บริษัท ยูนิวานิช น้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) จัดงาน “วันยูนิวานิชพบเกษตรกร” ให้ความรู้เกษตรกรปาล์มน้ำมันในภาคใต้กว่า 1,000 ราย เพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพและผลผลิตปาล์มน้ำมัน โดยจัดกิจกรรมแนะนำหลักปฏิบัติและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เกี่ยวกับการเพาะปลูกดูแลสวนปาล์มทุกขั้นตอน พร้อมนำเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนาปาล์มน้ำมันยูนิวานิช ณ อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่
นายธันวาคม เขมะศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ซึ่งได้ให้เกียรติมาเป็นประธานการเปิดงานเปิดเผยว่า “ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดกระบี่ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทำสวนปาล์ม การจัดงานในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับ เกษตรกรปาล์มน้ำมันที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำความรู้และเทคนิคใหม่ๆ ในการทำสวนปาล์ม ไปพัฒนาการทำสวนปาล์มของตน เพื่อเพิ่มผลผลิต และได้ผลปาล์มที่มีคุณภาพมากขึ้น การจัดงานในวันนี้ ยังเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือและการสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างบริษัทผู้รับซื้อผลปาล์มและเกษตรกร”
นายจอห์น เคลนดอน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิวานิช น้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีความตั้งใจและภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาศักยภาพการผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกร ทั้งในภาคใต้และภาคอื่นๆ หวังว่าความรู้และเทคนิคใหม่ที่ได้รับจากงาน “วันยูนิวานิชพบเกษตรกร” จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตปาล์มน้ำมันของไทย อีกทั้งจะช่วยสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอีกด้วย บริษัทเป็นผู้บุกเบิกการทำสวนปาล์มน้ำมันเป็นการค้าแห่งแรกของประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512
ยูนิวานิชได้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเป็นแห่งแรกในปี พ.ศ. 2517 มีศูนย์วิจัยและพัฒนาปาล์มน้ำมันเป็นของตนเองก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2526 จนถึงปัจจุบัน มีโครงการวิจัยมากกว่า 70 โครงการ บนพื้นที่วิจัยกว่า 4,000 ไร่ บริษัทเน้นงานวิจัยในเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ การทดสอบสายพันธุ์ การใส่ปุ๋ย การปราบวัชพืช การให้น้ำ ระยะปลูก การปลูกทดแทน ศึกษาดีเอ็นเอ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นต้น ผลงานวิจัยได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในสวนปาล์มของบริษัทรวมทั้งเป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกรนำไปประยุกต์ปฏิบัติในสวนปาล์มของตนเองได้
ยูนิวานิชเป็นผู้นำในการผลิตน้ำมันปาล์มอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ในปีพ.ศ. 2549 ทำการผลิตน้ำมันปาล์มโดยรวมได้ประมาณ 150,000 ตัน ซึ่งผลผลิตทั้งหมดมาจากโรงงานทั้งสามแห่งของยูนิวานิช บริษัทฯ ยังสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันได้ประมาณ 6-7 ล้านเมล็ดต่อปี และทำการส่งออกเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นไปยังเกษตรกรปาล์มน้ำมันทั่วโลก
นายเจมส์ โทเมคโค ผู้อำนวยการ กลุ่มงานบริการทางธุรกิจและการเงิน GTZ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “การจัดงาน “วันยูนิวานิชพบเกษตรกร” ซึ่ง GTZ ให้การสนับสนุนยูนิวานิชในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการไทย-เยอรมัน เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจ ที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมการเกษตร 5 อย่าง รวมทั้งปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การขาดความรู้ด้านเทคนิคการบริการจัดการสวนปาล์มของเกษตรกรนับเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มผลผลิต การจัดงานในครั้งนี้จึงนับว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้งเกษตรกร และอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในภาคใต้ นอกจากนี้ GTZ และยูนิวานิช ยังได้ร่วมมือกันให้ความรู้และสนับสนุนเกษตรกรปาล์มน้ำมันในการใช้เมล็ดพันธุ์ปาล์มที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้ต้นปาล์มที่ดี อันจะนำไปสู่การได้ผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ได้มาตรฐานต่อไป”
เกี่ยวกับ GTZ
GTZ เป็นสำนักงานตัวแทนของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยปฏิบัติภารกิจในนามของกระทรวงต่างๆ ภายใต้รัฐบาลเยอรมัน รัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ อาทิ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย รวมทั้งบริษัทเอกชนต่างๆ ในประเทศไทย GTZ ได้เข้ามาดำเนินงานเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว
เกี่ยวกับ บริษัท ยูนิวานิช น้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน)
บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่เกิดจากการควบกิจการ ณ วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ระหว่างกลุ่มบริษัท ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในประเทศไทย ได้แก่
• บริษัท ไทยอุตสาหกรรมน้ำมันและสวนปาล์ม จำกัด
• บริษัท สยามปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรม จำกัด
• บริษัท เจียรวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) และน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบ (PKO) รายใหญ่ในประเทศไทย น้ำมันปาล์มเป็นส่วนผสมสำคัญในอุตสาหกรรมอาหาร น้ำมันสลัด มาการีน และไขมันใช้ในการผสมแป้งทำขนมอบ ขนมขบเคี้ยว ไอศกรีม สบู่ แชมพู และเครื่องสำอาง ล่าสุดการนำน้ำมันปาล์มไปผลิตไบโอดีเซลและเชื้อเพลิงชีวภาพได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการผลิตน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบคือกากเมล็ดในปาล์ม (PKC) ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์