ถึงแม้ว่าในไตรมาส 3/2550 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะเปิดเผยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ 4.9% สูงกว่า 4.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและลงทุนของภาคเอกชนในประเทศ แต่สำหรับสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น อาจกล่าวได้ว่ายังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ดังจะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ธนาคารพาณิชย์ไทยที่ยังไม่ได้ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นในไตรมาส 3/2550
ทั้งนี้ ในปี 2551 แม้เศรษฐกิจไทยอาจมีแนวโน้มการขยายตัวที่สูงขึ้นกว่าเดิม หากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ชัดเจน สามารถคลี่คลายลงหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอีกหลายประการ ซึ่งอาจทำให้การเติบโตของสินเชื่อดังกล่าวยังดำเนินไปในลักษณะที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อเนื่องจากปี 2550 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปประเด็นสำคัญต่างๆ ดังนี้
• สถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมา … ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน
จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ซึ่งใช้ชี้วัดความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคการค้าและบริการนั้น พบว่า ดัชนีดังกล่าวในไตรมาส 3/2550 อยู่ที่ระดับ 42.3 ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 44.2 ในไตรมาส 2/2550 และ 46.4 ในไตรมาส 1/2550 ตามองค์ประกอบที่ปรับตัวลดลงทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นดัชนีกำไร ดัชนียอดจำหน่าย ดัชนีการลงทุน และดัชนีการจ้างงาน ขณะที่ดัชนีต้นทุนเริ่มเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/2550 ในทำนองเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ก็ชะลอตัวลงเช่นกันจาก 48.7 ในไตรมาส 1/2550 มาที่ 46.9 ในไตรมาส 2/2550 และ 46.4 ในไตรมาส 3/2550
ส่วนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของธุรกิจเอสเอ็มอี (นอกภาคเกษตร) นั้น ข้อมูลในปี 2549 เติบโต 4.8% เท่ากับของปี 2548 แต่น้อยกว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีทั้งประเทศที่ 5.0% ขณะที่ข้อมูลที่มีการเผยแพร่ล่าสุดในไตรมาส 1/2550 นั้น พบว่าจีดีพีของธุรกิจเอสเอ็มอีดังกล่าว ขยายตัวที่ 3.3% ต่ำกว่าอัตราการเติบโตของประเทศที่ 4.3% สำหรับไตรมาสที่เหลือของปี 2550 นั้น คาดว่าจีดีพีของเอสเอ็มอีในช่วงสองไตรมาสสุดท้ายของปี (ครึ่งปีหลัง) น่าจะขยายตัวสูงกว่าในช่วงไตรมาสแรก และช่วงครึ่งปีแรก ตามสถานการณ์การใช้จ่ายและลงทุนในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณบวกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตสำหรับทั้งปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า จีดีพีของเอสเอ็มอีน่าจะชะลอลงจาก 4.8% ในปี 2549 สอดคล้องกับภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งประเทศที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 4.5% ต่ำกว่าของปี 2549 ที่ 5.0%
• สินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารพาณิชย์ไทย 9 เดือนแรกปี 2550 … ชะลอตัวลง สวนทางกับภาวะการแข่งขันที่ยังคงรุนแรง
จากการประมาณของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สินเชื่อเอสเอ็มอีของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 ขยายตัว 6.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแม้จะเป็นอัตราที่สูงขึ้นจาก 5.7% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2550 แต่ก็ต่ำกว่า 8.7% ณ สิ้นปี 2549 โดยการขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ชะลอตัวลงดังกล่าว คาดว่าจะมีสาเหตุต่างๆ ดังนี้
การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของธุรกิจเอสเอ็มอีแล้ว ยังจะเป็นปัจจัยลบต่อเนื่องมายังความต้องการสินเชื่อใหม่เพื่อขยายธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วย อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินเชื่อหมุนเวียน หรือสินเชื่อรีไฟแนนซ์ (Refinance) น่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธุรกิจเอสเอ็มอีมากขึ้น
ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งปัญหาเอ็นพีแอลไหลย้อนกลับ (NPL Re-entry) และเอ็นพีแอลรายใหม่ ดังนั้น จึงนำมาสู่การเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากการสอบถามของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดกลางมักประสบปัญหาด้านความสามารถในการจ่ายชำระหนี้มากกว่าลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กและขนาดย่อม โดยคาดว่าจะมีเหตุผลสืบเนื่องจากการที่ลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดกลางมีความคล่องตัวในการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจและการผลิตให้รับมือกับสภาวะแวดล้อมทางการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป ได้ยากกว่าลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีขนาดเล็กกว่า เพราะมีปริมาณเงินลงทุนตั้งต้นสูงกว่า
อย่างไรก็ตาม ในภาวะเช่นนี้ การแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์ กลับไม่ได้ลดความรุนแรงลง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง มีความจำเป็นที่ต้องเร่งขยายสินเชื่อ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นปี ขณะเดียวกัน ก็ต้องรักษาความสามารถในการทำกำไร ซึ่งถูกกดดันจากรายรับที่ลดลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินและอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมในช่วงระหว่างปี ตลอดจน การทยอยรับรู้ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในปี 2549 ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงต่างใช้ทั้งกลยุทธ์การแข่งขันด้านราคา (สำหรับกลุ่มลูกค้าศักยภาพ หรือที่นิยมเรียกกว่ากลุ่ม “ครีม”) และด้านที่ไม่ใช่ราคา เช่น ความรวดเร็วในการอนุมัติสินเชื่อ การยกระดับคุณภาพการให้บริการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณลักษณะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น รวมทั้ง การจัดรายการส่งเสริมการขายในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ในขณะเดียวกัน เนื่องจากลูกค้าที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง มีความต้องการใช้เงินจากธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างเร็ว ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์กลับเพิ่มความระมัดระวังในการตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ของลูกหนี้ หรือธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีการปรับเงื่อนไขสินเชื่อ หลังจากมีการปรับโครงสร้างธุรกิจ ดังนั้น จึงทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้มีความภักดีต่อธนาคาร (Brand Loyalty) ลดลง หรือเลือกที่จะโยกย้ายการขอสินเชื่อไปสู่ธนาคารที่สามารถให้บริการดังกล่าวได้รวดเร็วและในเงื่อนไขที่ดีกว่า
• แนวโน้มการขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีปี 2551 … ขยายตัวเร่งขึ้น หากเศรษฐกิจฟื้นหลังเลือกตั้ง
สำหรับในปี 2551 คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะให้ความสำคัญกับการขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีมากขึ้นจากปี 2550 เนื่องจาก ประการแรก หากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ผ่านพ้นไปด้วยดี และเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ความต้องการสินเชื่อเอสเอ็มอีจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งน่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในกรอบที่สูงขึ้นจาก 4.5% ในปี 2550 มาที่ 4.5-6.0% ในปี 2551
ประการที่สอง ธปท.กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์นำส่งการคำนวณเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ Basel II ควบคู่กับหลักเกณฑ์ Basel I ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (Parallel Run) เป็นระยะเวลาหนึ่งปี ก่อนที่จะบังคับใช้จริงในช่วงสิ้นปี 2551 ทั้งนี้ ภายใต้ Basel II การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีจะมีน้ำหนักความเสี่ยงเครดิตที่ลดลงจากเดิมที่ 100% มาที่ 75% หรืออีกนัยหนึ่งคือ การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีจะ “กิน” เงินกองทุนน้อยลงกว่าเดิม ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนเหลือไปปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมได้มากขึ้น โดย ธนาคารพาณิชย์ที่มีพอร์ตลูกค้าเอสเอ็มอีจำนวนมาก จะได้รับประโยชน์จากเกณฑ์ Basel II มากกว่า ขณะเดียวกัน การปรับน้ำหนักพอร์ตสินเชื่อโดยลดการพึ่งพิงลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ลง จะช่วยทำให้พอร์ตสินเชื่อในภาพรวมมีความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของสินเชื่อ (Concentration Risk) ลดลงด้วย
ประการที่สาม สินเชื่อเอสเอ็มอี ยังคงให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าสินเชื่อรายใหญ่และสินเชื่อรายย่อยบางประเภท อีกทั้งสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมในระดับสูง เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้ โดยเฉพาะลูกค้าขนาดเล็ก มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสินเชื่อ กอปรกับปริมาณธุรกรรมทางการเงินยังไม่มากนัก จึงทำให้มักมีธนาคารพาณิชย์หลัก (Main Bank) เพียง 1-3 แห่ง ดังนั้น จึงไม่ค่อยมีอำนาจในการต่อรองราคามากนัก ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนของสินเชื่อเอสเอ็มอีที่อยู่ในระดับสูงดังกล่าว ช่วยทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ในภาวะที่เริ่มมีกระแสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ไทยตั้งแต่ช่วงกลางไตรมาส 3/2550 ที่ผ่านมา อันจะเพิ่มต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายและกดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในระยะถัดไป
ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดการณ์ว่า สินเชื่อเอสเอ็มอีของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย จึงน่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 8.0-10.0% เทียบกับประมาณ 6.0-8.0% ในปี 2550 และ 6.3% ที่ทำได้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 ที่ผ่านมา
• อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่อสินเชื่อเอสเอ็มอีและคุณภาพหนี้
ถึงแม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2551 อาจสดใสขึ้น เมื่อปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองคลี่คลายลง แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังเผชิญความเสี่ยงอีกหลากหลายด้าน เช่น ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาความอ่อนแอในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อที่มีทิศทางเร่งขึ้นตามการทยอยปรับเพิ่มราคาสินค้าและบริการ รวมถึง การที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศถึงจุดต่ำสุดแล้วและเตรียมเข้าสู่ช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ดังนั้น เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะยังคงใช้ความระมัดระวังในการขยายสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ต่อไปในปี 2551 ขณะที่คงจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างการเร่งปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายและเพื่อผลตอบแทน กับความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อถูกกดดันให้ต้องขยายฐานลูกค้าลงไปสู่ระดับล่างของตลาดมากขึ้น
กระนั้นก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่า ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพของธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น แม้จะน่าเป็นห่วง แต่ก็คงจะอยู่ในขอบเขตที่สามารถรับมือและจัดการได้ เนื่องจากระบบบริหารความเสี่ยงเครดิตของธนาคารพาณิชย์มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก ยกตัวอย่างเช่น สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดกลาง การติดตามประวัติเครดิต จะดำเนินการเป็นรายลูกหนี้ ซึ่งจะครอบคลุมถึงตัวชี้วัดทั้งการจ่ายชำระหนี้ล่าช้า และคะแนนเครดิต ที่จะสัมพันธ์กับโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ (Probability of Default) ซึ่งคำนวณจากทั้งข้อมูลงบการเงินและพฤติกรรมทางการเงิน (Behavior) ของลูกค้า นอกจากนี้ การควบคุมความเสี่ยงเครดิตดังกล่าว ยังได้รับการปรับปรุงไปถึงขั้นตอนการหาลูกค้า โดยจะมีการนำคุณภาพของลูกหนี้ เข้าไปร่วมในการประเมินผลการดำเนินงานของผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าด้วย ขณะที่ สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดที่เล็กลงไป ธนาคารพาณิชย์มีระบบติดตามหนี้อัตโนมัติเมื่อมีการชำระหนี้ล่าช้า (ธนาคารพาณิชย์มีระบบที่สามารถตรวจสอบได้ แม้มีการชำระล่าช้าไปเพียง 1 วัน) ผ่านการส่งจดหมายทวงถามหนี้ โทรศัพท์ หรือส่งข้อความทางมือถือ (SMS) เป็นต้น ซึ่งมาตรการและความพยายามต่างๆ ทั้งหมดนี้ น่าจะช่วยลดโอกาสที่สินเชื่อจะถดถอยจนกลายเป็นเอ็นพีแอลได้
• การแข่งขันด้านราคาน่าจะลดบทบาทลงในระยะถัดไป
แม้ว่ามาร์จินของสินเชื่อเอสเอ็มอีที่อยู่ในระดับสูง จะเอื้อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถใช้กลยุทธ์ด้านราคากับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีระดับคุณภาพที่มีอำนาจการต่อรองสูงและเป็นที่ต้องการของธนาคารคู่แข่ง แต่เมื่อทุกธนาคารดำเนินกลยุทธ์ในลักษณะเดียวกัน ก็คงจะส่งผลกระทบต่อมาร์จินของสินเชื่อประเภทนี้เหมือนๆ กัน และไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น กลยุทธ์การแข่งขันในตลาดสินเชื่อเอสเอ็มอีในปี 2551 จึงน่าจะมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันที่ไม่ใช่ราคามากขึ้น ผ่านการพัฒนากระบวนการอนุมัติสินเชื่อให้รวดเร็วยิ่งขึ้น การปรับเงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อที่ให้น้ำหนักกับกระแสเงินสดมากขึ้น (อาศัยหลักประกันลดลง) ตลอดจน การเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละประเภทอุตสาหกรรม อันจะทำให้แตกต่างจากคู่แข่ง รวมทั้งการจัดรายการส่งเสริมการขายที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ เช่น การจัดอบรมให้ความรู้ เป็นต้น นอกจากนี้ เนื่องจากการเจาะตลาดลูกค้าเอสเอ็มอีในระยะถัดไป คงจะต้องลงไปสู่เอสเอ็มอีตลาดล่าง หรือธุรกิจที่มีขนาดเล็กลง มากขึ้น ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงทำให้น่าจะเห็นกลยุทธ์การแข่งขันในตลาดภูมิภาคที่เข้มข้นขึ้นเช่นกัน ทำให้อาจต้องอาศัยจำนวนพนักงานขาย และพนักงานดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาในต่างจังหวัดเพื่อให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย
โดยสรุปแล้ว ปี 2551 คงจะเป็นปีที่ธนาคารพาณิชย์ไทยรุกตลาดเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความคาดหวังในเรื่องอัตราผลตอบแทน จากทั้งการขยายสินเชื่อที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของธุรกิจ รวมทั้ง มาร์จินของสินเชื่อประเภทนี้และการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้น สภาวะการแข่งขันจึงน่าจะยังคงมีความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังปรากฎอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่สืบเนื่องจากปัญหาความอ่อนแอในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ รวมทั้ง ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาค่าครองชีพในประเทศที่สูงขึ้น และการที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศเตรียมเคลื่อนเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นแล้วนั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันจะตอกย้ำถึงปัญหาคุณภาพสินเชื่อจากลูกค้ากลุ่มดังกล่าว ดังนั้น การขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปีหน้า แม้จะสดใสขึ้น แต่ก็ยังคงต้องใช้ความระมัดระวัง