ผู้ประกอบการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น ฟิทช์ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนชาติเป็นลบ

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) (“TCAP”) และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (“TBANK”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของ TCAP เป็นลบ จากเดิมที่แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ รวมทั้งได้ประกาศคงอันดับเครดิตทั้งหมดของ TCAP และ TBANK ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตของผู้ประกอบการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายใหญ่รายอื่นๆ ดังต่อไปนี้

TCAP: อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F2(tha)’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘5’;

TBANK: อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F2(tha)’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘D’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘5’;

ธนาคาร ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (“TISCO”): อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’;

ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (“KK”): อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘BBB+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F2(tha)’;

บริษัท ไทยพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (“SCBL”): อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’

การทบทวนอันดับเครดิตนี้สืบเนื่องมาจากผู้ประกอบการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 4 รายหลักนี้ เผชิญกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่อ่อนแอลงอีกในปี 2550 ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการบางราย อัตราการเจริญเติบโตของสินเชื่อได้ถูกคาดการณ์ว่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับต้นทุนการปล่อยสินเชื่อและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งการแข่งขันที่สูง อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยน่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ จากการที่มีการปล่อยสินเชื่อในเชิงรุกรวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการผ่อนปรนมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่ออย่างมีนัยสำคัญ เช่นการวางเงินมัดจำที่ต่ำลงและระยะเวลาในการปล่อยกู้ที่ยาวขึ้น อาจส่งผลให้ต้องมีการกันสำรองที่สูงขึ้น เนื่องจากหนี้เสียที่อาจสูงขึ้น

TCAP และ TBANK เป็นผู้ประกอบการซึ่งดำเนินการในเชิงรุกมากที่สุด โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา และมีอัตราการเจริญเติบโตของลูกหนี้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 30.4% ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับ 18.4% ต่อปี ของ TISCO อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของ TCAP และ TBANK ดูเหมือนจะอยู่ในระดับที่อ่อนแอที่สุด สาเหตุหลักเนื่องมาจากการเป็นผู้นำในการแข่งขันด้านราคา ต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น และต้นทุนที่เกิดจากการขยายสาขาเป็นจำนวนมาก

การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ TCAP และ TBANK สะท้อนถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับความสามารถในการทำกำไรที่ถดถอยลง สถานะเงินกองทุนที่อ่อนแอลง และความอ่อนไหวต่อการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทมีนโยบายในเชิงรุก

อันดับเครดิตของ KK ได้สะท้อนถึงความอ่อนไหวของธนาคารต่อแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์ในอนาคต อันเนื่องมาจากการที่มีการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กและขนาดกลางที่สูง (ซึ่งคิดเป็นประมาณ 30% ของลูกหนี้ทั้งหมดของ KK) และสภาวะการดำเนินธุรกิจที่อ่อนแอลง แม้ว่าความเสี่ยงต่างๆนี้ได้ถูกลดทอนลงบางส่วนจากการที่ KK มีอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและมีสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง

อันดับเครดิตของ TISCO สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไร คุณภาพสินทรัพย์ และฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคาร รวมทั้งการบริหารจัดการที่ระมัดระวังกว่าผู้ประกอบการรายอื่น แนวโน้มอันดับเครดิตของ TISCO มีเสถียรภาพ เมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ ที่น่าจะยังอยู่ในระดับเดิม แม้สภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานจะอ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม การลดลงอย่างมากของอัตราเงินกองทุนของธนาคารอาจก่อให้เกิดแรงกดดันในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของธนาคารในระยะปานกลางได้

อันดับเครดิตของ SCBL มีพื้นฐานมาจากการสนับสนุนของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (“SCB” ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA(tha)’) ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นหลัก แผนการดำเนินงานของ SCB ที่จะเพิ่มขนาดสินทรัพย์ของ SCBL ในปี 2550 นั้นอาจเพิ่มแรงกดดันต่อผลกำไรและมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อของทั้งอุตสาหกรรมด้วย

ติดต่อ
สรสิทธิ์ วรรณประเสริฐ, Vincent Milton, ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, กรุงเทพฯ +662 655 4755

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด ซึ่งถูกถือหุ้น 99.9% โดย TISCO ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้

คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน