ราคาน้ำมันพุ่ง : สินค้าและบริการมีแนวโน้มขยับราคาสูงขึ้น…ผู้บริโภคต้องปรับตัว

ในภาวะที่ราคาน้ำมันในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันในตลาดโลกส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงหลากหลายธุรกิจอันเป็นผลมาจากการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯ” ในระหว่างวันที่ 15-24 ตุลาคม 2550 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกลุ่มตัวอย่าง 1,375 คน โดยเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกเจาะจงเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่เป็นแม่บ้านหรือผู้มีหน้าที่จับจ่ายสินค้าอุปโภค/บริโภคของแต่ละครัวเรือน กระจายกลุ่มตัวอย่างตามรายได้ของครัวเรือน โดยปัจจัยนี้มีผลทำให้การปรับพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอยที่แตกต่างกัน คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้เกือบร้อยละ 80.0 มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 30,000 บาทต่อคน ซึ่งจัดเป็นชนชั้นระดับรากแก้วและชนชั้นกลางของประเทศ โดยทั้งสองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมากและมีการปรับพฤติกรรมอย่างชัดเจนจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ “พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯ” ที่ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เคยสำรวจไว้ในปี 2549 จะเห็นได้ว่าคนกรุงเทพฯในกลุ่มนี้มีการปรับพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอยแล้วตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเท่ากับว่าการปรับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยในปี 2550 นี้เป็นการปรับตัวเพิ่มเติมหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการรัดเข็มขัดให้แน่นขึ้นไปอีก

จากการสำรวจพบประเด็นสำคัญ ดังนี้
-น้ำมัน และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างระบุว่าราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญ อันดับแรกที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 33.3 เห็นว่าการที่ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกดดันให้ราคาสินค้าสูงขึ้น รองลงมาร้อยละ 22.4 เห็นว่าต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทำให้ผู้ประกอบการใช้เป็นเหตุผลในการเสนอต่อกระทรวงพาณิชย์เพื่อขออนุมัติปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างยังมีความเห็นว่าความไม่สงบทางการเมืองนั้นส่งผลต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างเริ่มระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เนื่องจากไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจ ไม่มั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และอยู่ในภาวะเครียดกับหลากหลายปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าเข้ามา รวมทั้งการรับฟังข่าวสารเกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้มีการปรับพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอยเพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น

-การปรับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯ แยกออกได้ดังนี้
1.ค่าใช้จ่ายด้านกิจกรรมสันทนาการ
ค่าใช้จ่ายกิจกรรมสันทนาการนั้นนับว่าเป็นค่าใช้จ่ายอันดับต้นๆที่คนกรุงเทพฯจะพิจารณาปรับลดลง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอันดับแรกที่คนกรุงเทพฯจะปรับลด โดยคนกรุงเทพฯร้อยละ 46.7 ของกลุ่มตัวอย่างมีการปรับพฤติกรรมในการเดินทางท่องเที่ยว กล่าวคือ ร้อยละ 25.3 ลด/งดการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ ร้อยละ 17.3 หันมาท่องเที่ยวในประเทศแทนโดยเน้นการเดินทางท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ และเน้นการขับรถยนต์ไปเอง ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 4.1 ลด/งดการเดินทางท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อเทียบกับการสำรวจในปี 2549 แล้วพบว่า คนกรุงเทพฯมีการเดินทางท่องเที่ยวมากกว่าในปี 2549 กล่าวคือ คนกรุงเทพฯที่ลด/งดการเดินทางท่องเที่ยวมีเพียงร้อยละ 4.1 เท่านั้น เมื่อเทียบกับในปี 2549 มีอยู่ถึงร้อยละ 25.8

นอกจากนี้คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังลดค่าใช้จ่ายในด้านกิจกรรมสันทนาการอื่นๆด้วย โดยร้อยละ 16.2 ลด/งดการใช้บริการเสริมความงาม ร้อยละ 14.2 ลด/งดการสังสรรค์กับเพื่อนๆ ร้อยละ 12.1 ลด/งดการดูภาพยนตร์ ร้อยละ 6.7 ลด/งดการไปชมคอนเสิร์ต/ฟังเพลงนอกบ้าน และที่เหลืออีกร้อยละ 4.1 มีการปรับลดค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เป็นกิจกรรมสันทนาการ เช่น ลดการซื้อหนังสือ/หนังสือพิมพ์ เป็นต้น

2.ค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่ม คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีการปรับพฤติกรรมในเรื่องค่าใช้จ่ายในด้านอาหารคือ ร้อยละ 29.0 ลด/งดการรับประทานอาหารนอกบ้าน ร้อยละ 23.9 เลือกร้านที่ซื้ออาหารปรุงสำเร็จที่ราคาไม่แพง ร้อยละ 18.3 หันมาทำอาหารรับประทานมากขึ้น ร้อยละ 17.4 งด/ลดการดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลังฯลฯ ร้อยละ 7.6 ทานอาหารสำเร็จรูป/บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้นและที่เหลือร้อยละ 3.8 เลือกซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารที่ราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับผลสำรวจในปี 2549 นั้นจะเห็นได้ว่าการลด/งดการรับประทานอาหารนอกบ้านนั้นจะเป็นอันดับแรกของการตัดลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง และในปี 2550 นี้คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหันมาเน้นการลด/งดน้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลังฯลฯ มากขึ้นกว่าในปี 2549

3.ค่าไฟฟ้า-ประปา-โทรศัพท์ คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหาทางลดค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้า-ประปา-โทรศัพท์ โดยร้อยละ 42.4 ลด/งดการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ร้อยละ 26.3 หามาตรการในการประหยัดค่าไฟฟ้า ประปาและโทรศัพท์ ร้อยละ 13.4 ลด/งดการใช้เครื่องปรับอากาศ และร้อยละ 8.8 ลดการดูโทรทัศน์/วิดีโอ และลดการใช้โทรศัพท์มือถือเท่ากัน ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในปี 2550 นั้นคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังคงเน้นลด/งดการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นเป็นอันดับหนึ่งเช่นเดียวกับในปี 2549 แต่ในปี 2549 นั้นคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเน้นการลดการดูโทรทัศน์/วิดีโอเป็นอันดับสอง เมื่อเทียบกับในปี 2550 คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหันไปเน้นการหามาตรการในการประหยัดค่าไฟฟ้า ประปาและโทรศัพท์ รวมทั้งลด/งดการใช้เครื่องปรับอากาศ เนื่องจากคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างลดค่าใช้จ่ายในการบันเทิงและสันทนาการนอกบ้าน ดังนั้นการดูโทรทัศน์/วิดีโอในบ้านจึงเป็นความบันเทิงที่เข้ามาทดแทนได้บางส่วน

4.ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเริ่มหันมาประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยหันมาใช้บริการรถสาธารณะมากขึ้นกล่าวคือ ร้อยละ 35.8 หันไปใช้บริการรถสาธารณะมากขึ้น ร้อยละ 21.8 ชักชวนให้คนในบ้านใช้รถสาธารณะ สำหรับคนกรุงเทพฯที่ยังคงใช้รถส่วนตัวก็มีการปรับพฤติกรรม โดยร้อยละ 19.6 ใช้รถยนต์ส่วนตัวเท่าที่จำเป็น ร้อยละ 13.1 หันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวคันเดียวกัน และร้อยละ 9.4 มีการปรับเครื่องยนต์เพื่อใช้ก๊าซแทนน้ำมัน เมื่อเทียบกับในปี 2549 แล้วจะเห็นได้ว่าในปี 2550 นี้คนกรุงเทพฯที่ยังคงจำเป็นที่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวปรับตัวโดยการการปรับเครื่องยนต์เพื่อใช้ก๊าซมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน กล่าวคือ ในปี 2549 คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีการปรับเครื่องยนต์เพื่อใช้ก๊าซเพียงร้อยละ 1.3 เท่านั้น

5.ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพยังเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแต่คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างก็มีการปรับพฤติกรรมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพ โดยปรับพฤติกรรมในการใช้บริการสถานพยาบาล กล่าวคือ ร้อยละ 36.8 หันไปใช้บริการโรงพยาบาลรัฐบาลแทนโรงพยาบาลเอกชน และร้อยละ 9.9 หันมาใช้บริการประกันสังคมมากขึ้น ส่วนในการบริโภคยานั้นร้อยละ 7.8 หันมาใช้ยาที่ผลิตในประเทศ และร้อยละ 5.1 หันมาใช้ยาสมุนไพรแทนยาแผนปัจจุบัน สำหรับการบริโภคอาหารเสริมสุขภาพนั้นคนกรุงเทพฯมีปรับพฤติกรรมที่น่าสนใจ คือ ร้อยละ 25.7 เปลี่ยนมาบริโภคอาหารเสริมสุขภาพที่ผลิตในประเทศทดแทนการบริโภคอาหารเสริมสุขภาพที่ผลิตในต่างประเทศที่มีราคาแพง และร้อยละ 12.6 ลด/งดการบริโภคอาหารเสริมสุขภาพ และที่เหลืออีกร้อยละ 2.1 เป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอื่นๆ เช่น เน้นการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงป้องกันและลดการเจ็บป่วย เป็นต้น

6.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆที่คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างปรับลดค่าใช้จ่ายที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 74.1 ลดการเสี่ยงโชค/การพนัน ร้อยละ 13.2 การหันไปซื้อกรรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ชั้น 3 แทนประกันภัยชั้น1 และที่เหลือร้อยละ 12.7 ลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ลดการทำบุญ/บริจาคทาน เป็นต้น

การปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายในหลายลักษณะดังกล่าวของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลากหลายประเภท โดยแยกพิจารณาผลกระทบได้ดังนี้

1.กลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ
-ธุรกิจจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป/กึ่งสำเร็จรูป เนื่องจากคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างปรับพฤติกรรมหันมารับประทานอาหารสำเร็จรูป/กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น ทำให้ยอดจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปแช่เย็น/แช่แข็ง และอาหารกึ่งสำเร็จรูปมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารหันมาสนใจลงทุนในตลาดนี้เพิ่มขึ้น โดยการปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เน้นประหยัด แต่ยังคงใส่ใจในเรื่องความสะอาดและรสชาติของอาหาร

-สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทเฮ้าส์แบรนด์ เนื่องจากคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเน้นการปรับพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเน้นการพิจารณาที่ราคามากกว่าการยึดติดกับยี่ห้อของสินค้า ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกที่หันมาผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเฮ้าส์แบรนด์จะได้เปรียบ เนื่องจากราคาจะถูกว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่มียี่ห้อของผู้ผลิตอื่นๆ นอกจากนี้บรรดาผู้ประกอบการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเริ่มทยอยปรับสินค้าเป็นแพ็กขนาดเล็กมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เน้นการซื้อสินค้าอุปโภคขนาดเล็กหรือซื้อเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

-ธุรกิจบริการรถสาธารณะ คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างปรับพฤติกรรมในการใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยการใช้รถยนต์ส่วนตัวเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวคันเดียวกันในกรณีที่เคยมีการใช้รถยนต์ส่วนตัวหลายคัน นอกจากนี้คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังหันไปใช้รถสาธารณะมากขึ้น รวมทั้งยังชักชวนคนในบ้านให้หันไปใช้บริการรถสาธารณะมากขึ้นด้วย

-ธุรกิจปั๊มก๊าซ คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวหันมาติดตั้งระบบก๊าซ ทั้งนี้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้นในช่วงนี้ธุรกิจที่ติดตั้งระบบก๊าซจะมีลูกค้าเข้าไปใช้บริการอย่างต่อเนื่อง และในระยะต่อไปธุรกิจปั๊มก๊าซก็จะมีลูกค้าที่เป็นรถยนต์ส่วนตัวเข้าไปใช้บริการเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นรถสาธารณะ นอกจากนี้ คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจปั๊มก๊าซมากขึ้น ทำให้มีการกระจายตัวของปั๊มก๊าซมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาในการหาปั๊มก๊าซยาก นับว่าเป็นแรงจูงใจเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวที่จะตัดสินใจในการติดตั้งระบบก๊าซแทนน้ำมัน

-ธุรกิจโรงพยาบาล เดิมนั้นผู้ที่ใช้บริการโรงพยาบาลรัฐบาลก็มีจำนวนมากอยู่แล้ว เนื่องจากมีจุดแข็งคือ ค่าบริการต่ำกว่าเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลเอกชน และมีอาจารย์หมอที่เชี่ยวชาญเฉพาะแต่ละด้านให้บริการ แต่มีจุดอ่อนคือ ต้องรอคิวค่อนข้างนาน ดังนั้นผู้มีรายได้สูงขึ้นบางส่วนก็หันไปใช้โรงพยาบาลเอกชน โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าเพื่อจะได้ไม่ต้องรอคิวนาน และโรงพยาบาลเอกชนก็มีการจ้างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจรักษาด้วย แต่เมื่อต้องประหยัดค่าใช้จ่ายทำให้มีคนกรุงเทพฯบางส่วนหันกลับไปใช้บริการโรงพยาบาลรัฐบาล โดยเน้นการไปใช้บริการคลินิกพิเศษ ซึ่งตอบสนองความต้องการได้โดยราคาค่าบริการถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน แม้ว่าจะแพงกว่าค่าบริการโรงพยาบาลรัฐบาลในช่วงปกติก็ตาม แต่ก็ไม่ต้องรอคิวนานมากนัก ทำให้จำนวนผู้ที่เข้าไปใช้บริการคลินิกพิเศษของโรงพยาบาลรัฐบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่ได้มาตรฐานและราคาไม่แพงมากนักก็มีโอกาสที่จะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังมีข้อได้เปรียบในเรื่องการที่ไม่ต้องรอคิวนาน และการปรับตัวเป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น

-ธุรกิจผลิตภัณฑ์สมุนไพร การที่คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเน้นการประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพ โดยการหันมาใช้ยาสมุนไพรทดแทนการบริโภคยาแผนปัจจุบัน นับว่าเป็นปัจจัยหนุนของยอดการบริโภคยาสมุนไพร จากเดิมที่ปัจจัยหนุนให้ยาสมุนไพรเป็นที่สนใจเป็นประเด็นในเรื่องยาที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติไม่ใช่เคมีสังเคราะห์ นอกจากนี้ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นๆ โดยเฉพาะอาหารเสริมสุขภาพจากผลิตภัณฑ์สมุนไพร เนื่องจากผู้บริโภคส่วนหนึ่งต้องการบริโภคอาหารเสริมสุขภาพจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย นับว่าเป็นการรักษาสุขภาพเชิงป้องกัน เนื่องจากคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเล็งเห็นว่าจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเมื่อต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล

-ธุรกิจสินค้ามือสอง เดิมนั้นธุรกิจสินค้ามือสองเป็นที่นิยมเฉพาะสินค้าที่มียี่ห้อมีชื่อเสียงและราคาแพง แต่ในปัจจุบันสินค้ามือสองหลากหลายประเภทนั้นได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ โทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงของตกแต่งบ้าน ทำให้เกิดแหล่งรวมธุรกิจสินค้ามือสองหลายจุดในกรุงเทพฯ และแต่ละจุดก็มีลูกค้าที่สนใจสินค้ามือสองไปเดินเลือกหาสินค้าที่ถูกใจเป็นจำนวนมาก
-ธุรกิจรถเช่า ธุรกิจรถเช่าในปัจจุบันนับว่าอยู่ในยุคเฟื่องฟู โดยความต้องการใช้บริการนั้นมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนกรุงเทพฯเล็งเห็นว่าการใช้บริการธุรกิจรถเช่านั้นประหยัดค่าใช้จ่ายและสะดวกกว่าการใช้รถยนต์ส่วนตัว เดิมนั้นลูกค้าหลักของธุรกิจรถเช่าคือ บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ โรงงานอุตสาหกรรม บริษัทห้างร้านขนาดใหญ่ เป็นต้น แต่ปัจจุบันลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการรถเช่าที่เพิ่มขึ้นคือ การใช้บริการท่องเที่ยวส่วนตัว เนื่องจากคนกรุงเทพฯเน้นประหยัด และหันมานิยมท่องเที่ยวเองมากขึ้น นอกจากนี้ ในเทศกาลสำคัญต้องมีการจองคิวรถเช่าล่วงหน้า เช่น เทศกาลเช็งเม้ง เทศกาลเข้าพรรษาที่นิยมตระเวนไหว้พระทำบุญ เป็นต้น โดยปัจจุบันมีนักลงทุนรายย่อยเข้ามาลงทุนในธุรกิจรถเช่าเพิ่มขึ้น เงื่อนไขสำคัญในการที่จะประสบความสำเร็จ คือ สภาพรถอยู่ในเกณฑ์ดี คนขับรถมีความชำนาญเส้นทาง ซื่อสัตย์ไว้ใจได้ และกิริยามารยาทสุภาพ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายในบรรดาธุรกิจรถเช่าด้วยกันเอง เนื่องจากการสร้างเครือข่ายนั้นทำให้มีโอกาสที่จะได้งานเพิ่มขึ้น และมีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

-ธุรกิจร้านค้าส่งเสื้อผ้า/เครื่องประดับ ปัจจุบันผู้บริโภคเน้นประหยัดจึงลดการซื้อเสื้อผ้า/เครื่องประดับ และถ้าจะซื้อจะหันไปซื้อร้านเสื้อผ้า/เครื่องประดับที่มีราคาย่อมเยาหรือร้านค้าส่ง ทำให้ปัจจุบันบรรดาร้านค้าส่งเสื้อผ้า/เครื่องประดับหันมาให้ความสำคัญกับลูกค้าที่ซื้อปลีกมากขึ้น เดิมนั้นร้านค้าส่งเหล่านี้จะเน้นการขายแบบยกโหลหรือคละสีหรือคละแบบ แต่ปัจจุบันหันมาขายขั้นต่ำ 3 ตัว/ชิ้นและยังให้เลือกสีและแบบ ซึ่งกลยุทธ์นี้ทำให้ร้านค้าส่งเสื้อผ้า/เครื่องประดับเป็นที่นิยมของบรรดาผู้ที่ต้องการแต่งกายตามแฟชั่น ย่านที่มีร้านค้าส่งเสื้อผ้า/เครื่องประดับที่เป็นที่นิยมในกรุงเทพฯ ได้แก่ สำเพ็ง โบ๊เบ๊ และประตูน้ำ

-ธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประหยัดไฟ ในปัจจุบันบรรดาคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างต่างหามาตรการที่จะประหยัดค่าไฟฟ้า แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นในครัวเรือน ดังนั้นวิธีการประหยัดค่าไฟฟ้าที่ได้ผลคือ การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประหยัดไฟ ซึ่งบรรดาผู้ประกอบการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าก็หันมาให้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประหยัดไฟตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

-ธุรกิจประกันภัย แม้ว่าผู้บริโภคจะต้องประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ค่าใช้จ่ายในด้านประกันภัย โดยเฉพาะประกันรถยนต์นั้นยังเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ตามผู้บริโภคก็ปรับตัวโดยการหันไปซื้อประกันภัยรถยนต์ชั้น 3 แทนการประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 เนื่องจากต้องการลดภาระในการจ่ายเบี้ยประกัน ทำให้ในปัจจุบันบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจประกันภัยหันมาใช้กลยุทธ์ขายประกันภัยรถยนต์ชั้น1 ในราคาที่ต่ำลง ทั้งนี้เพื่อดึงให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ
2.กลุ่มธุรกิจที่ต้องเร่งปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯ

-ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร เนื่องจากคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างปรับตัวโดยการงด/ลดการไปรับประทานอาหารนอกบ้าน และลด/งดการสังสรรค์กับเพื่อนๆ เท่ากับว่าความถี่ในการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านลดลง ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบรรดาร้านอาหารและภัตตาคาร อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร นอกจากการสร้างจุดเด่นและชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักและอยู่ในใจลูกค้า เมื่อลูกค้าต้องการใช้บริการรับประทานอาหารนอกบ้านก็จะคิดถึงเป็นแห่งแรก การปรับธุรกิจโดยหันไปเน้นบริการส่งนอกสถานที่ และบริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ ซึ่งทั้งสองบริการนี้เป็นที่นิยมมากขึ้นทั้งในกลุ่มลูกค้าที่เป็นธุรกิจและลูกค้าส่วนบุคคล

-ธุรกิจน้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง ฯลฯ เนื่องจากการปรับลดการบริโภคสินค้า เนื่องจากต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย กอปรกับการรณรงค์ในเรื่องการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ยานพาหนะ การรณรงค์ในเรื่องเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และการปรับขึ้นราคาน้ำอัดลมในปี 2549 อันเป็นผลมาจากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มว่าจะมีการขอปรับราคาขึ้นอีกในปีนี้ ทำให้ตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเข้ามาเบียดแย่งตลาดน้ำอัดลม บรรดาผู้ประกอบการเครื่องดื่มเหล่านี้เริ่มปรับตัวโดยการขยายไลน์การผลิตเข้าไปผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำผลไม้และกาแฟ/ชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม โดยอาศัยความได้เปรียบในเรื่องช่องทางการจัดจำหน่ายและการขนส่งเป็นตัวกระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคเป้าหมาย

-ธุรกิจสถานบริการเสริมความงาม เนื่องจากคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเน้นประหยัด ทำให้ลด/งดการไปใช้บริการสถานบริการเสริมความงาม โดยบางกลุ่มนั้นลดความถี่ในการใช้บริการเสริมความงาม และบางกลุ่มงดการไปใช้บริการโดยหันไปซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ไปทำเองที่บ้าน ซึ่งปัจจุบันเครื่องมือและอุปกรณ์เกี่ยวกับการเสริมความงามเหล่านี้หาซื้อได้ง่าย และราคาไม่สูงนัก ดังนั้นบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจสถานบริการเสริมความงามต้องปรับตัวโดยการหันไปเน้นบริการที่ลูกค้านิยมและให้บริการในราคาที่ย่อมเยาว์ ซึ่งจะเป็นจุดดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ เช่น บริการยืดผมถาวร เป็นต้น หรือการเน้นบริการเสริม เช่น บริการนวดกดจุด บริการเป็นที่ปรึกษาการแต่งหน้าแต่งตัว ตัวแทนจำหน่ายเครื่องสำอาง อาหารเสริมสุขภาพ/อาหารเสริมความงาม เป็นต้น

-ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการต่างๆที่เกี่ยวเนื่องในแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งธุรกิจทัวร์ การปรับพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการลด/งดการเดินทางท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการต่างๆที่เกี่ยวเนื่องในแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งธุรกิจทัวร์ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจคือ คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างบางส่วนยังหันมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศแทนการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ดังนั้นบรรดาธุรกิจท่องเที่ยวต้องหันมาเน้นจับลูกค้ากลุ่มนี้ โดยธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมคือ ธุรกิจโฮมสเตย์ และธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งทั้งสองธุรกิจนี้ราคาไม่แพงมากนัก และยังเป็นธุรกิจท่องเที่ยวที่เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติ สอดคล้องกับกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติในปัจจุบัน

-ธุรกิจโรงภาพยนตร์ ธุรกิจจัดคอนเสิร์ต และธุรกิจสถานบันเทิง ธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากมาตรการรัดเข็มขัดของผู้บริโภค เนื่องจากการลดความถี่ในการไปใช้บริการ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เน้นการปรับตัวโดยธุรกิจโรงภาพยนตร์เน้นการขยายธุรกิจไปครอบคลุมธุรกิจบันเทิงอื่นๆ เน้นการให้บริการครบวงจรมากขึ้น เช่น การให้บริการสถานโบว์ลิ่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร เป็นต้น ส่วนธุรกิจจัดคอน เสิร์ตก็เน้นลดความถี่ในการจัดโดยจัดเป็นงานคอนเสิร์ตใหญ่ๆเลยปีละครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น หรือหันไปเน้นการจัดคอนเสิร์ตที่ตอบสนองคนฟังเฉพาะกลุ่มมากขึ้น รวมทั้งการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบรรดาธุรกิจอื่นๆที่มาเป็นสปอนเซอร์ร่วมเพื่อเฉลี่ยค่าใช้จ่ายร่วมกัน

-ธุรกิจจำหน่ายอาหารเสริมสุขภาพ คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างบางส่วนมองว่าอาหารเสริมสุขภาพเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ดังนั้นอาหารเสริมสุขภาพจึงเป็นสินค้าในลำดับต้นๆที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะตัดออกจากรายการค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างบางส่วนก็ยังคงบริโภคอาหารเสริมสุขภาพต่อไปโดยการหันมาบริโภคอาหารเสริมสุขภาพที่ผลิตในประเทศทดแทนอาหารเสริมสุขภาพที่ต้องนำเข้า ทำให้อาหารเสริมสุขภาพที่ผลิตในประเทศมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหารเสริมสุขภาพประเภทผลิตภัณฑ์สมุนไพร

-ธุรกิจจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์ เนื่องจากคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างลดการทำบุญ/บริจาคทาน ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์ และธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญ โดยธุรกิจเหล่านี้มีการปรับตัวโดยเริ่มมีการให้บริการจัดส่งนอกสถานที่ หรือการเป็นพันธมิตรกับวัดหรือศาลเจ้าเพื่อบริการจัดส่งสินค้าเป็นสต็อกเตรียมให้กับผู้ที่จะไปทำบุญในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ และปรับสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนไป เช่น การหันมาจำหน่ายหลอดไฟฟ้าแทนเทียนพรรษา เป็นต้น

น้ำมันแพงจะยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องในระยะยาว เนื่องจากประเทศไทยยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันปรับราคาตามราคาในตลาดโลก และมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคนไทยจึงยังคงต้องปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมที่จะเผชิญปัญหาน้ำมันแพงต่อไป โดยเฉพาะชนชั้นระดับรากแก้วและชนชั้นกลางของประเทศ โดยทั้งสองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมากและมีการปรับพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอยมาอย่างต่อเนื่อง จากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการต่างๆปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตามจากผลการสำรวจคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหวังพึ่งรัฐบาลในการช่วยลดผลกระทบจากปัญหาน้ำมันแพง โดยมาตรการที่คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ 5 อันดับแรกคือ การควบคุมการฉวยโอกาสการขึ้นราคาสินค้า/บริการของผู้ประกอบการ โดยอาศัยข้อกฎหมายที่จะลงโทษอย่างเด็ดขาดกับผู้ประกอบการที่ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า ไม่ขึ้นค่าบริการสาธารณูปโภค/บริการสาธารณะต่างๆ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า น้ำประปา และโทรศัพท์ ปรับปรุง/เพิ่มบริการสาธารณะต่างๆโดยเฉพาะรถสาธารณะ/ขนส่งมวลชนให้เพียงพอกับความต้องการ ลดภาษีเงินได้ โดยการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ทีช่วยให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เช่น ปรับเพิ่มเงินหักค่าลดหย่อน ขยายช่วงอัตราภาษีที่จัดเก็บที่เอื้อต่อผู้เสียภาษีที่มีรายได้น้อยให้เสียภาษีลดลง การไม่ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น รวมทั้งช่วยผู้ประกอบการในการลดต้นทุนการผลิตสินค้า เช่นการลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต เป็นต้น โดยคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหวังว่าถ้ารัฐบาลมีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนได้ในระดับหนึ่ง

บทสรุป
ในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯ” โดยคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในครั้งนี้เกือบร้อยละ 80.0 มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 30,000 บาทต่อคน ซึ่งจัดเป็นชนชั้นระดับรากแก้วและชนชั้นกลางของประเทศ โดยทั้งสองกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากและมีการปรับพฤติกรรมอย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อเทียบกับผลสำรวจในปี 2549 ที่คนกรุงเทพฯกลุ่มนี้มีการปรับพฤติกรรมไปแล้วอาจกล่าวได้ว่าคนกรุงเทพฯกลุ่มนี้ต้องรัดเข็มขัดให้แน่นขึ้นไปอีก

ประเด็นสำคัญที่พบจากการสำรวจคือ ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้มและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญอันดับแรกที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างต้องเร่งปรับตัวโดยการลดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่ายด้านกิจกรรมสันทนาการ โดยเฉพาะการปรับลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างบางส่วนงด/ลดการท่องเที่ยวในต่างประเทศ บางส่วนหันมาท่องเที่ยวในประเทศแทนการท่องเที่ยวต่างประเทศ และบางส่วนงด/ลดการเดินทางท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีการปรับลดการใช้บริการสถานเสริมความงาม การสังสรรค์กับเพื่อนๆ การดูภาพยนตร์ ชมคอนเสิร์ต รวมทั้งลดการซื้อหนังสือ/หนังสือพิมพ์ด้วย ค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างลด/งดการไปรับประทานอาหารนอกบ้าน เลือกร้านที่ซื้ออาหารสำเร็จรูปที่ราคาไม่แพง หันมาทำอาหารรับประทานเองมากขึ้น งด/ลดการดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง ฯลฯ และหันมารับประทานอาหารสำเร็จรูป/บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า-ประปา-โทรศัพท์ โดยคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในแต่ละครัวเรือนพยายามหามาตรการในการลดค่าใช้จ่ายด้านนี้ โดยการลด/งดการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ลด/งดการใช้เครื่องปรับอากาศ ลดการดูโทรทัศน์/วิดีโอ และลดการใช้โทรศัพท์มือถือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหันไปพึ่งบริการรถสาธารณะมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่ยังจำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวก็หันมาติดตั้งระบบก๊าซแทนน้ำมันมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพ คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหันกลับมาใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐบาลแทนการใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งหันมาบริโภคอาหารเสริมสุขภาพที่ผลิตภายในประเทศทดแทนอาหารเสริมสุขภาพที่ผลิตจากต่างประเทศ และหันมาใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันมากขึ้น

ผลของการปรับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลากหลายประเภท โดยแบ่งผลกระทบออกได้เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับพฤติกรรม ได้แก่ ธุรกิจจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป/กึ่งสำเร็จรูป สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทเฮ้าส์แบรนด์ ธุรกิจบริการรถสาธารณะ ธุรกิจปั๊มก๊าซ ธุรกิจโรงพยาบาลรัฐบาลโดยเฉพาะบริการคลินิกพิเศษ ธุรกิจผลิตภัณฑ์สมุนไพร ธุรกิจสินค้ามือสอง ธุรกิจรถเช่า ธุรกิจร้านค้าส่งเสื้อผ้า/เครื่องประดับ ธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประหยัดไฟ และธุรกิจประกันภัย ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ต้องปรับตัวรับกับการปรับพฤติกรรม ได้แก่ ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารที่ต้องหันมาเน้นบริการส่งนอกสถานที่ และบริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่มากขึ้น ธุรกิจผลิตน้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลังฯลฯ ต้องหันมาเพิ่มไลน์การผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะน้ำผลไม้ กาแฟ/ชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ธุรกิจสถานบริการเสริมความงาม ต้องปรับกลยุทธ์ลดราคาและเสนอบริการตามกระแสความนิยม เช่น การยืดผมถาวรในราคาประหยัด เป็นต้น ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการต่างๆที่เกี่ยวเนื่อง ต้องเน้นการปรับตัวเป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยม เช่น ธุรกิจโฮมสเตย์ และธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นต้น ธุรกิจโรงภาพยนตร์ ธุรกิจจัดคอนเสิร์ต และธุรกิจสถานบันเทิง เน้นการขยายธุรกิจไปครอบคลุมธุรกิจบันเทิงอื่นๆ เน้นการให้บริการครบวงจรมากขึ้น เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร เป็นต้น ธุรกิจจำหน่ายอาหารเสริมสุขภาพ เน้นการประชาสัมพันธ์ว่าเป็นอาหารเสริมสุขภาพประเภทผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือใช้วัตถุดิบในประเทศ รวมทั้งการบริโภคอาหารเสริมสุขภาพเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรงจะได้ไม่ต้องเจ็บป่วยจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ธุรกิจจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์ มีการปรับตัวโดยเริ่มมีการให้บริการจัดส่งนอกสถานที่ หรือการเป็นพันธมิตรกับวัดหรือศาลเจ้าเพื่อบริการจัดส่งสินค้าเป็นสต็อกเตรียมให้กับผู้ที่จะไปทำบุญในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ และปรับสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนไป เช่น การหันมาจำหน่ายหลอดไฟฟ้าแทนเทียนพรรษา เป็นต้น