จากภาพ : 4 Angies สี่สาวแสนซน และ นิทานเวตาล ผลงานสองเรื่องหลักที่สร้างชื่อเสียงให้กับ อัญญา สร้างสรรค์ด้วยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงที่ใช้ชิป คอร์ 2 ดูโอ ของอินเทล
ผลงานและการทำธุกิจเกี่ยวกับงานอนิเมชั่นในปัจจุบันเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น หน่วยงานการศึกษา องค์กรรัฐบาลและเอกชน ให้ความสนใจมากขึ้นในการสร้างบุคคลากร โครงการที่ให้คำแนะนำ รวมทั้งอุปกรณ์ทั้งซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่ทันสมัยเพื่อรองรับงานเหล่านี้ ในวันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับหนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจอนิเมชั่นในประเทศไทย นายสุเทพ ตันนิรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัญญา อนิเมชั่น เผยถึงเบื้องหลังความสำเร็จของผลงานอนิเมชั่นหลายชิ้นที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้ชมทั่วประเทศ รวมถึงวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจแอนิเมชั่น
ในประเทศไทย
บริษัทอัญญาเป็นบริษัทแอนิเมชั่นรุ่นแรกๆ ในประเทศไทย ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งในสมัยนั้นงานแอนิเมชั่นยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย ด้วยอุปสรรคทางด้านบุคลากร เงินทุน และอุปกรณ์ที่มีราคาแพง ซึ่งบริษัทต่างชาติจะได้เปรียบ เพราะสามารถใช้เงินลงทุนจำนวนมากสำหรับอุปกรณ์ที่มีราคาแพง และบุคคลากรที่มีประสบการณ์และฝีมือดี สำหรับในประเทศไทยงานแอนิเมชั่นส่วนใหญ่ในช่วงนั้นเป็นงานในวงการโฆษณาเท่านั้น ผลงานของบริษัทอัญญาในช่วงแรกๆ จึงเป็นเพียงอนิเมชั่นเรื่องสั้นๆ และจบในตอนเดียว ผลงานที่เป็นเรื่องยาวชิ้นแรกที่ทำคือนิทานเวตาลในรูปแบบแอนิเมชั่น ผลงานหลักชิ้นต่อมาคือเรื่อขบวนการ WHO และเรื่องล่าสุดคือ “4 Angies สี่สาวแสนซน” เทอม 1 และเทอม 2 ซึ่งผลงานทั้ง 3 เรื่องของอัญญา ได้รับการความสนใจ โดยได้รับคัดเลือกนำไปฉายในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ออสเตรเลีย แคนนาดา และฝรั่งเศส และยังได้รับรางวัลจากการประกวดผลงานอนิเมชั่นในหลายประเทศอีกด้วย
เมื่อถามถึงความยากง่ายของการสร้างผลงานแอนิเมชั่นในสมัยแรกๆ และในปัจจุบัน นายสุเทพให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันการทำผลงานชิ้นหนึ่ง ใช้เวลาและแรงงานน้อยลงกว่าเมื่อก่อนมาก ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น จากสมัยก่อนที่ต้องใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงในการเรนเดอร์ภาพเพียง 4 เฟรม แต่ในปัจจุบันการที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ชิปประสิทธิภาพสูงๆ อย่างเช่น อินเทล คอร์ 2 ดูโอ และเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ อินเทล ซีออน โปรเซสเซอร์ ในราคาที่ถูกลงทำให้เราสามารถได้ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นโดยได้งานเพิ่มขึ้น ในเวลาน้อยลงถึง 4 เท่า นอกจากในด้านเทคโนโลยีของฮาร์ดแวร์แล้ว ซอฟท์แวร์ในปัจจุบันมีเพิ่มมากขึ้น และหน่วยงานรัฐบาลเช่น สำนักสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(องค์กรณ์มหาชน) หรือซิป้า และสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (หรือ TACGA) ได้มีส่วนช่วยอย่างมากในการให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และการวงการแอนิเมชั่นในประเทศไทย
สุเทพทิ้งท้ายอีกว่า ผู้ผลิตแอนิเมชั่นในไทย ควรพยายามสร้างโอกาสให้ผลงานได้มีการนำเสนอในสายตาชาวต่างชาติ เพราะจุดเด่นของผลงานของคนไทยอยู่ที่ความมีศิลปะ และความอดทน ในการสร้างผลงานให้แตกต่างจากผลงานของประเทศอื่นๆ ซึ่งจะทำให้สามารถได้งานในระดับนานาชาติได้ และยังเป็นการฝึกฝีมือให้มีความเชี่ยวชาญขึ้นอีกด้วย