เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนประกอบเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 9 ของตลาดโลก จัดเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน โดยมีมูลค่าส่งออกประมาณ 2,289ล้านเหรียญสหรัฐ การแข่งขันในตลาดโลกเริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศจีน ที่สามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 24.7 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตไทยค่อนข้างมาก แม้ไทยจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดโลกได้เพิ่มขึ้นแต่ก็จัดว่าเป็นอัตราเพิ่มที่อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับการขยายตัวการส่งออกเครื่องปรับอากาศของจีน โดยมูลค่าส่งออกเครื่องปรับอากาศในปี 2549 นั้น ขยายตัวขึ้นเพียงร้อยละ 4 สำหรับแนวโน้มในปี 2550 นั้น ปัจจัยทางด้านภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอาจส่งผลกระทบต่อภาวะการส่งออกเครื่องปรับอากาศของไทยในปี 2550 ด้วยเช่นกัน ในขณะที่ตลาดในประเทศก็มีปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การผันผวนทางการเมือง และราคาน้ำมันที่ยังเคลื่อนไหวในระดับสูงอาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์อาจเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยซึ่งส่งผลทำให้แนวโน้มของยอดขายเครื่องปรับอากาศในปีนี้อาจจะอยู่ในภาวะทรงตัว
ตลาดในประเทศ : ปัจจัยลบกระหน่ำ ยอดขายทรงตัว
ในปี 2549 นั้นตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศมียอดขายลดลงถึงร้อยละ 9 จากปี 2548 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีความผันผวนค่อนข้างมาก ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทำให้ยอดขายของเครื่องปรับอากาศปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณการจำหน่ายรวมประมาณ 540,000 เครื่อง มีมูลค่าตลาดประมาณ 10,700 ล้านบาท สำหรับยอดจำหน่ายในปี 2550 นั้นคาดว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า น่าจะอยู่ในระดับทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือมียอดจำหน่ายประมาณ 540,000 เครื่อง ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยทางด้านลบหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศในประเทศดังนี้
• การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ประมาณการตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ในปี 2550 ร้อยละ 3.5-4.5 ซึ่งชะลอตัวลงจากร้อยละ 5.0 ในปี 2549 ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของประชาชนลง ความผันผวนทางด้านการเมือง ราคาน้ำมันที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่สูงและการชะลอตัวของการส่งออกตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าสภาพอากาศที่ร้อนระอุในช่วงฤดูร้อนจะเพิ่มขึ้นความต้องการของเครื่องปรับอากาศ แต่สภาพทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวลดลงก็ได้สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มมีการใช้จ่ายที่ระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
• การขยายตัวของที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งในปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยใหม่เพิ่มขึ้นทั่วประเทศอยู่ที่ 149,000-155,000 ยูนิต (รวมบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม/อาคารชุดและบ้านรับจ้างสร้าง) ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0-3 จากปีที่ผ่านมาเท่านั้น
• ภาวะการแข่งขันของตลาดรุนแรง การคาดการณ์แนวโน้มของเศรษฐกิจและการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ของประเทศที่ค่อนข้างชะลอตัวในปี 2550 นั้น ทำให้ผู้ผลิตและจำหน่ายต่างก็พยายามปรับตัวและเริ่มจัดรายการส่งเสริมการขายเครื่องปรับอากาศตั้งแต่ต้นปี เพื่อกระตุ้นยอดขายให้เป็นไปตามเป้า โดยเน้นการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีของเครื่องปรับอากาศ ที่สร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีเฉพาะตัว และหันกลับมาใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาจำหน่ายอีกครั้งหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตขนาดใหญ่
• ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงของตลาดในประเทศนั้นส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตค่อนข้างมาก เนื่องจากความต้องการเครื่องปรับอากาศเริ่มชะลอตัวลง ในขณะที่การปรับราคาจำหน่ายทำได้ค่อนข้างจำกัดและต้นทุนการผลิตเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทั้งในส่วนของวัตถุดิบการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก และฐานภาษีนำเข้าวัตถุดิบหลายชนิดอยู่ในอัตราที่สูงในอัตราร้อยละ 5-30 ในขณะที่ภาษีนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปที่ปรับตัวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5 ทำให้การแข่งขันกับสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น
ภาคการส่งออก : จีนแย่งส่วนแบ่งตลาดโลก
ในช่วงปี 2549 นั้นการส่งออกเครื่องปรับอากาศของไทยไปยังตลาดโลกนั้นมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,289.3 ล้านเหรัยญสหรัฐ หรือประมาณ 87,531 ล้านบาท (หากคิดอัตราการเติบโตในรูปของเงินบาทมีอัตราเติบโตเพียงร้อยละ 0.23 จากปีก่อนหน้า) ทั้งนี้ตลาดส่งออกของไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการประกาศใช้ระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตรายในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Restrictions on Hazardous Substances : RoHS) จากกลุ่มประเทศ EU ที่ประกาศใช้ไปเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2549 เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการนำเข้าเครื่องปรับอากาศจากไทยถึงร้อยละ 26 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ทั้งนี้ผู้นำเข้าจากกลุ่มประเทศ EU ได้ชะลอคำสั่งซื้อเพื่อระบายสินค้าที่มีอยู่ก่อนที่จะนำเข้าสินค้าใหม่ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยดังกล่าว ซึ่งทำให้การส่งออกเครื่องปรับอากาศของไทยเริ่มชะลอตัวลง และสำหรับแนวโน้มในปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกเครื่องปรับอากาศของไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาจากตลาดยุโรปเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจจะอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างจำกัดอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 จากปีที่ผ่านมา
ในด้านการแข่งขันในตลาดต่างประเทศนั้น จีน ได้กลายเป็นผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายใหญ่ที่มีบทบาทในเวทีการค้าโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้จากร้อยละ 11.9 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 24.7 ในปี 2549 ในขณะที่ไทยแม้ว่าจะเป็นผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศส่งออกที่สำคัญแต่มีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยโดยปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 9 การขยายตัวของการส่งออกเครื่องปรับอากาศของจีนนั้นมาจากทั้งในส่วนของผู้ผลิตภายในประเทศเองและผู้ผลิตต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิตเข้าไปในจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากจีนยังมีปัจจัยพื้นฐานทางด้านค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า และมีศักยภาพพอที่จะผลิตได้ในปริมาณมาก มีการประหยัดต่อขนาดการผลิต ซึ่งโดยเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้วค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตลาดในประเทศที่มีขนาดเล็กทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ปัญหาสำคัญในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศของไทยนั้น มาจากโครงสร้างการผลิตในประเทศไทยเอง ที่ยังมีการพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก การเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนจากผู้ผลิตต่างชาติได้กลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกตามไปด้วย นอกจากนี้การเก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบในอัตราระหว่าง 5-30% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย จีน ภาษีนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตเครื่องปรับอากาศในอัตรา 0% ซึ่งทำให้ไทยอาจจำเป็นต้องพิจารณาสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดผู้ผลิตจากต่างประเทศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศของไทยในปี 2550 จะมีแนวค่อนข้างทรงตัวอันได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ และการแข่งขันค่อนข้างสูง และในตลาดส่งออกนั้น ก็ยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวได้โดยที่ยังต้องพึ่งพิงกับตลาดหลัก โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป ที่น่าจะมีกำลังซื้อกลับมาในปี 2550 นี้ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวก็ยังอาจส่งผลกระทบต่อยอดส่งออกของไทยได้ด้วยเช่นกัน การปรับตัวและการปรับโครงสร้างการผลิตที่ยังต้องรอการแก้ไขเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งไทยในการแข่งขันในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น