สภาพคล่องท่วมแบงก์ไทย 8.33 แสนล้านบาท … อัตราดอกเบี้ยยังปรับลดลงได้อีก

ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลงอีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 4.50 ซึ่งนับเป็นการปรับลดรอบที่สองต่อจากในการประชุมรอบแรกของปีในวันที่ 17 มกราคมที่ธปท.ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ร้อยละ 4.75 เทียบกับระดับ ณ ปลายปี 2549 ที่อยู่ที่ร้อยละ 4.9375 ทั้งนี้ จากภาวะสภาพคล่องที่ยังคงมีระดับสูงในปัจจุบัน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราดอกเบี้ยในประเทศ ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ ยังมีโอกาสจะปรับลดลงได้อีกในระยะถัดไป
โดยในช่วงที่ผ่านมา ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2549 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย มียอดสินทรัพย์สภาพคล่อง ซึ่งวัดจากยอดรวมของเงินสด การลงทุนในตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคารสุทธิ และการลงทุนในตลาดซื้อคืนพันธบัตรสุทธิ จำนวน 7.36 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 2.76 แสนล้านบาท จากยอดสินทรัพย์สภาพคล่องจำนวน 4.60 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2548 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2549 ดังกล่าว เป็นผลหลักมาจากปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด การเกินดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ และการขยายตัวของเงินฝากในอัตราที่สูงกว่าการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในปี 2549 สำหรับตัวเลขล่าสุดในเดือนมกราคม 2550 นั้น สินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงปรับสูงขึ้นอีกราว 9.6 หมื่นล้านบาทจากสิ้นปีก่อนหน้า มาที่ 8.33 แสนล้านบาท อันเป็นผลจากการเพิ่มสูงขึ้นของเงินฝาก ในขณะที่สินเชื่อชะลอตัวลง

แนวโน้มสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงที่เหลือของปี 2550

สำหรับในปี 2550 นั้น ถึงแม้ว่าประเด็นการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ของทางการ ทั้งการออกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 18 ธันวาคม 2549 และการอนุมัติหลักการร่างแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2550 ตลอดจนปัญหาการเมือง โดยเฉพาะการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญและการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่าจะสามารถดำเนินการผ่านไปได้ด้วยความราบรื่นและเป็นไปตามกำหนดเวลาที่ตั้งไว้หรือไม่ นั้น อาจจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและแนวโน้มการไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างประเทศ จนส่งผลกระทบตามมาที่ภาวะสภาพคล่องโดยรวมในประเทศ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และคงจะยังสามารถรองรับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ได้
โดยปัจจัยที่คาดว่าอาจจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2550 ได้แก่

? การคาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่อง แม้จะคาดว่าการส่งออกอาจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากร้อยละ 17.4 ในปี 2549 มาที่ประมาณร้อยละ 10-12 ในปี 2550 อันเป็นผลจากการเติบโตที่ชะลอลงของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะสหรัฐฯ การแข็งค่าของเงินบาท และฐานการเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อนหน้า แต่แนวโน้มการลงทุนที่คาดว่าจะขยายตัวไม่สูงมากนัก ประกอบกับราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลงชัดเจน คงจะทำให้การนำเข้าในปี 2550 ขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงไปกว่าอัตราการเติบโตของการส่งออก ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจึงมีแนวโน้มจะบันทึกยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องในปี 2550 เป็นจำนวนที่สูงกว่าในปี 2549 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจมียอดเกินดุลสูงถึง 6.1-7.3 พันล้านดอลลาร์ฯในปีนี้ เทียบกับที่เกินดุลจำนวน 3.2 พันล้านดอลลาร์ฯในปีที่ผ่านมา ซึ่งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดดังกล่าว คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนภาวะสภาพคล่องโดยรวมของไทยในปี 2550 นี้

? การไหลเข้าสุทธิของเงินลงทุนจากต่างประเทศที่อาจไม่สูงไปกว่าปีที่ผ่านมา จากเหตุลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯ ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศโดยเฉพาะจังหวัดทางภาคใต้ สถานการณ์การเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนทั้งในประเด็นการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญและคดียุบพรรคการเมือง อีกทั้งการออกมาตรการและการแก้ไขกฎระเบียบจากทางการ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนของไทย รวมทั้งอาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และลดแรงจูงใจสำหรับการนำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน นักลงทุนต่างชาติบางส่วนอาจเลือกที่จะรอดูความชัดเจนทางการเมืองและนโยบายของรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปก่อน ในส่วนกระแสการเข้าซื้อและควบรวมกิจการก็คาดว่าอาจจะมีน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนทั้งในแง่ปริมาณและขนาดมูลค่าของธุรกรรม นั่นหมายความว่า การไหลเข้าสุทธิของเงินลงทุนจากต่างประเทศ อาจเป็นปัจจัยที่สนับสนุนภาวะสภาพคล่องในปี 2550 ได้ไม่มากเท่ากับในปี 2549 ที่ผ่านมา

? การขยายสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีก่อน การขยายสินเชื่อ ซึ่งเป็นปัจจัยดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ไทย คาดว่าอาจมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ อันเป็นผลหลักมาจากการชะลอลงของการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุน ตลอดจนการส่งออก โดยแม้ว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลจำนวน 1.46 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2550 แต่ผลในเชิงบวกสำหรับการขยายสินเชื่อจากการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนการใช้จ่ายของภาครัฐ อาจยังมีจำกัด เพราะคงจะต้องขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 93 ของกรอบงบประมาณรายจ่ายจำนวน 1.566 ล้านล้านบาทหรือไม่ อีกทั้ง ตามกรอบงบประมาณในปีงบประมาณ 2550 รัฐบาลยังได้ตั้งอัตราการเติบโตของงบลงทุนไว้ต่ำกว่าในปีงบประมาณ 2549 ด้วย นอกจากนี้ การลงทุนตามนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางครอบคลุมเส้นทางเดินรถ 6 สายทาง ซึ่งแม้ในเบื้องต้นจะมีกำหนดการประกวดราคาภายในปีนี้ แต่การก่อสร้างที่ใช้เงินกู้ในประเทศสำหรับบางสายทาง ก็คงจะยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งปลายปี ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สินเชื่อดี (Performing loans) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ขจัดผลกระทบจากการควบรวมกิจการและปัจจัยด้านเทคนิคอื่น อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 4.5-6.5 ในปี 2550 เทียบกับอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 6.69 ในปี 2549

? เงินฝากยังอาจขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ แม้ว่าการเติบโตของเงินฝากอาจจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนทิศของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยในประเทศ จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วงปี 2547-2549 มาเป็นแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงหลังจากที่ธปท.ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันที่ร้อยละ 5.00 มาเป็นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันที่ร้อยละ 4.75 ในวันที่ 17 มกราคม 2550 ซึ่งส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลงตามมา รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศจะปรับตัวลงอีกในอนาคต อันเป็นผลจากการอ่อนตัวลงของอัตราเงินเฟ้อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจยังมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากการฝากเงินไว้ที่ธนาคารยังคงเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่คาดว่าตลาดทุนอาจยังมีแนวโน้มที่จะประสบกับภาวะซบเซาอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบเกี่ยวกับประเด็นความเสี่ยงทางการเมืองและการปรับกฎเกณฑ์จากทางการ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ขจัดผลกระทบจากการควบรวมกิจการ อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 4.6-7.4 ในปี 2550 เทียบกับอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 6.72 ในปี 2549

? การดูแลสมดุลสภาพคล่องจากทางการ ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินออกจากระบบ ธปท.ได้มีการออกพันธบัตรธปท.อย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดยอดคงค้างพันธบัตรธปท. ณ สิ้นเดือนมกราคม 2550 สูงถึง 9.02 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 8.97 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2549 และ 6.01 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2548 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า พันธบัตรธปท. เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ธปท.สามารถจะนำมาใช้รักษาสมดุลสภาพคล่องในระบบ ตลอดจนส่งผ่านนโยบายอัตราดอกเบี้ยไปสู่ภาคเศรษฐกิจโดยรวม โดยธปท.อาจเลือกที่จะไม่ต่ออายุพันธบัตร หรือออกพันธบัตรในปริมาณที่น้อยลง เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบในยามที่เห็นว่าสภาพคล่องอยู่ในภาวะตึงตัวขึ้น หรือในภาวะที่ธปท.ต้องการจะส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงไปสู่ภาคเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ก็น่าที่จะเกื้อหนุนให้สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์สามารถที่จะรองรับการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจต่างๆ ได้ตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้

กล่าวโดยสรุป แม้สภาพคล่องโดยรวมของประเทศอาจได้รับผลกระทบบ้างจากการไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างประเทศที่คาดว่าจะชะลอตัวลง อันเป็นผลจากปัญหาความเชื่อมั่น โดยเฉพาะในประเด็นการเมืองและการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของทางการ แต่สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ยังมีสูงถึง 7.36 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2549 และล่าสุดขยับขึ้นเป็น 8.33 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมกราคม 2550 คาดว่าจะยังเป็นระดับที่มากพอที่จะสามารถรองรับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศได้ตลอดช่วงที่เหลือของปี 2550 นี้ เนื่องจากประเมินว่าสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์น่าจะได้รับแรงหนุนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 2550 ที่คาดว่าอาจมีจำนวนสูงขึ้นจากปีก่อน ในขณะที่ยอดเงินฝากก็น่าที่จะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สภาวะตลาดทุนที่คาดว่าอาจซบเซาจนกว่าจะมีความชัดเจนทางการเมือง นอกจากนี้ ทางด้านปัจจัยดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบธนาคารพาณิชย์นั้น แนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงของเศรษฐกิจไทย และการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่คงจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนในปี 2551 มากกว่าในปีนี้ ทำให้คาดว่าการเติบโตของสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2550 อาจจะไม่สูงไปกว่าอัตราการเติบโตในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ภาวะสภาพคล่องที่ยังมีแนวโน้มไม่ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันดังกล่าว คงจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในปี 2550 นอกเหนือไปจากการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงและการบริหารสภาพคล่องผ่านช่องทางการออกพันธบัตรธปท.จากทางการแล้ว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภายใต้การคาดการณ์แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากทางการลงประมาณร้อยละ 1.00-1.25 ในปี 2550 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของระบบธนาคารพาณิชย์อาจจะปรับลดลงได้เช่นกันที่ประมาณร้อยละ 0.50-1.25 ?