วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ปรับปรุงหลักสูตรดนตรีบัณฑิต เน้นความทันสมัย พร้อมเปิด 3 แขนงวิชาใหม่ ได้แก่ แขนงวิชาดนตรีบำบัด แขนงวิชาดนตรีศึกษา และแขนงวิชาธุรกิจดนตรี เพื่อตอบโจทย์ตลาดดนตรีเมืองไทย พร้อมขยายห้องเรียน ห้องซ้อม เพื่อรองรับนักศึกษาใหม่ที่เพิ่มขึ้นทุกปี
ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ คณบดีวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เดิมวิทยาลัยดนตรีมีทั้งหมด 4 แขนงวิชา คือ ดนตรีแจ๊สศึกษา (Jazz Studies) การประพันธ์เพลง (Music Composition) การแสดงดนตรี (Music Performance) และการผลิตดนตรี (Music Production) ซึ่งถือว่ายังไม่ครอบคลุมความต้องการของตลาดภายในประเทศได้ทั้งหมด ทางวิทยาลัยฯ จึงมีแนวคิดว่าควรเพิ่มแขนงวิชาใหม่เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยมากขึ้น โดยมองในสิ่งที่ประเทศไทยกำลังยังขาดอยู่ในปัจจุบัน รวมไปจนถึงในอนาคต สำหรับแขนงวิชาใหม่ที่ทางวิทยาลัยฯ เพิ่มขึ้นมาในภาคการศึกษา 1/2550 มีด้วยกัน 3 แขนงวิชา ได้แก่ แขนงวิชาดนตรีบำบัด (Music Therapy) นับเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยที่เปิดสอนในแขนงวิชานี้ หลักสูตรดังกล่าวเป็นการผสมผสานกันระหว่างดนตรีกับศาสตร์ของการบำบัด เพื่อให้ผู้ที่จบไปสามารถใช้ดนตรีในการบำบัดโรค ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศหลักสูตรประเภทนี้มีมานานมากแล้ว นักศึกษาที่จะเรียนแขนงวิชานี้จะต้องเรียนวิชาของกลุ่มคณะวิทยาศาสตร์และสุขภาพไปด้วย อาทิ วิชากายวิภาคศาสตร์ วิชาการวินิจฉัยโรคและการประเมินสุขภาพ เป็นต้น เพราะฉะนั้นนักศึกษาที่จะเรียนสาขาวิชานี้จึงจำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษ คือต้องเป็นนักเรียนที่เรียนทางด้านสายวิทยาศาสตร์มาก่อนเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีแขนงวิชาดนตรีศึกษา (Music Education) เนื่องจากปัจจุบันเรายังขาดครูสอนดนตรีเป็นจำนวนมาก ทางวิทยาลัยฯ จึงคิดทำหลักสูตรนี้ขึ้นมา โดยร่วมมือกับคณะศึกษาศาสตร์ สำหรับนักศึกษาที่เลือกเรียนแขนงวิชานี้ จะต้องเรียนวิชาของคณะศึกษาศาสตร์จำนวน 15 หน่วยกิต เพื่อทำให้นักศึกษาพร้อมที่จะเป็นครูดนตรีอย่างสมบูรณ์ และสุดท้ายคือแขนงวิชาธุรกิจดนตรี (Music Business) ซึ่งเป็นการร่วมมือกับคณะบริหารธุรกิจ โดยมุ่งเน้นสำหรับคนที่ชอบดนตรีและต้องการที่จะบริหารจัดการมากกว่าการแสดงดนตรีเอง โดยนักศึกษาที่เลือกเรียนสาขาวิชานี้จะต้องเรียนรู้ดนตรีไม่น้อยกว่าสาขาวิชาอื่น คือต้องเล่นดนตรีเป็น ต้องแต่งเพลงเป็น และที่สำคัญคือจะต้องเป็นนักธุรกิจด้วย สำหรับคนที่จบจากแขนงวิชาธุรกิจดนตรี สามารถที่จะประกอบอาชีพได้หลากหลาย อาทิเช่น ทำงานในบริษัทออแกไนเซอร์ ทำงานเกี่ยวกับการจัดคอนเสิร์ต หรือทำงานด้านบริหารจัดการในค่ายเพลงต่างๆ เพราะว่าปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีแต่นักธุรกิจทั่วไปที่ไม่รู้ถึงเบื้องหลังของการผลิตดนตรี คุณสมบัติของนักดนตรี ของนักแต่งเพลง ว่าควรมีคุณสมบัติที่แท้จริงอย่างไร ซึ่งเรายังขาดนักธุรกิจที่เข้าใจดนตรีจริงๆ และรู้ว่าดนตรีเป็นอย่างไร
“นอกจากนี้ วิทยาลัยดนตรี ยังได้ปรับปรุงอาคารเรียน โดยขยายห้องเรียนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนักศึกษาของวิทยาลัยดนตรี มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกปี ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยรังสิตจึงได้ทำการขยายห้องเรียนให้อีก 1 ชั้น คือในชั้นที่ 9 ของอาคาร 10 ซึ่งจะทำให้ห้องปฏิบัติการในส่วนของห้องซ้อมมีมากขึ้น ทั้งห้องซ้อมรวมวง ห้องซ้อมแยกย่อยสำหรับนักศึกษา ทั้งนี้ ยังได้สร้างห้องแล็ปสำหรับดนตรีบำบัดและดนตรีเด็กเล็กด้วย โดยจะเปิดให้นักศึกษาใช้ในภาคการศึกษา 1/2550 นี้” คณบดีวิทยาลัยดนตรี กล่าว