แบงก์กรุงเทพ กสิกรไทย กรุงศรีอยุธยา และไทยพาณิชย์ ร่วมโชว์ศักยภาพระบบชำระเงินออนไลน์ หนุนอีคอมเมิร์ซเติบโตต่อเนื่องอย่างไม่จำกัด
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทั่วทุกมุมโลก เพราะเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตสูงโดยไม่จำเป็นต้องมีร้านค้าใหญ่โต แต่จำเป็นต้องมีระบบการชำระเงินที่สามารถรองรับธุรกรรมออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายธนิต วิริยะรังสฤษฏ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร E-Commerce ในฐานะประธานจัดงาน E-Commerce E-Business Expo 2007 ซึ่งจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน – อาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม นี้ ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยาม พารากอน ด้วยแนวคิด “สร้างความมั่งคั่งบนอินเทอร์เน็ตได้ด้วยตัวคุณเอง” หรือ “How to Build Wealth on Internet” เปิดเผยว่า 4 แบงก์ยักษ์ ที่นำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเงินมาประชันกันอย่างคับคั่งภายในงานนี้ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้คนไทยเห็นศักยภาพของระบบการชำระเงินออนไลน์ ว่ามีความปลอดภัยสูงและมีความน่าเชื่อถือแก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่ทำธุรกรรมทางออนไลน์ เพราะในปัจจุบัน มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศไทยสูงถึง 10 ล้านรายแล้ว
งาน E-Commerce E-Business Expo 2007 มีบริการออนไลน์ของแบงก์ต่างๆ ที่นำมาแสดงเป็นไฮไลต์ อาทิ ธนาคารกสิกรไทย เน้นนำเสนอ K-Payment Gateway ซึ่งเป็นบริการชำระเงินค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรเครดิตออนไลน์ในการซื้อขายสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต K-Web Card บริการบัตร เดบิตเสมือนจริงบน K-Cyber Banking สำหรับลูกค้าที่ไม่มีบัตรเครดิต ซึ่งสามารถนำหมายเลขบัตร 16 หลักไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ นอกจากนี้ ยังมี K-mBanking บริการตัวใหม่ล่าสุด ที่ได้รวมเอาบริการ K-mPay และ K-Cyber Banking มาผสมผสานกันเพื่อให้สามารถรับชำระสินค้าและบริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้
ส่วน ธนาคารกรุงเทพ ชู Bualuang iBanking บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตสำหรับลูกค้าบุคคล โอนเงินได้ทั้งในและต่างประเทศ ชำระค่าสินค้าและบริการทุกประเภท และ Biz iBanking บริการสำหรับบุคคลที่ประกอบธุรกิจการค้า สามารถตรวจสอบรายการบัญชี ชำระเงิน โอนเงิน ตรวจสอบสถานะเช็ค ขอใบแสดงรายการบัญชี และตรวจสอบรายการต่าง ๆ iTrade บริการทางการเงินเพื่อธุรกิจส่งออกและนำเข้า ที่ช่วยเพิ่มความคล่องตัวทุกภูมิภาคทั่วโลก รวมทั้ง E-mail Credit Advice Service บริการอีเมล์แจ้งข้อมูลรายการเงินโอนต่างประเทศ สามารถรับข้อมูลรายการได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา นำด้วย Krungsri e-Payment บริการสำหรับธุรกิจประเภท อีคอมเมิร์ซ และ Virtual-EDC บริการที่จำลองการจ่ายเงินของเครื่องรูดบัตร ซึ่งผสมผสานระหว่าง e-Commerce และ EDC เพื่อรองรับธุรกิจหลายๆ ประเภท KrungsriOnline บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มบริการการซื้อขายกองทุนรวม รามทั้งบริการล่าสุด บัตรไม่ต้อง (Cardless) บริการโอนเงินประเภทรับเงินโอนไม่ต้องใช้บัตรเอทีเอ็ม หรือมีบัญชีเงินฝาก ซึ่งเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่นิยมความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการใช้จ่ายเงิน
ส่วน ธนาคารไทยพาณิชย์ เน้น SCB Payment Gateway บริการ e-Commerce ที่ชำระเงินได้ทั้งแบบหักบัญชีและบัตรเครดิต พร้อมแจ้งผลให้ทราบทันที SCB ePP บริการลูกหนี้การค้าที่ต้องการชำระเงินให้แก่บริษัทเจ้าหนี้การค้าผ่านระบบ Internet Banking SCB Easy Net บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตสำหรับลูกค้าบุคคล สามารถตรวจสอบข้อมูลบัญชี โอนเงิน ชำระค่าสินค้าและบริการ และซื้อขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ได้ และ SCB Business Net บริการที่อำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจ สามารถตรวจสอบข้อมูลบัญชี โอนเงิน ชำระภาษี และดูรายงานเรียกเก็บเงินและการจ่ายเงินต่าง ๆ ได้ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปธนาคาร
นอกจากบริการทางการเงินของ 4 แบงก์ยักษ์ จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการในการทำธุรกรรมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ซื้อและลดค่าใช้จ่ายอีกด้วย เพราะผู้ถือเงินสดจะมีข้อจำกัดในการซื้อ จึงเป็นการเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าหรือบริการได้มากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น งาน E-Commerce E-Business Expo 2007 เป็นงานที่สนับสนุนให้ทุกภาคธุรกิจและ SMEs เห็นว่าการทำอีคอมเมิร์ซไม่ใช่เรื่องที่ยาก แต่กลับช่วยเปิดตลาดการค้าให้กว้างขึ้น รวมทั้งให้นักธุรกิจเห็นความหลากหลายของบริการออนไลน์ที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เพราะอีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างไม่จำกัด
ดังนั้น งาน E-Commerce E-Business Expo 2007 จึงเป็นโอกาสของนักธุรกิจทุกคน ในการสร้างความมั่งคั่งบนอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับผลสำรวจของ NECTEC ในปี 50 ที่ชี้ให้เห็นว่ามูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีประมาณ 220,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา