10 ปีวิกฤติเศรษฐกิจไทย 2540: บทเรียนของสถาบันการเงินไทย

นับจากเดือนกรกฎาคม 2540 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2550 ก็เป็นระยะเวลาครบรอบ 10 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและการเงิน หนึ่งในองค์ประกอบหลักที่นำมาสู่ปัญหาวิกฤติ และการขาดความเชื่อมั่นจากต่างชาติครั้งใหญ่ในช่วงนั้น ได้แก่ ความอ่อนแอของระบบสถาบันการเงิน ปัญหาการดำเนินงานของสถาบันการเงินที่ไม่โปร่งใส ตลอดจนมาตรฐานการกำกับ ตรวจสอบ และดูแสสถาบันการเงินที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ปมปัญหาต่างๆ เหล่านี้ สะท้อนออกมาในรูปของการขาดสภาพคล่องทางการเงินของสถาบันการเงินบางแห่งที่ลุกลามจนกลายเป็นปัญหาสภาพคล่องของทั้งระบบสถาบันการเงินและของประเทศในที่สุด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมความเป็นมา เหตุการณ์สำคัญและบทเรียนจากปัญหาของระบบสถาบันการเงินไทยต่างๆ ไว้ดังนี้:

จุดเริ่มต้นของปัญหา
ในช่วงก่อนวิกฤติที่เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงภาวะฟองสบู่ โดยมีการเก็งกำไรภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างกว้างขวางนั้น สถาบันการเงินไทยหลายแห่งก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าว ผ่านการสนับสนุนด้านเงินทุนจากต่างประเทศของกิจการวิเทศธนกิจ (BIBFs) เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ทำให้ไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยยังให้น้ำหนักกับการขยายสินเชื่อในบางประเภทมากเป็นพิเศษ เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับกระบวนการดำเนินงานในด้านต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ไทย โดยเฉพาะการพิจารณาเครดิตและการอนุมัติสินเชื่อ ในช่วงก่อนวิกฤติ ยังเน้นการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง ปัจจัยดังกล่าว ผนวกกับข้อจำกัดในระบบการตรวจสอบ จึงทำให้การขยายสินเชื่อในช่วงดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้มีอำนาจในการอนุมัติสินเชื่อกับลูกค้า และในบางกรณี ก็อาจขาดความโปร่งใส ก่อให้เกิดการปล่อยสินเชื่อในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน ทำให้เอ็นพีแอลพุ่งขึ้นจากที่ระดับต่ำกว่า 20% ในช่วงก่อนวิกฤติ มาแตะระดับสูงสุดที่ 52.3% ของสินเชื่อรวมในเดือนพฤษภาคม 2542
นอกจากนี้ จำนวนสถาบันการเงินก็ลดลงอย่างมาก และโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่ง เปลี่ยนแปลงไปสู่ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นชาวต่างชาติและกองทุนฟื้นฟูฯ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล มากันสำรองหนี้เสียให้ได้ตามเกณฑ์ใหม่ของ ธปท. ทั้งนี้ ในช่วงปี 2541-2543 ธนาคารพาณิชย์ไทยได้เพิ่มทุนไปแล้วเป็นจำนวนเงินสูงกว่า 8 แสนล้านบาท

การแก้ไขปัญหา
การแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศในช่วงดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยในส่วนของภาครัฐนั้น ธปท.ได้ออกมาตรการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะแรก จะเน้นไปที่การแก้ปัญหาที่สืบเนื่องจากช่วงวิกฤติ อาทิ

การปิดสถาบันการเงินที่มีปัญหา ส่งผลให้บริษัทเงินทุนลดจำนวนลงจาก 91 แห่งในช่วงก่อนวิกฤติ มาเหลือเพียง 18 แห่งในช่วงปี 2546 เช่นเดียวกับจำนวนธนาคารพาณิชย์ไทยที่ลดลงจาก 15 แห่ง มาที่ 12 แห่ง

การเข้าไปช่วยเพิ่มทุน โดยในระหว่างปี 2539-2542 กองทุนฟื้นฟูฯ ได้เพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินที่ขาดสภาพคล่องเป็นจำนวนเงินประมาณ 4.7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ทางการยังออกมาตรการ 14 สิงหาคม 2541 เพื่อเพิ่มเงินกองทุนทั้งสิ้นประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท

การเพิ่มความเข้มงวดของมาตรฐานการกำกับดูแลด้านต่างๆ เช่น ความเพียงพอของเงินกองทุน การปล่อยสินเชื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกัน ขนาดการปล่อยสินเชื่อต่อราย การจัดชั้นหนี้เสีย และการกันสำรองตามเกณฑ์หนี้จัดชั้น เป็นต้น ซึ่งอิงกับมาตรฐานสากล

การเร่งรัดการแก้ไขปัญหาหนี้เสีย ด้วยการจัดตั้งองค์กรพิเศษ และปรับปรุงกระบวนการทางกฎหมาย เช่น การจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) และคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (คปน.) นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศาลล้มละลายกลางในปี 2542 เพื่อดูแลคดีล้มละลายโดยเฉพาะ ขณะเดียวกัน ก็ได้ปรับปรุงกฎหมายล้มละลายหลายครั้งนับจากปี 2541 เพื่อทำให้กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้มีความรวดเร็ว และทันสมัยมากขึ้น ตลอดจนมีความยุติธรรมระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ เช่นเดียวกับการปรับปรุงกระบวนการยึดทรัพย์/ขายทรัพย์ทอดตลาดให้รวดเร็วขึ้น ส่งผลให้ระยะเวลาที่ใช้ในกระบวนการทางศาล (ตั้งแต่เตรียมเอกสาร จนถึงขั้นตอนขายทรัพย์ทอดตลาด) ประมาณว่าจะลดลงจากอย่างน้อย 42-60 เดือน มาเหลือราวอย่างน้อย 26-35 เดือนในปัจจุบัน

การจัดระบบการเก็บข้อมูลลูกหนี้ โดยมีการจัดตั้งเครดิตบูโรครั้งแรกในปี 2542 ตามมาด้วยการออก พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2546 ทำให้สถาบันการเงินมีศูนย์กลางที่ใช้ในการตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ของลูกหนี้ ก่อนที่จะมีการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งช่วยลดโอกาสเกิดเอ็นพีแอล
ขณะที่ ต่อมาในระยะหลัง มาตรการของทางการจะเน้นไปที่การขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจให้กว้างขวางมากขึ้น ตลอดจนยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากล เพื่อเพิ่มความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว อาทิ การอนุญาตให้ ธพ.ประกอบธุรกิจใหม่ต่างๆ การออกแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ประกาศในปี 2547) ตลอดจน การยกระดับมาตรฐานในการกำกับดูแลด้านอื่นๆ ให้มีความสอดคล้องกับหลักปฎิบัติสากลที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็ร นโยบายการกันสำรองหนี้ด้อยคุณภาพตามมาตรฐาน IAS 39 (บังคับใช้ปี 2549-2550) นโยบายการกำกับดูแลแบบรวมกลุ่ม Consolidated Supervision (บังคับใช้ปี 2550) และมาตรฐานเงินกองทุนใหม่ Basel II (บังคับใช้ปี 2551)

ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น ได้ปรับปรุงการดำเนินงานหลากหลายด้านเพื่อป้องกันโอกาสการเกิดปัญหาซ้ำรอย โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารความเสี่ยงเครดิต และการปรับปรุงบทบาทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น

มีการวางนโยบายเครดิตจากฝ่ายบริหารของธนาคารที่ชัดเจนขึ้น โดยคำนึงถึงตัวแปรด้านการกระจุกตัวของเงินให้สินเชื่อในมิติต่างๆ อาทิ กลุ่มลูกค้า กลุ่มผลิตภัณฑ์ และกลุ่มอุตสาหกรรม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะช่วยลดโอกาสที่ธนาคารพาณิชย์ไทยจะปล่อยสินเชื่อให้ Segment ใดมากเกินไปจนก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านเครดิตต่อพอร์ตสินเชื่อในภาพรวม

มีการแยกกระบวนการพิจารณาและอนุมัติเครดิตออกมาจากขั้นตอนการหาลูกค้า ซึ่งแต่เดิม ผู้จัดการสาขามักจะเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ทั้งนี้ การแยกกระบวนการพิจารณาและอนุมัติเครดิตดังกล่าว ทำให้เกิดการคานอำนาจ และลดปัญหาการขาดความโปร่งใสในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่การหาลูกค้า จะเป็นของหน่วยงานใหม่อย่างผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้า หรือทีมขาย ซึ่งจะมีการวัดผลงานจากทั้งปริมาณและคุณภาพสินเชื่อ เพื่อกระตุ้นให้มีการติดตามสถานการณ์ความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของลูกค้าภายใต้ความดูแลของตน ก่อนที่จะกลายเป็นเอ็นพีแอล

มีการพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยวัดความเสี่ยงอัตโนมัติ เช่น Credit Scoring, Credit Rating และ Qualitative Risk Score ทำให้ลดความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพิงการพิจารณาเครดิตจากตัวบุคคล หรือเจ้าหน้าที่วิเคราะห์เครดิต ซึ่งจะทำให้การประเมินความเสี่ยงและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ให้กับลูกค้าอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันมากขึ้น เช่นเดียวกับข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณาและอนุมัติเครดิต ซึ่งจะอ้างอิงจากฐานะทางการเงิน กระแสเงินสด และความสามารถในการชำระคืนหนี้ นอกเหนือไปจากการดูมูลค่าหลักประกันแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ

มีระบบในการตรวจสอบการชำระหนี้และติดตามหนี้ ทำให้ทราบได้ทันทีว่าลูกค้ารายใดเริ่มชำระหนี้ช้า แม้จะช้าไปเพียง 1 วันจากข้อตกลงในสัญญาก็ตาม ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงสามารถรับมือกับปัญหาหนี้เสียได้ดียิ่งขึ้น ด้วยแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น โดยลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพในการชำระหนี้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อลดโอกาสเกิดหนี้เสีย

นอกเหนือจากการที่ธนาคารพาณิชย์ไทยได้นำบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินในปี 2540 มาพัฒนางานด้านการบริหารความเสี่ยงเครดิตข้างต้นแล้ว ธนาคารพาณิชย์ยังไทยได้พัฒนารูปแบบการทำธุรกิจในด้านอื่นๆ เช่น การสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การดำเนินธุรกิจในลักษณะกลุ่มธุรกิจการเงิน (ดังจะเห็นได้จากการที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทลิสซิ่ง บริษัทแฟคเตอริ่ง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม หรือบริษัทประกันชีวิต เป็นต้น) ตลอดจนการพัฒนาช่องทางการขายและให้บริการ เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในระยะยาวด้วย

เส้นทางในอนาคต
ถึงแม้ว่าผลตอบแทนสำหรับความพยายามในการแก้ไขปัญหาที่สืบเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินในปี 2540 และการปรับปรุงศักยภาพในการแข่งขันของทั้งธนาคารพาณิชย์ไทยเองและทางการไทย จะสะท้อนออกมาในรูปของผลการดำเนินงานและศักยภาพในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ฟื้นตัวขึ้นชัดเจนจากช่วงวิกฤติ แต่การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปี 2550 ที่นำมาสู่การเพิ่มขึ้นอีกครั้งของปัญหาเอ็นพีแอล กำไรสุทธิจากการดำเนินงานที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิต่อสินทรัพย์สุทธิ (NIM) ที่ลดลงในไตรมาส 1/2550 ตลอดจนข่าวความจำเป็นในการเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์บางแห่งนั้น ได้ตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหาของระบบสถาบันการเงินในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ปัญหาความอ่อนแอทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ปรากฎขึ้นในไตรมาส 1/2550 นั้น มีสาเหตุและองค์ประกอบที่แตกต่างจากช่วงวิกฤติปี 2540 เนื่องจากการชะลอตัวของผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในครั้งนี้ มีสาเหตุหลักจากการชะลอตัวของวัฏจักรเศรษฐกิจตามปกติ (หลังจากที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ไม่ใช่การชะลอตัวจากปัญหาฟองสบู่แตกเหมือนในช่วงก่อนวิกฤติ) ขณะที่ เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ไทยมีประสบการณ์จากช่วงวิกฤติ และมีความเชี่ยวชาญมากขึ้นในการรับมือกับการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อีกทั้งสัดส่วนการกันสำรองหนี้ต่อเอ็นพีแอล คงจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับ 63.2% ณ สิ้นไตรมาส 1/50 เมื่อธนาคารพาณิชย์ไทยสำรองครบถ้วนตามเกณฑ์ธปท. ดังนั้น การชะลอตัวลงของผลการดำเนินงานและปัญหาเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ไทยในระยะนี้ จึงน่าจะเป็นปัญหาเพียงชั่วคราว และคงจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น ถึงแม้ว่าในระหว่างนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยยังจำเป็นที่จะต้องประกอบธุรกิจด้วยความระมัดระวังมากกว่าปกติ ประกอบกับธนาคารพาณิชย์บางแห่งยังจำเป็นที่จะต้องมีแก้ไขปัญหาเฉพาะภายในองค์กร เพื่อความมั่นคงในการทำธุรกิจในระยะยาวก็ตาม

หากมองไปในระยะถัดไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่า จุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับระบบสถาบันการเงินไทย น่าจะเป็นแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่สอง (ซึ่งน่าจะเป็นรูปเป็นร่างและมีรายละเอียดออกสู่สาธารณชนในช่วงต้นปีหน้า) ตลอดจน การเปิดเสรีทางการเงิน (ซึ่งการเจรจาระหว่างไทย-สหรัฐฯ น่าจะกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจากที่ไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2551 และสหรัฐฯ เสร็จสิ้นการเลือกตั้งในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2551) ซึ่งน่าจะตอกย้ำความจำเป็นที่ธนาคารพาณิชย์ไทยจะต้องมุ่งเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจภายใต้แนวคิด “ธนาคารเต็มรูปแบบ” (Universal Bank) โดยบริการทางการเงินคงจะมีความหลากหลายมากขึ้น สอดคล้องกับความต้องการทางการเงินและความรู้ของผู้บริโภคที่ซับซ้อนขึ้น การแข่งขันจะรุนแรงขึ้นในทุกกลุ่มลูกค้าและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะจากธนาคารพาณิชย์ที่มีสถาบันการเงินต่างชาติถือหุ้นค่อนข้างมาก และในประเภทบริการที่ธนาคารต่างชาติมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ยังอาจมีการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารมากขึ้นในอนาคต เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เนื่องจากกลยุทธ์การแข่งขันที่เน้นการแสวงหาตลาดเฉพาะ (Niche Market) นั้น อาจไม่สามารถรับรองถึงความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาวได้ ท่ามกลางขยายธุรกิจของธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ และความจริงที่ว่าผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเป็นสินค้าที่มีลักษณะเหมือนกัน (Homogenous) ไม่สามารถสร้างความแตกต่างได้ชัดเจนเหมือนสินค้าเพื่อการบริโภคประเภทอื่นๆ ดังนั้น จึงทำให้สินค้าและบริการจากธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีความคล้ายคลึงและลอกเลียนแบบกันได้ง่าย