ปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว ซึ่งสัดส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวไปตลาดจีนเท่ากับร้อยละ 12.4 และ 15.0 ของมูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว ดังนั้น จึงนับได้ว่าตลาดข้าวของจีนจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดอนาคตตลาดข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวของไทย ซึ่งความต้องการข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวของจีนส่งผลกระทบต่อราคาข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้ส่งออกข้าวของไทยต้องจับตามองก็คือ ตลาดข้าวในจีนเริ่มมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งจากปริมาณการผลิตข้าวของจีนที่เริ่มมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น และจากคู่แข่งที่สำคัญคือ เวียดนาม สหรัฐฯ ปากีสถานและลาว นอกจากนี้ จากการที่ผลผลิตข้าวของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณการบริโภคข้าวของจีนมีแนวโน้มลดลง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจีนจะกลายเป็นคู่แข่งในการส่งออกข้าว โดยเฉพาะข้าวขาวและข้าวกล้อง เนื่องจากตลาดส่งออกสำคัญของจีน คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ไอเวอรี่โคสต์ ไลบีเรีย และไนจีเรีย ซึ่งตลาดเหล่านี้ก็เป็นตลาดข้าวที่ผู้ส่งออกข้าวของไทยพยายามเจาะขยายตลาด แม้ว่าในปัจจุบันการส่งออกข้าวของจีนจะมีมูลค่าไม่สูงมากนัก แต่ก็มีอัตราการขยายตัวที่น่าจับตามอง ทำให้คาดหมายได้ว่าผู้ส่งออกข้าวของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการส่งออกข้าวของจีน
การผลิต…เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่ปี 2543 รัฐบาลจีนยกเลิกนโยบายสนับสนุนราคาข้าว(Price Support Program)สำหรับข้าวที่ปลูกช่วงกลางปี(Early Rice) ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่เป็นข้าวคุณภาพต่ำที่ปลูกทางตอนใต้ของจีน รัฐบาลกลางของจีนประกาศรายชื่อ 6 จังหวัดที่มีความเจริญมาก(Better-off Provinces) ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะให้จังหวัดเหล่านี้สามารถเปิดเสรีทางการค้าสำหรับตลาดธัญพืช ซึ่งทั้ง 6 จังหวัดนี้อยู่ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตธัญพืชที่สำคัญของจีน โดย Zhejiang เป็นจังหวัดแรกที่เริ่มดำเนินนโยบายนี้ในปี 2544 ซึ่งรัฐบาลจะไม่ให้ความช่วยเหลือหรือแทรกแซงตลาดข้าว และไม่มีนโยบายที่จะรับซื้อข้าวคุณภาพต่ำเก็บเข้าสต็อก นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเก็บภาษีที่ดิน โดยจะเรียกเก็บเป็นเงินสดมากกว่าการเก็บเป็นธัญพืช ซึ่งนับว่าเป็นแรงผลักดันสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้บรรดาชาวนาของจีนหันไปปลูกข้าวพันธุ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดและมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวจนเห็นผลการพัฒนาที่ชัดเจน
ในปี 2549/50 ผลผลิตข้าวของจีนมีปริมาณ 128.00 ล้านตันข้าวสาร เมื่อเทียบกับปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นถึง 9.3 เท่าตัว ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเกษตรของจีน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลผลิตข้าวของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว โดยเฉพาะข้าวพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ในเกณฑ์สูง อีกทั้งยังเป็นข้าวคุณภาพดีที่เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งตลาดในประเทศจีนเองและตลาดส่งออก
นำเข้า…ต้องการข้าวคุณภาพสูง
แม้ว่าจีนจะสามารถขยายปริมาณการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่จีนก็ยังมีความต้องการนำเข้าข้าวบางประเภท เนื่องจากความต้องการบริโภคข้าวคุณภาพสูงในบางพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีสภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี กล่าวคือ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 มูลค่าการนำเข้าข้าวของจีนเท่ากับ 97.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วลดลงร้อยละ 19.6 เนื่องจากมูลค่าข้าวที่สีแล้วและปลายข้าวลดลง อันเป็นผลมาจากราคาข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวที่อยู่ในเกณฑ์สูง ทำให้ผู้นำเข้าข้าวของจีนชะลอการนำเข้า และผู้บริโภคในจีนหันไปบริโภคข้าวในประเทศทดแทน อย่างไรก็ตามความต้องการนำเข้าข้าวกล้องของจีนยังคงขยายตัว ซึ่งนับว่าเป็นตลาดข้าวกล้องในจีนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะข้าวกล้องหอมมะลิ แม้ว่ามูลค่าการส่งออกจะยังไม่สูงมากนักก็ตาม โดยคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดข้าวกล้องในจีน คือ สหรัฐฯและไต้หวัน
จีนถือเป็นหนึ่งในตลาดข้าวส่งออกที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว กล่าวคือ จีนเป็นตลาดที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 3 ของตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิของไทย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 12.4 ของมูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิทั้งหมดของไทย รองจากสหรัฐฯซึ่งมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 18.1 และฮ่องกงที่มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 12.9 ส่วนข้าวเหนียวของไทยนั้นในปี 2549 จีนเคยเป็นประเทศนำเข้าเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 28.5 ของการส่งออกข้าวเหนียวทั้งหมดของไทย แต่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 นี้จีนชะลอการนำเข้าข้าวเหนียวจากไทย เนื่องจากราคาข้าวเหนียวของไทยอยู่ในเกณฑ์สูง ทำให้สัดส่วนการส่งออกข้าวเหนียวไปยังตลาดจีนตกไปอยู่ในอันดับที่ 7 และมีสัดส่วนการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 เพียงร้อยละ 4.1 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม จีนยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวเหนียวเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล้าและขนมขบเคี้ยว นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าปีนี้นับว่าเป็นปีแรกที่ไทยส่งออกข้าวเปลือกไปยังตลาดจีน แต่การจะขยายตลาดข้าวเปลือกในจีนนั้นไทยต้องเผชิญการแข่งขันจากญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ที่ครองตลาดจีนอยู่ก่อนแล้ว
ถ้าจะพิจารณาตลาดนำเข้าข้าวทั้งหมดของจีนแล้ว ไทยครอบครองตลาดไว้เกือบทั้งหมด กล่าวคือ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 มูลค่าการนำเข้าข้าวของจีนเท่ากับ 97.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 99 ของมูลค่าตลาดนำเข้าข้าวทั้งหมดของจีน อย่างไรก็ตาม คู่แข่งที่น่าจับตามอง คือ เวียดนาม แม้ว่ามูลค่าการนำเข้าข้าวของจีนจากเวียดนามยังไม่มากนัก แต่ก็มีอัตราการขยายตัวที่น่าจับตามอง ส่วนประเทศที่ไม่ควรมองข้าม คือ ปากีสถาน เนื่องจากในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 นี้จีนลดการนำเข้าข้าวจากทั้งไทยและเวียดนาม แต่หันไปเพิ่มการนำเข้าข้าวจากปากีสถาน
ประเด็นที่ต้องพึงระวังในการเจาะขยายตลาดข้าวหอมมะลิในจีนก็คือ จีนสามารถผลิตข้าวหอมได้หลากหลายพันธุ์ ผลผลิตข้าวหอมของจีนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ข้าวหอมในจีนมีราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิที่นำเข้าจากไทยถึงร้อยละ 25 แม้ว่าคุณภาพจะต่ำกว่า แต่ก็ทำให้ข้าวหอมในประเทศกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของข้าวหอมมะลิที่นำเข้าจากไทย ดังนั้น การขยายตัวของการผลิตข้าวหอมในจีนจะส่งผลให้การนำเข้าข้าวหอมมะลิของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง
คาดว่าในอนาคตตลาดข้าวหอมมะลิไทยในจีนจะมีปัญหาเนื่องจากจีนเริ่มผลิตข้าวหอมได้มากขึ้น แม้ว่าคุณภาพจะยังสู้ข้าวหอมมะลิของไทยไม่ได้ แต่ราคาถูกกว่าถึงร้อยละ 25 ทำให้คนจีนบางส่วนหันไปบริโภคข้าวหอมที่ผลิตได้ในประเทศ ตลาดข้าวหอมมะลิของไทยจำกัดตัวอยู่ในตลาดบนเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นการบริโภคสำหรับผู้ที่มีรายได้สูงและเสิร์ฟในภัตตาคารชั้นดีเท่านั้น รวมทั้งจีนยังมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในอนาคตจีนจะสามารถส่งออกข้าวหอมมาแข่งขันกับไทยในตลาดโลกได้
ส่งออก…ขยายตัวอย่างน่าจับตามอง
ปัจจุบันจีนเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 5 ของโลก รองจากไทย เวียดนาม สหรัฐฯ และอินเดียโดยการส่งออกข้าวของจีนมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจีนสนับสนุนผู้ส่งออกข้าวเพื่อลดภาระสต็อกข้าวที่อยู่ในปริมาณสูง เนื่องจากปริมาณสต็อกที่อยู่ในเกณฑ์สูงเป็นปัจจัยสำคัญในการกดราคาข้าวในจีนให้อยู่ในระดับต่ำ แต่ก็สามารถทำให้ข้าวของจีนในบางเกรดและบางชนิดสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก การส่งออกข้าวของจีนนั้นรวมไปถึงการบริจาคข้าวให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนมีนโยบายช่วยผลักดันการส่งออกข้าว โดยบริษัทค้าธัญพืชของรัฐบาล(Government Grain Trading Company)และสหกรณ์สำรองธัญพืช(Government Grain Reserve Coporation) เจรจากับแอฟริกาใต้และยุโรปตะวันออกเพื่อขยายตลาดส่งออกข้าว ดังนั้นจีนจึงเป็นคู่แข่งสำคัญสำหรับการส่งออกข้าวคุณภาพต่ำ นอกจากนี้จะยังเป็นคู่แข่งในการส่งออกปลายข้าวอีกด้วยกล่าวคือ ปัจจุบันจีนสามารถผลิตปลายข้าวได้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ โดยปลายข้าวเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแป้งข้าว น้ำส้ม(Vinegar) เส้นก๋วยเตี๋ยว อาหารสัตว์ และเบียร์ นอกจากนี้จีนยังสามารถส่งออกปลายข้าวด้วย
ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 มูลค่าการส่งออกข้าวของจีนเท่ากับ 203.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 ซึ่งนับว่าเป็นการขยายตัวของการส่งออกต่อเนื่องจากในปี 2549 กล่าวคือ ในปี 2549 มูลค่าการส่งออกข้าวของจีนเท่ากับ 408.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 81.9 ตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของจีนคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ไอเวอรี่โคสต์ ไลบีเรีย และไนจีเรีย ซึ่งตลาดข้าวเหล่านี้ล้วนเป็นตลาดข้าวที่ผู้ส่งออกข้าวของไทยกำลังพยายามหาทางขยายตลาดส่งออก ทำให้จีนกลายเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดเหล่านี้
เมื่อพิจารณาแยกประเภทข้าวที่จีนส่งออก ข้าวที่สีแล้ว และข้าวกล้องนั้นมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกที่น่าสนใจ กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกข้าวที่สีแล้วในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 เท่ากับ 138.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่ง ตลาดส่งออกสำคัญคือ ไอเวอรี่โคสต์ ปาปัวนิวกินี ไลบีเรีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ และไนจีเรีย ส่วนมูลค่าการส่งออกข้าวกล้องในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 เท่ากับ 61.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.2 ตลาดส่งออกสำคัญคือ เกาหลีใต้ โรมาเนีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง สหรัฐฯ และออสเตรเลีย นอกจากนี้ในปี 2550 มูลค่าการส่งออกปลายข้าว และข้าวเปลือกของจีนก็มีแนวโน้มขยายตัวเช่นกัน
บทสรุป
ผู้ส่งออกข้าวของไทยควรต้องจับตามองจีนทั้งในฐานะที่เป็นผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิที่สำคัญอันดับหนึ่งในปัจจุบัน และในฐานะที่ในอนาคตจีนจะเป็นคู่แข่งของไทยในการส่งออกข้าว ซึ่งในระยะสั้นจีนจะเป็นคู่แข่งในการส่งออกข้าวคุณภาพต่ำ แต่ในระยะยาวจีนจะเป็นคู่แข่งขันในการส่งออกข้าวคุณภาพสูง รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากข้าวด้วย เนื่องจากจีนมีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดประสงค์ที่จะเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพของข้าวเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคโดยตรงและเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ สิ่งที่น่าศึกษาคือ นโยบายต่างๆของรัฐบาลจีนที่ต้องการลดปริมาณการผลิตข้าวคุณภาพต่ำ ซึ่งสามารถพลิกตลาดข้าวของจีนให้กลายมาเป็นการผลิตข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้นได้นั้นน่าจะมีการนำมาประยุกต์กับการกำหนดนโยบายของไทยเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในอนาคต