อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ … เผชิญมรสุมหลายด้านในปี 2550

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีการเติบโตที่ชะลอลงในช่วงปี 2550 โดยความอ่อนแอของอุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับงานโครงการสาธารณูปโภคของภาครัฐยังไม่มีโครงการใหม่เกิดขึ้นมากนัก ส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศหดตัวลงอย่างต่อเนื่องทุกเดือนนับตั้งแต่ต้นปีมา ตลาดในประเทศที่ซบเซาทำให้ผู้ผลิตพยายามหันไปขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น แต่จากผลของค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้อัตรากำไรจากการส่งออกหดแคบลงตามไปด้วย ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตและการจัดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้น จึงกล่าวได้ว่าสภาวะธุรกิจในช่วงปีนี้ต้องเผชิญกับมรสุมจากหลายด้าน ซึ่งกดดันให้ผู้ประกอบการในธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น

ปี 2550 … ตลาดในประเทศหดตัว ตลาดส่งออกเติบโตสูงแต่กำไรลด
ภาวะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงกันยายน 2550 มีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ทั้งสิ้น 27.4 ล้านตัน หดตัวลงร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการผลิตปูนเม็ดมีปริมาณ 31.9 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 4.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตลาดภายในประเทศ ในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2550 ยอดขายปูนซีเมนต์ในประเทศมีปริมาณ 21.3 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหดตัวติดต่อกันมาตลอดช่วง 9 เดือน โดยเป็นผลมาจากการที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยอยู่ในภาวะซบเซา ขณะเดียวกันโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐในปีนี้ก็มีโครงการใหม่เกิดขึ้นน้อย โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่แทบไม่มีโครงการใหม่เกิดขึ้น จากสภาวการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ายอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศตลอดทั้งปี 2550 อาจมีระดับประมาณ 28.3 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับ 29.2 ล้านตันในปี 2549 ตลาดในประเทศอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยในปี 2549 มีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7

ตลาดต่างประเทศ จากภาวะตลาดภายในประเทศที่ซบเซา ผู้ผลิตได้ขยายสัดส่วนการส่งออกไปยังต่างประเทศมากขึ้น ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2550 ไทยมีปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์รวมทั้งสิ้น 14.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในด้านมูลค่าอยู่ที่ 456 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 14.5 (คิดเป็นราคาเฉลี่ยที่ส่งออกอยู่ที่ 32 ดอลลาร์ฯต่อตัน ลดลงประมาณร้อยละ 7 จากราคาเฉลี่ย 35 ดอลลาร์ฯต่อตันในช่วงเดียวกันของปีก่อน) แต่ถ้าพิจารณาในรูปบาท มีมูลค่าการส่งออก 15,794 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 2.9 เนื่องจากผลของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ส่วนต่างกำไรของการส่งออกหดแคบลง (ราคาเฉลี่ยที่ส่งออกอยู่ที่ 1,120 บาทต่อตัน ลดลงประมาณร้อยละ 17 จากราคาเฉลี่ย 1343 บาทต่อตันในช่วงเดียวกันของปีก่อน) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2550 ไทยจะมีการส่งออกปูนซีเมนต์ประมาณ 18.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 590 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 และร้อยละ 14 จากปริมาณ 15.0 ล้านตัน และมูลค่า 517 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2549 ตามลำดับ การเติบโตสูงของการส่งออกเป็นผลมาความต้องการในตลาดประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนและแถบเอเชียใต้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก รวมทั้งมีการขยายตลาดใหม่ๆ เช่น ในตะวันออกกลาง ยุโรป ละตินอเมริกาและแอฟริกา ตลาดส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งในปีนี้ ได้แก่ บังคลาเทศ ตามมาด้วย เวียดนาม กัมพูชา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งสังเกตเห็นได้ว่าการส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการเติบโตสูงเกือบ 3 เท่าของปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตสูงอย่างมากของภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะโรงแรมและบริการด้านการท่องเที่ยว ส่วนตลาดส่งออกที่เคยเป็นอันดับหนึ่งคือสหรัฐอเมริกา ในปีนี้ตกลงมาเป็นอันดับ 5 มูลค่าการส่งออกลดลงถึงร้อยละ 80 เนื่องจากภาวะถดถอยในภาคที่อยู่อาศัยที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นหลังเกิดปัญหาหนี้เสียจากการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือปัญหาซับไพรม์ อีกทั้งค่าเงินดอลลาร์ฯที่อ่อนค่าลงทำให้การส่งออกไปยังสหรัฐมีอัตรากำไร หรือมาร์จินค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ ปัจจุบัน การส่งออกปูนซีเมนต์มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 40 ของตลาดปูนซีเมนต์โดยรวม จากเดิมที่สัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 35

การผลิตโดยรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการผลิตของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2550 อาจมีปริมาณทั้งสิ้นประมาณ 36.5 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 7.3 เทียบกับ 39.4 ล้านตันในปี 2549 เนื่องจากยอดขายภายในประเทศชะลอตัวลง ส่วนปูนเม็ดคาดว่าจะมีการผลิต 42.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 จากปี 2549 อัตราการใช้กำลังผลิตปูนซีเมนต์ในปี 2550 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 65 ลดลงจากระดับร้อยละ 70.7 ในปี 2549

แนวโน้ม ปี 2551 … มีโอกาสปรับตัวดีขึ้น ถ้ารัฐบาลใหม่มีนโยบายเร่งรัดโครงการลงทุน

ตลาดภายในประเทศ
แนวโน้มความต้องการปูนซีเมนต์ภายในประเทศในปี 2551 มีโอกาสปรับตัวดีขึ้นหลังจากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยในกรณีพื้นฐาน (Base Case) คาดว่าจะมีตัวแปรสำคัญอยู่ที่การดำเนินการโครงการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งรวมไปถึงผลักดันโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้เริ่มต้นเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง รถไฟทางคู่ การสนับสนุนให้โครงการโรงไฟฟ้าของเอกชนรายใหญ่ (IPP) ดำเนินการได้ตามกำหนด ถึงแม้ว่าเม็ดเงินลงทุนในขั้นตอนการก่อสร้างสำหรับโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้อาจจะยังเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจไม่มากนักในช่วงแรกของการเริ่มต้นดำเนินโครงการ แต่ความชัดเจนของโครงการจะเอื้ออำนวยให้ภาคเอกชนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับแผนลงทุนได้ รวมทั้งมีผลในการฟื้นคืนความเชื่อมั่น ซึ่งหากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นจะมีส่วนช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ปรับตัวดีขึ้นได้

ตัวแปรสำคัญอีกประการหนึ่งคือราคาน้ำมัน ในกรณีที่ราคาเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ณ ราคาปีปัจจุบัน (Nominal World GDP) หรือประมาณร้อยละ 7.5 การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคน่าจะยังไม่สูงนัก ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังสามารถรักษาระดับที่ต่ำไปได้อย่างต่อเนื่อง ในกรณีข้อสมมติดังกล่าวคาดว่าการก่อสร้างน่าจะมีงานจากโครงการภาครัฐและเอกชนเข้ามาเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศในปี 2551 อาจมีระดับประมาณ 29.5-30.3 ล้านตัน ขยายตัวประมาณร้อยละ 4-7 สูงขึ้นกว่าปี 2550 ที่คาดว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 2.8

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินความเสี่ยงในกรณีเลวร้าย (Worse Case) ที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบให้ภาระรายจ่ายของภาคครัวเรือน รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันจะกดดันต่อนโยบายการเงิน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นตัวแปรที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ข้อสมมติในกรณีเลวร้าย หากราคาน้ำมันสูงกว่าระดับที่คาดการณ์อีก 10-20 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศในปี 2551 อาจมีระดับต่ำลงมาเป็นประมาณร้อยละ 2.0-5.0 โดยช่วงห่างของกรอบบนและกรอบล่าง ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการผลักดันโครงการลงทุนของรัฐว่าจะมีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใด

ตลาดต่างประเทศ
ในด้านการส่งออก คาดว่าตลาดสหรัฐยังมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากปัญหาการถดถอยในภาคที่อยู่อาศัยน่าจะยังบั่นทอนความต้องการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ การส่งออกน่าจะยังคงเน้นไปที่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนและเอเชียใต้ ขณะที่ตะวันออกกลางยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ในปีข้างหน้าแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ แต่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียน่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกันมากขึ้น แม้ว่าในปี 2551 ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในสหรัฐจะมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ถึงขั้นเข้าสู่ภาวะถดถอย ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียน่าจะยังคงสนับสนุนให้ความต้องการปูนซีเมนต์ยังมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียที่มีการเจริญเติบโตสูง เช่น จีน อินเดีย และเวียดนาม ยังมีแผนการลงทุนก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่จำนวนมาก ทำให้คาดว่าปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในปี 2551 อาจจะยังรักษาระดับอัตราการขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 10 ได้

การผลิตโดยรวม
โดยรวมแล้ว คาดว่าการผลิตในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2551 น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากที่คาดว่าจะหดตัวสูงในปี 2550 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากความต้องการภายในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นถ้าหากรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งมีเสถียรภาพพอสมควรในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและโครงการลงทุนต่างๆของภาครัฐให้เดินหน้าได้ แต่ปัจจัยเสี่ยงในด้านราคาน้ำมันจะยังคงเป็นตัวแปรที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดปริมาณงานก่อสร้างในภาคเอกชน จากการวิเคราะห์ทั้งปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2551 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์น่าจะมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 37-39 ล้านตัน ขยายตัวประมาณร้อยละ 2-7 ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังผลิตปูนซีเมนต์ในปี 2551 อาจเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 65.5-70.0 จากระดับประมาณร้อยละ 65 ในปี 2550

ทั้งนี้ ช่วงของกรอบประมาณการที่กว้างนั้น สะท้อนถึงความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 ประการหลักในปี 2551 ได้แก่ ทิศทางราคาน้ำมัน ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน และปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ โดยจากการที่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานสูง ทั้งในกระบวนการผลิตและการขนส่ง ทิศทางราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นอีกจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทมีทิศทางที่จะยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในด้านหนึ่งอาจช่วยบรรเทาผลกระทบของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่จากโครงสร้างการตลาดในปัจจุบันที่ผู้ผลิตมีการพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูงขึ้น ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจทำให้ผู้ประกอบการมีอัตรากำไรจากการส่งออกลดลง ในกรณีที่ไม่สามารถส่งผ่านความผันแปรของอัตราแลกเปลี่ยนไปเป็นการปรับขึ้นราคาส่งออกในรูปดอลลาร์ฯได้ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์เป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาปัจจัยการผลิตภายในประเทศสูง จึงเป็นธุรกิจหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบด้านการส่งออกจากปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่า นอกจากนี้ การฟื้นตัวของธุรกิจในปีข้างหน้ายังต้องฝากความหวังไว้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้ง และประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ

จากความเสี่ยงของปัจจัยความไม่แน่นอนในปีข้างหน้า คงทำให้ผู้ประกอบการเผชิญความยากลำบากมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้มีการปรับตัวต่อภาวะต้นทุนที่สูงขึ้นท่ามกลางภาวะตลาดที่ซบเซาและการดูแลกลไกราคาโดยกระทรวงพาณิชย์ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการปรับราคาสินค้าขึ้นได้จำกัด การปรับตัวที่เห็นชัดเจนคือในด้านพลังงานและโลจิสติกส์ โดยต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีการปรับกลยุทธด้านพลังงานอย่างมาก เช่น การปรับเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาต่ำ เช่น ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงมีการลงทุนนำเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทนจากพลังงานความร้อนหรือวัสดุเหลือใช้ เพื่อใช้ในเตาเผาปูน รวมทั้งใช้เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนในด้านโลจิสติกส์ได้มีการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการจัดการการขนส่ง ลดการวิ่งรถเที่ยวเปล่า เพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตที่มุ่งเน้นตลาดส่งออก ค่อนข้างได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัญหาราคาน้ำมันที่มีผลต่อค่าระวางเรือ และการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้การส่งออกไปยังตลาดที่มีระยะทางไกล อย่างสหรัฐ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งหากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันและการแข็งค่าของค่าเงินบาทเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่วนต่างกำไรที่จะได้จากตลาดส่งออกคงจะยิ่งลดน้อยลง และอาจทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดการส่งออกลง ซึ่งบริษัทต่างชาติบางรายที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพื่อเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกได้เริ่มมีการปรับโครงสร้างองค์กร ลดพนักงานเพื่อลดผลกระทบจากภาวะที่ในตลาดส่งออกบางตลาด สินค้าที่ผลิตในไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาอย่างที่มีอัตรากำไรที่เหมาะสมได้ อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วปูนซีเมนต์เป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อป้อนความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากค่าขนส่งต่อหน่วยสูง การส่งออกที่มีระยะทางไกลจะสิ้นเปลืองค่าขนส่งมาก การขยายตลาดส่งออกปูนซีเมนต์ของผู้ประกอบการมีสาเหตุสำคัญเนื่องจากต้องการหาตลาดรองรับเพื่อให้เครื่องจักรเดินเครื่องผลิตในระดับที่เกิดการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) ตามกำลังการผลิตที่มีอยู่ ดังนั้น หากภาวะตลาดภายในประเทศกลับมาฟื้นตัวขึ้น ปัญหาผลกระทบของค่าเงินบาทอาจไม่ใช้ประเด็นที่น่ากังวลมากนัก