ไออาร์พีซี แสดงผลประกอบการครึ่งปีแรกกำไรกว่า 8 พันล้านบาท พุ่งขึ้น 14% มากกว่าผลประกอบการทั้งปีของปีที่แล้วถึง 1,200 ล้านบาท หรือประมาณ 30% ผลจากปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงานเมื่อปีก่อน ทั้งบริหารต้นทุนการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
ทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลด และมีกำไรจากขายสินทรัพย์
ดร.ปิติ ยิ้มประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) ผู้นำในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการกลั่นครบวงจรของประเทศ เปิดเผยถึงผลประกอบการครึ่งปีแรก 2550 ว่าบริษัทฯ มีกำไรกว่า 8 พันล้านบาท ซึ่งมากกว่าผลประกอบการทั้งปีของปีที่แล้วถึง 1,200 ล้านบาท หรือประมาณ 30% สาเหตุที่ผลประกอบการบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นผลจากการที่บริษัทฯ สามารถขยายกำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้น ภายหลังจากการปิดโรงงานเพื่อซ่อมบำรุงครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2549
โดย ณ ไตรมาส 2/50 บริษัทฯ มีกำไร 4,498 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 6% ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบลดลง และบริษัทฯมีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 260 ล้านบาท หรือประมาณ 6% และเมื่อรวมผลประกอบการงวดครึ่งปีแรก 2550 บริษัทฯ มีกำไรกว่า 8 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีที่แล้วถึง 14% และมากกว่าผลประกอบการทั้งปี 2549 ประมาณ 30%
รวมทั้ง ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลง จากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 306.31 ล้านบาท หรือประมาณ 54% เนื่องจาก บริษัทได้ Re-financing หนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการทั้งจำนวน ด้วยเงินสดจากการดำเนินงานบางส่วน และการกู้เงินระยะสั้นที่มีกำหนดชำระคืนภายใน 1 ปี (Bridge Loan) จำนวนเทียบเท่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเงินกู้ Bridge Loan นี้มีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยตามแผนปรับโครงสร้างหนี้
สำหรับเงินกู้ Bridge loan นั้น ปัจจุบันบริษัทได้ทำการชำระคืนแล้วด้วยเงินสดคงเหลือจากการดำเนินงาน และการออกหุ้นกู้ระยะยาว อายุ 10 ปี จำนวน 250 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.375 ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักลงทุนต่างประเทศอย่างดีเยี่ยม นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 บริษัทได้ออกหุ้นกู้สกุลบาทจำนวน 10,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนภายในประเทศเช่นกัน
ปัจจุบันสถานะการเงินของบริษัทฯ ถือว่าแข็งแกร่งมาก หนี้สินรวมคงเหลือประมาณ 19,000 ล้านบาทเท่านั้น
นอกจากนั้น ในไตรมาสนี้บริษัทฯ ยังมีกำไรจากการขายทรัพย์สินอื่นจำนวน 510 ล้านบาท และได้รับเงินค่าเบี้ยปรับภาษีจากการแปลงสภาพดอกเบี้ยค้างจ่ายตามแผนปรับโครงสร้างหนี้เป็นทุนคืนจากกรมสรรพากร เป็นจำนวนเงิน 242 ล้านบาท