว่ามีโอกาสมากที่ของในเครื่องสังฆทานจะเก่า เนื่องจากร้อยละ 47.0 ของร้านที่จำหน่ายเครื่องสังฆทานสำเร็จรูปนั้นมีการเก็บสต็อกสินค้าตลอดทั้งปี ส่วนอีกร้อยละ 53.0 นั้นเก็บสต็อกในช่วงเทศกาล
จากปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับธุรกิจเครื่องสังฆทานสำเร็จรูป ทำให้มีข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคถึงคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและกรมการค้าภายในอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งในวันที่ 5 มกราคม 2550 สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้สินค้าชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ซึ่งหมายถึงผู้จำหน่ายสินค้าชุดสังฆทานจะต้องติดฉลากบอกรายละเอียดตั้งแต่วันผลิต ส่วนประกอบ วันหมดอายุ และราคา โดยหลังจากนี้อีก 3 เดือนจะให้เวลากับร้านจำหน่ายเพื่อเตรียมปรับปรุง ขณะเดียวกันในกรุงเทพฯมีการส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค และต่างจังหวัดแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบฉลากเครื่องสังฆทาน โดยการสุ่มตรวจทั่วประเทศนั้นหากพบร้านจำหน่ายกระทำผิดจะตักเตือนก่อน หลังจาก 3 เดือนแล้วหากไปตรวจพบกระทำผิดเป็นครั้งที่ 2 จะดำเนินคดีตามกฎหมายทันที สำหรับบทลงโทษจะมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ส่วนผู้ผลิตจะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน
นอกจากนี้ในส่วนของกรมการค้าภายใน ซึ่งมีการออกตรวจสอบราคาสินค้าเครื่องสังฆทานกลับพบปัญหาเพิ่มเติมว่าผู้ประกอบการมีการติดป้ายแสดงราคาสินค้าอย่างถูกต้อง แต่พบสินค้าในเครื่องสังฆทานส่วนใหญ่ที่บรรจุเป็นหีบห่อ เป็นสินค้าที่มีปริมาณและน้ำหนักไม่ตรงกับที่ระบุไว้ เช่น ขิงผงชาสำเร็จรูปขนาด 15 กรัม ภายในกล่องมีเพียง 1 ซองเล็กเท่านั้น รวมทั้งน้ำชามีปริมาณขาดหาย อีกทั้งข้าวสารบรรจุกล่องขนาด 100 กรัม ที่กำหนดราคาขายกล่องละ 7 บาท ปรากฏว่าน้ำหนักไม่ครบตามที่บรรจุ หรือแม้แต่ธูป 1 กล่อง ที่กำหนดราคาขาย 3 บาท มีธูปเพียง 3 ดอก ยากระสายเส้น กล่องละ 10 บาท มียาเพียง 8 เม็ด กระติกน้ำที่นำมาเป็นสังฆภัณฑ์กำหนดราคาถึง 120 บาท ทั้งที่กระติกน้ำดังกล่าวมีราคาจริงเพียงไม่กี่สิบบาท เป็นต้น นับว่าเข้าข่ายการหลอกลวงผู้บริโภค โดยเป็นการโกงปริมาณ-น้ำหนัก ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมายชั่ง ตวง วัด โทษหนักจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตามการเข้ามาแก้ไขปัญหาของทั้งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคและกรมการค้าภายในนั้นนับว่าเป็นแนวทางที่ดีในการที่จะช่วยยกระดับคุณภาพของเครื่องสังฆทานสำเร็จรูป และนับเป็นการป้องกันการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค แต่อีกประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลควรจะยื่นมือเข้าไปแก้ไขด้วย คือ ปัจจุบันเครื่องสังฆทานสำเร็จรูปที่ผู้บริโภคถวายวัดไปแล้วมีผู้นำมาเวียนเทียนจำหน่ายให้กับร้านค้าอีก ซึ่งบางครั้งเครื่องสังฆทานชุดนั้นอาจจะมีปัญหาในเรื่องคุณภาพของสินค้า โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสินค้าหมดอายุ ดังนั้นสำนักงานพระพุทธศาสนาควรขอความร่วมมือกับวัดต่างๆที่รับถวายสังฆทาน โดยเมื่อมีผู้ถวายสังฆทานแล้วควรนำของที่มีอยู่ในเครื่องสังฆทานแยกออกจากกันเพื่อนำไปใช้ประโยชน์หรือแจกจ่ายไปในที่ต่างๆแทนที่จะเปิดโอกาสให้มีผู้นำกลับมาเวียนเทียนขายให้ร้านค้าหรือกองทิ้งไว้ในวัดโดยเปล่าประโยชน์

บทสรุป
วันมาฆบูชาปี 2550 นับว่าเป็นวันสำคัญทางศาสนาที่บรรดาคนไทยจะมีโอกาสได้เข้าวัดทำบุญ ซึ่งการทำบุญนั้นนับว่าเป็นการกล่อมเกลาจิตใจให้สงบ เป็นแนวทางบรรเทาความเครียดจากหลากหลายปัญหาที่รุมเร้า โดยพฤติกรรมการทำบุญในวันสำคัญทางศาสนาก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในหลากหลายธุรกิจ

ประเด็นที่น่าสนใจในวันมาฆบูชาปีนี้คือ ปีนี้เป็นปีแรกที่ทางคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรีจะเข้ามาควบคุมการจำหน่ายเครื่องสังฆทานสำเร็จรูป หลังจากที่ในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนปัญหาต่างๆมากมาย โดยเฉพาะสินค้าหมดอายุ และสินค้าไม่มีคุณภาพ โดยการประกาศเครื่องสังฆทานสำเร็จรูปเป็นสินค้าควบคุมฉลาก รวมทั้งยังมีการตรวจสอบเพื่อเอาผิดสินค้าในเครื่องสังฆทานส่วนใหญ่ที่บรรจุเป็นหีบห่อ เนื่องจากสินค้าบางประเภทมีปริมาณและน้ำหนักไม่ตรงกับที่ระบุไว้ ซึ่งนับว่าผิดกฎหมายชั่งตวงวัด นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภค พระสงฆ์ที่ได้รับถวายสังฆทาน และบรรดาผู้ผลิตเครื่องสังฆทานสำเร็จรูปที่ได้มาตรฐาน