โรงพยาบาลเอกชน : รวมตัวเป็นเครือข่าย…เสริมความเข้มแข็งธุรกิจ

อาจกล่าวได้ว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงรุ่งเรือง ภายหลังจากที่ต้องเผชิญกับภาวะถดถอยทางธุรกิจในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 โดยจำนวนคนไข้ที่เข้าใช้บริการมีการปรับเพิ่มสูงขึ้นทั้งคนไข้ในและคนไข้ต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับรายได้และผลกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันก็มีเงื่อนไขบีบรัดหลายประการโดยเฉพาะการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างโรงพยาบาลเอกชนด้วยกันเอง รวมทั้งโรงพยาบาลของรัฐที่หันมาให้ความสนใจกลุ่มคนไข้ที่มีรายได้สูง และประการสำคัญคือต้นทุนการดำเนินงานที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านอาคารสถานที่ ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในขณะที่การปรับขึ้นอัตราค่ารักษาพยาบาลมีข้อจำกัดจากปัญหาการแข่งขันที่รุนแรง ดังนั้นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนหลายรายเริ่มแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการหันมาดำเนินกลยุทธ์รวมตัวเป็นเครือข่ายธุรกิจ ซึ่งมีทั้งการเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการกับโรงพยาบาลเอกชนโดยเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือถือหุ้นในระดับที่สามารถมีส่วนเข้าไปตัดสินใจด้านนโยบาย รวมไปถึงการเข้าถือหุ้นเพียงบางส่วนโดยไม่เน้นการเข้าร่วมบริหารแต่ต้องการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างกัน หรือการใช้วิธีแลกหุ้นระหว่างบริษัทในเครือ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างเข้มแข็งของเครือข่ายธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนภายในกลุ่มทั้งทางด้านรายได้และผลกำไรในที่สุด

เหตุปัจจัยที่โรงพยาบาลเอกชนมีการรวมตัวเป็นเครือข่าย
เป็นที่น่าสังเกตว่า การดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบัน นอกเหนือจากจะแข่งขันกันที่ระบบการให้บริการที่สะดวก รวดเร็วและมีคุณภาพภายใต้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย บุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับเชื่อถือแล้ว สิ่งสำคัญยังต้องคำนึงถึงปัจจัยต้นทุนดำเนินการของธุรกิจที่สามารถแข่งขันได้อีกด้วย โดยนับตั้งแต่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนสามารถพลิกฟื้นจากภาวะซบเซาอย่างหนักในวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 จนส่งผลให้ต้นทุนดำเนินการของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งสวนทางกับจำนวนคนไข้ที่มาใช้บริการซึ่งลดลงโดยต่อเนื่อง และมีผลโดยตรงต่อรายได้และผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์อย่างเห็นได้เด่นชัด จนผู้ประกอบการโรงพยาบาลหลายรายที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ต้องปิดกิจการลงต่อเมื่อภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของภาคประชาชนกลับฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งนับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจากข้อมูลผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ พบว่า จากจำนวนผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน 10 แห่งมีเพียง 2 แห่งที่ปรากฏผลการดำเนินงานขาดทุนประมาณ 34.61 ล้านบาท และมี 8 แห่งปรากฏผลการดำเนินงานมีกำไร 1,743.98 ล้านบาททำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน ในปี 2544 ทั้งสิ้น 1,709.37 ล้านบาท ในขณะที่ผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลเอกชนในปี 2545 จนถึงปัจจุบันมีเพียงผู้ประกอบการ 1-2 รายที่ผลการดำเนินงานปรากฏผลขาดทุน แต่หากพิจารณาภาพรวมทั้งหมดแล้ว ผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์โดยรวมมีกำไรโดยต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนสามารถนำผลกำไรที่ได้ รวมทั้งการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินที่มีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเพื่อการขยายงานเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ติดตามมาควบคู่กับการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันก็คือ อุปสรรคและความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจที่นับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง รวมทั้งปัญหาสำคัญคือต้นทุนการดำเนินงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ต้นทุนการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีการเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปรับปรุงด้านอาคารสถานที่และเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ให้มีความทันสมัยเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและจูงใจให้คนไข้มาใช้บริการ โดยเฉพาะการปรับปรุงเพื่อรองรับคนไข้ในประเทศและคนไข้ชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง ในขณะเดียวกัน เพื่อสร้างการยอมรับทางด้านคุณภาพการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลเอกชนยังได้มีการลงทุนทางด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อต้นทุนการบริหารและต้นทุนด้านการรักษาปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่การปรับขึ้นอัตราค่ารักษาพยาบาลให้สอดคล้องกับต้นทุนทำได้ในระดับหนึ่งเนื่องจากมีอุปสรรคสำคัญนั่นคือการแข่งขันที่สูง ดังนั้นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนจึงจำเป็นต้องหันไปใช้วิธีลดต้นทุนด้านอื่นๆชดเชย

การแข่งขันรุนแรง โรงพยาบาลเอกชนของไทยมีการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างโรงพยาบาลเอกชนในประเทศ รวมทั้งแข่งขันกับโรงพยาบาลของภาครัฐที่หันมาพัฒนาตัวเองเพื่อแข่งกับโรงพยาบาลเอกชน เช่น การให้บริการคลินิกพิเศษในช่วงหลังเวลาทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนจะแข่งขันกันทั้งทางด้านอาคารสถานที่ เครื่องมือทางการแพทย์รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง การเพิ่มบริการให้กับญาติหรือผู้ติดตามคนไข้ต่างประเทศทางด้านที่พัก รวมทั้งการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวร่วมกับบริษัททัวร์ ร้านอาหาร

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนจึงต้องเร่งหันมาให้ความสนใจกับการปรับปรุงธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันให้สูงขึ้น ซึ่งหนึ่งในรูปแบบที่นิยมนอกเหนือจากการขยายกิจการด้วยการสร้างโรงพยาบาลใหม่ซึ่งจะมีต้นทุนค่าการก่อสร้างที่สูงรวมทั้งต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะมีรายได้จากการดำเนินงานตอบแทนกลับมาก็คือ การสร้างธุรกิจในรูปของเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจโดยผ่านการซื้อหรือควบรวมกิจการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทางด้านการบริหารบุคลากร การสั่งซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์รวมทั้งยาและเวชภัณฑ์ภายใต้ต้นทุนที่ลดลง อีกทั้งการรวมตัวดังกล่าวยังส่งผลต่อรายได้และผลการดำเนินงานที่กลับมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งวิธีการดังกล่าวเริ่มมีภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แต่เริ่มปรากฏชัดเจนในปี 2547 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ซึ่งนับวันการเติบโตของเครือข่ายทางธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในลักษณะนี้จะมีการขยายตัวออกไปเพิ่มขึ้น

โรงพยาบาลเอกชนได้อะไรจากการรวมตัวเป็นเครือข่าย

เป้าหมายสำคัญที่ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนคาดหวังจากการรวมตัวเป็นเครือข่ายทางธุรกิจได้แก่การลดต้นทุนและรายจ่ายที่ซ้ำซ้อน และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของธุรกิจ และท้ายที่สุดนำมาซึ่งการเติบโตอย่างเข้มแข็งของธุรกิจทั้งทางด้านรายได้และผลกำไรตอบแทน

สำหรับผลดีที่คาดว่าจะมีตามมาจากการรวมตัวเป็นเครือข่ายของโรงพยาบาลเอกชน สรุปได้ดังนี้

1.การลดต้นทุน การรวมตัวเป็นเครือข่ายของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน จะช่วยให้เกิดองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ เพิ่มอำนาจต่อรองทางด้านการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำเนื่องจากปริมาณการสั่งซื้อที่มาก ซึ่งทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด(Economy of Scale) หรือหากปริมาณการใช้มีสูงก็อาจจะใช้วิธีผลิตสินค้าดังกล่าวขึ้นมาใช้กับโรงพยาบาลในกลุ่มเองซึ่งก็จะช่วยลดต้นทุนไปได้มากเช่นกัน ในขณะเดียวกัน โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งอาจเลือกที่จะสั่งซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีราคาสูงเพียงบางแห่งแต่สามารถนำมาใช้ร่วมกันระหว่างเครือข่ายทำให้มีต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลที่ไม่มีเครือข่ายหรือสาขาธุรกิจซึ่งต้องสั่งซื้อเครื่องมือแพทย์ที่มีราคาแพงชนิดเดียวกันมาใช้ ซึ่งบางครั้งก็มีคนไข้มาใช้บริการไม่มาก การประหยัดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้บริการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย และการเช่ารถ ยานพาหนะต่างๆ ตลอดจนพนักงานขับรถ ซึ่งจะทำให้สามารถว่าจ้างได้ตามจำนวนที่ต้องการตามความจำเป็นนอกจากนี้ยังเป็นการประหยัดต้นทุนในด้านสวัสดิการของพนักงานให้กับโรงพยาบาลอีกด้วย

2.กระจายกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างหลากหลาย การมีเครือข่ายสาขาธุรกิจ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถนำเสนอบริการให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้กว้างขวางและหลากหลาย ตามระดับรายได้ อาทิ กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่แต่เดิมมุ่งจับตลาดผู้ป่วยที่มีรายได้ระดับกลางค่อนข้างสูงก็สามารถให้บริการกับกลุ่มคนไข้ที่มีรายได้ที่ต่ำกว่าได้โดยผ่านเครือข่ายสาขาโรงพยาบาลขนาดกลางและขนาดเล็กในเครือ ในขณะเดียวกัน โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งที่เคยจับตลาดคนไข้ในกรุงเทพฯ ก็สามารถให้บริการกับคนไข้ในพื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งมีฐานลูกค้ากว้างได้ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจไม่จำเป็นต้องพึ่งพากลุ่มลูกค้าเป้าหมายใดโดยเฉพาะเฉพาะจงมากเกินไป จนนำมาซึ่งความเสี่ยงของธุรกิจ

3.การสร้างภาพลักษณ์องค์การเพื่อดึงบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในขณะที่ จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีค่อนข้างจำกัดไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงพยาบาลเอกชน ส่งผลให้เกิดการดึงบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลภาครัฐ และจากโรงพยาบาลเอกชนด้วยกันเอง โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในขณะเดียวกันก็จะต้องหาหนทางป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ของตนเองถูกคู่แข่งแย่งไปด้วยการเพิ่มค่าตอบแทนจูงใจ ซึ่งการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายจะช่วยให้การดึงบุคลากรทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงมาประจำโรงพยาบาลทำได้ง่ายกว่า

4.อัตราการเติบโตของรายได้ โดยปกติ การดำเนินธุรกิจทั่วไปผลการดำเนินงานจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละปี แต่การรวมตัวเป็นเครือข่ายจะช่วยให้รายได้และผลการดำเนินงานของธุรกิจสามารถเติบโตในระดับสูงแบบก้าวกระโดด ในขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ดำเนินกิจการเพียงลำพังการเติบโตทางด้านรายได้และผลการดำเนินงานจะเติบโตต่ำกว่า

เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนหลายรายต่างให้ความสนใจกับการรวมตัวเป็นเครือข่ายกันอย่างจริงจังในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาทิ เช่น เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลรามคำหุง เครือโรงพยาบาลพญาไท เครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ซึ่งหากรวมรายได้จากการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้จะมีถึงประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 26,000 ล้านบาท(ปี 2549)

บทสรุป
กล่าวโดยสรุปแล้ว การที่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนหันมาให้ความสนใจกับการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น เนื่องเพราะเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดต่อธุรกิจ โดยเฉพาะความสามารถด้านการแข่งขันด้วยต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำ รวมทั้งการให้บริการที่มีคุณภาพ ช่วยให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านรายได้และจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวผลักดันให้ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายอื่นให้ความสนใจกับกลยุทธ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้น แต่สำหรับผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่มีอุปสรรคหรือยังไม่พร้อมที่จะรวมตัวเป็นเครือข่ายโดยวิธีการควบรวม หรือซื้อกิจการ ยังสามารถทำได้ด้วยวิธีอื่นๆ อาทิ การทำข้อตกลงเพื่อเป็นพันธมิตรระหว่างโรงพยาบาลเอกชนด้วยกัน เช่นการส่งผู้ป่วยไปตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องมือการแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลนั้นยังไม่พร้อม เนื่องจากมีราคาสูงและยังมีจำนวนคนไข้ใช้บริการน้อย อย่างไรก็ตาม การรวมตัวเป็นเครือข่ายของโรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จเสมอไป เป็นแต่เพียงการมีเครือข่ายสาขาเป็นจำนวนมากจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันต่อธุรกิจมากขึ้น เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของโรงพยาบาลเอกชนก็คือการปรับปรุงประสิทธิภาพของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางด้านอาคาร สถานที่ เครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์ การเร่งกระจายกลุ่มผู้ป่วยที่มาใช้บริการให้มีความหลากหลาย การควบคุมต้นทุนดำเนินการ การเพิ่มรายได้ในส่วนของกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับสวัสดิการจากภาครัฐ อาทิ กลุ่มหลักประกันสุขภาพ และกลุ่มประกันสังคม รวมทั้งกลุ่มคนไข้ชาวต่างชาติ ซึ่งหากสามารถดำเนินการเช่นนี้ก็จะช่วยให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนสามารถแข่งขันอย่างมีศักยภาพ