ตลาดเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยในอินเดีย : มีแนวโน้มดี…แต่ต้องเร่งเปิดเกมบุก

การส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยไปยังตลาดต่างประเทศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นไปในทิศทางที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2549 การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้มีมูลค่าทั้งสิ้น 46,502.6 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 6.12) หรือหากเทียบเป็นเงินดอลลาร์ก็พบว่ามีมูลค่า 1,220.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(ลดลงร้อยละ 1.5) โดยปัจจัยสำคัญมาจากการที่ตลาดส่งออกหลักของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือญี่ปุ่น ต่างชะลอการสั่งซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสถานการณ์การแข่งขันในประเทศคู่ค้าที่สำคัญข้างต้นก็ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยจึงจำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์การแข่งขันในตลาดหลักอย่างหนักเพื่อความอยู่รอดในอนาคต ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อขยายธุรกิจและสร้างรายได้ให้เพิ่มพูนขึ้น อีกทั้งยังเป็นการหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงในอนาคตจากการที่ต้องพึ่งพิงตลาดหลักมากจนเกินไปด้วย โดยทั้งนี้ตลาดใหม่ที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าน่าสนใจนั้นประกอบด้วยหลายแห่งด้วยกัน อาทิ ตลาดตะวันออกกลาง รัสเซีย หรืออินเดีย โดยเฉพาะอินเดียเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงจากหลายปัจจัยด้วยกัน ได้แก่

อินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรมากถึงประมาณ 1,100 ล้านคน นอกจากนี้การที่อินเดียเปิดประเทศมากขึ้นตามลำดับในด้านการค้า และการลงทุนจากต่างประเทศ ก็ส่งผลให้การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในอินเดียขยายตัวอย่างมาก ทำให้เศรษฐกิจของอินเดียขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้กำลังซื้อของประชากรอินเดียเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งปัจจุบันกลุ่มชนชั้นกลางที่มีฐานะค่อนข้างดีจนถึงระดับเศรษฐีของอินเดียนั้นมีไม่ต่ำกว่า 200 ล้านคน

ความต้องการใช้เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของอินเดียในปี 2550 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงปี 2547-2549 เศรษฐกิจอินเดียมีการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีเฉลี่ยร้อยละ 8.3 ตามรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งนับเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมากในภูมิภาคเอเชีย รองจากจีนเท่านั้น และคาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะยังเติบโตได้ในอัตราประมาณร้อยละ 8 ต่อไปอีกหลายปีด้วย ขณะเดียวกันค่าเงินรูปีก็ค่อนข้างมีเสถียรภาพ และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จึงน่าส่งผลให้ผู้บริโภคชาวอินเดียมีอำนาจซื้อที่สูงขึ้นตามไปด้วย

ความต้องการเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนนำเข้าของอินเดียขยายตัวสูงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในช่วงปี 2546-2548 อินเดียมีการนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนจากต่างประเทศเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกินกว่าร้อยละ 50 ต่อปี จากรายงานของ Global Trade Atlas พบว่าในปี 2546 อินเดียนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนคิดเป็นมูลค่า 58.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2549 อินเดียนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวเป็นมูลค่าถึง 154.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ( เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2548)

เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยได้รับความนิยมในตลาดอินเดียมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่ไทยและอินเดียได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-อินเดีย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2546 สินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยก็สามารถขยายตลาดในอินเดียได้เพิ่มยิ่งขึ้น จากมูลค่า 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2546 ตามรายงานของ Global Trade Atlas และได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 7.1 ล้านเหรียญฐสหรัฐในปี 2548 ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2549 อินเดียได้มีการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากไทยเป็นมูลค่า 6.2 ล้านเหรียญสหรัฐ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2548) ทั้งๆที่สินค้ากลุ่มนี้ของไทยมีเพียงชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ รหัส HS 940190 เท่านั้นที่เป็น 1 ใน 82 รายการสินค้าที่มีปรับลดภาษีจากข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งประเภทสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ ตามมาด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ เฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่ และหวาย และเฟอร์นิเจอร์โลหะ เป็นต้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2550 ไทยน่าจะสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังตลาดอินเดียได้เพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ

รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายสนับสนุนการเปิดตลาดใหม่ ด้วยการเร่งลดอุปสรรคทางการค้า และการลงทุน ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอินเดียนั้น ภาครัฐก็ได้มีการจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับอินเดียขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การค้าระหว่างไทยและอินเดียมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยให้การเจาะตลาดเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยในตลาดอินเดียมีศักยภาพยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ในปี 2548 ไทยนับเป็นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนรายสำคัญอันดับ 4 ในตลาดอินเดีย ด้วยสัดส่วนร้อยละ 4.61 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนในตลาดอินเดียตามรายงานของ Global Trade Atlas โดยผู้ครองตลาดอันดับ 1-3 คือจีน มาเลเซีย และอิตาลี ตามลำดับ ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2549 ไทยครองอันดับ 6 ในสัดส่วนร้อยละ 4.03 ส่วนคู่แข่งที่สำคัญในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยในตลาดอินเดียในช่วงเวลาดังกล่าว ประกอบด้วย

1.คู่แข่งในตลาดระดับกลางและระดับบน เป็นการแข่งขันด้านคุณภาพ-รูปแบบดีไซน์กับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างอิตาลีที่มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.92 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมของอินเดีย สหรัฐฯ(สัดส่วนร้อยละ 6.73) และเยอรมนี(สัดส่วนร้อยละ 3.75) เป็นต้น ที่ล้วนมีจุดเด่นด้านการออกแบบ และเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย อีกทั้งยังมีตราสินค้าเป็นของตนเองด้วย

2.คู่แข่งในตลาดระดับกลางถึงล่าง เป็นการแข่งขันด้านราคาเป็นหลักกับคู่แข่งสำคัญอย่างจีนที่มีสัดส่วนร้อยละ 39.71 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมของอินเดีย รวมถึงมาเลเซีย (สัดส่วนร้อยละ 21.22) อินโดนีเซีย(สัดส่วนร้อยละ 1.34) และศรีลังกา(สัดส่วนร้อยละ 2.45) ที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ และความพร้อมของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตสำหรับตลาดนี้มักจะมีมูลค่าไม่สูงมากนักเช่นเดียวกับสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยส่วนใหญ่ ส่งผลให้คู่แข่งกลุ่มนี้เป็นคู่แข่งสำคัญของไทย แต่ทั้งนี้สินค้าของไทยในปัจจุบันก็ยังมีคุณภาพที่ค่อนข้างดีกว่าโดยเปรียบเทียบ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ประกอบการไทยพึงระวังในการบุกตลาดอินเดียก็คือ โครงสร้างอัตราภาษีและระบบกฎหมายของอินเดียที่ซับซ้อน และแตกต่างกันในแต่ละรัฐ รวมถึงภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงในตลาดระดับกลางถึงล่าง ซึ่งมีจีนและมาเลเซียเป็นคู่แข่งสำคัญ ดังนั้นในการบุกตลาดอินเดีย ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องศึกษากฎหมายท้องถิ่น และความต้องการผู้บริโภคอินเดียในแต่ละพื้นที่อย่างละเอียด รวมถึงควรมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนด้วย เพื่อให้การดำเนินกลยุทธ์การตลาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะการดำเนินกลยุทธ์ในอินเดีย ผู้ประกอบการไม่สามารถใช้กลยุทธ์เดียวในการทำตลาดทั้งประเทศได้ แต่ต้องเลือกใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่เฉพาะเจาะจงที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องมีการปรับตัวในการผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง แม้ราคาจะเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อสินค้า แต่ชาวอินเดียก็ยังคงให้สำคัญต่อการคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไปด้วย โดยสินค้าควรมีความแตกต่างและหลากหลายเพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ควรพยายามนำเสนอสินค้าที่สามารถแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย และควรมีการนำนวัตกรรมใหม่ๆเข้าไปผสมผสานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าด้วย ทั้งนี้ในการดำเนินธุรกิจในอินเดีย ผู้ประกอบการไทยน่าจะเลือกใช้บริการตัวแทนจำหน่ายในอินเดีย หรือหาพันธมิตรที่ไว้ใจได้ในการขยายตลาด เพื่อให้การติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการของอินเดียเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น และนอกเหนือจากการมุ่งเจาะตลาดอินเดียแล้ว ผู้ส่งออกไทยน่าจะอาศัยอินเดียเป็นประตูการค้าเพื่อกระจายสินค้าและขยายการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง และประเทศใกล้เคียงเช่นบังคลาเทศ และปากีสถาน เป็นต้นด้วย โดยใช้สิทธิในมาตรการยกเว้นภาษีระหว่างกันสำหรับประเทศในภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งจะมีผลให้สินค้าเฟอร์นิเจอร์ของไทยมีราคาไม่แพงมากนัก ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้สินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยสามารถขยายตลาดในวงกว้างยิ่งขึ้นในยุคที่การแข่งขันมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ