การส่งออกไทยปี 2550-2551: ปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยสนับสนุน

นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจภายในประเทศมีทิศทางที่ชะลอตัว แต่การเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออกเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการส่งออกชะลอตัวลงค่อนข้างมากในไตรมาสที่ 3 โดยมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 12 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 19 ในช่วงครึ่งปีแรก ประกอบกับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจภายนอกประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นสร้างความกังวลต่อแนวโน้มการส่งออกในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้วิเคราะห์ปัจจัยต่างๆที่จะมีผลต่อแนวโน้มการส่งออกโดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

สถานการณ์การส่งออกของไทยปี 2550
ช่วง 9 เดือนแรกของปีไทยส่งออกเป็นมูลค่า 110,598 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวร้อยละ 16.07 ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าที่ขยายตัวในอัตราร้อยละ 16.01 แต่การส่งออกในเดือนกันยายนที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 10.4 ชะลอตัวลงจากในเดือนสิงหาคมที่ขยายตัวร้อยละ 17.9 และโดยภาพเฉลี่ยของไตรมาสที่ 3 จะสังเกตได้ว่าการส่งออกชะลอตัวลง ขณะที่ในไตรมาสสุดท้ายของปีการส่งออกจะยังถูกกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักและทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท จึงทำให้คาดว่าการส่งออกในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีแนวโน้มการส่งออกน่าจะมีทิศทางชะลอตัวลง

การชะลอตัวของการส่งออกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
ในช่วงเดือนม.ค.-ก.ย.ปีนี้สินค้าส่งออกสำคัญ 3 อันดับแรกของไทยยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบซึ่งเป็นสินค้าที่มีการส่งออกมากเป็นอันดับ 1 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 15.4 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการขยายตัวร้อยละ 25.8 เช่นเดียวกับแผงวงจรไฟฟ้า ในขณะที่รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27.8 จากปีก่อนหน้าร้อยละ 22.3 สินค้าอื่นๆที่มีการขยายตัวได้ดีในปีนี้ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน เป็นต้น

สินค้าบางรายการของไทยที่ส่งออกได้ลดลงคือ ยางพารา น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป การส่งออกที่ลดลงในส่วนของเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบมีสาเหตุเนื่องมาจากการถูกตัด GSP ของสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของสินค้ากลุ่มนี้ ไทยมีการส่งออกที่ชะลอตัวลงในสินค้าหลายรายการที่ควรต้องจับตาดูเช่น เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องยนต์และส่วนประกอบ ทั้งนี้การชะลอตัว/การลดลงของการส่งออกสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในช่วง 9 เดือนของปีนี้เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นไปร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เงินหยวนจีนแข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.4 ในขณะที่ค่าเงินดองเวียดนามและรูเปียห์อินโดนีเซียอ่อนค่าลงเล็กน้อย ทำให้ไทยนอกจากจะเสียเปรียบประเทศคู่แข่งเรื่องต้นทุนแล้วยังมีเรื่องค่าเงินอีกด้วย

ตลาดหลักชะลอตัวแต่ตลาดใหม่ยังขยายตัวในระดับสูง
การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯประสบปัญหาในขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัว
มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐอเมริการะหว่างเดือนม.ค.-ก.ย.คิดป็นมูลค่า 14,166 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในรายเดือนการส่งออกเดือนกันยายนลดลงร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าโดยเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ห้าของปี สินค้าหลักที่มีการนำเข้าจากไทยลดลงได้แก่ สินค้าที่เน้นใช้แรงงาน (labour-intensive) ซึ่งได้รับผลกระทบจากการอ่อนตัวของเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับเงินบาท เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า อาหารแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ สินค้าที่ถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี GSP สินค้าในกลุ่มเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และสินค้าอื่นๆที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น เครื่องจักร รถยนต์และส่วนประกอบ เหล็ก หรือแม้แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบก็มีอัตราการเติบโตลงจากปีก่อน แนวโน้มการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯน่าจะยังคงชะลอตัวไปจนถึงปีหน้าปัจจัยหลักจากค่าเงินและปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐ

สำหรับญี่ปุ่นแม้ว่าโดยรวมตัวเลขการส่งออกช่วง 9 เดือนแรกจะสามารถขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 10.7 การส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นเดือนกันยายนลดลงเป็นครั้งแรกของปีร้อยละ 1.3 (จากที่ขยายตัวร้อยละ 8.1 ในเดือนก่อน) เนื่องจากสินค้าหลักคือเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยางพาราซึ่งญี่ปุ่นได้หันไปนำเข้าจากอินโดนีเซียแทน มีการส่งออกลดลงในเดือนดังกล่าว ในส่วนของประเทศกลุ่มอาเซียนและสหภาพยุโรปการส่งออกขยายตัวร้อยละ 4.0 และ 4.2 ตามลำดับ (จากที่ขยายตัวร้อยละ 19 และร้อยละ 20 ในเดือนก่อน)

ตลาดที่มีศักยภาพและตลาดใหม่ของไทยเติบโตได้ดีในช่วง 9 เดือนแรกของปี ในช่วงเดือนม.ค.-ก.ย. การส่งออกของไทยไปยังบางประเทศเช่น สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย จีนไปจนถึงรัสเซีย หลายๆประเทศในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออกและยุโรปมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ตลาดที่มีอัตราการขยายตัวโดดเด่นประกอบด้วย
ประเทศสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE) มีการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 47 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นำเข้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบจากไทยเป็นมูลค่ามาก โดยมีสินค้าประเภทเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ เหล็ก เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ สายไฟฟ้าและสายเคเบิล เป็นสินค้าที่มีการเติบโตในระดับสูง นอกจาก UAE แล้วประเทศอื่นๆในแถบตะวันออกกลางก็มีการนำเข้าสินค้าบางอย่างจากไทยเช่น น้ำตาล เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีการนำเข้าเป็นมูลค่าน้อยมากทำให้ยังเป็นโอกาสที่จะขยายตลาดได้เพิ่มขึ้น

ประเทศอินเดีย นำเข้าสินค้าจากไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.5 จากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนโดยมีสินค้านำเข้าจากไทยที่สำคัญคือ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัวสูง สินค้าส่งออกอื่นๆที่มีการเติบโตมากได้แก่ ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม อัญมณีและเครื่องประดับ แนวโน้มการส่งออกไปตลาดที่มีศักยภาพโดยเฉพาะในประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นไปในทางบวก นอกจากอินเดียประเทศที่กำลังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วอย่างจีนและเวียดนามก็มีความต้องการสินค้านำเข้าจากไทยมากขึ้นเช่นกัน การส่งออกของไทยไปจีนและเวียดนามในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ขยายตัวในอัตราร้อยละ 27 และ 18.7 ตามลำดับ โดยมีสินค้าประเภทเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอุปโภคจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสินค้าส่งออกที่เติบโตได้ดี

ประเทศอินโดนีเซีย การส่งออกไปอินโดนีเซียขยายตัวกว่าร้อยละ 45 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี อินโดนีเซียนำเข้าสินค้าประเภทรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ(อินโดนีเซียเป็นตลาดรถยนต์อันดับสองของไทย) น้ำตาลทราย เครื่องจักรกล มากเป็นสามอันดับแรก ซึ่งนอกจากสินค้าจำพวกรถยนต์ เครื่องจักร เหล็กแล้วสินค้าเกษตรเช่น น้ำตาลทราย ข้าว และผลิตภัณฑ์ยางก็มีการขยายตัวได้ดีในอินโดนีเซียเช่นเดียวกัน

ประเทศออสเตรเลีย เป็นตลาดรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย โดยการส่งออกสินค้าประเภทรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับรวมไปถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไปออสเตรเลียเติบโตอย่างมากใน 9 เดือนแรกของปีนี้ และการส่งออกสินค้าโดยรวมขยายตัวในระดับสูงร้อยละ 32


เป็นที่สังเกตได้ว่า 3 ประเทศที่มีอัตราการขยายตัวโดดเด่น คือ UAE อินเดีย และออสเตรเลีย มีปัจจัยสำคัญมาจากการเปิดตลาดการค้ามากขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการส่งออกปี 2550-2551
1) ค่าเงินบาทและเศรษฐกิจสหรัฐ

ประเด็นที่น่ากังวลคือแนวโน้มการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ ซึ่งถ้าประเมินสัดส่วนการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อมอาจสูงถึงกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของไทย โดยคาดว่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอาจจะได้รับผลกระทบจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐและแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นได้อีก นอกจากนี้การที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี GSP ในกลุ่มสินค้าเครื่องประดับอัญมณีทำจากทอง เม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต และเครื่องรับโทรทัศน์สีจอแบน ส่งผลให้การส่งออกของสินค้าในกลุ่มนี้ลดลง แนวโน้มการส่งออกของไทยไปสหรัฐในช่วงที่เหลือของปีนี้จนถึงปีหน้าคาดว่าจะยังไม่กระเตื้องขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการส่งออกของไทยโดยภาพรวม

2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย
การส่งออกของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกของไทยอันดับสองรองจากสหรัฐมีอัตราการขยายตัวติดลบเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายนติดลบร้อยละ1.3 ตลาดส่งออกที่สำคัญเช่นกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและประเทศอาเซียนนั้นก็เริ่มมีการชะลอตัวโดยการส่งออกขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากปีก่อน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าผลกระทบของวิกฤติสินเชื่อซับไพร์มที่นอกจากจะส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐเองยังกระทบกับตลาดเงินนอกสหรัฐและเศรษฐกิจโลก อาจทำให้การส่งออกไปญี่ปุ่นและประเทศกลุ่มอียูมีแนวโน้มชะลอตัวไปจนถึงต้นปีหน้า

3) เหตุการณ์ความไม่สงบในพม่ากระทบการค้าชายแดน
พม่าเป็นตลาดสำหรับสินค้าส่งออกของไทยลำดับที่ 28 เป็นมูลค่า 691.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณร้อยละ 0.6 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยซึ่งแม้ว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่มากแต่การส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปีมีการขยายตัวค่อนข้างสูงร้อยละ 23.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ปัญหาความไม่สงบในพม่าจะกระทบต่อการค้าชายแดนไทย-พม่า รวมไปถึงธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นๆของไทยที่ดำเนินการอยู่ในพม่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยผลกระทบขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงของเหตุการณ์ ทั้งนี้ตัวเลขการส่งออกรายเดือนมีการหดตัวลงตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา และคาดว่าจะเป็นเช่นเดียวกับช่วงเดือนที่เหลือของปีหรือจนกว่าเหตุการณ์จะสงบ

4) ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะทำให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น
ราคาน้ำมันในช่วงปลายปีมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอันเนื่องมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล(ฤดูหนาว)และความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของสภาพอากาศในทวีปอเมริกาซึ่งจะกระทบผลผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าตลาดโลก(NYMEX) ณ วันที่ 1 พฤศจิกายนทะลุระดับ 95.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเป็นผลมาจากเหตุการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ราคาน้ำมันในระยะเวลาที่เหลือของปีต่อเนื่องถึงในปีหน้ายังมีแนวโน้มผันผวนและมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้เนื่องจากความต้องการใช้เติบโตเร็วกว่ากำลังการผลิตของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ราคาน้ำมันมีผลกระทบต่อการส่งออกในแง่ของต้นทุนการผลิตและการขนส่งทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น

ปัจจัยที่อาจมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกในปี 2551 ได้แก่ การขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่และผลของข้อตกลงการค้า แนวโน้มการส่งออกไปยังประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอันได้แก่ จีน อินเดีย และเวียดนามน่าจะยังขยายตัวได้ดีในปีหน้า นอกจากนี้ยังมีบางประเทศที่การส่งออกสามารถขยายตัวได้มากในช่วงที่ผ่านมาและมีศักยภาพในการเป็นตลาดส่งออกในอนาคตเช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกลุ่มประเทศในแถบตะวันออกกลาง อิหร่าน อินโดนีเซีย รัสเซีย ประเทศยุโรปตะวันออกเช่น เช็ก โปแลนด์ ฮังการี และประเทศในแถบอเมริกาใต้ เช่น เม็กซิโก บราซิล รวมไปถึงประเทศในทวีปแอฟริกาบางประเทศ ซึ่งในบางกรณีไทยเพิ่งเริ่มมีการส่งออกสินค้าบางอย่างไป

การส่งออกที่ขยายตัวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทำข้อตกลงการค้าและการลดภาษีสินค้าระหว่างกันในระดับพหุภาคีและระดับทวิภาคีเป็นการเปิดตลาดให้กับสินค้าไทย การส่งออกไทยปีหน้าจะยังได้รับประโยชน์จากข้อตกลงการค้าที่มีอยู่และการที่ไทยเปิดการเจรจาการค้าอย่างต่อเนื่อง ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2550 จะเป็นปัจจัยที่สนุบสนุนการส่งออกสินค้าไทยหลายรายการคือ สินค้าภาคเกษตรจำพวกอาหาร สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ ปิโตรเคมีและพลาสติก นอกจากนี้การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย (ITFTA) ก็มีโอกาสที่จะบรรลุความตกลงประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้เช่นกันหลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการลดภาษีนำร่องในกลุ่มสินค้า 82 (Early Harvest Program) รายการไปแล้ว ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าข้อสรุปความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดียจะส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยและอินเดียบรรลุ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐก่อนเป้าหมายเดิมที่ทั้งประเทศประกาศไว้ว่าจะเป็นในปี 2553 (2 เท่าของมูลค่า 3,428 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2549)

โดยรวมแล้วในช่วงเดือนที่เหลือของปีศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกของไทยจะมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก จากผลของการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐที่คาดว่าจะหดตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการส่งออกไปยังตลาดยุโรปบางประเทศและกลุ่มประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง เช่น จีน อินเดีย รวมถึงตลาดใหม่อื่นๆ ในประเทศยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลางและอเมริกาใต้จะยังขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ส่งผลให้การส่งออกโดยรวมในปี 2550 น่าจะเติบโตได้ในอัตราประมาณร้อยละ 14-15 ซึ่งต่ำกว่าการขยายตัวของการส่งออกปีก่อนหน้าแต่เกินเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 12.5 สาเหตุที่การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวลดลงในปีนี้เนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ความเสี่ยงในเรื่องของค่าเงินบาท และราคาน้ำมัน ทั้งนี้แนวโน้มการส่งออกปีหน้ายังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ คือ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ความผันผวนของค่าเงินและราคาน้ำมัน ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปี 2551 จะขยายตัวไม่เกินร้อยละ 10 โดยปัจจัยที่อาจมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกในปี 2551 ได้แก่ การขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ และผลของข้อตกลงทางการค้า ในขณะที่อนาคตการส่งออกของไทยในระยะยาวขึ้นกับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกทั้งในเรื่องของต้นทุนและคุณภาพ

ข้อเสนอแนะภาครัฐ
ภาครัฐสามารถส่งเสริมการส่งออกได้โดยส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าในระดับ inter และ intra-regional trade เพื่อเปิดตลาดให้กับสินค้าไทย ในตลาดที่มีศักยภาพภาครัฐอาจสนใจศึกษาผลกระทบในการลดภาษีระหว่างกันในสินค้าบางประเภท และเร่งการเจรจาการค้าที่ยังคงค้างอยู่เพื่อใช้โอกาสในการส่งออกก่อนหน้าประเทศคู่แข่ง กระทรวงพาณิชย์และผู้ส่งออกสามารถร่วมกันดำเนินมาตรการบุกเบิกตลาดใหม่และขยายตลาดที่มีอยู่เดิม อาทิ สนับสนุนและกระตุ้นการมีส่วนร่วมในการออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ให้ความรู้และส่งเสริมการทำการค้าผ่านทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) เป็นต้น

ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังควรร่วมกันดูแลค่าเงินให้มีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการช่วยผู้ส่งออกให้สามารถคาดการณ์และวางแผนสำหรับการผลิตและส่งออกของตนเองได้ นอกจากนี้รัฐควรเร่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยการส่งออกตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) ที่ประกอบไปด้วยนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย เพื่อแทนที่มาบตาพุดจังหวัดระยองที่ประสบปัญหาด้านมลพิษและเพื่อขยายความสามารถและลดต้นทุนในการขนส่งทางเรือและโลจิสติกส์ของประเทศในการรองรับสินค้าส่งออก-นำเข้า

ข้อเสนอแนะผู้ส่งออก
ในด้านของผู้ประกอบการควรศึกษาข้อตกลงการค้าที่รัฐทำเพื่อใช้เป็นโอกาสในการส่งออกไปในตลาดใหม่และใช้ประโยชน์จากการลดภาษี ในส่วนของตัวสินค้าและกระบวนการผลิตผู้ประกอบการควรศึกษาและรักษามาตรฐานให้ได้ตามที่ประเทศคู่ค้ากำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และ/หรือด้านสุขอนามัย ยกตัวอย่างเช่น ระเบียบ RoHs กฏระเบียบ REACH การติดฉลากสินค้าของสหภาพยุโรป เพื่อรักษาตลาดและป้องกันปัญหาในการส่งออก

ผู้ส่งออกสามารถใช้วิธีต่างๆในการประกันความเสี่ยงของค่าเงินเพื่อรับมือกับความผันผวนของเงินบาทที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต อุตสาหกรรมจำพวกเน้นใช้แรงงานเช่น สิ่งทอ รองเท้าประสบปัญหาต้นทุนค่าแรงบวกกับเงินบาทแข็งค่าทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากคู่แข่งที่ราคาถูกกว่าเช่น จีนได้ ผู้ส่งออกอาจต้องปรับกลยุทธ์ในการแข่งขันโดยเปลี่ยนจากการใช้ราคาแข่งขันเป็นการใช้คุณภาพแข่งขัน(เพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้า)และแสวงหาตลาดเฉพาะสำหรับสินค้า ในส่วนของราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นภาระต้นทุนในการผลิตและการขนส่งผู้ส่งออกต้องปรับตัวโดยการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและการจัดเก็บขนส่งสินค้าเพื่อลดต้นทุนให้มากที่สุด