แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 2551 : เผชิญความเสี่ยง…ภายใต้การแข่งขันที่สูงขึ้น

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน (Base Industry) ที่มีความสำคัญมากอุตสาหกรรมหนึ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างกว้างขวาง อาทิ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมสิ่งทอ ชิ้นส่วนรถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ก่อสร้าง รวมไปถึงปุ๋ยในอุตสาหกรรมเกษตร นอกจากนั้นยังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูง และก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกจำนวนมาก

จากแนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศไทยที่เฟื่องฟูสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2547 ถึงช่วงกลางปี 2549 และเริ่มชะลอตัวเข้าสู่วัฏจักรขาลงตั้งแต่ปลายปี 2549 เป็นต้นมา บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยในปี 2551 ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากหลากหลายด้าน แม้ว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวจากแนวโน้มราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการส่งออกไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่นซึ่งมีแนวโน้มที่จะขยายตัวจากการเลื่อนเปิดดำเนินโครงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีหลายโครงการในประเทศจีน และการเริ่มดำเนินการตามข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างไทย – ญี่ปุ่น แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมียังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทั้งจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ และอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลกที่คาดว่าจะชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมาด้วยปัญหา subprime ในสหรัฐอเมริกาที่จะขยายผลกระทบสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตลอดจนอุปทานผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องของประเทศต่างๆ รวมถึงแนวโน้มการแข็งค่าต่อเนื่องของค่าเงินบาทอันจะทำให้การแข่งขันยากลำบากขึ้น

ปัจจัยหนุน…ส่วนกระตุ้นการขยายตัวของอุตสาหกรรม
แม้ว่าตั้งแต่ปลายปี 2549 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยได้เข้าสู่วัฏจักรขาลง แต่ในปี 2551 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยอาจจะสามารถขยายตัวจากปีที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญดังนี้
ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับตัวสูงขึ้น ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในระดับขั้นต่างๆ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้น (แม้ว่าผลิตภัณฑ์ในสายโอเลฟินส์จะสามารถใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ แต่ประเทศไทยยังใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตค่อนข้างต่ำ โดยใช้ผลิตเอทิลีนประมาณร้อยละ 23) ซึ่งจะสังเกตได้ว่าราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น (upstream) ทั้งสายโอเลฟินส์ เช่น เอทิลีน และสายอะโรเมติกส์ เช่น เบนซีน มีความผันผวนของราคาในระดับสูงกว่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลางและขั้นปลาย แต่ราคายังคงมีแนวโน้มเคลื่อนตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลาง (intermediate) เช่น VCM และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (downstream) เช่น HDPE และ ABS ราคาตลาดค่อนข้างทรงตัว ราคามีการปรับตัวตามราคาน้ำมันดิบ (รายละเอียดแสดงในภาพที่ 1 – 2) ซึ่งจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในทุกปี จึงคาดว่าราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในทุกระดับขั้นจะมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นตาม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีความผันผวนต่ำ ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีโดยรวม

การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวโดยเฉพาะการส่งออกไปยังจีนและญี่ปุ่น ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีในประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้สูง ด้วยการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง รวมทั้งการขยายสาย และระดับขั้นการผลิตให้มีความครบวงจรมากขึ้น ซึ่งจะสังเกตได้ว่าตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาประเทศไทยมีแนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลางและขั้นปลายเกินดุลมากขึ้นเรื่อยๆ (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 1) โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นมีแนวโน้มขาดดุลการค้า จากการนำเข้าพาราไซลีนที่เพิ่มขึ้นมากเพื่อใช้บริโภคภายในประเทศ และเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นกลางและขั้นปลาย ซึ่งในปีหน้ากำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นต้นภายในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตทั้งเอทิลีนจำนวน 100,000 ตันต่อปี โพรพิลีนจำนวน 50,000 ตันต่อปี และพาราไซลีนประมาณ 160,000 ตันต่อปี จึงอาจบรรเทาปัญหาการนำเข้าลงไปได้เล็กน้อย แต่ยังคงต้องการการลงทุนขยายกำลังการผลิตในปริมาณที่สูง ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีขั้นต้นมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากต่างประเทศได้ขยายกำลังการผลิตเพื่อผลิตไว้ใช้ภายในประเทศเองเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งจากสถานการณ์การเลื่อนแผนการขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีระดับต่างๆ ของจีน อาทิ การสร้างเอทิลีนแครกเกอร์ขนาด 800,000 ตันต่อปี และหน่วยผลิตโพลิเอทิลีน โพลิโพรพิลีน และพาราไซลีน กำลังการผลิตรวม 300,000 400,000 และ 700,000 ตันต่อปีตามลำดับ ที่คาดว่าจะสามารถผลิตออกสู่ตลาดในปี 2550 – 2552 เพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศรวมถึงการเตรียมการจัดงานโอลิมปิกที่ประเทศจีนในปีหน้า และการผลิตปริมาณมากเพื่อให้ได้ราคาต่อหน่วยที่ต่ำเพื่อส่งออก มีความจำเป็นที่ต้องเลื่อนเปิดดำเนินการออกไปอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจากปัญหาด้านการขาดแคลนบุคลากรโดยเฉพาะวิศวกรด้านปิโตรเคมี จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยในปีหน้าที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไปยังประเทศจีนเพิ่มขึ้นในทุกระดับขั้นของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายจำพวกเม็ดพลาสติก ซึ่งประเทศไทยส่งออกเม็ดพลาสติกไปยังประเทศจีนมากที่สุด รวมถึงการเริ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น ซึ่งประเทศญี่ปุ่นถือเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่สำคัญของประเทศไทยอีกประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยในปี 2549 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ส่งออกเพียงผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายไปยังญี่ปุ่น อาทิ โพลิเอทิลีน โพลิคาบอร์เนต รวมมูลค่าประมาณ 206.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการตามข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น โดยไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่ญี่ปุ่นปรับลดอัตราภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต่างๆ ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไปยังญี่ปุ่นโดยเฉพาะในปีหน้าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากข้อตกลงที่ญี่ปุ่นได้เคยลงนามกับประเทศอื่น อาทิ กลุ่มอาเซียนยังไม่สิ้นสุด

ปัจจัยเสี่ยง…ประเด็นที่พึงระวัง
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2551 ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่
อุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภายในประเทศขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ
เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีลักษณะเป็นความต้องการที่ต่อเนื่อง (Derived Demand) จากอุตสาหกรรมต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต อาทิ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ชิ้นส่วนรถยนต์ การขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจึงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับภาวะเศรษฐกิจ เมื่อใดที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเจริญเติบโตสูงจะส่งผลให้ปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น และลักษณะโครงสร้างผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของประเทศไทยในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อการใช้ในประเทศมากกว่าเพื่อการส่งออกโดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น (upstream) และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (downstream) มีปริมาณการผลิตเพื่อใช้ในประเทศมากกว่าร้อยละ 70 ของกำลังการผลิตรวม และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลาง (intermediate) มีกำลังการผลิตเพื่อใช้ในประเทศอยู่ระหว่างร้อยละ 40 – 70 ตลาดภายในประเทศจึงเป็นตลาดสำคัญสำหรับปิโตรเคมีไทย อีกทั้งปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี (รายละเอียดในตารางที่ 2) แต่ในปี 2550 มีแนวโน้มหดตัวจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวในช่วงเวลาที่ขาดความชัดเจนทางการเมือง

ปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภายในประเทศในปีหน้ายังคงขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยน่าจะมีปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัวจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่จะมีความชัดเจนขึ้นหลังการเลือกตั้งในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะช่วยลดความกังวล สร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนของนักลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคของประชาชนให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล (mega project) ที่จะดำเนินการชัดเจนขึ้นในปีหน้า ทำให้คาดการณ์ได้ว่าปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในระดับต่างๆ ในปีหน้าอาจจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายที่นำไปแปรรูปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ HDPE ที่มีคุณสมบัติเหนียว ทนแรงกระแทกได้สูง ทนต่อสารเคมี จึงนำไปใช้ในงานขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น งานผลิตท่อร้อยสายไฟฟ้า ท่อน้ำประปา ABS และ SBR ที่มีคุณสมบัติทนแรงกระแทก ทนความร้อนได้สูงนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อเนื่องไปยังผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลาง และขั้นต้นที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายด้วย อย่างไรก็ตามประเด็นด้านเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง และภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งประเด็นทั้งสองอาจจะส่งผลต่อการลงทุนและกำลังซื้อของประชาชนภายในประเทศให้ลดต่ำลง อันจะกระทบต่อปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีให้ลดลงได้ในที่สุด

อุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลกชะลอตัวและอุปทานขยายตัว ในปี 2551 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมาด้วยปัญหา subprime ในสหรัฐอเมริกาที่จะขยายตัวสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น รวมทั้งแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อจากภาวะความผันผวนของราคาน้ำมัน และผลกระทบภาคการเกษตรจากภาวะโลกร้อน แต่ทั้งนี้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในระดับที่สูงพอสมควรจากการขยายตัวในระดับสูงของประเทศจีน อินเดีย และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงภาวะการค้าที่ยังคงทรงตัวจากปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลก แต่คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในประเทศจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง

จากปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจแม้จะชะลอตัวลงบ้างในบางช่วงเวลา การขยายกำลังการผลิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิตด้วยการประหยัดจากขนาดในการผลิต (economies of scale) เพื่อให้สามารถแข่งขันทางด้านราคากับผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น และยังเป็นการลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งในต่างประเทศมีแผนดำเนินการขยายกำลังการผลิตมาโดยตลอด โดยรายละเอียดของการขยายกำลังการผลิตของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียที่จะสามารถดำเนินการผลิตได้ในปีหน้า ได้แก่

ประเทศอินเดีย จะเริ่มเดินเครื่องหน่วยผลิต PP กำลังการผลิต 1 ล้านตัน/ปี ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 และกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนสร้างคอมเพล็กซ์เอทิลีนแครกเกอร์ขนาด 1.2 ล้านตัน/ปี หน่วยผลิตสารอะโรมาติกส์ กำลังการผลิตประมาณ 800,000 ตัน/ปี

ประเทศญี่ปุ่น วางแผนสร้างหน่วยเมทาธีสิสที่สามารถผลิตโพรพิลีนได้ 150,000 ตัน/ปี มีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551

ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต ลงทุนสร้างคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมีที่สามารถผลิตโพรพิลีนได้ 752,000 ตัน/ปี โดยโพรพิลีนที่ผลิตได้จะใช้ป้อนหน่วยผลิต PP 2หน่วย กำลังการผลิตรวม 800,000 ตัน/ปี ในคอมเพล็กซ์เดียวกัน และสามารถผลิตบิวทีน-1 ได้ 39,000 ตัน/ปี มีกำหนดเสร็จสมบูรณ์ในช่วงกลางปี 2553

อย่างไรก็ตามอุปทานของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีส่วนใหญ่ที่จะเพิ่มขึ้นในปีหน้ายังคงอยู่ในระดับที่มีอุปสงค์รองรับได้ โดย Chemical Market Associates, Inc. (CMAI) ได้คาดการณ์สถานการณ์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในสายโอเลฟินส์ที่สำคัญคือ อุปทานของเอทิลีนในปีหน้าจะขยายตัวจากปีที่ผ่านมาจากการขยายกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศในเอเชีย และตะวันออกกลาง แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าอุปสงค์ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ขั้นปลาย อาทิ HDPE อุปทานในตลาดโลกจะยังคงต่ำกว่าอุปสงค์มาก เนื่องจากการขยายกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปีหน้าของประเทศต่างๆ ยังไม่แล้วเสร็จ จะส่งผลให้ราคา เอทิลีน และ HDPE ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่โครงการขยายกำลังการผลิต PVC และ VCM ในประเทศจีนที่ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 ที่สามารถผลิต PVC และ VCM ได้เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของไทยลดต่ำลง นอกจากนั้น PCI consulting group ได้คาดการณ์อุปสงค์และอุปทานของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในสายอะโรเมติกส์ โดยคาดว่ากำลังการผลิตพาราไซลีนของโลกในปีหน้าที่จะเพิ่มสูงขึ้นมากจากการขยายกำลังการผลิตในประเทศจีน และประเทศในตะวันออกกลาง ที่จะมีปริมาณมากเกินกว่าการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก จะส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มพาราไซลีนไม่เพิ่มสูงมากนักเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์กลุ่มเบนซีนที่มีการขยายตัวของอุปสงค์จากประเทศจีน อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนามากกว่าอุปทาน นอกจากนี้การขาดแคลน MEG ได้ส่งผลให้การผลิตโพลีเอสเตอร์ลดน้อยลง จึงทำให้ความต้องการ PTA ซึ่งเป็นวัตถุดิบอีกตัวหนึ่งลดลงตามไปด้วย และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงความต้องการพาราไซลีน แต่คาดว่าส่วนต่างผลิตภัณฑ์จะฟื้นตัวกลับสู่ระดับปกติในช่วงต้นปีหน้า เนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปีกำลังการผลิต MEG ในตลาดโลกจะมีเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.1 ล้านตัน ซึ่งโดยสรุปในภาพรวมในปีหน้าแม้ว่าอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะเริ่มชะลอตัว แต่การขยายตัวของอุปทานในภาพรวมจะยังคงเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง เนื่องด้วยลักษณะของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีชนิดเดียวกันที่ผลิตภายในประเทศและต่างประเทศมีลักษณะคล้ายกันมากสามารถทดแทนกันได้สูง ปัจจัยราคาจึงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการแข่งขัน การที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องย่อมกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไทยให้ลดลง โดยการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทจะทำให้ราคาส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไทยมีราคาที่สูงในต่างประเทศทำให้การส่งออกอาจจะชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามเนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบบางส่วนจากต่างประเทศ (สัดส่วนการนำเข้าหรือ import content อยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 45 ของมูลค่าผลผลิตรวม) การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า อันจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทได้ในระดับหนึ่ง

ประเด็นที่เป็นกังวลคือ ด้วยลักษณะอุปสงค์และอุปทานของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในแต่ละช่วงเวลาที่อาจจะไม่สอดคล้องกัน โดยปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ในขณะที่ปริมาณกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มเป็นช่วงๆ เนื่องจากการขยายกำลังการผลิตต้องใช้เงินทุนและเวลามากในการเตรียมการและก่อสร้าง อีกทั้งปริมาณการผลิตที่ผลิตเพิ่มได้แต่ละครั้งจะมีปริมาณมากเพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดในการผลิต ซึ่งจากแนวโน้มการขยายกำลังการผลิตของแต่ละประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศที่จะเสร็จสมบูรณ์ประมาณปี 2553 -2554 อาจส่งผลให้เกิดอุปทานส่วนเกินในตลาด และราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอาจจะมีแนวโน้มลดลง โดยอุปทานจำนวนมากจากต่างประเทศจะไหลเข้าสู่ประเทศด้วยราคาที่ต่ำกว่าที่ผลิตได้ภายในประเทศ ในขณะที่การส่งออกอาจจะทำได้น้อยลง ผู้ประกอบการจึงควรเร่งปรับตัวด้วยการขยายการผลิตให้ครบวงจรตามห่วงโซ่การผลิตให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และกระจายความเสี่ยงจากบางผลิตภัณฑ์ อีกทั้งภาครัฐควรให้การสนับสนุนในการลงทุน และมาตรการทางภาษีอย่างใกล้ชิด

โดยสรุปแล้ว แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปีหน้าแม้ว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวทั้งจากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวโดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่นจากการเลื่อนเปิดดำเนินการโครงการผลิตปิโตรเคมีหลายโครงการในประเทศจีน และการเริ่มดำเนินความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น แต่ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภายในประเทศที่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยแม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศในปีหน้าน่าที่จะมีความแน่นอนมากขึ้นภายหลังการเลือกตั้งในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศเพิ่มขึ้น แต่เสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องก็อาจจะกระทบต่ออุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภายในประเทศให้ลดลง ในขณะเดียวกันภาวะอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก และอุปทานผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตในระดับต่างๆ อย่างต่อเนื่องของแต่ละประเทศ รวมถึงค่าเงินบาทที่ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ก็อาจจะส่งผลให้การแข่งขันมีความรุนแรงและยากลำบากมากขึ้นทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรเร่งปรับตัวด้วยการขยายการผลิตให้สามารถผลิตให้ครบวงจรมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตจากการซื้อวัตถุดิบที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตในสัดส่วนที่สูงมากกว่าร้อยละ 70 และยังเป็นการลดความเสี่ยงแก่ผู้ประกอบการในแต่ละช่วงเวลาด้วยการเคลื่อนย้ายการผลิตไปยังผลิตภัณฑ์อื่นที่มีแนวโน้มราคาที่ดีกว่าได้