ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่อยู่ในช่วงรอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยหลายฝ่ายตั้งความหวังต่อบทบาทของรัฐบาลชุดใหม่ในการเข้ามาขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ และผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งท่าอากาศยานถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย
ปัจจุบันประเทศไทยมีท่าอากาศยานหลัก คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเปรียบเสมือนประตูแรกที่เชื่อมต่อกับนานาประเทศ แต่ในอีกไม่ช้า ท่าอากาศยานแห่งนี้กำลังจะเผชิญกับปัญหาด้านขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร แม้ว่าเพิ่งจะเปิดใช้บริการได้เพียง 1 ปีกว่า เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แผนการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการปรับปรุงแก้ไข นอกจากนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังประสบกับปัญหาในหลายๆ ด้าน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการให้บริการ ทั้งนี้ ปัญหาของท่าอากาศยานสุวรรณภูมินับเป็นปัญหาสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ของปัญหา ผลกระทบ และแนวทางในการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้
สุวรรณภูมิ: ปัญหาที่เกิดจากความไม่พร้อม
หลังจากรัฐบาลมีมติให้เปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 โดยให้ย้ายทุกสายการบินมาเปิดให้บริการทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ แต่หลังจากนั้นเพียง 6 เดือน รัฐบาลก็มีมติให้กลับมาเปิดใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศที่ไม่มีการต่อเที่ยวบิน (Point to Point) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2550 ด้วยเหตุผลจากปัญหาความไม่พร้อมของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำให้ต้องทำการปิดปรับปรุงแก้ไขและซ่อมแซมในบางส่วน รวมทั้งมองว่าท่าอากาศยานดอนเมืองยังมีศักยภาพที่จะให้บริการทางการบินอยู่ อย่างไรก็ตาม จากการประชุมคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2550 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้สายการบินสามารถทำการบินที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเพิ่มเติมได้ทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศตามความสมัครใจ โดยหลังจากนี้จะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบตามลำดับต่อไป นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งของนโยบายการบริหารจัดการท่าอากาศยานของไทย
ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีพื้นที่รวม 20,000 ไร่ มากกว่าท่าอากาศยานดอนเมืองกว่า 5 เท่า มีพื้นที่อาคารผู้โดยสาร 563,000 ตารางเมตร มีพื้นที่อาคารคลังสินค้า 568,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี สามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าได้ 3 ล้านตันต่อปี และสามารถรองรับเที่ยวบินได้ 76 เที่ยวต่อชั่วโมง โดยใน 10 เดือนแรกของปี 2550 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีจำนวนผู้โดยสารกว่า 33.9 ล้านคน มีจำนวนการขนถ่ายสินค้า 1.03 ล้านตัน และมีจำนวนเที่ยวบิน 217,545 เที่ยว คิดเป็นประมาณ 48 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารตลอดทั้งปี 2550 ประมาณ 43-44 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ประมาณร้อยละ 1-2 ต่อปี จากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถึง 45 ล้านคนต่อปี ภายในประมาณปี 2551 ซึ่งจะเกินกับขีดความสามารถสูงสุดในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และคาดว่าจะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเริ่มมีความแออัดและหนาแน่นของผู้โดยสาร ถึงแม้ว่า อัตราการขยายตัวของผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงก็ตาม โดยจะขยายตัวร้อยละ 4-5 ต่อปีโดยเฉลี่ย สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ IATA ที่คาดว่าอัตราการขยายตัวของผู้โดยสารทั้งโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า จะอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ต่อปีโดยเฉลี่ย ชะลอตัวลงจากช่วง 5 ปีก่อนหน้า ที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 ต่อปีโดยเฉลี่ย เนื่องจากปัจจัยลบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจำนวนผู้โดยสารที่จะเข้ามาใช้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นไปถึงระดับ 50 ล้านคน ในช่วงประมาณปี 2554-2555
ทั้งนี้ ตามแผนเดิมของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 จะมีการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite Building) และทางวิ่งเส้นที่ 3 เพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้เพิ่มขึ้นเป็น 54 ล้านคนต่อปี โดยต้องใช้เงินลงทุนกว่า 48,000 ล้านบาท มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2553 แต่จากปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ ทำให้โครงการระยะที่ 2 ต้องล่าช้าออกไปและยังไม่ได้เริ่มดำเนินการตามแผนที่เคยวางไว้ และหากมีแนวทางจะเริ่มดำเนินการโครงการระยะที่ 2 ก็จะต้องรอการอนุมัติจากรัฐบาลชุดใหม่ และกว่าที่โครงการจะผ่านความเห็นชอบจนกระทั่งเริ่มก่อสร้างได้ อย่างเร็วที่สุดคาดว่าจะเป็นประมาณปี 2552 และแล้วเสร็จประมาณปี 2556 ซึ่งในช่วงระยะเวลา 4-5 ปี ที่ใช้ในการก่อสร้างนี้ คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมากกว่าขีดความสามารถที่จะรองรับได้
ความล่าช้าในการดำเนินการตามแผนการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นผลมาจากปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการชำรุดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปัญหาการจัดการกับระบบน้ำใต้พื้นดิน ปัญหาระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะรถไฟฟ้า Airport Link ที่มีปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้าง ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดการเปิดใช้จากเดิมปี 2551 ไปเป็นปี 2552 ปัญหาข้อพิพาทในสัญญาการให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับบริษัทเอกชน ปัญหามลภาวะทางเสียงที่ส่งผลต่อชุมชนที่อยู่อาศัยโดยรอบ ปัญหาการตรวจสอบการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ต่างๆ ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ ซึ่งแต่ละปัญหาต้องใช้ทั้งเวลาและงบประมาณจำนวนมากในการแก้ไขปัญหา
จากปัญหาต่างๆ ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันเป็น Hub ในภูมิภาคของไทย โดยเมื่อพิจารณาจากปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ภูมิศาสตร์ ปริมาณการขนส่งทางอากาศ และประสิทธิภาพในการให้บริการของท่าอากาศยาน จะเห็นได้ว่า ไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่งขันในภูมิภาคทั้งในด้านภูมิศาสตร์และปริมาณการขนส่งทางอากาศ แต่ไทยยังมีประสิทธิภาพในการให้บริการของท่าอากาศยานต่ำกว่าประเทศคู่แข่งขันในภูมิภาค โดยเฉพาะมาเลเซียและสิงคโปร์ จะเห็นได้จากการจัดอันดับ 10 ท่าอากาศยานยอดเยี่ยมของโลกโดยนิตยสาร Skytrax ปี 2550 พบว่า ท่าอากาศยาน Changi ของสิงคโปร์ ได้อันดับที่ 2 และท่าอากาศยาน KLIA ของมาเลเซียได้อันดับที่ 5 ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่ติดอันดับ
ดอนเมือง: คำตอบสำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
หลังการเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียง 6 เดือน ได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากเดิมที่ให้ทุกสายการบินเปิดให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มาเป็นให้ท่าอากาศยานดอนเมืองกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศที่ไม่มีการต่อเที่ยวบิน และให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศและเที่ยวบินภายในประเทศสำหรับบางสายการบิน การเปิดใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองก็เป็นแนวทางหนึ่งที่อาจจะช่วยแก้ไขปัญหาขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ในระดับหนึ่ง แต่คงไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่มุ่งเป้าหมายระยะยาว เนื่องจากการเปิดใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองก็มีข้อจำกัดและส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาความสับสนในการวางแผนการเดินทางแก่ผู้โดยสารบางส่วนที่ต้องการเดินทางภายในประเทศ รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มต้นทุนในการเดินทางให้แก่ผู้โดยสาร เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนระหว่างท่าอากาศยานดอนเมืองกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังไม่สะดวกรวดเร็วเพียงพอ มีเพียงรถโดยสารประจำทางและรถแท็กซี่ และยังมีปัญหาความเก่าและทรุดโทรมของท่าอากาศยานดอนเมืองที่เปิดใช้มาเป็นเวลานาน ประกอบกับอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยานอาจไม่สามารถรองรับเครื่องบินรุ่นใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงได้ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการเปิดให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มเติมของท่าอากาศยานดอนเมืองอีก ซึ่งทำให้ผู้โดยสารอาจไม่ได้รับความสะดวกสบายและต้องใช้เวลาในการต่อเที่ยวบินไปยังจุดหมายปลายทางอื่นมากขึ้น ส่งผลให้อาจเลือกไปท่องเที่ยวในประเทศอื่นหรืออาจเลือกเดินทางโดยวิธีอื่นแทนได้
ผลเสียต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง หากไม่รีบแก้ไขปัญหา
จากปัญหาของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งในด้านขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการให้บริการ หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เร่งแก้ไขปัญหาและวางแผนการบริหารจัดการท่าอากาศยานในระยะยาวที่ชัดเจน จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากท่าอากาศยานถือเป็นประตูแรกที่จะรับนักท่องเที่ยว นักลงทุน และนักธุรกิจจากต่างประเทศ และท่าอากาศยานยังถือว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของระบบการขนส่งสินค้าร่วมกับระบบราง รถยนต์ และทางน้ำ ที่จะก่อให้เกิดเครือข่ายระบบโลจิสติกส์ร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การบริหารจัดการต้นทุน และการไหลเวียนของสินค้า หากการบริหารจัดการและการบริการของท่าอากาศยานไม่มีประสิทธิภาพที่ดี ไม่มีความสะดวกรวดเร็ว ไม่เพียงจะส่งผลเสียต่อธุรกิจการบิน ยังส่งผลเสียต่อธุรกิจอื่นๆ อีกด้วย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่จะส่งผลต่อนักท่องเที่ยวโดยตรง รวมทั้งการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (FDI) การค้าระหว่างประเทศ และแรงงานที่อยู่ในภาคธุรกิจเหล่านั้น เพราะในปัจจุบันระบบโลจิสติกส์ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของภาคธุรกิจ หากระบบโลจิสติกส์ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้นักลงทุนและนักธุรกิจไม่ให้ความสำคัญที่จะมาลงทุนหรือดำเนินธุรกิจในไทย ทั้งนี้ ภาคธุรกิจเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยมาโดยตลอด จะเห็นได้จาก สัดส่วนมูลค่าต่อ GDP ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นเพิ่มเติม: การบริหารจัดการท่าอากาศยานนานาชาติในต่างจังหวัด
อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม คือ การบริหารจัดการประสิทธิภาพและศักยภาพของท่าอากาศยานนานาชาติในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญของไทย เช่น เชียงใหม่และภูเก็ต จะเห็นได้ว่า จำนวนผู้โดยสารมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2550 มีจำนวนผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่และภูเก็ต 2.4 ล้านคน และ 4.1 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อปี และ 22.7 ต่อปี ตามลำดับ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารนี้มาจากการขยายตัวของธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นหลัก เนื่องจากไทยมีศักภาพในการท่องเที่ยวสูงจากความหลากหลายในภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและให้ความสำคัญกับธุรกิจการท่องเที่ยวมาโดยตลอด โดยมีการวางยุทธศาสตร์ให้เชียงใหม่เป็นประตูสู่การท่องเที่ยวทางภาคเหนือและภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก นอกจากนี้ ไทยยังมียุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่จะให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และเอเชียใต้ (BIMSTEC) รวมทั้งให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและจุดเชื่อมต่อในภูมิภาคอาเซียนตอนใต้ ดังนั้น จำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีแผนยุทธศาสตร์การบริหารท่าอากาศยานที่รองรับและสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่วางไว้
สรุปและข้อคิดเห็น
จากการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกำลังจะเผชิญกับปัญหาขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารในอนาคตอันใกล้นี้ รวมทั้งต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการให้บริการ ปัญหาทั้งหมดนับเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รอคอยการตัดสินใจของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งควรเร่งหาข้อสรุปโดยเร็ว เนื่องจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าปัญหาการบริหารจัดการท่าอากาศยานถือเป็นประเด็นสำคัญอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งภาพรวมและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว นักลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ถึงแม้ว่า ในขณะนี้ได้เริ่มมีการมองเห็นปัญหาและหาแนวทางในการแก้ไขไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะปัญหาขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่มีแนวทางให้ท่าอากาศยานดอนเมืองมาช่วยรองรับผู้โดยสารเพิ่มเติม โดยจะเปิดให้บริการทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ แต่แนวทางดังกล่าวยังเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ซึ่งหลักการสำคัญที่แท้จริงในการแก้ไขปัญหา คือ รัฐบาลจะต้องมีแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านท่าอากาศยานที่ชัดเจน โดยต้องพิจารณากำหนดบทบาทของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในการสนับสนุนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ควรกำหนดแผนการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่เหมาะสมและครอบคลุมการลงทุนในระยะยาว ถึงแม้ว่า ในขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงแผนดังกล่าวอยู่ก็ตาม รัฐบาลก็ควรให้ความสำคัญและสนับสนุนการปรับแผนดังกล่าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้นและคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย โดยมุ่งเป้าหมายระยะยาวในการการขยายศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารให้เพิ่มขึ้นไปถึงกว่า 100 ล้านคนต่อปี เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาคได้ รวมทั้งยังต้องพัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการต่างๆ ให้สูงขึ้น นอกจากนี้ แผนยุทธศาสตร์ระยะยาวฉบับนี้ต้องมีความชัดเจนว่ากรุงเทพฯ จะใช้นโยบายท่าอากาศยานเดี่ยว (Single Airport) หรือท่าอากาศยานคู่ (Dual Airport) และท่าอากาศยานดอนเมืองจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวหรือไม่ ถ้าเป็นควรกำหนดบทบาทของท่าอากาศยานดอนเมืองอย่างไร รวมทั้งจะต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติมท่าอากาศยานดอนเมืองในด้านใดบ้าง ทั้งนี้ การที่จะไปสู่เป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการบินระหว่างประเทศและสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวที่เน้นตลาดระดับสูง (Premium Class) มากขึ้นนั้น ท่าอากาศยานที่ให้บริการจะต้องดำเนินการในมาตรฐานระดับโลก ซึ่งไม่เพียงแต่ท่าอากาศยานหลักในกรุงเทพฯ เท่านั้น ท่าอากาศยานนานาชาติในต่างจังหวัดที่สำคัญ ก็ควรมีแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพและมาตรฐานการบริการด้วยเช่นกัน เพราะในอนาคตท่าอากาศยานเหล่านี้จะเป็นประตูเปิดรับผู้โดยสารและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การดำเนินการเพื่อหาข้อสรุปในประเด็นการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เนื่องจากการดำเนินการก่อสร้างต้องใช้ระยะเวลานาน ซึ่งถ้าไม่เริ่มดำเนินการนับตั้งแต่นี้ ปัญหาก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านอื่นๆ ด้วย รัฐบาลใหม่จึงควรเร่งหาคำตอบที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่เช่นนั้น ความหวังของไทยในการเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคอาจเป็นได้เพียงแค่ความฝันที่เป็นจริงได้ยากขึ้นทุกที