“เอแบค”มุ่งสร้าง“เครือข่ายในแต่ละภูมิภาค” สร้างเถ้าแก่น้อย

“เอแบค” เดินหน้าสานต่อเป็นโครงการแข่งขันธุรกิจจำลองครั้งที่ 3 หลังประสบผลสำเร็จจาก 2 ครั้งที่ผ่านมา ขยายผลสู่ความเป็น “เครือข่าย” ตั้งเป้าดึงกว่า 30 สถาบันการศึกษาชั้นนำในเมืองไทยร่วมวง และยังเดินสายสร้างความเข้าใจถึงที่ในภูมิภาคต่างๆ ตามตารางที่กำหนดขึ้น

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกงานในรูปแบบธุรกิจจำลองขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 โดยใช้ชื่อเรียกเป็นที่รู้จักกันในนาม Dummy Company ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยกว่า 30 สถาบันที่ได้ใช้กลไลนี้ในการพัฒนาสมรรถนะของนักศึกษา

อาจารย์บัญชา สกุลดี ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า สถาบันอุดมศึกษามีภารกิจหลักในการพัฒนานักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ หมายถึงบัณฑิตนั้นต้องมีคุณภาพและมีสมรรถนะทางวิชาชีพ ในขณะเดียวกันต้องมีความสามารถในการสร้างงานได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นลูกจ้างของใครตลอดชีวิต

ความโดดเด่นของโครงการบริษัทจำลอง มิใช่เป็นเพียงแค่เป็นการประกวดการเขียนแผนธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้นำแผนธุรกิจมาปฏิบัติจริงให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะ ในรูปแบบและระดับต่าง ๆ แบบครบวงจร ทั้งในด้านการบริหารงานและการฝึกฝนภาคสนาม โดยนักศึกษาสามารถทำงานตามที่ตนเองถนัดในแต่ละแผนกในสายการบริหาร การตลาด การเงินและการบัญชี การบริหารงานบุคคล หัวหน้าพนักงานขายและพนักงานขาย เป็นต้น โดยมีการวัดและประเมิน ในด้านการวางแผนและผลการดำเนินงาน การตลาดการบริหารบุคล การประชาสัมพันธ์ นวัตกรรม การทำประโยชน์เพื่อสังคม และการนำเสนอจากความสำเร็จในการจัดโครงการ ครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โครงการแข่งขันธุรกิจจำลองมีจุดม่งหมายเพื่อสร้างจิตสำนึกในการเป็นผู้ประกอบการที่สามารถสร้างงานได้ด้วยตนเอง และพัฒนาความเป็นนักธุรกิจมืออาชีพ โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายในระยะเวลาดำเนินงาน 2 เดือน ครั้งที่ 1 ได้ 25,957,756.25 บาท ครั้งที่ 2 ได้ 20,544,461.25 บาท นักศึกษาผู้บริหาร 1,714 คน นักศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 5,000 คน นักศึกษาจากทุกมหาวิทยาลัยนอกจากจะได้ฝึกฝนในการดำเนินธุรกิจแล้วยังให้ความสำคัญต่อสังคม หลายโครงการได้ถูกริเริ่มขึ้นเพื่อคืนกำไรสู่สังคม อาทิเช่น โครงการฝึกอบรมผู้ประกอบการให้กับนักโทษในเรือนจำ โครงการให้ทุนการศึกษาปันน้ำใจสู่เด็กน้อยเพื่อด้อยโอกาส โครงการประหยัดพลังงาน เป็นต้น

ทางด้าน ดร.จิราภา ศรีกาฬสินธุ์ ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้เดินหน้าสานต่อโครงการธุรกิจจำลอง จับมือสถาบันการศึกษา 35 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการแข่งขันธุรกิจจำลองในสถาบันอุดมศึกษาครั้งที่ 3 พัฒนาแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการและนักบริหารแบบมืออาชีพที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการสร้างและพัฒนาระบบเครือข่ายธุรกิจจำลองในแต่ละภูมิภาค โดยมีสถาบันที่เข้าร่วมเป็นผู้ประสานงานหลักในพื้นที่ ซึ่งจะหมุนเวียนไปในแต่ล่ะปี ในปีนี้ ภาคเหนือได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา และภาคกลางได้แก่ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยเน้นการพัฒนาสินค้าชุมชนในแต่ละภูมิภาคมาสร้างช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ทำให้สถาบันได้ใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น ก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและเศรษฐกิจในชุมชนให้เข้มแข็ง

นอกจากนี้ ความยิ่งใหญ่และความสำเร็จของโครงการมาจากการความเสียสละอุทิศตนของ ศิษย์เก่าที่เคยเป็นอดีตผู้บริหารบริษัทจำลองของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งปัจจุบันได้เติบโตอยู่ในแวดวงธุรกิจเป็นทั้งเจ้าของธุรกิจและนักบริหารแบบมืออาชีพ จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ได้นำประสบการณ์และความสามารถกลับมาช่วยรุ่นน้อง ช่วยสถาบัน ในการเพิ่มศักยภาพของคนรุ่นใหม่และส่งเสริม SMEs ไทยให้เทียบทันสากล