เครื่องประดับแท้ไทยในตลาดสหรัฐฯ : ต้องรุกด้านคุณภาพ…ภายหลังถูกตัดสิทธิ์ GSP

การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปยังตลาดต่างประเทศนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาเป็นไปในทิศทางที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าเครื่องประดับแท้ตามรายงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2550 การส่งออกสินค้าเครื่องประดับแท้ของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 21,254.4 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 12.8) หรือหากเทียบเป็นเงินดอลลาร์ก็พบว่ามีมูลค่า 603.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(ลดลงร้อยละ 3.5) โดยปัจจัยสำคัญมาจากการที่ตลาดส่งออกหลักของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ครองสัดส่วนมากที่สุดที่ประมาณร้อยละ 40-45 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับแท้โดยรวมของไทย มีการชะลอการสั่งซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐฯชะลอลง ประกอบกับสถานการณ์การแข่งขันของสินค้าเครื่องประดับแท้ในตลาดสหรัฐก็ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นด้วย ทำให้สถานการณ์การค้าสินค้าเครื่องประดับแท้ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ปี 2549 เป็นไปในทิศทางดังนี้ .

ในปี 2549 ที่ผ่านมาตามรายงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พบว่า ไทยส่งออกเครื่องประดับแท้ไปตลาดสหรัฐฯคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 28,728.3 ล้านบาท (เติบโตลดลงร้อยละ 11.5) ขณะที่ตัวเลขการส่งออกเครื่องประดับแท้ของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯในช่วง 5 เดือนแรกปี 2550 เติบโตลดลงร้อยละ 19.8 ในเทอมดอลลาร์สหรัฐฯ (ลดลงร้อยละ 27.5 ในเทอมเงินบาท) สำหรับชนิดของเครื่องประดับแท้ที่มีการปรับตัวลดลงมากก็คือเครื่องประดับที่ทำจากทองที่มีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 49.2 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับแท้โดยรวมที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯในช่วง 5 เดือนแรกปี 2550 โดยลดลงถึงร้อยละ 41.5 ในเทอมดอลลาร์สหรัฐฯ (ลดลงร้อยละ 47.2 ในเทอมเงินบาท ) ในขณะที่เครื่องประดับที่ทำจากเงินซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 43.2 มีการเติบโตเพิ่มขึ้นของมูลค่าในระดับร้อยละ18.6 ในเทอมดอลลาร์สหรัฐฯ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ในเทอมเงินบาท) และเครื่องประดับที่ทำจากโลหะมีค่าอื่นๆที่มีสัดส่วนร้อยละ 7.6 มีการเติบโตเพิ่มขึ้นของมูลค่าเช่นกันที่ระดับร้อยละ 83.7 ในเทอมดอลลาร์สหรัฐฯ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.2 ในเทอมเงินบาท)

ภาพรวมของการส่งออกเครื่องประดับแท้ไทยในตลาดสหรัฐฯปี 2550 พบว่าปัจจัยเสี่ยงในด้านการชะลอตัวภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯที่คาดว่าจะส่งต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากต้นทุนราคาน้ำมันและราคาสินค้าอุปโภคนำเข้า ที่จะมีผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในสหรัฐฯชะลอตัวลง และความเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาทองคำ และ การที่สหรัฐฯประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP กับกลุ่มสินค้าเครื่องประดับอัญมณีแท้ที่ทำจากทองคำของไทย พิกัดHS. 711319.50 ซึ่งมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมา และมีผลให้สินค้าเครื่องประดับที่ทำจากทองของไทยจะต้องเสียภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 5.5 จากเดิมที่เคยได้รับการผ่อนผันยกเว้นนั้น ก็อาจจะส่งผลให้อัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องประดับทองของไทยในตลาดสหรัฐฯชะลอตัวลงพอสมควร หรือลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 แต่ขณะเดียวกันเครื่องประดับเงิน(เครื่องประดับเงินล้วนและเครื่องประดับเงินฝังพลอยเนื้ออ่อน) ซึ่งมีราคาต่ำกว่า ประกอบกับกระแสนิยมโลหะมีค่าสีขาวที่แพร่หลายเพิ่มมากขึ้นก็น่าจะยังมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่แปรเปลี่ยนไป และน่าจะช่วยพยุงให้มูลค่าการส่งออกเครื่องประดับแท้โดยรวมของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯไม่ซบเซามากจนเกินไปนัก ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่า ในปี 2550 มูลค่าการส่งออกเครื่องประดับแท้ของไทยไปตลาดสหรัฐฯน่าจะมีอัตราการเติบโตติดลบประมาณร้อยละ 15-25 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 20,000-25,000 ล้านบาท หรือประมาณ 600-700 ล้านเหรียญสหรัฐ

ผลกระทบจากการที่สินค้าเครื่องประดับที่ทำจากทองของไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP อาจมีผลต่อส่วนแบ่งตลาดของสินค้าเครื่องประดับที่ทำจากทองไทยในตลาดสหรัฐฯระดับหนึ่ง เพราะราคาสินค้ากลุ่มนี้ของไทยจะแพงขึ้นในสายตาของผู้นำเข้าสหรัฐฯจากการที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากรายงานของ United States International Trade Commission พบว่าปัจจุบัน เครื่องประดับทองของไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3 ในตลาดสหรัฐฯ ด้วยสัดส่วนร้อยละ 8.83 ของมูลค่าการนำเข้าเครื่องประดับทองโดยรวมในช่วง 4 เดือนแรกปี 2550 โดยเป็นรองจากอินเดีย และจีน ที่มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 32.17 และร้อยละ 10.43 ตามลำดับ แต่ทั้งนี้ปัจจุบันสินค้ากลุ่มนี้ของไทยนับว่ายังมีศักยภาพที่ดีพอสมควรและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในตลาดสหรัฐฯ โดยพิจารณาจากค่าดัชนีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ หรือ RCA (Revealed Comparative Advantage) ที่พบว่าในช่วง 4 เดือนแรกปี 2550 เครื่องประดับทองของไทยมีค่า RCA เป็น 7.46 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเครื่องประดับทองของไทยก็จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นนับจากนี้ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างความได้เปรียบทางการผลิต การสรรสร้างนวัตกรรม การสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยต่างก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในการแข่งขันบ้างแล้ว ด้วยการลงทุนนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตเพื่อลดต้นทุน และผลิตชิ้นงานได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีการวางแผนเพื่อพัฒนาสินค้าสู่ตลาดระดับกลาง-บนให้มากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อลดผลกระทบจากการแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากจีนและอินเดีย

คู่แข่งสำคัญของสินค้าเครื่องประดับแท้ของไทย จากรายงานของ United States International Trade Commission พบว่า ในปี 2549 สหรัฐฯมีการนำเข้าเครื่องประดับแท้จากตลาดโลกคิดเป็นมูลค่า 9,047.5 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดประมาณร้อยละ 33 ของมูลค่าการนำเข้าเครื่องประดับแท้โดยรวมในตลาดโลก โดยที่ไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับแท้รายสำคัญอันดับ 3 ในตลาดสหรัฐฯ ด้วยสัดส่วนร้อยละ 11.60 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเครื่องประดับแท้ในตลาดสหรัฐฯ ขณะที่ผู้ครองตลาดอันดับ 1-2 คืออินเดีย และจีน สำหรับในช่วง 4 เดือนแรกปี 2550 ไทยก็ยังคงครองอันดับ 3 ในสัดส่วนร้อยละ 11.43 ซึ่งการแข่งขันนั้นแบ่งได้เป็นการแข่งขันใน ตลาดระดับกลางและบน ที่เป็นการแข่งขันด้านคุณภาพ-รูปแบบดีไซน์กับอิตาลีที่มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9.25 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเครื่องประดับแท้โดยรวมของสหรัฐฯ และฮ่องกง(สัดส่วนร้อยละ 6.06) ที่ล้วนมีจุดเด่นด้านการออกแบบ และเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย อีกทั้งยังมีตราสินค้าเป็นของตนเองด้วย ขณะที่การแข่งขันใน ตลาดระดับกลางถึงล่าง นั้นจะเป็นการแข่งขันด้านราคาเป็นหลักกับคู่แข่งสำคัญอย่างอินเดียที่ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 28.8 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเครื่องประดับแท้โดยรวมของสหรัฐฯ และจีนที่มีสัดส่วนร้อยละ 13.25 รวมถึงเม็กซิโก (สัดส่วนร้อยละ 3.78) ตุรกี(สัดส่วนร้อยละ 4.14) และอินโดนีเซีย(สัดส่วนร้อย1.89) ที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ และความพร้อมของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ส่งผลให้คู่แข่งกลุ่มนี้เป็นคู่แข่งสำคัญของไทย แต่ทั้งนี้สินค้าของไทยในปัจจุบันก็ยังมีคุณภาพที่ค่อนข้างดีกว่าโดยเปรียบเทียบ

คู่แข่งรายชนิดสินค้าเครื่องประดับแท้ของไทย ส่วนคู่แข่งที่สำคัญในช่วง 4 เดือนแรกปี 2550 แยกตามชนิดของสินค้าเครื่องประดับแท้ พบว่าในส่วนของเครื่องประดับทองนั้นคู่แข่งสำคัญด้านราคาคืออินเดียและจีนที่ปัจจุบันสามารถครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในตลาดสหรัฐ(ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2550 อินเดียมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 32.17 และจีนมีสัดส่วนร้อยละ 10.43) ขณะที่การแข่งขันในด้านคุณภาพ-รูปแบบดีไซน์นั้นไทยต้องแข่งขันกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างอิตาลี(มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8.7) ส่วนเครื่องประดับทองของไทยในช่วง 4 เดือนแรกปี 2550 นั้นมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 8.83 สำหรับการแข่งขันในตลาดเครื่องประดับเงิน พบว่าไทยครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับสองรองจากจีนเท่านั้นในตลาดสหรัฐฯ โดยจีนมีสัดส่วนร้อยละ 30.06 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมของสหรัฐฯในช่วง 4 เดือนแรกปี 2550 ขณะที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 27.2 ซึ่งระหว่างไทยกับจีนนั้นพบว่าส่วนใหญ่เป็นการแข่งขันในตลาดระดับกลางถึงล่างทางด้านราคา แต่ผู้ประกอบการไทยหลายรายก็พยายามยกระดับสินค้าด้วยการพัฒนาทางด้านคุณภาพสินค้ามากขึ้น และมีการบริหารจัดการด้านต้นทุนให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อรองรับการแข่งขัน สำหรับคู่แข่งของเครื่องประดับเงินของไทยในตลาดระดับกลางและบนนั้นยังคงเป็นอิตาลี ที่มีความพร้อมด้านการออกแบบ และตราสินค้าที่เป็นที่รู้จัก

ศักยภาพในการแข่งขัน สำหรับความสามารถในการแข่งขันของการค้าระหว่างประเทศ โดยวัดจากดัชนีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ หรือ RCA (Revealed Comparative Advantage) พบว่าสินค้าเครื่องประดับแท้ของไทยในตลาดสหรัฐอเมริกาในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ที่มีศักยภาพการแข่งขันสูงพอสมควร โดยไทยมีค่าเฉลี่ย RCA เป็น 9.84 ต่อปี ขณะที่คู่แข่งไทยอย่างอินเดียนั้นมีค่า RCA เฉลี่ยเป็น 20.42 ต่อปี ส่วนจีน อิตาลี ฮ่องกง เม็กซิโก และตุรกีมีค่า RCA เฉลี่ยเป็น 0.86 , 6.77 , 12.4 , 0.37 และ 14.88 ตามลำดับ

ส่วนกลยุทธ์ในการบุกตลาดเครื่องประดับแท้ในสหรัฐฯนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าน่าจะประกอบด้วย

การพัฒนาคุณภาพสินค้า แม้ราคาจะเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อสินค้าในยุคเศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐฯที่ชะลอเช่นปัจจุบัน แต่ผู้บริโภคสหรัฐฯก็ยังคงให้สำคัญต่อการคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไปด้วย ประกอบกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของไทยเป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน ดังนั้นการขยายส่วนแบ่งตลาด จึงควรให้ความสำคัญในด้านรูปแบบและคุณภาพสินค้ามากกว่าด้านราคา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเอกลักษณ์ สร้างความแปลกใหม่และทันสมัยในสายตาผู้บริโภค รวมถึงการสร้างตราสินค้าของตนเอง หรือการสลักเครื่องหมายรับประกันคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค เป็นต้น

การกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เนื่องจากสหรัฐฯเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ ทำให้ลักษณะตลาด และพฤติกรรมของผู้บริโภค จึงค่อนข้างหลากหลายและแตกต่างกันพอสมควร ดังนั้นหากไม่มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน ก็อาจจะมีผลให้การดำเนินกลยุทธ์การตลาดไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะไม่สามารถใช้กลยุทธ์เดียวในการทำตลาดทั้งประเทศได้ แต่ต้องเลือกใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่เฉพาะเจาะจงเพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

การขยายช่องทางจำหน่ายให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของร้านจำหน่ายเครื่องประดับหรูหรา เครือข่ายร้านเครื่องประดับระดับประเทศและห้างสรรพสินค้า เครือข่ายขายสินค้าตามโทรทัศน์ และร้านเครื่องประดับอิสระขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งนี้การจ้างบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่มีเครือข่ายช่องทางการจำหน่ายสินค้าอยู่แล้วเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งสินค้า ก็น่าจะเป็นวิธีการที่รวดเร็วในการเข้าถึงผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ และยังเหมาะสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กของไทยด้วย แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องพิจารณาถึงศักยภาพสินค้าของตนเองเป็นหลักด้วยว่าเหมาะสมสำหรับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใด แล้วจึงจัดหาช่องทางการจำหน่ายให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย

บทสรุป
ภาพรวมการส่งออกเครื่องประดับแท้ของไทยไปยังตลาดสหรัฐในปี 2550 มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่คาดว่าจะส่งผลกระทบนอกเหนือจากปัญหาขีดความสามารถด้านการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าอาทิ อินเดีย และจีน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในปี 2550 ที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากภาวะตลาดที่อยู่อาศัยที่ซบเซา อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศสหรัฐฯที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากต้นทุนราคาน้ำมันและราคาสินค้าอุปโภคนำเข้า ที่จะมีผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในสหรัฐฯชะลอตัวลง ปัจจัยจากค่าเงินบาทของไทยที่ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง และราคาทองคำที่ค่อนข้างผันผวน อีกทั้งสหรัฐฯยังได้ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP กับกลุ่มสินค้าเครื่องประดับอัญมณีแท้ที่ทำจากทองคำของไทย พิกัดHS. 711319.50 ซึ่งมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมาด้วย ส่งผลให้สินค้าเครื่องประดับทองของไทยซึ่งเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนมากที่สุดในกลุ่มสินค้าเครื่องประดับแท้ไทยที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯมีราคาแพงขึ้นในสายตาของผู้บริโภค และอาจจะมีการชะลอตัวลงของการซื้อเครื่องประดับทองของไทยตามมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า ในปี 2550 มูลค่าการส่งออกเครื่องประดับแท้ของไทยไปตลาดสหรัฐฯน่าจะมีอัตราการเติบโตติดลบประมาณร้อยละ 15-25

ดังนั้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัวในหลายๆด้านอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดต้นทุนการผลิต โดยบริหารการสั่งซื้อวัตถุดิบ และการบริหารสต็อกสินค้าให้สอดคล้องกับปริมาณการผลิตและปริมาณความต้องการในแต่ละช่วงเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาปรับปรุงเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมาใช้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมทั้งเร่งพัฒนารูปแบบสินค้าให้มีความแตกต่างและโดดเด่นให้ตรงกับรสนิยมของผู้ซื้อที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยยังคงต้องเน้นความทันสมัย การสร้างสรรค์ การมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือเป็นรูปแบบที่สามารถสวมใส่ได้ในหลายโอกาสภายใต้ระดับราคาที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อที่ง่ายและเร็วขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจำเป็นต้องเรียนรู้และศึกษาพฤติกรรมความต้องการของผู้ซื้อในประเทศสหรัฐฯอย่างละเอียดเพิ่มมากขึ้นผ่านทางข้อมูลวิจัยทางด้านการตลาด เพื่อเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคสหรัฐฯ นอกจากนี้ควรกระจายความเสี่ยงด้วยการเร่งแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆที่มีกำลังซื้อควบคู่กันไปได้วย เช่นตลาดอเมริกาใต้ ตลาดตะวันออกกลาง และรัสเซีย เป็นต้น ขณะที่ภาครัฐก็ควรมีการหารือ แก้ไขปัญหาหรือติดตามเกี่ยวกับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ที่จะมีผลต่อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้สินค้ากลุ่มนี้ของไทยได้รับผลกระทบรุนแรงมากนักหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้น รวมถึงการติดตามความเคลื่อนไหวของมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี หรือ NTBs (Non Tariff Barriers) อย่างใกล้ชิดด้วย เพราะแม้ว่าการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของสหรัฐฯจะไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก แต่ขณะเดียวกันทางสหรัฐฯได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคจาการถูกหลอกลวง หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในคุณสมบัติของสินค้าพอสมควร ส่งผลให้กฎหมาย และกฎระเบียบในการนำเข้าของสหรัฐฯ หรือในส่วนของมาตรการ NTBs จึงให้ความสำคัญต่อการระบุส่วนประกอบ คุณภาพ และแหล่งกำเนิดของสินค้าค่อนข้างมาก ดังนั้นควรมีการสื่อสารให้ผู้ประกอบการได้รับรู้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับส่งออกของไทยโดยรวมมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับเร่งหาแหล่งวัตถุดิบที่ดีผ่านการเจรจาระดับรัฐบาล และส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านการผลิตเครื่องจักรและเทคโนโลยีในการผลิตเครื่องประดับอย่างจริงจัง เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยยังขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อรองรับเป็นจำนวนมาก และยังต้องนำเข้าเครื่องจักรที่ทันสมัยจากต่างประเทศอยู่ไม่น้อย