กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯประกาศยกเลิกการจัดเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดหรือภาษีเอดีจากการนำเข้ากุ้งของเอกวาดอร์ที่เคยเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 4.42 ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2550 ตามคำตัดสินของคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก ซึ่งดูเหมือนเป็นข่าวดีสำหรับผู้ส่งออกกุ้งของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากไทยก็มีการยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลกในกรณีเดียวกัน แต่ไทยคงต้องรอจนกว่าจะมีคำตัดสินจากองค์การการค้าโลก ถ้ามีคำตัดสินยกเลิกการจัดเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับการนำเข้ากุ้งของไทยก็จะทำให้การส่งออกกุ้งไทยไปยังตลาดสหรัฐฯดีขึ้นในอนาคต ซึ่งจะทำให้อนาคตของธุรกิจส่งออกกุ้งและธุรกิจเนื่องมีแนวโน้มแจ่มใส เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯมีสัดส่วนตลาดประมาณร้อยละ 50.0 ของมูลค่าการส่งออกกุ้งทั้งหมดของไทย
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องระวังคือ ผลกระทบในระยะที่ยังไม่มีคำตัดสินจากองค์การการค้าโลก เนื่องจากจะเป็นช่วงที่เอกวาดอร์จะอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบไทย รวมทั้งยังต้องติดตามคำตัดสินของอินเดีย ซึ่งยื่นฟ้ององค์การการค้าโลกเช่นกัน ซึ่งมีแนวโน้มว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯจะประกาศคำตัดสินกรณีอินเดียก่อน เนื่องจากทั้งเอกวาดอร์และอินเดียนั้นยื่นฟ้องเฉพาะกรณีความไม่เป็นธรรมของวิธีการคำนวณอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเท่านั้น ส่วนไทยนั้นยื่นฟ้อง 2 กรณี ทั้งกรณีความไม่เป็นธรรมของวิธีการคำนวณอัตราตอบโต้การทุ่มตลาด และการวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออก ซึ่งถือว่าเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ซึ่งคาดว่าในกรณีของไทยนั้นองค์การการค้าโลกต้องใช้เวลาในการพิจารณานานกว่ากรณีของเอกกวาดอร์และอินเดีย
ผลกระทบจากสหรัฐฯยกเลิกการเก็บภาษีเอดีกุ้งเอกวาดอร์
การที่สหรัฐฯประกาศยกเลิกการเก็บภาษีเอดีกุ้งเอกวาดอร์นั้นนับว่าเป็นข่าวดีสำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับกุ้งของไทย เนื่องจากเป็นการยืนยันว่าวิธีการคำนวณอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯนั้นไม่เป็นธรรม ซึ่งส่งผลให้สหรัฐฯจะต้องเปลี่ยนวิธีการคำนวณภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด กล่าวคือ ปัจจุบันใช้มาตรการ Zeroing เป็นวิธีการคำนวณหาส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดเพื่อกำหนดเป็นอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ โดยคำนวณจากส่วนต่างระหว่างราคาขายในประเทศของผู้ผลิตกับราคาส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งในกรณีที่ราคาขายในประเทศผู้ผลิตสูงกว่าราคาส่งออกจะทำให้ส่วนต่างดังกล่าวมีค่าเป็นบวก(Positive Dumping Margins) สหรัฐฯจะนำส่วนต่างดังกล่าวมาคำนวณอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด และสำหรับกรณีราคาขายในประเทศผู้ผลิตต่ำกว่าราคาส่งออก ส่วนต่างดังกล่าวจะมีค่าเป็นลบ(Negative Dumping Margins) สหรัฐฯจะตีค่าส่วนต่างที่เป็นลบนี้ให้เป็นศูนย์ (Zeroing) ดังนั้นเมื่อนำค่าส่วนต่างทั้งหมดของแต่ละบริษัทมารวมกันเพื่อคำนวณอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดแล้วจะส่งผลให้อัตราภาษีดังกล่าวจะสูงกว่าความเป็นจริง ดังนั้นเมื่อสหรัฐฯเปลี่ยนวิธีการคำนวณภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดก็มีแนวโน้มว่าอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดจะมีแนวโน้มต่ำลง จากการที่นำส่วนต่างทั้งที่มีค่าเป็นลบและเป็นบวกมาคำนวณทั้งหมด
ประเด็นที่ต้องพิจารณาผลกระทบในระหว่างที่ยังไม่มีคำตัดสินกรณีของประเทศไทย คือ
-ผู้ส่งออกกุ้งของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯจะเสียเปรียบในการแข่งขันกับเอกกวาดอร์ ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดสหรัฐฯ โดยผลกระทบจะเริ่มเห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 เนื่องจากผู้นำเข้าของสหรัฐฯจะหันไปสั่งซื้อผลิตภัณฑ์กุ้งจากเอกวาดอร์ นอกจากนี้ยังต้องรอดูกันว่าถ้าองค์การการค้าโลกประกาศคำตัดสินกรณีอินเดียออกมาเช่นเดียวกับเอกวาดอร์ นับว่าจะเป็นปัจจัยซ้ำเติมภาวะการส่งออกกุ้งของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากอินเดียก็เป็นคู่แข่งสำคัญเช่นกัน หลังจากที่สหรัฐฯประกาศลดภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดให้กับจีนและเวียดนาม โดยบางบริษัทนั้นมีอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเป็นร้อยละ 0 ทำให้ผู้ส่งออกกุ้งของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น
สำหรับไทยยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก 2 กรณีพร้อมกันคือ วิธีการคำนวณภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่ไม่เป็นธรรม และการวางเงินพันธบัตรค้ำประกันการส่งออกหรือซีบอนด์ที่ถือว่าเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ดังนั้นคาดว่าการพิจารณาขององค์การการค้าโลกจะช้ากว่าเอกวาดอร์และอินเดีย แต่เมื่อมีการประกาศคำตัดสินแล้วจะทำให้ไทยอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบคู่แข่งในตลาดสหรัฐฯอย่างมาก ในกรณีที่คำตัดสินให้สหรัฐฯปรับวิธีการคำนวณการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด และยกเลิกการวางพันธบัตรค้ำประกันค้ำประกันการส่งออก แต่ถ้าคำตัดสินมีเพียงให้สหรัฐฯปรับวิธีการคำนวณการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเท่านั้นก็เท่ากับว่าผู้ส่งออกกุ้งของไทยต้องเสียเปรียบประเทศคู่แข่งขันในช่วงระยะเวลาที่รอคำตัดสิน
-ราคากุ้งในตลาดสหรัฐฯมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก ประเด็นที่เป็นปัญหาที่สหรัฐฯเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเนื่องมาจากข้อร้องเรียนของผู้เลี้ยงกุ้งในสหรัฐว่ากุ้งนำเข้าที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์นั้นส่งผลให้ราคากุ้งในสหรัฐฯตกต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้เลี้ยงกุ้งในสหรัฐฯ ตั้งแต่มีการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดนั้นราคากุ้งในสหรัฐฯมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อมีการปรับวิธีการคำนวณภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด และพิจารณาลดภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดให้กับจีนและเวียดนาม คาดว่าปริมาณกุ้งนำเข้าในตลาดสหรัฐฯมากขึ้น ส่งผลให้ราคากุ้งของสหรัฐฯมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นการส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐฯจะกลับมาแข่งขันอย่างรุนแรงอีกครั้ง โดยผู้ส่งออกที่มีราคาต่ำกว่าจะได้เปรียบ ซึ่งการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดสหรัฐฯจะส่งกระทบต่อเนื่องทำให้ราคากุ้งในประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะกุ้งขนาดกลางและเล็ก ซึ่งไทยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯเป็นหลัก
กุ้งไทยในสหรัฐฯ…ตลาดกุ้งสำคัญที่สุดของไทย
ตลาดสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกกุ้งที่สำคัญที่สุดของไทย โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของการส่งออกกุ้งทั้งหมด กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกกุ้งในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2550 เท่ากับ 1,204.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 โดยแยกเป็นการส่งออกกุ้ง(รวมกุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง กุ้งแห้ง และกุ้งต้มสุกแช่เย็น) 673.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 โดยสหรัฐฯมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 48.8 กุ้งกระป๋อง 107.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น 5.9 เท่าตัว สหรัฐฯมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 57.4 และกุ้งแปรรูป 424.39 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 16.2 สหรัฐฯมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 53.9
ปัจจุบันไทยยังคงครองตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งเป็นอันดับหนึ่งในตลาดสหรัฐฯทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า แต่สิ่งที่ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยต้องระมัดระวังคือการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างอินโดนีเซีย เอกวาดอร์ เม็กซิโก อินเดีย จีนและเวียดนาม ส่วนประเทศที่เริ่มเข้ามาเป็นคู่แข่งรายใหม่ของไทยในตลาดสหรัฐฯคือ มาเลเซีย บังคลาเทศ กัมพูชา ซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน และไต้หวัน ซึ่งสัดส่วนตลาดของประเทศเหล่านี้ยังไม่มากนัก แต่อัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง
แม้ว่าผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด แต่ก็นับว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญ ทำให้ไทยยังคงครองอันดับหนึ่งของผลิตภัณฑ์กุ้งนำเข้าของสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของมูลค่านำเข้าผลิตกุ้งทั้งหมดของสหรัฐฯ โดยทั้งปริมาณและมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2550 สหรัฐฯนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทยปริมาณ 50,999 ตัน มูลค่า 343 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 และ 19.8 ตามลำดับ
ในขณะที่เอกวาดอร์ขยับขึ้นมาเป็นแหล่งนำเข้าอันดับสองของสหรัฐฯแทนที่อินโดนีเซีย โดยปัจจุบันเอกวาดอร์มีสัดส่วนตลาดเพียงร้อยละ 14.0 ประเด็นที่น่าสนใจคือ สหรัฐฯลดนำเข้าจากอินโดนีเซียและจีน ทำให้อินโดนีเซียและจีนกลายเป็นแหล่งนำเข้าอันดับสามและสี่ของสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 13.0 และ 10.2 ตามลำดับ ประเทศที่ต้องจับตามองคือ เม็กซิโกที่กำลังจะแซงหน้าเวียดนามกลายมาเป็นแหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งที่สำคัญอันดับ 5 อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์กุ้งที่สหรัฐฯนำเข้าจากเม็กซิโกส่วนใหญ่จะเป็นกุ้งแช่แข็งทั้งเปลือก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์กุ้งที่สหรัฐฯนำเข้าจากเวียดนามส่วนใหญ่เป็นกุ้งแปรรูป เช่น กุ้งปอกเปลือกแช่แข็ง กุ้งแปรรูปแช่แข็ง กุ้งชุปขนมปังแช่แข็ง เป็นต้น
การพิจารณาการแข่งขันของผลิตภัณฑ์กุ้งไทยต้องพิจารณาแยกรายผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์กุ้งที่สหรัฐฯนำเข้าแยกออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
-กุ้งแปรรูป แม้ว่าสหรัฐฯจะเป็นผู้นำเข้ากุ้งแปรรูปอันดับหนึ่งของไทย แต่ผู้ส่งออกกุ้งแปรรูปของไทยในตลาดสหรัฐฯต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกกุ้งแปรรูปของไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2550 มีแนวโน้มลดลง กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกกุ้งแปรรูปของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯเท่ากับ 228.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วลดลงร้อยละ 23.9
-กุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง แยกออกได้เป็นกุ้งปอกเปลือกและกุ้งมีเปลือก โดยการพิจารณาการแข่งขันเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งขันของไทยนั้นต้องแยกประเภทตามขนาดของกุ้งด้วย ซึ่งกุ้งปอกเปลือกแช่แข็งนั้นไทยยังครองตลาดส่วนใหญ่ โดยมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 33.0 รองลงมาคืออินโดนีเซียร้อยละ 18.8 และเวียดนามร้อยละ 9.2 สำหรับกุ้งมีเปลือกนั้นไทยจะครองตลาดส่วนใหญ่สำหรับกุ้งขนาดกลาง(26-30 ตัวต่อกิโลกรัม) โดยไทยมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 43.9 คู่แข่งสำคัญคือ เม็กซิโกมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14.6 อินโดนีเซียร้อยละ 11.6 และเอกวาดอร์ร้อยละ 11.3 ตามลำดับ ในขณะที่กุ้งขนาดใหญ่(ต่ำกว่า 25 ตัวต่อกิโลกรัม)ไทยจะต้องเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงจากเม็กซิโก บังคลาเทศ อินเดีย และเวียดนาม ส่วนกุ้งขนาดเล็ก(มากกว่า 30 ตัวต่อกิโลกรัม)เอกวาดอร์ครอบครองตลาดส่วนใหญ่อยู่ และไทยอยู่ในอันดับสอง รองลงไปคือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ดังนั้นคาดว่าการประกาศคำตัดสินของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯจะทำให้เอกกวาดอร์สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดกุ้งมีเปลือกแช่แข็งขนาดกลางและขนาดเล็กในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้การส่งออกกุ้งมีเปลือกแช่แข็งขนาดกลางและขนาดเล็กของไทยได้รับผลกระทบ
ตลาดญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป…ความหวังของการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้ง
ผลกระทบของมาตรการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯยังมีผลทำให้ประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยหันไปขยายตลาดในสหภาพยุโรป ซึ่งไทยเพิ่งได้รับคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี แต่การดึงตลาดสหภาพยุโรปให้หันกลับมาซื้อผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทยนั้นไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศที่เผชิญปัญหาถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดจากสหรัฐฯที่หันไปขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในสหภาพยุโรปเช่นกัน โดยเฉพาะ จีน เอกวาดอร์ และบราซิลกล่าวคือการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของเอกวาดอร์ไปยังตลาดสเปนและอิตาลีเติบโตอย่างรวดเร็วมากต่อเนื่องจากในปี 2548 ส่วนจีนนั้นการส่งออกมายังสหภาพยุโรปกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากที่สหภาพยุโรปยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้า สำหรับบราซิลและเวียดนามก็มีการขยายตลาดมายังสหภาพยุโรปมากขึ้นด้วยเช่นกัน หลังจากที่ต้องเผชิญปัญหาในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ
แม้ตลาดยุโรปมีความต้องการสินค้ากุ้งสูง แต่เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ไม่ว่าจะคู่แข่งจากเอเชียและละตินอเมริกา โดยเฉพาะกุ้งสดแช่เย็นและแช่แข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กุ้งขาวแช่แข็งต้องแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพกับคู่แข่ง เช่น เอกวาดอร์ และบราซิล ซึ่งประเทศเหล่านี้มีต้นทุนที่ต่ำกว่าไทย ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยต้องเน้นการสร้างความหลากหลายและการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า โดยปรับเปลี่ยนจากกุ้งสดแช่แข็งให้เป็นกุ้งแปรรูปในลักษณะต่างๆ โดยเฉพาะกุ้งปรุงสุก เช่น กุ้งใส่ในสลัด กุ้งที่เป็นส่วนประกอบสำหรับการประกอบอาหารไทย อาหารไทยสำเร็จรูปแบบแช่แข็งที่มีส่วนประกอบที่ทำมาจากกุ้ง โดยเฉพาะข้าวกะเพรากุ้ง ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคอย่างมาก
นอกจากนี้ประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม คือ ตลาดสหภาพยุโรปยังมีความต้องการกุ้งกุลาดำและกุ้งก้ามกรามอีกมาก แม้จะมีราคาสูง แต่ก็เป็นที่นิยมบริโภคเนื่องจากมีเนื้อแน่นและสีสันสวยงาม โดยเฉพาะในวงการภัตตาคารและโรงแรมชั้นนำ อีกทั้งผู้บริโภคยุโรปมีกำลังซื้อสูง เน้นของดี มีคุณภาพ กุ้งกุลาดำจากไทยเป็นที่รู้จักดีในยุโรป และยังมีช่องทางตลาดอีกมาก ผู้เลี้ยงกุ้งไทยให้หันมาเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำและกุ้งก้ามกรามเพื่อส่งออกมาตลาดยุโรปให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะมีราคาที่สูงกว่ากุ้งขาวแล้วยังมีการแข่งขันน้อยกว่า
สำหรับตลาดญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 ญี่ปุ่นจะลดภาษีนำเข้ากุ้งจากไทยเหลือร้อยละ 0 อันเป็นอานิสงส์จาก JTEPA รวมทั้งประเทศคู่แข่งสำคัญในตลาดญี่ปุ่นคือ จีนและเวียดนามมีปัญหาสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์กุ้ง ประเด็นที่น่าจับตามองในตลาดญี่ปุ่นคือ ผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปมีแนวโน้มขยายตัวอย่างมากตลอดช่วงระยะ 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ตลาดกุ้งแปรรูปในญี่ปุ่นเป็นที่จับตามองของหลายประเทศที่ประสบปัญหามาตรการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในสหรัฐฯ คาดว่าในปี 2549 การแข่งขันในการแย่งตลาดกุ้งแปรรูปในญี่ปุ่นจะเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศคู่แข่งที่น่าจับตามองของไทยในตลาดญี่ปุ่นคือ จีนและเวียดนาม ซึ่งผู้ส่งออกกุ้งของไทยต้องหันมาปรับสัดส่วนการผลิตกุ้งแปรรูปเพื่อขยายการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น
ปัจจัยพึงระวังคือ ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้สินค้าจากไทยมีราคาแพง ไม่สามารถสู้กับประเทศคู่แข่งได้ นอกจากนี้ผู้บริโภคในญี่ปุ่นมีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รูปแบบใหม่ตามฤดูกาล และส่วนใหญ่ผู้ค้าญี่ปุ่นเริ่มที่จะมีการส่งวัตถุดิบของตนมาให้แปรรูป ปัจจุบันไทยครองอันดับห้าในการส่งออกกุ้งสดแช่แข็งไปยังญี่ปุ่น รองจากเวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดียและจีน โดยประเทศเหล่านี้เผชิญปัญหาในการส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯ จึงหันมาขยายตลาดญี่ปุ่น นอกจากนี้คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคกุ้งกุลาดำขนาดใหญ่ ซึ่งไทยมีการผลิตน้อย เนื่องจากปัจจุบันไทยหันไปเพิ่มการเลี้ยงกุ้งขาว การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดญี่ปุ่นจึงไม่ขยายตัวมากนักเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งขัน
อย่างไรก็ตาม การที่ไทยจะประสบความสำเร็จในการขยายตลาดญี่ปุ่นนั้นไทยต้องขยายการเลี้ยงกุ้งกุลาดำและต้องเพิ่มปริมาณการผลิตกุ้งขนาดใหญ่ เนื่องจากกุ้งกุลาดำขนาดใหญ่ รวมทั้งต้องเน้นการส่งออกในลักษณะของกุ้งแปรรูปมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดญี่ปุ่น อันเนื่องจากความนิยมซื้อผลิตภัณฑ์ไปประกอบอาหารรับประทานเองที่บ้าน
สำหรับตลาดส่งออกใหม่ นอกจากตลาดส่งออกหลักแล้ว ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งที่น่าจับตามองคือ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และแคนาดา แม้ว่าในปัจจุบันการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆนี้มูลค่ายังไม่มากนัก แต่ก็มีอัตราการขยายตัวที่น่าจับตามอง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันทั้งออสเตรเลียและเกาหลีใต้เริ่มมีมาตรการเข้มงวดในการนำเข้า โดยเฉพาะการตรวจสอบเชื้อโรคและสารต้องห้ามปนเปื้อน แต่ก็เป็นมาตรการที่ดำเนินการกับทุกประเทศ ทำให้คาดว่าผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยยังสามารถเจาะขยายตลาดได้อย่างต่อเนื่อง
บทสรุป
กรณีที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯประกาศยกเลิกการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งของเอกกวาดอร์ตามคำตัดสินขององค์การการค้าโลก นับเป็นข่าวดีของผู้ส่งออกกุ้งของไทยในประเด็นที่ยืนยันได้ว่าการคำนวณอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งของสหรัฐฯนั้นไม่เป็นธรรม ดังนั้นสหรัฐฯคงต้องเปลี่ยนวิธีการคำนวณอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งมีแนวโน้มว่าอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดจะลดลง อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกกุ้งของไทยยังจะไม่ได้รับผลบวกในทันที เนื่องจากต้องรอคำตัดสินขององค์การการค้าโลกสำหรับกรณีประเทศไทย โดยคาดว่าคำตัดสินในกรณีของไทยนั้นน่าจะล่าช้าออกไป เนื่องจากไทยนั้นยื่นคำฟ้องต่อสหรัฐฯ 2 กรณี คือ การคำนวณอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดไม่เป็นธรรม และกรณีการวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออก ซึ่งถือเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ปัจจัยที่ต้องกังวลสำหรับผู้ส่งออกกุ้งของไทยในระหว่างรอคำตัดสิน คือ ไทยจะต้องเสียเปรียบเอกกวาดอร์ในการส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯ โดยคาดว่าเอกวาดอร์จะเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาดจากไทยไปได้มากขึ้น นอกจากนี้คาดว่าอินเดียซึ่งยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลกเช่นเดียวกับเอกวาดอร์ สหรัฐฯน่าจะประกาศคำตัดสินสำหรับกรณีอินเดียก่อนไทย ส่งผลซ้ำเติมต่อสถานะการแข่งขันของผลิตภัณฑ์กุ้งไทยในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากอินเดียก็เป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดสหรัฐฯเช่นกัน
จากปัญหาของการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯ ทำให้ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยต้องหันไปให้ความสำคัญกับการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยโอกาสการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังทั้งสองตลาดนี้มีเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากสหภาพยุโรปคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรให้กับผลิตภัณฑ์กุ้งไทย และการลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งของตลาดญี่ปุ่นจากผลของ JTEPA อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยยังต้องปรับตัวอย่างมากในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดทั้งในสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น โดยในตลาดสหภาพยุโรปยังมีความต้องการกุ้งกุลาดำและกุ้งก้ามกราม ซึ่งนอกจากจะมีราคาที่สูงกว่ากุ้งขาวแล้วยังมีการแข่งขันน้อยกว่า สำหรับตลาดญี่ปุ่นไทยต้องขยายการเลี้ยงกุ้งกุลาดำและต้องเพิ่มปริมาณการผลิตกุ้งขนาดใหญ่ รวมทั้งต้องเน้นการส่งออกในลักษณะของกุ้งแปรรูปมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดญี่ปุ่น อันเนื่องจากความนิยมซื้อผลิตภัณฑ์ไปประกอบอาหารรับประทานเองที่บ้าน