บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ขานรับนโยบายการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol, KP) ว่าด้วยเรื่องอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปิดบริการการตรวจประเมินและยืนยันโครงการ CDM ในฐานะ Designated Operational Entity หรือ (DOE) ของ SGS UK เพื่อร่วมผลักดันให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพตลอดจนสภาพแวดล้อมของประเทศไทยและโลกที่ดีขึ้น
ความสำคัญและผลกระทบของภาวะโลกร้อน
อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนอาจทำให้ตกอยู่ใน “สภาวะโลกร้อน” (Global Warming) นั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศซึ่งสาเหตุหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์เป็นผู้ผลิตขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะไปสะสมและรวมตัวอยู่ที่ชั้นบรรยากาศและทำให้เกิดปฏิกิริยาดังกล่าว โดยก๊าซเรือนกระจกเหล่านั้น ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำ โอโซน มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCs) จะเก็บกักความร้อนไม่ให้ระบายออกไปนอกโลก และทำให้โลกร้อนขึ้น
โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากสภาวะโลกร้อนนั้น เริ่มจากสภาพภูมิอากาศจะแปรปรวนอันส่งผลให้เกิดภัยพิบัตินานาประการ ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย วาตภัย ไฟป่า หรือความแห้งแล้ง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าองค์กรระดับโลกอย่าง สหประชาชาติ (UN) ได้ให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์นี่เป็นอย่างมาก และได้พยายามหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เพราะผลของมันร้ายแรงยิ่งกว่าที่จะจินตนาการได้
CDM และคาร์บอนเครดิต คืออะไร
กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism, CDM) เป็นหนึ่งในสามกลไกภายใต้พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol, KP) ซึ่งเป็นข้อผูกพันทางกฎหมายระดับนานาชาติซึ่งมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ผลิตขึ้น โดยพิธีสารเกียวโตได้กำหนดกลไกยืดหยุ่นขึ้น 3 กลไกคือ
1. กลไกการทำโครงการร่วม (Joint Implementation: JI)
2. กลไกการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading: ET)
3. กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM)
ทั้งนี้ 2 กลไกแรกนั้นเป็นกลไกที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยกันเท่านั้น แต่ในส่วนของ CDM จะเป็น การดำเนินการร่วมกันระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อช่วยให้ประเทศที่พัฒนาแล้วบรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามพันธกรณี ควบคู่ไปกับการช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ โดยประเทศที่พัฒนาแล้วจะมาลงทุนดำเนินโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศที่กำลังพัฒนา แล้วก็จะนำปริมาณก๊าซที่ลดได้มาคำนวณเหมือนว่าได้ดำเนินการลดในประเทศของตนเอง ซึ่ง ผู้ดำเนินโครงการจะต้องผ่านการรับรอง Certified Emission Reduction (CERs) จากหน่วยงานที่เรียกว่า CDM Executive Board (CDM EB) และ CERs หรือ “คาร์บอนเครดิต” ที่ผ่านการรับรองนี้ สามารถนำไปขายให้กับประเทศอุตสาหกรรม ที่สามารถใช้ CERs ในการบรรลุถึงพันธกรณีตามพิธีสารเกียวโต ซึ่งกลไกทั้งหมดนี้ต้องเป็นกลไก ที่ดำเนินการด้วยความสมัครใจ
เอสจีเอส (ประเทศไทย) ในฐานะตัวแทน Designated Operational Entity (DOE) ของ SGS UK
คุณจิโรจ ณ นคร ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจ การบริการแร่ สิ่งแวดล้อม ยานยนต์ อุตสาหกรรม กล่าวถึงงานบริการใหม่ในฐานะผู้ตรวจประเมินและรับรองโครงการกล่าวว่า “เอสจีเอสได้รับความไว้วางใจจาก UNFCCC (United Nations Convention on Climate Change) ให้เป็นผู้ตรวจประเมินและยืนยันโครงการ CDM ก่อนการส่งต่อโครงการ ผ่านไปยัง Executive Board ของ UNFCC เพื่ออนุมัติโครงการ ซึ่งขั้นตอนของการของการดำเนินงานนั้น ประกอบด้วย การตรวจเอกสารประกอบโครงการ (Validation) ยืนยันการลดก๊าซเรือนกระจก (Verification) และรับรองการลดก๊าซเรือนกระจก (Certification) ทั้งนี้ ผู้ดำเนินโครงการจะจ้างให้ DOE ให้เข้าไปทำหน้าที่ตรวจประเมินในขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง”
คุณจิโรจ เพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับประเภทของธุรกิจอุตสาหกรรมในโครงการ CDM ว่า “โครงการ CDM ที่เอสจีเอสสามารถตรวจประเมินและยืนยันโครงการได้นั้น ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรม 13 กลุ่ม ดังนี้ อุตสาหกรรมพลังงาน (Energy Industries), การจ่ายพลังงาน (Energy Distribution), การใช้พลังงานในการผลิต (Energy Demand), อุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing Industries), อุตสาหกรรมเคมี (Chemical Industries), การก่อสร้าง (Construction), การขนส่ง (Transport), พลังงานจากเชื้อเพลิง (Fugitive Emissions from Fuels), พลังงานจากการผลิตและการใช้ฮาโลคาร์บอนและซัลเฟอร์เฮกซาฟลูออไรด์ (Fugitive Emission from Production and Consumption of Halocarbons and Sulphur Hexafluoride), การใช้สารทำละลาย (Solvent Use), การบริหารจัดการและกำจัดขยะและของเสีย (Waste Handling and Disposal), การปลูกป่าและการปลูกป่าทดแทน (Afforestation and Reforestation) และการเกษตรกสิกรรม (Agriculture)
สำหรับความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าร่วมโครงการ CDM นั้น คุณจิโรจ ณ นคร ย้ำถึงศักยภาพของประเทศไทยดังนี้ “ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจและพร้อมที่จะผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ปัจจุบันมีหน่วยงานเอกชนหลายแห่งที่ได้หันมาให้ความสนใจและแสดงความจำนงค์เข้าร่วมโครงการ CDM เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อนาคต คาดว่าประเทศไทยจะเข้าร่วมโครงการนี้อย่างเต็มตัว ด้วยประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้น มีมหาศาล ทั้งด้านการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ว่าในระดับประเทศหรือระดับโลก และการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่สะอาดทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ”
ส่วนทิศทางการตลาดและมาตรฐานการตรวจสอบของเอสจีเอสในอนาคตต่อโครงการ CDM นั้น คุณ จิโรจ กล่าวว่า “เอสจีเอสพร้อมทั้งด้านศักยภาพและประสบการณ์โดยตรงในการร่วมสนับสนุนโครงการนี้ ทั้งนี้เพราะ เราทำงานประสานกันระหว่างเอสจีเอสทั่วโลก โดยเฉพาะ เอสจีเอส ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีโครงการ CDM ที่เอสจีเอสได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ตรวจสอบและยืนยันโครงการเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ เอสจีเอส (ประเทศไทย) ยังมีที่ปรึกษาผู้ประเมิน (Local Assessor) ซึ่งเป็นบุคคลากรชาวไทยที่มีความเชี่ยวชาญ ส่งผลให้เราสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเราจึงพร้อมที่จะให้บริการนี้อย่างเต็มที่”
หมายเหตุ: ข้อมูลสนับสนุนจากฝ่ายพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ WWF ประเทศไทย และสำนักนโยบายและ แผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม