ผลิตภัณฑ์กุ้งปี 2550 : เผชิญวิกฤตราคาในประเทศ…แต่ส่งออกยังสดใส

ในช่วงต้นปี 2550 เกิดปัญหาวิกฤตราคากุ้งตกต่ำ โดยเฉพาะกุ้งขนาดเล็ก เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งขยายปริมาณการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ผลผลิตที่ได้ส่วนมากเป็นกุ้งขนาดเล็ก เนื่องจากต้องเผชิญปัญหาความผันผวนของสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยประสบความเดือดร้อนจากปัญหากุ้งล้นตลาดจนกระทั่งราคากุ้งต่ำกว่าต้นทุนการผลิต รัฐบาลและภาคเอกชนร่วมมือกันแก้ปัญหาโดยการรณรงค์ให้มีการบริโภคกุ้งในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2550 ปริมาณการผลิตกุ้งมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตกุ้งทั้งปี 2550 ต่ำกว่าที่เคยมีการประเมินไว้ในช่วงต้นปี

อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2549 แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะมีแนวโน้มชะลอลง จากปัญหาค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า ซึ่งส่งผลต่อสถานะการแข่งขันของผลิตภัณฑ์กุ้ง แต่ปัจจัยบวกจากความต้องการผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยจากประเทศคู่ค้าหลัก นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานะการแข่งขันของผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไม่ด้อยลงมากนัก คาดการณ์ว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งทั้งปี 2550 เท่ากับ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6

การผลิต…กุ้งขนาดเล็กล้นตลาด
ผลผลิตกุ้งในประเทศไทยในปี 2550 คาดว่าเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 550,000 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2549 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ซึ่งนับว่าต่ำกว่าการประมาณการผลผลิตกุ้งในช่วงต้นปีที่คาดว่าปริมาณการผลิตกุ้งของไทยในปี 2550 จะเพิ่มขึ้นเป็น 600,000-650,000 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.4-25.0 ทั้งนี้เนื่องจากวิกฤตราคากุ้งที่ตกต่ำอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสอง เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยส่งผลให้กุ้งที่ผลิตได้มีขนาดเล็กลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามากขึ้น ในขณะที่ความต้องการกุ้งขนาดใหญ่เพื่อการส่งออกมีมากขึ้น ทำให้กุ้งขนาดเล็กมีมากเกินความต้องการ จึงคาดว่าผู้เลี้ยงกุ้งประมาณร้อยละ 30-40 จะหยุดปล่อยลูกกุ้งลงเลี้ยง หลังจากที่ประสบภาวะขาดทุนและไม่มีเงินทุนหมุนเวียน ดังนั้นผลผลิตกุ้งในไตรมาสที่ 4 จะลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับผลผลิตในไตรมาสที่ 2 หรือไตรมาสที่ 3

การบริโภคกุ้งในประเทศเพิ่มขึ้น…ผู้ส่งออกหันมาขยายตลาด
จากปัญหาราคากุ้งที่มีแนวโน้มตกต่ำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2548 เนื่องจากสหรัฐฯประกาศเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและกำหนดการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้ผู้ส่งออกรายเล็กขาดเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต้องหยุดส่งออกชั่วคราว ปัญหาราคาน้ำมันแพง และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการแปรรูปกุ้ง ราคากุ้งตกต่ำลงอย่างมากในช่วงไตรมาสสองของปี 2550 นี้ โดยมีสาเหตุสำคัญคือ มีผลผลิตกุ้งออกมามากเกินสมดุลตลาด เงินบาทแข็งค่าขึ้น และกุ้งส่งออกของไทยอิงตลาดสหรัฐฯมากกว่าร้อยละ 50 จากการเกิดวิกฤติการณ์ราคากุ้งตกต่ำกว่าต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา สร้างปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง โดยเฉพาะเกษตรกรที่ผลิตกุ้งขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย เช่น กุ้งขนาด 100 ตัวต่อกิโลกรัมมีราคาจำหน่ายเพียง 50-60 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตรวมอยู่ที่ 70 บาทต่อกิโลกรัม กุ้งขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม มีราคาเพียง 100 บาท ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 105 บาทต่อกิโลกรัม

แนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตราคากุ้งและการเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงตลาดส่งออกในช่วงที่ผ่านมา คือ บรรดาผู้ส่งออกหันมาขยายตลาดในประเทศ ทั้งในรูปของกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งแปรรูป เช่น กุ้งชุปแป้ง ปอเปี๊ยะกุ้ง เป็นต้น และอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งที่มีกุ้งเป็นส่วนประกอบ เช่น เกี้ยวกุ้ง ข้าวห่อสาหร่าย ติ่มซำ เป็นต้น ส่งผลให้ปริมาณการบริโภคกุ้งภายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2550 ปริมาณการบริโภคในประเทศเท่ากับ 50,000 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2549 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.0 เท่ากับเป็นลดปริมาณกุ้งที่ล้นตลาดโดยเฉพาะกุ้งขนาดเล็ก

สำหรับในปี 2550 นี้รัฐบาลและภาคเอกชนมีนโยบายแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ คือ การรณรงค์เพิ่มการบริโภคกุ้ง โดยการจัดรณรงค์บริโภคกุ้ง ทั้งในลักษณะการให้เกษตรกรนำกุ้งมาจำหน่ายโดยตรงกับผู้บริโภคในราคาพิเศษ “เทศกาลกุ้ง…ธงฟ้าราคาประหยัด” การจัดรณรงค์บริโภคกุ้งร่วมกับห้างสรรพสินค้าต่างๆ ตลอดจนการประสานความร่วมมือสมาคมภัตตาคารไทย สมาคมโรงแรมไทย และหน่วยงานราชการเพื่อร่วมกันรณรงค์เพิ่มการบริโภคกุ้ง ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งควรลดการผลิต และชะลอการจับกุ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้กุ้งเข้าตลาดพร้อมๆกัน เพราะจะยิ่งทำให้ราคาลดต่ำลงไปอีก รวมไปถึงการลดกำลังผลิตลูกกุ้ง และลดปริมาณกุ้งที่ปล่อยเลี้ยงในช่วงปลายปี โดยลดจำนวนบ่อเลี้ยงลงร้อยละ 30 ควบคู่กับการลดความหนาแน่นของกุ้งที่ปล่อยอีกร้อยละ 20 เพื่อลดปริมาณกุ้งช่วงปลายปี ให้อยู่ในระดับสมดุลกับปริมาณความต้องการของตลาด

การส่งออก…5 เดือนแรก’50 ขยายตัว 15.4%
แม้ว่าจะเผชิญปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องมาจากปี 2549 และปัญหาการกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้าสำคัญ แต่มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 ก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งรวม 780.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 โดยแยกเป็น

-กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง(รวมกุ้งแห้งและกุ้งต้มสุกแช่เย็น) มูลค่าการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกปี 2550 เท่ากับ 423.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 แม้ว่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัว กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯในช่วง 5 เดือนแรกปี 2550 เท่ากับ 192.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 จากที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.7 ทั้งนี้เนื่องจากความไม่ชัดเจนของอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดทำให้ผู้นำเข้าในสหรัฐฯชะลอการนำเข้า ส่วนในตลาดญี่ปุ่นนั้นมูลค่าการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกปี 2550 เท่ากับ 77.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26.9 จากที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.0 ทั้งนี้เนื่องจากประเทศคู่แข่งขันสำคัญในตลาดนี้ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนามและจีนต่างเผชิญปัญหาสารต้องห้ามปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้นำเข้าในญี่ปุ่นหันมานำเข้ากุ้งจากไทยมากขึ้น ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป แม้ว่าในปัจจุบันมูลค่าการส่งออกยังไม่สูงนัก แต่อัตราการขยายตัวก็อยู่ในเกณฑ์สูง กล่าวคือ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปเท่ากับ 31.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 96.1 เนื่องจากไทยได้รับคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี ทำให้สถานะการแข่งขันส่งออกกุ้งของไทยในตลาดสหภาพยุโรปดีขึ้น

-กุ้งกระป๋อง มูลค่าการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 เท่ากับ 72.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้น 5.8 เท่าตัว ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงต่อเนื่องจากปี 2549 โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 39.5 เนื่องจากการส่งออกกุ้งกระป๋องไปยังตลาดสำคัญทุกตลาดมีแนวโน้มขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง แม้ว่ามูลค่าการส่งออกยังไม่มากนักก็ตาม กล่าวคือ อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกกุ้งกระป๋องไปยังตลาดญี่ปุ่นขยายตัวถึง 35.5 เท่าตัว สหรัฐฯขยายตัว 5.1 เท่าตัว สหภาพยุโรป 1.6 เท่าตัว และตลาดอาเซียนซึ่งนำเข้ากุ้งกระป๋องจากไทยน้อยมาก แต่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 มีอัตราการขยายตัวถึง 65.2 เท่าตัว ปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือ ปริมาณกุ้งขนาดกลางและเล็ก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกุ้งกระป๋องของไทยมีปริมาณเพียงพอและราคาไม่สูงมากนัก จากเดิมที่โรงงานผลิตกุ้งกระป๋องของไทยต้องพึ่งพาการนำเข้ากุ้งเพื่อผลิตเป็นกุ้งกระป๋องส่งออก

-กุ้งแปรรูป มูลค่าการส่งออกกุ้งแปรรูปในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 เท่ากับ 285.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วลดลงร้อยละ 11.8 ทั้งนี้เนื่องจากตลาดนำเข้าสำคัญไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลียและเกาหลีใต้มีการนำเข้าลดลง โดยยังคงมีเพียงสหภาพยุโรปเท่านั้นที่ไทยสามารถขยายตลาดส่งออกกุ้งแปรรูป กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกกุ้งแปรรูปของสหภาพยุโรปในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 เท่ากับ 34.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 121.2 ทั้งนี้เนื่องจากไทยได้รับคืนจีเอสพี ทำให้สถานะการแข่งขันของไทยในสหภาพยุโรปดีขึ้น

แนวโน้มช่วงครึ่งหลังปี 2550…จับตาตลาดส่งออกสำคัญ
แม้ว่าในปี 2550 จะมีมาตรการต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบในแง่ลบคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาก ส่งผลให้การส่งออกกุ้งสดแช่เย็นฯไม่ขยายตัวเท่าที่ควรจะเป็น ส่วนกุ้งแปรรูปขยายตัวลดลง แต่จากปัจจัยบวกจากสถานการณ์ในตลาดส่งออกสำคัญก็ยังทำให้คาดการณ์ได้ว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยในปี 2550 จะเท่ากับ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 เนื่องจาก

-ตลาดสหรัฐฯ กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ ประกาศผลการพิจารณาการทบทวนภาษีการทุ่มตลาดกุ้งขั้นต้น (Administrative review) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2550 ไทยถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นต้นในอัตราร้อยละ 2.34-57.64 ขณะที่อัตราเฉลี่ยทั้งประเทศที่มีอัตราระหว่างร้อยละ 5.79-6.82 ได้ถูกปรับลดลงเหลือร้อยละ 4.24 มีบริษัทที่ได้อานิสงส์ดังกล่าวประมาณ 23 บริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็กเท่านั้น เพราะบริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่เกือบทั้งหมด 60 กว่าบริษัท ล้วนแต่ยอมรับข้อเสนอของภาคเอกชนผู้เลี้ยงกุ้งในสหรัฐฯด้วยการจ่ายเงินให้กับภาคเอกชนผู้เลี้ยงกุ้งในสหรัฐฯแลกกับการคงอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดไว้เท่าเดิมคือ ร้อยละ 5.79-6.82 อีก 1 ปี เพื่อลดความเสี่ยงในการที่จะถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเพิ่มขึ้นหลังการทบทวนประจำปี นอกจากนี้ เมื่อเทียบผลการประกาศพิจารณาทบทวนภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดนั้นโดยรวมแล้วไทยยังคงได้เปรียบคู่แข่งสำคัญในตลาดสหรัฐฯ ดังนั้นคาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

-ตลาดญี่ปุ่น การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดญี่ปุ่นมีปัจจัยบวกสำคัญคือ การทำJTEPAกับญี่ปุ่น ทำให้ภาษีนำเข้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งแปรรูปของไทยลดลงจากร้อยละ 5.0 เหลือร้อยละ 0 ทันทีซึ่งมีผลบังคับใช้เดือนตุลาคม 2550 ซึ่งจะทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปตลาดญี่ปุ่นในช่วงครึ่งหลังปี 2550 มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากที่ในช่วงครึ่งแรกปี 2550 ไทยได้รับอานิสงส์จากการที่ญี่ปุ่นตรวจพบสารต้องห้ามปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์กุ้งจากประเทศคู่แข่งสำคัญทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน ทำให้ผู้นำเข้าจากญี่ปุ่นหันมานำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทยมากขึ้น

-ตลาดสหภาพยุโรป ปัจจัยหนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหภาพยุโรปที่สำคัญคือ การได้รับคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ทำให้สถานะการแข่งขันของผลิตภัณฑ์กุ้งไทยในสหภาพยุโรปดีขึ้น นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังสหภาพยุโรปยังน้อยมากเมื่อเทียบกับเมื่อก่อนที่ไทยจะถูกตัดจีเอสพี ซึ่งเท่ากับว่าไทยยังมีโอกาสในการขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหภาพยุโรปได้อีกมาก แม้ตลาดยุโรปมีความต้องการสินค้ากุ้งสูง แต่เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ไม่ว่าจะคู่แข่งจากเอเชียและละตินอเมริกา โดยเฉพาะกุ้งสดแช่เย็นและแช่แข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กุ้งขาวแช่แข็งต้องแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพกับคู่แข่ง เช่น เอกวาดอร์ และบราซิล ซึ่งประเทศเหล่านี้มีต้นทุนที่ต่ำกว่าไทย ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยต้องเน้นการสร้างความหลากหลายและการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า โดยปรับเปลี่ยนจากกุ้งสดแช่แข็งให้เป็นกุ้งแปรรูปในลักษณะต่างๆ โดยเฉพาะกุ้งปรุงสุก เช่น กุ้งใส่ในสลัด กุ้งที่เป็นส่วนประกอบสำหรับการประกอบอาหารไทย อาหารไทยสำเร็จรูปแบบแช่แข็งที่มีส่วนประกอบที่ทำมาจากกุ้ง โดยเฉพาะข้าวกะเพรากุ้ง ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคอย่างมาก

นอกจากนี้ประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม คือ ตลาดสหภาพยุโรปยังมีความต้องการกุ้งกุลาดำและกุ้งก้ามกรามอีกมาก แม้จะมีราคาสูง แต่ก็เป็นที่นิยมบริโภคเนื่องจากมีเนื้อแน่นและสีสันสวยงาม โดยเฉพาะในวงการภัตตาคารและโรงแรมชั้นนำ อีกทั้งผู้บริโภคยุโรปมีกำลังซื้อสูง เน้นของดี มีคุณภาพ กุ้งกุลาดำจากไทยเป็นที่รู้จักดีในยุโรป และยังมีช่องทางตลาดอีกมาก ผู้เลี้ยงกุ้งไทยให้หันมาเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำและกุ้งก้ามกรามเพื่อส่งออกมาตลาดยุโรปให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะมีราคาที่สูงกว่ากุ้งขาวแล้วยังมีการแข่งขันน้อยกว่า

-ตลาดส่งออกใหม่ นอกจากตลาดส่งออกหลักแล้ว ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งที่น่าจับตามองคือ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และแคนาดา แม้ว่าในปัจจุบันการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆนี้มูลค่ายังไม่มากนัก แต่ก็มีอัตราการขยายตัวที่น่าจับตามอง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันทั้งออสเตรเลียและเกาหลีใต้เริ่มมีมาตรการเข้มงวดในการนำเข้า โดยเฉพาะการตรวจสอบเชื้อโรคและสารต้องห้ามปนเปื้อน แต่ก็เป็นมาตรการที่ดำเนินการกับทุกประเทศ ทำให้คาดว่าผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยยังสามารถเจาะขยายตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

บทสรุป
จากวิกฤตราคากุ้งในช่วงไตรมาสที่สองปี 2550 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อย ทำให้คาดได้ว่าปริมาณการผลิตกุ้งในปี 2550 จะต่ำกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ตอนต้นปี โดยจะมีปริมาณการผลิตเพียง 550,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 จากที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 624,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0

อย่างไรก็ตาม ในปี 2550 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะชะลอลง โดยมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 แม้ว่าผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งต้องเผชิญปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท และปัญหาการกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ค้าสำคัญ แต่ปัจจัยบวกจากสถานการณ์ในประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะการแข่งขันที่ลดความรุนแรงลง จากการที่คู่แข่งถูกตรวจพบสารต้องห้ามปนเปื้อน การถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในอัตราที่ต่ำลง และต่ำกว่าประเทศคู่แข่งขันสำคัญ และการได้รับคืนจีเอสพี ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง