เนื่องด้วยในปัจจุบัน สถานการณ์การแข่งขันของธุรกิจมีความรุนแรงและเข้มข้นมากขึ้น ดังนั้น การเอาชนะอุปสรรค และการอยู่รอดของธุรกิจจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดก็ตาม เจ้าของธุรกิจต่างต้องหาทางหรือแสวงหาเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจให้ได้ดีที่สุด และยิ่งมีตัวช่วยต่าง ๆ เช่น คำแนะนำ คำปรึกษา หรือแนวทางที่ได้ชี้แนะต่าง ๆ น่าจะทำให้ธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ปรับตัวให้อยู่ได้
ดร. กิตติ โพธิกิตติ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยและผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจ (ICE CENTER) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) ในการดำเนินกิจกรรมบ่มเพาะวิสาหกิจเพื่อการส่งออก (Business Incubation for Export) แก่ผู้ประกอบการ SME 13 รายมาครบ 1 ปีที่ผ่านมา จนประสบความสำเร็จอย่างมาก ผู้ประกอบการบางรายสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศเพิ่มเติมขึ้น เช่น มะขามแปรรูปจากบริษัท สวนผึ้งหวาน จำกัด เปิดตลาดสู่เมืองดูไบ หรือผู้ประกอบการบางรายปรับปรุงแผนการตลาดและผลิตภัณฑ์ได้ดีขึ้น เช่น ยาสีฟันสมุนไพร เดนต้าเมท ได้ปรับรูปโฉมบรรจุภัณฑ์ใหม่อย่างมีโดดเด่นกว่าเดิม หรือ บริษัท เอเชีย ออร์แกนิค จำกัด ก็เริ่มทำตลาดข้าวออร์แกนิคแปรรูปสู่ตลาดฮ่องกง เป็นต้น
คุณจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ด้วยผลงานของศูนย์ ICE CENTER ที่ทำโครงการจนประสบผลสำเร็จอย่างดี สสว.จึงไว้วางใจมอบหมายให้ศูนย์ ICE CENTER มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ดูแลโครงการบ่มเพาะฯ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งจะมีการขยายกลุ่มธุรกิจของผู้ประกอบการให้หลากหลายมากขึ้น เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเพื่อสุขภาพ ธุรกิจการออกแบบและดีไซน์ ไอทีเพื่อธุรกิจ สินค้านวัตกรรมและพลังงาน เป็นต้น
พร้อมกันนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งต้องการเสริมความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการ SMEs อย่างเต็มที่ จึงวางแนวทางสร้างทีมพี่เลี้ยงธุรกิจ SMEs และมอบหมายให้ ดร. สุกิตติ เอื้อมหเจริญ ที่ปรึกษาศูนย์ ICE CENTER และหัวหน้าโครงการฯ จัดทำ โครงการสร้างทีมพี่เลี้ยงธุรกิจ SME (SMEs Service Provider) เป็นแห่งแรก มีระยะเวลา 5 เดือน (สิงหาคม – ธันวาคม 2550) โดยสร้างกลุ่มนักธุรกิจและที่ปรึกษากว่า 40 รายให้มีศักยภาพเป็นพี่เลี้ยงธุรกิจเอสเอ็มอี (SME Service Provider) ช่วยเหลือให้คำแนะนำผู้ประกอบการได้อย่างเต็มที่ และขึ้นทะเบียนตรงกับ สสว.
ดร. สุกิตติ เอื้อมหเจริญ กล่าวต่อว่า กลุ่มพี่เลี้ยงธุรกิจ SMEs ที่จะสร้างขึ้นนี้ ได้วางไว้ 7 ประเภท คือ กลุ่ม DBM (Design/Branding/Marketing), กลุ่ม IBM (International Business Management), กลุ่ม LFM (License & Franchise Management), กลุ่ม IT & E (IT & E-Commerce), กลุ่ม SQAM (Standardization & Quality Assurance Management), กลุ่ม MICEM (MICE – Meeting/Incentive/Convention/Exhibition Management), และกลุ่ม ODM (Organizational Development & Management) โดยผู้เข้าอบรมจะต้องผ่านการฝึกอบรมภาคทฤษฎีและ Workshop รวมถึงการทดสอบให้คำปรึกษาจริงมากกว่า 120 ชั่วโมง กับวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับประเทศที่มาให้ความรู้และคำแนะนำ รวมถึงชั้นเชิงต่าง ๆ เช่น ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ. คุณนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาบริษัทในกลุ่มเซ็นทรัล. คุณโสภาวดี เลิศมนัสชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ประเทศไทย จำกัด (ในเครือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย จาก DC Consultant, อาจารย์ชลิต ลิมปนะเวช คณบดีภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ. คุณวิวัฒน์ อวศิริพงษ์ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการเอแบคศูนย์ซิมบ้า (SIMBA) และศูนย์วิจัยเอแบคโพลล์ เป็นต้น
ดังนั้นในปี 2550 ทางศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจ (ICE CENTER) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จึงได้รับเกียรติในการจัดพิธีเซ็นต์สัญญาและเปิดตัวโครงการทั้งสอง ร่วมกับสำนักงานส่งเสิรมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พร้อมเปิดโอกาสพูดคุยและรับข้อมูลของโครงการอย่างเป็นทางการ ในวันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม 2550 เวลา 10.00 – 12.00 น. ณ ห้อง Hall of Fame ชั้น 1 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตหัวหมาก