อ้อยและน้ำตาลปี’51 : ราคาอ้อยขั้นต้นตกต่ำ…ชาวไร่อ้อยรายได้ลดลง

ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2550 โรงงานน้ำตาลจะเริ่มเดินเครื่องจักรเปิดหีบอ้อยของฤดูการผลิตปี 2550/51 ซึ่งในปีนี้ผลผลิตอ้อยทั่วประเทศคาดว่าจะมีสูงถึงประมาณ 70 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีก่อนที่ผลผลิตอ้อยมีทั้งสิ้น 63.8 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวก็ไม่อาจช่วยให้ชาวไร่อ้อยสบายใจนัก ทั้งนี้เนื่องจาก ราคาอ้อยขั้นต้นที่ภาครัฐคำนวณได้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 600 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 800 บาทต่อตันอ้อยถึงตันละ 200 บาท และถือเป็นราคาอ้อยขั้นต้นที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีนับตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2548/49 เป็นต้นมา ในขณะที่ชาวไร่อ้อยนั้นต้องการให้ภาครัฐเข้ามากำหนดราคาอ้อยขั้นต้นในระดับที่ไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตคือประมาณ 800 บาทต่อตันอ้อย มิเช่นนั้นชาวไร่อ้อยจะขาดทุนประมาณ 200 บาทต่อตันหรือคิดเป็นการขาดทุนทั้งระบบประมาณ 14,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนับเป็นสิ่งที่สร้างความหนักใจให้กับภาครัฐเป็นอย่างมาก เนื่องเพราะผลจากการเข้าพยุงราคาอ้อยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นหนี้เงินกู้กับสถาบันการเงินที่ต้องผ่อนชำระในช่วงปี 2550-2555 รวมเงินต้นและดอกเบี้ยถึงประมาณ 14,500 ล้านบาท และหากในครั้งนี้ภาครัฐตัดสินใจเข้าช่วยเหลือจะต้องใช้งบประมาณอีกถึง 14,000 ล้านบาท ซึ่งก็มิใช่เรื่องง่ายที่จะหาเงินกู้ดังกล่าว เนื่องจากสถาบันการเงินยังกังวลถึงความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ ดังนั้นจึงคาดว่า ปัจจัยดังกล่าวจะนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับชาวไร่อ้อยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง หากว่าภาครัฐไม่สามารถเสนอแผนช่วยเหลือเบื้องต้นที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้

ในฤดูการผลิตปี 2550/51 ที่โรงงานน้ำตาลจะเริ่มเปิดหีบในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2550 ประเมินว่า ผลผลิตอ้อยเข้าโรงงานจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีก่อน อันเป็นผลจากปริมาณน้ำที่ต้นอ้อยได้รับอย่างเพียงพอในช่วงฤดูเพาะปลูก ประกอบกับภาครัฐรวมทั้งโรงงานน้ำตาลมีการสนับสนุนท่อนพันธ์อ้อยที่มีคุณภาพทำให้ได้รับผลผลิตดี ในขณะเดียวกัน ราคาอ้อยที่เกษตรกรได้รับในช่วงที่ผ่านมายังคงอยู่ในระดับสูงประมาณ 800 บาทต่อตันอ้อยเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เกษตรกรยังคงปลูกและบำรุงพันธ์อ้อยมากกว่าที่จะเปลี่ยนไปปลูกพืชประเภทอื่น ในขณะที่บางพื้นที่ซึ่งเคยปลูกข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีการปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดว่าผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 2550/51 จะมีทั้งสิ้นประมาณ 70 ล้านตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตก่อนที่มีผลผลิตทั้งสิ้น 63.8 ล้านตัน โดยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นประมาณ 3-4 ล้านตันจากฤดูการผลิตก่อน เนื่องจากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ในขณะที่ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกคาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยทรงตัวใกล้เคียงกับปีการผลิตก่อน ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าผลผลิตอ้อยดังกล่าวถือเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันนับจากฤดูการผลิตปี 2549/50 เป็นต้นมา โดยจากเดิมปริมาณอ้อยในปีการผลิต 2548/49 อยู่ที่ระดับ 46.7 ล้านตันก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 63.8 ล้านตัน ในปีการผลิต 2549/50 สำหรับในส่วนของปริมาณผลผลิตน้ำตาลนั้นคาดว่าฤดูการผลิตนี้จะสามารถผลิตน้ำตาลได้ ประมาณ 7.4 ล้านตันเพิ่มขึ้นร้อยละ. 10.4 เมื่อเทียบกับฤดูการผลิตก่อนที่มีผลผลิตน้ำตาล 6.7 ล้านตัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี 2550/51 ในด้านรายได้ของชาวไร่อ้อยนั้น ถือเป็นฝันร้ายครั้งใหม่สำหรับชาวไร่อ้อยเป็นอย่างมากเมื่อราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2550/51 ที่จะประกาศออกมา คาดว่าจะอยู่ที่ระดับเพียงประมาณ 600 บาทต่อตันอ้อยโดยพิจารณาจากสมมติฐานราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ระดับ 10.6 เซนต์ต่อปอนด์ ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้นในช่วง 2 ฤดูการผลิตที่ผ่านมาคือปีการผลิต 2548/49 และปี 2549/50 อยู่ในระดับสูงถึง 800 บาทต่อตันอ้อย ทั้งนี้ราคาอ้อยขั้นต้นที่ตกต่ำดังกล่าว มีปัจจัยมาจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกในปี 2551 ที่คาดว่าจะยังคงทรงตัวในระดับต่ำเพียงประมาณ 10-11 เซนต์ต่อปอนด์ต่อเนื่องจากปี 2550 ซึ่งราคาน้ำตาลอยู่ที่ระดับ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ อันเป็นผลจากผลผลิตน้ำตาลของโลกที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผลผลิตน้ำตาลของบราซิล อินเดีย และไทย โดยองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ(ISO) คาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลของโลกในปีการผลิต 2550/51 อยู่ที่ระดับประมาณ 169.59 ล้านตัน ในขณะที่ปริมาณความต้องการบริโภคน้ำตาลของโลกคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 158.78 ล้านตันหรือคิดเป็นปริมาณน้ำตาลส่วนเกินสูงถึงประมาณ 10.81 ล้านตัน เทียบกับปีการผลิต 2549/50 ซึ่งผลผลิตน้ำตาลมีทั้งสิ้น 165.51 ล้านตันและปริมาณความต้องการบริโภคน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 155.22 ล้านตันและมีผลผลิตส่วนเกิน 10.29 ล้านตัน

ในขณะเดียวกัน เงินบาทของไทยยังคงมีทิศทางแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเงินบาทในปี 2551 จะมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 33.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯเทียบกับเงินบาทในปี 2550 ที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 34.5 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งปัจจัยทั้งสองประการดังกล่าวมีผลกระทบต่อราคาอ้อยที่เกษตรกรได้รับเป็นอย่างมาก เนื่องจากไทยต้องพึ่งพาการส่งออกน้ำตาลถึงประมาณร้อยละ 65-70 ของปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ ดังนั้นราคาน้ำตาลในตลาดโลก รวมทั้งค่าเงินบาทจึงเป็นปัจจัยกำหนดรายได้ที่จะนำมาแบ่งปันกันระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาล ซึ่งเมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำ รวมทั้งเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าจึงส่งผลต่อรายได้จากการส่งออกน้ำตาล โดยในปีการผลิต 2550/51 นี้คาดว่าไทยจะส่งออกน้ำตาลไปตลาดโลกได้ประมาณ 5.2-5.4 ล้านตันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีการผลิตก่อนหน้าที่ส่งออกได้ประมาณ 4.4 ล้านตันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เนื่องจากปริมาณอ้อยที่ผลิตได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลให้เมื่อเฉลี่ยรายได้ต่อตันอ้อยออกมาแล้วจะปรับลดลง

ที่ผ่านมา ในช่วงที่ราคาอ้อยตกต่ำ ภาครัฐได้เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยหลายครั้งด้วยกัน โดยเฉพาะปีการผลิต 2541/42 -2542/43 และปีการผลิต 2545/46 -2546/47 ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเข้าไปกู้เงินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพื่อนำมาพยุงราคาอ้อย แต่สำหรับในปีการผลิตนี้ แนวทางการแก้ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำคาดว่าจะมีปัญหายุ่งยากมากกว่าปีก่อนๆที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากการพยุงราคาอ้อยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่งผลให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีภาระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่ต้องชำระคืนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในช่วงปี 2550-2555 รวมประมาณ 14,500 ล้านบาท และประการสำคัญในฤดูการผลิตปี 2549/50 ผลจากราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 750 บาทต่อตันอ้อย ต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ตั้งไว้ 800 บาทต่อตันอ้อย ส่งผลให้ภาครัฐโดยกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจำเป็นต้องมีภาระในการหาเงินมาชำระค่าอ้อยส่วนที่เกินคืนโรงงานน้ำตาลตามที่ระบุในพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 คิดเป็นวงเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งหากหักส่วนที่โรงงานค้างชำระกับกองทุนอยู่ จะเหลือวงเงินที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต้องส่งคืนโรงงานน้ำตาลประมาณ 5,600 ล้านบาทซึ่งก็ต้องใช้วิธีกู้เงินเพิ่มขึ้น และสำหรับในฤดูการผลิตปี 2550/51 หากภาครัฐต้องการผลักดันให้ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ในระดับที่เท่ากับปีการผลิตก่อนและสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อยที่ระดับ 800 บาทต่อตันอ้อย ก็อาจจะต้องใช้วงเงินสูงถึงประมาณ 14,000 ล้านบาท

สำหรับท่าทีของภาครัฐต่อแนวทางการแก้ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำในฤดูการผลิต2550/51 นั้นพบว่า ภาครัฐมีความต้องการที่จะลดการแทรกแซงราคาอ้อยให้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นภาระทางด้านการกู้เงินมาพยุงราคาอ้อยเหมือนเช่นปีก่อนๆ ทั้งนี้เนื่องจากหากตั้งราคาอ้อยขั้นต้นไว้สูงภาครัฐโดยกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะมีภาระหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 ที่จะต้องหาเงินมาใช้คืนโรงงานน้ำตาลหากว่าราคาน้ำตาลขั้นสุดท้ายต่ำกว่า ดังจะสังเกตได้จากการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2550/51 ซึ่งมีการคำนวณตามปัจจัยทางด้านผลผลิตอ้อย ราคาน้ำตาลตลาดโลก และค่าเงินบาทตามข้อเท็จจริง โดยไม่กล้าตั้งราคาอ้อยขั้นต้นในระดับสูงเพื่อลดข้อขัดแย้งกับชาวไร่อ้อยเหมือนเช่นปีการผลิตก่อนๆ สำหรับแนวทางช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านราคาจำหน่ายผลผลิตต่ำกว่าต้นทุนการผลิตนั้น มีแนวโน้มที่ภาครัฐจะส่งต่อไปให้กับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาภายหลังการเลือกตั้งเป็นผู้ตัดสินใจถึงแนวทางช่วยเหลือ สำหรับในส่วนของชาวไร่อ้อยเองนั้น แม้ว่าจะมีความต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือให้ได้รับราคาอ้อยในระดับที่ใกล้เคียงหรือเท่ากับปีที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันก็มีความเป็นห่วงแนวทางการช่วยเหลือจากภาครัฐโดยการกู้เงินมาพยุงราคาอ้อยเหมือนเช่นที่ผ่านๆมา เนื่องจากท้ายที่สุดแล้ว ภาระหนี้ดังกล่าวก็ต้องตกอยู่กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยเป็นผู้ชำระโดยจะหักจากเกษตรกรในปีที่ราคาอ้อยอยู่ในระดับสูงมาชำระหนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า สถานการณ์อ้อยและน้ำตาลปีการผลิต 2550/51 ค่อนข้างน่าวิตกพอสมควร โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยซึ่งนอกจากต้องเผชิญกับภาระค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้า อีกทั้งต้องเผชิญกับปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจัยด้านการผลิตคือปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ซึ่งสวนทางกับรายได้ที่ปรับลดลงเนื่องจากราคาอ้อยที่ตกต่ำ ซึ่งหากพิจารณาจากราคาอ้อยขั้นต้นซึ่งอยู่ที่ระดับ 600 บาทต่อตันเทียบกับราคาอ้อยที่เสนอออกมาจากชาวไร่อ้อยที่ระดับ 800 บาทต่อตันจึงจะสามารถอยู่ได้ ทำให้ชาวไร่อ้อยขาดทุนรวมทั่วประเทศประมาณ 14,000 ล้านบาท(คิดที่ผลผลิตอ้อยรวม 70 ล้านตัน) โดยชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยมากที่สุดของประเทศโดยมีผลผลิตคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38 ของผลผลิตอ้อยทั่วประเทศ รองลงมาคือภาคกลางสัดส่วนร้อยละ 32 ภาคเหนือสัดส่วนร้อยละ 24 และภาคตะวันออกสัดส่วนร้อยละ 6 และเมื่อพิจารณาถึงทางออกในการแก้ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำในฤดูการผลิตปี 2550/51 ก็มิใช่เรื่องง่ายเพราะมีอุปสรรคค่อนข้างมาก ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยที่จะทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นเพิ่มขึ้นสูงถึงระดับที่ชาวไร่อ้อยต้องการได้นั้นจะเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณีด้วยกัน ซึ่งแต่ละกรณีก็มีปัญหาและอุปสรรคค่อนข้างมากโดยสรุปได้ดังนี้

กรณีที่1: การกู้เงินมาอุดหนุนราคาอ้อย หากภาครัฐต้องการเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นให้ได้ 800 บาทต่อตันอ้อย ก็จำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาพยุงราคาอ้อย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีภาระหนี้เงินกู้เดิมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรซึ่งกู้มาเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในช่วงราคาอ้อยตกต่ำ ดังนั้นหากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะขอกู้เงินเพิ่มค่าอ้อยอีกประมาณ 14,000 ล้านบาท(คิดจากปริมาณอ้อย 70 ล้านตันเพิ่มขึ้นตันละ 200 บาท) และเมื่อรวมกับเงินที่จะต้องนำมาชดเชยราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่ต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นปีการผลิต 2549/50 อีกประมาณ 5,600 ล้านบาท ทำให้อาจจะต้องกู้เพิ่มขึ้นอีกประมาณเกือบ 20,000 ล้านบาท ซึ่งอาจทำให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรขาดความมั่นใจที่จะปล่อยกู้ใหม่ให้กับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเพราะปัจจุบันหนี้เดิมที่มีอยู่ก็มากอยู่แล้ว ซึ่งภาครัฐอาจจำเป็นต้องเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวเพื่อให้สถาบันการเงินเกิดความเชื่อมั่น แต่วิธีดังกล่าวก็สุ่มเสี่ยงต่อการถูกเพ่งเล็งจากประเทศต่างๆเกี่ยวกับการอุดหนุนการผลิต ซึ่งขัดกับหลักการองค์การการค้าโลก(WTO)

กรณีที่2: การขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศ รายได้ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมีที่มาจาก 2 ส่วนใหญ่ๆได้แก่รายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศและรายได้จากการส่งออก ทั้งนี้ ปัจจุบันการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศของภาคประชาชนและอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบจะอยู่ที่ประมาณปีละ 2 ล้านตัน ดังนั้น การขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศจะทำให้มีรายได้ไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลโดยทันที ซึ่งจะทำให้นำไปเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นได้ในระดับหนึ่ง และการขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศยังทำให้สถาบันการเงินมีความเชื่อมั่นต่อความสามารถด้านการชำระหนี้เงินกู้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ภาครัฐก็อนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศไปเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา อีกทั้ง ณ ช่วงเวลานี้ หากพิจารณาจากสถานการณ์ราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ตกต่ำลงมาเหลือเพียง 10-11 เซนต์ต่อปอนด์แล้ว พบว่าราคาน้ำตาลในประเทศยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าตลาดโลกจึงควรปรับลดลงมาหากยึดตามกลไกตลาด ดังนั้นการขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศจึงน่าจะถูกคัดค้านค่อนข้างมาก เนื่องจากจะเป็นการสร้างภาระต่อรายจ่ายของประชาชนและซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แนวทางการให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นต่ำกว่าต้นทุนการผลิตควรมีความชัดเจนโดยเร็ว ทั้งนี้เนื่องจากระยะเวลาหีบอ้อยใกล้เข้ามาทุกขณะ ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องเร่งตัดสินใจเพื่อสร้างความชัดเจนว่าจะเข้ามาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยได้ในระดับใด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อกลไกตลาด รวมทั้งวงเงินที่จะนำมาใช้พยุงราคาอ้อยที่ต้องไม่สร้างภาระต่อภาครัฐในอนาคตมากนัก สำหรับในส่วนของชาวไร่อ้อยเองนั้นก็ต้องยอมรับว่ามาตรการช่วยเหลือพยุงราคาอ้อยจากภาครัฐในปีนี้มีข้อจำกัดหลายประการ โดยชาวไร่อ้อยต้องยอมรับว่าราคาอ้อยนั้นมีขึ้นมีลงตามภาวะปัจจัยด้านการผลิต การตลาดของไทยและของโลกเช่นเดียวกับสินค้าพืชเกษตรอื่นๆเช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ดังนั้น ในระยะยาวชาวไร่อ้อยควรมุ่งไปที่การพยายามหาหนทางลดต้นทุนการผลิต อาทิ การเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่รวมทั้งการเพิ่มคุณภาพความหวานของอ้อยให้สูงขึ้นเพื่อให้ได้น้ำตาลต่อตันอ้อยเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปีการผลิต 2550/51 ที่กำลังจะเปิดโรงงานเดินเครื่องผลิตในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่าคงจะสร้างความหนักใจให้กับทั้งภาครัฐและชาวไร่อ้อยมิใช่น้อย เนื่องจากปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นที่ตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิตอาจจะสร้างปัญหาความขัดแย้งให้ปะทุขึ้นได้ หากภาครัฐไม่สามารถหาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ดังนั้น สุดท้ายแล้วปัญหานี้อาจต้องแก้แบบพบกันครึ่งทาง คือชาวไร่อ้อยอาจต้องยอมรับราคาอ้อยขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นจาก 600 บาทต่อตัน แต่คงไม่เท่ากับระดับ 800 บาทเพราะจะทำให้ภาครัฐมีภาระมากเกินไป แต่ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าแนวทางแก้ปัญหาจะเป็นเช่นไรต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่อาจมีต่อรายได้ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยไม่ให้ลดต่ำลงมาก