ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบสุดท้ายของปี ในวันที่ 4 ธันวาคม 2550 ฝ่ายวิจัย ประเมินว่า กนง. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.25 ตามเดิม ซึ่งจะเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 5 ครั้งในปีนี้ โดยมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้
• เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 อุปสงค์ในประเทศทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 1.3 ขณะที่ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนแม้ว่ายังคงหดตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.9. จากระดับ 42.1 ใน ไตรมาสก่อน นอกจากนี้ ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศ ในเดือนตุลาคม 2550 การส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวถึงร้อยละ 26.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวในเกือบทุกรายการสินค้า ในขณะที่การนำเข้าเร่งขึ้นมาขยายตัวที่ร้อยละ 20.2 โดยเป็นการขยายตัวของสินค้าทุนเป็นสำคัญ เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นของภาคการลงทุนในระยะต่อไป
• อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น การที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (WTI) ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เหนือระดับ 90 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคม 2550 พุ่งสูงสุดในรอบ 9 เดือน ที่ร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ตามลำดับ และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีจะอยู่ระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนนี้จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป สำหรับในปี 2551 ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับสูงขึ้น และทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นประเด็นที่ กนง. ให้ความสำคัญมากขึ้นในการประชุมครั้งนี้
• ค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางที่สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มชะลอลงโดยล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้ปรับลดการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของ GDP ในปี 2551 จากร้อยละ 2.50-2.75 เหลือร้อยละ 1.8-2.50 ทำให้มีโอกาสสูงที่ FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ในวันที่ 11 ธันวาคม 2550 ซึ่งจะกดดันเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าลงอีก และกระทบต่อค่าเงินในภูมิภาคให้แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทในขณะนี้อยู่ที่ 33.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2549 และยังคงแข็งค่าเกาะกลุ่มกับค่าเงินในภูมิภาค โดยแข็งค่าน้อยกว่า 2 สกุลเงิน คือ รูปีของอินเดีย และเปโซฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาททำให้ราคาน้ำมันนำเข้าในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นไม่มาก และช่วยทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกปรับขึ้นไม่เร็วเกินไป (ในเดือนตุลาคมราคาน้ำมันเบนซินในประเทศทำสถิติสูงขึ้นที่ 30.9 บาท/ลิตร หรือปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับต้นปี) นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอัตราดอกเบี้ยของไทยก็ไม่ได้สูงกว่า จึงไม่น่าจะเป็นมูลเหตุจูงใจเงินทุนระยะสั้นให้ไหลเข้ามา ดังนั้น ประเด็นเรื่องเงินบาทแข็งค่า ไม่น่าจะกดดันให้ กนง. ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมรอบนี้
โดยสรุป อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงอยู่ที่ร้อยละ 3.25 ณ สิ้นปี อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะทรงตัวในระดับนี้ไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศให้ขยายตัว เพื่อชดเชยการชะลอลงของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีหน้า