สถาบันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (Institute of Solar Energy Technology Development) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ยืนยันพลังงานแสงอาทิตย์สามารถใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการใช้งานไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (Peak Hour) ทั้งนี้ต้องการการสนับสนุนด้านนโยบายระดับชาติ ชี้สถาบันฯ ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มานานกว่า 9 ปี ตั้งแต่กระบวนการในห้องทดลองจนสามารถผลิตเป็นแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในเชิงพาณิชย์ และ ณ ปัจจุบันได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทไทยและพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับต่างประเทศ
ดร.พอพนธ์ สิชฌนุกฤษฎ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี และผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า พลังงานแสงอาทิตย์สามารถใช้เป็นพลังงานทดแทนในช่วงเวลาที่คนใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดทั้งประเทศ (Peak Hour) ได้ เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ราคา 10 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ราคา 16.67 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ถ้าได้มีการกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ นอกจากนั้นพลังงานแสงอาทิตย์ยังเป็นพลังงานที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และมีอยู่อย่างมากในประเทศไทย เมื่อลงทุนติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในครั้งเดียว สามารถใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ได้นานประมาณ 25 ปี อีกทั้งยังเป็นพลังงานบริสุทธิ์ ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้ามีอัตราเพิ่มมากขึ้นทุกปี และในแต่ละปีช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (Peak Hour) ก็มากขึ้นทุกปี สำหรับประเทศไทยพลังงานแสงอาทิตย์นับได้ว่าเป็นพลังงานที่มีความเหมาะสมมากและควรมีการนำไปใช้ให้แพร่หลาย โดยการได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐ เช่นการกำหนดนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในราคาที่สูงกว่าปัจจุบัน เป็นต้น เพราะประเทศไทยมีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีแสงแดดยาวนานเกือบทั้งปี และการได้มาซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์นั้นไม่กระทบกับกับสิ่งแวดล้อม จะมีข้อบกพร่องเล็กน้อยเนื่องจากประเทศไทยมีฝุ่นเยอะ ทำให้ประสิทธิภาพแผงพลังงานแสงอาทิตย์ลดลง ดังนั้นต้องหมั่นทำความสะอาดแผงพลังงานแสงอาทิตย์อย่างสม่ำเสมอ
ดร.พอพนธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี 2541 – 2548 สถาบันฯ ได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ชนิดฟิล์มบางซิลิคอนที่มีต้นทุนต่ำ และมีการนำไปติดตั้งให้กับสถานีอนามัย 16 แห่ง รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีบางส่วนให้กับบริษัทเอกชน คือบริษัท บางกอกโซลาร์ จำกัดเพื่อทำโครงการไฟฟ้าเอื้ออาทร และส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศเยอรมัน
สำหรับแผนงานสำหรับปี 2550 – 2553 ภารกิจหลักของสถาบันฯ คือ การเป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ของโลก (Center of Excellence) และพร้อมเป็นผู้นำในการพัฒนาและวิจัยในด้านต่างๆ ดังนี้
1. ด้านประสิทธิภาพเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดฟิล์มบางซิลิคอนที่สูงที่สุดในโลก
2. ด้านเทคโนโลยีการผลิตที่มีต้นทุนต่ำที่สุดในโลก
3. ด้านการใช้งานรูปแบบใหม่ เช่น พัฒนารูปแบบไฟฟ้ากับน้ำร้อนให้อยู่ในแผงพลังงานแสงอาทิตย์เดียวกัน
เกี่ยวกับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2548 ภายใต้ สวทช. พันธกิจหลักคือการนำความสำเร็จของผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศสู่ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการให้การสนับสนุนและการให้บริการในรูปแบบต่างๆ อย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ของภาคธุรกิจ สังคมและชุมชน อันนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
ภารกิจหลักที่สำคัญของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ประกอบด้วย การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี , การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ , การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน , การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์