งานลอยกระทง…สร้างสีสัน : กระตุ้นตลาดท่องเที่ยวปลายปี’50…คึกคัก

หลังจากที่ฟันฝ่าอุปสรรคมาเกือบตลอดปี 2550 การท่องเที่ยวไทยเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการขยายตัวอย่างเด่นชัดของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยวของตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลจากกลุ่มประเทศในซีกโลกตะวันตก โดยมีนักท่องเที่ยวจากตลาดท่องเที่ยวหลักของไทยในยุโรปจำนวนมากหลบอากาศที่หนาวเย็นจัดในประเทศของตนเดินทางมาพักผ่อนตามเมืองท่องเที่ยวชายทะเลของไทย โดยมีแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลฝั่งอันดามัน และชายทะเลฝั่งอ่าวไทย เป็นปลายทางเป้าหมายสำคัญ

ขณะที่การท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มเริ่มคึกคักขึ้นตามลำดับในช่วงปลายปี โดยได้แรงหนุนสำคัญจากการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต่างร่วมมือกันจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ โดยไฮไลท์ที่งานประเพณีลอยกระทง ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของไทยในช่วงส่งท้ายฤดูน้ำหลากและเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว

การลอยกระทงเป็นประเพณีซึ่งสืบทอดกันมาช้านาน และได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวสำคัญระดับประเทศ ที่ช่วยสร้างสีสันให้กับบรรยากาศการท่องเที่ยวไทย และกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าร่วมกิจกรรมการลอยกระทง ก่อให้เกิดเม็ดเงินรายได้จำนวนมากสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลลอยกระทงตามเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆของไทย ได้แก่ สุโขทัย เชียงใหม่ ตาก และพระนครศรีอยุธยา

ตลาดเอเชียถดถอย : กระทบท่องเที่ยวครึ่งแรกปี’50….ชะลอการเติบโต
หลังการเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 บรรยากาศการท่องเที่ยวของไทยก็เริ่มมีแนวโน้มแจ่มใสขึ้นตามลำดับ โดยในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2549 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 และร้อยละ 20 ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯเมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และข่าวลือเรื่องการลอบวางระเบิดตามสถานที่ต่างๆในกรุงเทพฯที่ติดตามมา ประกอบกับปัจจัยลบอีกหลายประการในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 ส่งผลบั่นทอนบรรยากาศการท่องเที่ยวไทยที่มีแนวโน้มแจ่มใสต่อเนื่องมาช่วงปลายปี 2549 ทำให้กลับซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบอย่างเด่นชัด คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (มีสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 50 ของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมของไทย) ซึ่งมีมาเลเซียเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่อันดับ 1 รองลงมา คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และสิงคโปร์ ตามลำดับ (นักท่องเที่ยวจาก 5 ตลาดหลักดังกล่าวมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 52 ของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกทั้งหมดที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2550)

นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกจำนวนไม่น้อยต่างเลื่อนแผนการเดินทางมายังประเทศไทยออกไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ให้เกิดความมั่นใจด้านความปลอดภัย บ้างก็เปลี่ยนแผนการเดินทางท่องเที่ยวจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่นแทน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เดินทางมาเที่ยวกับบริษัทนำเที่ยวในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ ส่งผลให้โดยรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 มีนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดลงร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอเมริกา (มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 6 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมายังประเทศไทย) เดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดลงร้อยละ 1 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550

ขณะที่มีนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นๆเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค ดังนี้

นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรป (มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 28 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมายังประเทศไทย) เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 14

นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคโอเชียเนีย (มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 5 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมายังประเทศไทย) เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 21

นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียใต้ (มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 5 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมายังประเทศไทย) เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ11

นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลาง (มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมายังประเทศไทย) เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 20

จากแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 6.95 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลบั่นทอนบรรยากาศการท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 และส่งผลกระทบต่อการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย สรุปได้ดังนี้

– เหตุการณ์ลอบวางระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และข่าวลือเรื่องการวางระเบิดในกรุงเทพฯที่ติดตามมา

– สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายลงสู่ภาวะปกติ

– การก่อความไม่สงบในประเทศ อาทิ การเผาโรงเรียนและสถานที่ราชการตามต่างจังหวัด รวมทั้งมีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

– ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ตอนล่างที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

– เหตุการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กปกคลุมภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะ เชียงใหม่ และเชียงราย

– ข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณที่สนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในตลาดต่างประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

– ค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามต้นทุนในส่วนของน้ำมัน

งานลอยกระทง : กระตุ้นท่องเที่ยวปลายปี’50…คึกคัก
บรรยากาศการท่องเที่ยวของไทยเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับในช่วงครึ่งหลังปี 2550 โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2550 ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูท่องเที่ยวของตลาดท่องเที่ยวระยะไกลในยุโรป ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น โดยมีการกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอนในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ขณะที่บรรยากาศการท่องเที่ยวไทยที่คึกคักจากการที่ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆอย่างยิ่งใหญ่เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ

– การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในงานพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2550

– การจัดงานแสดงพลุดอกไม้ไฟเฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้ชื่อ “เกริกฟ้า ก้องปฐพี สดุดีมหาราชา” ระหว่างวันที่ 4-8 ธันวาคม 2550

นอกจากนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว จัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวทั่วทุกภูมิภาคในช่วงฤดูท่องเที่ยวปลายปี (เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม) กันอย่างคึกคัก โดยไฮไลท์เทศกาลลอยกระทง ต่อเนื่องไปถึงเทศกาลปีใหม่ เพื่อกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวที่ซบเซามาเกือบตลอดทั้งปี

นอกจากกรุงเทพฯซึ่งมีการจัดงานประเพณีลอยกระทงอย่างยิ่งใหญ่ในหลายพื้นที่ โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นจุดขายหลักของงานลอยกระทงแล้ว ยังมีเมืองท่องเที่ยวสำคัญที่จัดงานประเพณีลอยกระทงอย่างยิ่งใหญ่ติดต่อกันมาหลายปีจนมีชื่อเสียงแพร่หลายไปในต่างประเทศ และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาร่วมงานได้จำนวนมากในแต่ละปี ได้แก่ สุโขทัย เชียงใหม่ ตาก พระนครศรีอยุธยา และหาดใหญ่

แม้ว่าเทศกาลลอยกระทงจะเป็นโอกาสของหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว แต่จากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยในปัจจุบันที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนคนไทยโดยรวม ทำให้นักท่องเที่ยวคนไทยส่วนใหญ่ต่างมีแนวโน้มใช้จ่ายอย่างประหยัด ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งมีกำลังซื้อสูงจึงเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญของบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสำหรับช่วงเทศกาลลอยกระทงปีนี้

ท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง..กระเตื้อง : ได้แรงหนุนจากตลาดยุโรปช่วงปลายปี
เนื่องจากปัจจัยที่เกื้อหนุนหลายประการส่งผลให้การท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 มีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีการขยายตัวอย่างเด่นชัดของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม ที่ได้แรงหนุนสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวยุโรป ซึ่งเป็นตลาดท่องเที่ยวหลักของแหล่งท่องเที่ยวแถบอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ และพังงา) เนื่องจากนักท่องเที่ยวมั่นใจด้านความปลอดภัยจากสึนามิและเดินทางกลับเข้ามาเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ทำให้คาดว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปเที่ยวภูเก็ตและกระบี่ในปี 2550 จะมีจำนวนสูงกว่าในช่วงปี 2547 ก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิ ขณะที่พังงาซึ่งได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุดจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวมากกว่า

จากแนวโน้มดังกล่าว ส่งผลให้ในปี 2550 ตลาดนักท่องเที่ยวแถบอันดามันขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภูเก็ต กระบี่ และพังงารวมทั้งสิ้นประมาณเกือบ 9 ล้านคน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ คือ ประมาณร้อยละ 64 เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราสูงถึงร้อยละ 35 ขณะที่นักท่องเที่ยวคนไทยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 8

การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังภูเก็ต กระบี่ และพังงาในปี 2550 ดังกล่าวมีแนวโน้มก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องคิดเป็นมูลค่าประมาณ 122,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จากปี 2549 โดยส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 76 เป็นรายได้ท่องเที่ยวที่สะพัดในภูเก็ต รองลงมา คือ กระบี่ และพังงา ตามลำดับ

นอกจากแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลแถบอันดามันแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลแห่งอื่นๆที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวยุโรป ได้แก่ ตรัง สมุย เกาะต่างๆในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร หัวหิน พัทยา เกาะช้าง และเกาะต่างๆในจังหวัดตราด

จากแนวโน้มดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงไตรมาสที่สาม ขยายตัวอย่างเด่นชัดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ทำให้คาดว่าโดยรวมในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 7.2 ล้านคน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงคาดการณ์ว่าในปี 2550 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 14.2 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปี 2549 และมีแนวโน้มก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าประเทศรวมทั้งสิ้นประมาณ 500,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปี 2549