วิกฤตตลาดซับไพร์ม…ความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลก

ปัญหาในตลาดปล่อยกู้จำนองแก่ลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ของสหรัฐฯ กำลังส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินอื่นๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ผ่านทางนวัตกรรมของการเปลี่ยนสินเชื่อของลูกหนี้ซับไพร์มเป็นตราสารทางการเงินชนิดอื่น (Securitization) ซึ่งถูกขายให้กับนักลงทุนสถาบัน และกองทุนเฮดจ์ฟันด์ทั่วโลก ความเสี่ยงทางการเงินเกิดขึ้นเมื่อการเพิ่มขึ้นของอัตราการผิดนัดชำระหนี้และการบังคับจำนองของลูกหนี้ซับไพร์มส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่ฐานะทางการเงินของบริษัทปล่อยกู้จำนอง และกองทุนเฮดจ์ฟันด์ซึ่งได้ลงทุนในตราสารหนี้ที่หนุนหลังด้วยสินเชื่อด้อยคุณภาพดังกล่าว และผลที่ตามมาก็คือ ตลาดสินเชื่อทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะตึงตัวอย่างหนัก จนทำให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องเข้ามาช่วยอัดฉีดสภาพคล่องสู่ระบบการเงิน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการวิเคราะห์ภาวะตลาดสินเชื่อซับไพร์ม ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดการเงินทั่วโลกและตลาดการเงินไทยดังนี้

ตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสหรัฐฯ

ตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ เป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงกว่า 60% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาตามภาวะความเฟื่องฟูในตลาดอสังหาริมทรัพย์ (2544-2548) โดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ตามคุณสมบัติของลูกหนี้ ดังนี้

1. สินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ชั้นดี (Prime Mortgages) เป็นการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ที่ผ่านข้อกำหนดต่างๆ ของการเป็นลูกหนี้ชั้นดีตามมาตรฐานของสถาบันการเงิน เช่น มีเครดิตสกอร์สูงกว่าระดับที่กำหนด สามารถยื่นเอกสารแสดงรายได้และทรัพย์สินในปัจจุบันได้อย่างครบถ้วน จะต้องมีสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ในระดับที่ไม่เกินกำหนด และต้องไม่มีประวัติของการผิดนัดชำระหนี้

2. สินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ดี แต่ไม่จัดอยู่ในขั้นลูกหนี้ชั้นดี (Alt-A Mortgages) เป็นการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ที่ผ่านคุณสมบัติของการเป็นลูกหนี้ชั้นดี แต่มีเอกสารประกอบการทำสัญญาสินเชื่อที่ไม่ครบถ้วน

3. สินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำหรือซับไพร์ม (Subprime Mortgages) เป็นการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ผ่านคุณสมบัติของการเป็นลูกหนี้ชั้นดี เช่น มีเครดิตสกอร์อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับที่กำหนด และอาจมีประวัติในการผิดนัดชำระหนี้หรือล้มละลายในอดีต พฤติกรรมการปล่อยกู้ซับไพร์มเป็นพฤติกรรมที่มีอันตรายหลายประการ เนื่องจากลูกหนี้บางรายได้รับอนุมัติเงินกู้จากสถาบันการเงินถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานยืนยันรายได้หรือสินทรัพย์ในปัจจุบัน ในขณะที่ เจ้าหนี้จำนองหลายรายได้ทำการอนุมัติเงินกู้โดยไม่มีการพิจารณาถึงความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้

ในช่วงก่อนปี 2546 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของสินเชื่อชั้นดี (Prime Conforming Mortgages) ที่ผ่านเงื่อนไขของ Government-Sponsored Housing Enterprises (GSEs) ได้แก่ Fannie Mae และ Freddie Mac อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขที่เข้มงวดของ Fannie Mae และ Freddie Mac เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โครงสร้างของสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงไป จากข้อมูลในปี 2549 ที่ผ่านมาพบว่า สัดส่วนของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยประเภท Conforming มีขนาดลดลงเหลือเพียง 36% ของยอดรวมของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ในปี 2549 จากที่มีสัดส่วนมากกว่า 65% ของยอดรวมของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ในปี 2546 ขณะที่ สัดส่วนของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยประเภท “Nonprime” ซึ่งประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยประเภท Alt-A และประเภทซับไพร์มพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีสัดส่วนถึง 46% ของยอดรวมของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ในปี 2549 จากที่มีสัดส่วนรวมกันไม่ถึง 15% ของยอดรวมของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ในปี 2546

ตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ จากภาวะเฟื่องฟู…สู่ภาวะตกต่ำ

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะฟองสบู่ในช่วงปี 2544-2548 โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวอยู่เบื้องหลัง และเมื่อประกอบกับการขาดความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันปล่อยกู้จำนอง และการเก็งกำไรว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้ภาวะฟองสบู่ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ มีช่วงเวลายาวนานถึง 5 ปี อย่างไรก็ตาม ตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ เริ่มเดินเข้าสู่ช่วงตกต่ำในปี 2549 ขณะที่ยอดขายบ้านเริ่มเข้าสู่ช่วงหดตัวตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 สถานการณ์ภาวะตกต่ำของตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2549 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ การชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเข้าสู่ช่วงของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ซับไพร์ม ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยสินเชื่อของลูกหนี้ซับไพร์มกว่า 90% จะเป็นสินเชื่อที่ผูกอยู่กับอัตราดอกเบี้ยแบบปรับได้ (Adjustable-rate mortgages: ARMs) โดยอาจมีลักษณะที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ในระดับที่ต่ำมากในช่วงปีแรกๆ และแปรสภาพเป็นสินเชื่อที่สามารถปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงท้ายของอายุสัญญา ดังนั้น ท่ามกลางภาวะที่อัตราดอกเบี้ยถูกปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่มูลค่าอสังหาริมทรัพย์กำลังปรับตัวลง ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้เงินกู้ของลูกหนี้จึงลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะลูกหนี้ซับไพร์มซึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่อ่อนแอและมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มากที่สุด เนื่องจากลูกหนี้ซับไพร์มที่เคยใช้ประโยชน์จากช่วงขาขึ้นของตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ด้วยการขายบ้านเพื่อนำเงินไปจ่ายชำระหนี้เงินกู้ ไม่สามารถกระทำแบบเดิมได้อีก เพราะมูลค่าบ้านได้ปรับตัวลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และผลที่ตามมาก็คือ การเพิ่มขึ้นของการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้และการบังคับจำนอง และเมื่อบริษัทปล่อยกู้จำนองเพิ่มความเข้มงวดให้กับมาตรฐานการปล่อยเงินกู้มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้สถานะการเงินของลูกหนี้ซับไพร์ม ตลอดจนลูกหนี้ประเภทอื่นๆ ย่ำแย่ลงไปอีกเป็นลูกโซ่

ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจขยายวงออกไป

นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้กล่าวเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 ว่า การขาดทุนที่มีความเกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้จำนองให้แก่ลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) อาจจะมีกรอบวงเงินประมาณ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการผิดนัดชำระเงินกู้ และการบังคับจำนองที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลทำให้สถานการณ์มีแนวโน้มจะแย่ลงก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นในช่วงถัดไป ทั้งนี้ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ซับไพร์มประเมินโดย Moody’s มียอดคงค้างทั้งสิ้นประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ ไตรมาส1/2550 ซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่ากับความเสียหายทางการเงินที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์สถาบันเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย Savings and Loan Associations (S&L Crisis) ในช่วงทศวรรษ 1980 ที่มีมูลค่าปัจจุบันประมาณ 1.2 – 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายจากวิกฤตตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ อาจไม่ยุติแค่เพียงความเสียหายทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ซับไพร์มเท่านั้น สินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงในระดับรองลงไป ได้แก่ ลูกหนี้กลุ่ม Alt-A ลูกหนี้กลุ่ม Jumbo IO (ผ่อนเฉพาะดอกเบี้ยในช่วงปีแรกๆ ของสัญญา) และลูกหนี้กลุ่ม Option ARMs (เพิ่มทางเลือกให้ลูกหนี้สามารถผ่อนชำระต่อเดือนในระดับที่ต่ำมากในช่วงแรก ซึ่งรายจ่ายดอกเบี้ยจะถูกสะสมและนำไปรวมกับเงินต้นในปีท้ายๆ ของสัญญา) อาจเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย และหากนับรวมมูลค่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ที่ไม่ใช่ลูกหนี้ชั้นดี (ประกอบด้วย ลูกหนี้ซับไพร์ม กลุ่ม Alt-A กลุ่ม Jumbo IO และกลุ่ม Option ARMs) แล้วพบว่า มียอดคงค้างทั้งสิ้นประมาณ 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทั้งหมด ซึ่งทาง Moody’s ได้ประเมินว่า ประมาณ 52% ของยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ที่ไม่ใช่ลูกหนี้ชั้นดี (ประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) เป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่ได้ทำสัญญาไว้ในช่วงระหว่างปลายปี 2547 ถึงต้นปี 2550

ตลาดการเงินทั่วโลกปั่นป่วน

ปัญหาตลาดสินเชื่อซับไพร์มในสหรัฐฯ ได้ลุกลามเป็นวงกว้างออกไปสู่ตลาดการเงินทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา ผ่านนวัตกรรมตราสารทางการเงินชนิดหนึ่งที่เรียกว่า CDOs (Collateralized Debt Obligations) ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่หนุนด้วยสินทรัพย์ที่มีการตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยหลักการของ CDOs ก็คือ การนำเอาสินทรัพย์ พันธบัตร หรือสินเชื่อประเภทต่างๆ มาผูกรวมกันเพื่อค้ำประกัน (หนุนหลัง) ตราสารหนี้ CDOs หรือ หน่วยลงทุนของกองทุนที่จะขายให้กับนักลงทุน ซึ่งผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับจะขึ้นอยู่กับส่วนผสมของสินทรัพย์ที่นำมาใช้เป็นหลักประกันในการออกตราสารทางการเงินดังกล่าว และในช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อที่อยู่อาศัยของลูกหนี้ซับไพร์ม (ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาในปัจจุบัน) เป็นสินทรัพย์ที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนประกอบหนึ่งของสินทรัพย์ที่ใช้หนุนหลังการออกตราสาร CDOs

ในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนส่วนใหญ่ทั่วโลกมีกลยุทธ์การลงทุนที่มีระดับความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต และสามารถสร้างผลตอบแทนในอัตราที่สูงตามไปด้วย ดังนั้น CDOs จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในกระจายความเสี่ยงทางการลงทุนของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ บริษัทประกัน หรือสถาบันการเงินอื่นๆ ทั่วโลก ดังนั้น กองทุนเฮดจ์ฟันด์และกลุ่มนักลงทุนสถาบันจำนวนมากตั้งแต่ในสหรัฐฯ แคนาดา ยุโรป ไปจนถึงออสเตรเลีย ต้องประสบกับการลดลงของมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ หรือประกาศระงับการไถ่ถอนกองทุนเพื่อหลีกเลี่ยงการเทขายสินทรัพย์ เมื่อตลาดซับไพร์มประสบปัญหาและลามไปสู่ภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อทั่วโลก

ตลาดการเงินโลกยิ่งปั่นปวนหนักขึ้นไปอีก หลังจากธนาคาร BNP Paribas ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส ประกาศระงับการไถ่ถอนกองทุน 3 แห่งเป็นการชั่วคราวมูลค่า 1.6 พันล้านยูโร และเป็นชนวนให้ตลาดสินเชื่อทั่วโลกเข้าสู่ภาวะสภาพคล่องตึงตัวมากขึ้น (Credit Crunch) ซึ่งในท้ายที่สุดธนาคารกลางทั่วโลก ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์ ธนาคารกลางนอร์เวย์ และธนาคารกลางออสเตรเลีย ต้องเข้ามาอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมากให้กับตลาดเงินเป็นครั้งแรกหลังจากที่ธนาคารกลางเหล่านี้ได้เข้ามาช่วยเพิ่มเม็ดเงินให้กับตลาดการเงินเมื่อเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2544 ขณะที่ ธนาคารกลางของประเทศในแถบเอเชียต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงินในประเทศไม่ให้อ่อนค่าและผันผวนมากเกินไป

ตลาดหุ้นทั่วโลก พร้อมใจกันปรับตัวลงตามการหลีกเลี่ยงการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุน ขณะที่ กองทุนเฮดฟันด์หลายแห่งต้องทำการเทขายหุ้นและสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่อง ทั้งนี้ ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2550 ก่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของเฟด 1 วัน ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวน์โจนส์ร่วงลง 8.4% ขณะที่ ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 9.3% หลังจากที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยหุ้นกลุ่มการเงินและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหุ้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความผันผวนครั้งนี้

ตลาดเงิน อัตราดอกเบี้ยข้ามคืนในตลาดเงินในสหรัฐฯ ยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ปรับตัวขึ้นเหนือระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง เนื่องจากเงินสดเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนในตลาดต้องการท่ามกลางสภาพคล่องในตลาดการเงินทั่วโลกที่เริ่มจางหายไป ขณะที่ ธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทปล่อยกู้จำนองและกองทุนเฮดจ์ฟันด์ไม่กล้าปล่อยสภาพคล่องเพิ่มเติมให้กับบริษัทดังกล่าว

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ภาวะขาดแคลนสภาพคล่องของตลาดสินเชื่อทั่วโลกเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้นักลงทุนสหรัฐฯ พากันปรับลดการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง พร้อมๆ กับโอนย้ายผลกำไรกลับประเทศ และปัจจัยนี้เองเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นกว่า 3% สู่ระดับประมาณ 1.3423 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโร (ณ 16 สิงหาคม 2550 ก่อนเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานลง 1 วัน) หลังจากที่ได้ร่วงลงไปทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เทียบกับเงินยูโรที่ระดับ 1.3852 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโร เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 ในขณะที่ สกุลเงินที่มีผลตอบแทนสูง เช่น เงินยูโร เงินปอนด์ เงินดอลลาร์ออสเตรเลีย และเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ ร่วงลงอย่างหนักจากการระบายความเสี่ยงจากการทำ Carry Trades ของนักลงทุน

ตลาดสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ย ได้สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 18 กันยายน 2550 และในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านตลาดสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยได้บ่งชี้ว่ามีโอกาสมากขึ้นที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยถึง 0.50 % ในการประชุมดังกล่าว ขณะที่ ความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปในเดือนกันยายน 2550 จากระดับ 4% ในปัจจุบัน และความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่นจากระดับ 0.5% ในปัจจุบัน กำลังปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับภาวะสินเชื่อที่หดตัวลงอย่างรวดเร็วทำให้นักลงทุนหนีออกจากตลาดหุ้นเข้าสู่ตลาดพันธบัตรที่มีความปลอดภัยมากกว่า และจากการคาดการณ์ที่มากขึ้นว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรประเภท 2 ปีของสหรัฐฯ ร่วงลงต่ำกว่า 4.10% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นซึ่งอยู่ที่ 5.25% อยู่กว่า 1% นอกจากนี้ ค่าความแตกต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี และ 10 ปีขยายออกกว้างที่สุดในรอบกว่า 2 ปี ขณะที่ Swap spreads อายุ 2 ปี ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2550 กว้างถึง 79 bps ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2544 ขณะที่ Swap spreads อายุ 10 ปี ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2550 กว้างขึ้นถึง 83.50 bps ซึ่งมากสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2544

ผลกระทบต่อไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาชี้แจงว่า ธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง มีการลงทุนในตราสาร CDOs ประมาณ 715 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.6% ของสินทรัพย์ทั้งหมดของ 4 ธนาคาร ขณะที่การลงทุนใน CDOs ที่อ้างอิงกับตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยของลูกหนี้ซับไพรม์มีไม่ถึง 0.1% ดังนั้น ผลกระทบต่อระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยน่าจะมีอย่างจำกัด

อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงินไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงความปั่นป่วนของตลาดการเงินโลกได้ และกำลังตกอยู่ในภาวะผันผวนเช่นกัน โดยการเทขายของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ต้องการสภาพคล่องได้ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงตามตลาดหุ้นทั่วโลกแล้วประมาณ 14% จากระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี 7 เดือนที่ได้ทำไว้เมื่อ 26 กรกฎาคม 2550 ขณะที่ นักลงทุนต่างชาติเริ่มเทขายสุทธิตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2550 มูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 44,762 ล้านบาท (ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2550) ซึ่งแรงเทขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาตินี่เองที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเพิ่มขึ้นในความต้องการเงินดอลลาร์ฯ และทำให้เงินบาทปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

ความไม่แน่นอนยังรออยู่เบื้องหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การเข้ามาช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องด้วยวิธีการอัดฉีดเม็ดเงินให้กับสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาของธนาคารกลางประเทศต่างๆ อาจเป็นเพียงแค่มาตรการเฉพาะหน้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ปัญหาตลาดสินเชื่อที่ตึงตัวในปัจจุบันลุกลามไปมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะรอให้ปัญหาต่างๆ ปรับตัวเองไปตามกลไกธรรมชาติ อาจต้องใช้เวลาในการเยียวยารักษาอีกนาน และเมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของต้นตอปัญหา ซึ่งก็คือ ตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของลูกหนี้ซับไพร์ม พบว่า ยังมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบลามไปถึงตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของลูกหนี้ประเภทอื่นๆ ที่มีคุณภาพสูงกว่าอีกด้วย ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น นักวิเคราะห์ในตลาดการเงินหลายแห่งเริ่มพูดกันถึงขนาดความเสียหาย โดยมีการประเมินกันว่า ขนาดความสูญเสียอาจเทียบเท่ากับหรือมากกว่าการล่มสลายของกองทุน LTCM (Long-Term Capital Management) ในปีค.ศ.1998

และเมื่อมองภาพไปยังช่วงถัดไป จะเห็นว่าเสถียรภาพของตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสหรัฐฯ รอที่จะถูกทดสอบอีกครั้ง เนื่องจากมีสัญญาสินเชื่อที่อยู่อาศัยมูลค่ามากกว่า 3.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จะถูกกำหนดระดับอัตราดอกเบี้ยใหม่ในปีหน้า (ซึ่งมากกว่าสัญญาสินเชื่อที่อยู่อาศัยมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ถูกปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในปีนี้) ขณะที่ลูกหนี้บางรายอาจต้องเริ่มทำการจ่ายคืนเงินต้น ซึ่งจะทำให้ภาระในการคืนหนี้ของลูกหนี้เพิ่มขึ้นกว่า 30% และเมื่อผนวกกับภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อทั่วโลก แนวโน้มการร่วงลงของราคาอสังหาริมทรัพย์ และมาตรฐานที่เข้มงวดมากขึ้นของบริษัทปล่อยกู้จำนอง น่าจะทำให้ภาวะไร้เสถียรภาพของตลาดสินเชื่อซับไพร์มยังคงเป็นจุดอ่อนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ Fannie Mae คาดการณ์ว่า ราคาที่อยู่อาศัยสหรัฐฯ จะปรับตัวลงอีก 4% ในปี 2551 ต่อเนื่องจากการปรับตัวลง 2% ในปีนี้ ดังนั้น ข่าวร้ายเกี่ยวกับการล้มละลายของบริษัทปล่อยกู้จำนอง ตลอดจนการปิดกิจการและความสูญเสียของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังฐานะการเงินของประชาชนสหรัฐฯ ยังน่าจะทยอยเปิดเผยออกมาอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่า การอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางต่างๆ ไม่สามารถใช้เป็นมาตรการในการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนได้

และล่าสุดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2550 เฟดได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (Discount Rate) ซึ่งเป็นช่องทางในการปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องได้โดยตรง ลง 0.50% สู่ระดับ 5.75% พร้อมกับระบุในแถลงการณ์ว่า สภาวะในตลาดการเงินได้ถดถอยลง ภาวะตึงตัวด้านสินเชื่อและความไร้เสถียรภาพทางการเงินได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต ประเด็นสำคัญของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานในครั้งนี้ก็คือ เพราะเหตุใดเฟดจึงเลือกทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานเพียงอย่างเดียว และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ไว้ที่ระดับเดิมที่ 5.25%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า การกระทำดังกล่าวอาจสะท้อนถึงมุมมองของเฟดที่เชื่อมั่นว่า วิกฤตซับไพร์มจะมีผลกระทบอยู่ในวงจำกัดและสามารถควบคุมได้ และนั่นหมายความว่า เฟดยังคงให้น้ำหนักกับการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และไม่ต้องการให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานส่งกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยอื่นๆ ในตลาดการเงิน อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤตซับไพร์มซึ่งได้สะท้อนออกมาในแถลงการณ์ของเฟด น่าจะบ่งชี้ให้เห็นว่า เฟดพร้อมที่จะดำเนินมาตรการอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์ และหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้น ตลาดการเงินจะต้องจับตาดูผลการแก้ไขปัญหาสินเชื่อตึงตัวด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของเฟดในครั้งนี้ เพื่อหาสัญญาณที่บ่งชี้ว่า เฟดอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมุมมองในการดำเนินนโยบายการเงินใหม่อีกครั้งในอนาคต

ขณะนี้ ดูเหมือนว่าตลาดการเงินทั่วโลกจะปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น (ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวขึ้นหลังจากถูกเทขายอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา) เพื่อตอบรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของเฟดในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อประกอบภาพของการชะลอลงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในระยะถัดไป เข้ากับปัจจัยพื้นฐานที่ยังคงอ่อนแอของตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ จะพบว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ และตลาดการเงินยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องรอดูว่าเฟดจะเข้าดำเนินการกับปัญหาที่รออยู่เบื้องหน้าอย่างไร ขณะที่ภาคส่งออกของไทยอาจได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญต้องประสบกับการชะลอตัว