กรมส่งเสริมการส่งออกเตรียมจัดงาน TIEE 2008 สนับสนุนการทำตลาดให้กับโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย หวังดึงเงินต่างชาติเข้าประเทศและลดการรั่วไหลของเงินในประเทศ ขณะที่นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย ชี้มีเงินเข้าประเทศจากธุรกิจนี้กว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี
นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 1-3 ก.พ.นี้ กรมส่งเสริมการส่งออกจะจัดงานนิทรรศการการศึกษานานาชาติของไทยปี 2551 (Thailand International Education Exhibition 2008 หรือ TIEE 2008 ) ขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจะมีหลักสูตรนานาชาติที่ได้รับยอมรับจากชาวต่างชาติรวบรวมไว้อย่างครบครันที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการของคนไทยที่มีความนิยมส่งบุตรหลานเรียนในหลักสูตรนานาชาติในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งนอกจากเงินตราไม่รั่วไหลออกนอกประเทศแล้ว ยังช่วยให้เกิดความใกล้ชิดภายในครอบครัวที่ไม่ต้องส่งบุตรหลานไปเรียนถึงต่างประเทศ อีกทั้งยังดึงเงินตราเข้าประเทศจากที่มีชาวต่างชาติเข้ามาเรียนหลักสูตรนานาชาติในประเทศไทย
โดยนิทรรศการครั้งนี้จะเป็นศูนย์รวมของโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสองภาษาและโรงเรียนที่เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติระดับมาตรฐานสากลในประเทศ ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งหลักสูตรการศึกษาระบบอังกฤษและอเมริกัน รวมไปถึงหลักสูตรการศึกษาด้วยภาษาจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน และสวิตเซอร์แลนด์ ไปจนถึงการสอบวัดผล IGCSE , IB , A Levels และ AP ให้ผู้ปกครองและนักเรียนสามารถเลือกหลักสูตรที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการที่สุด ขณะที่ในระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันมีหลักสูตรนานาชาติเกือบ 400 หลักสูตร ที่ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับแนวทางการศึกษาในประเทศไทยและต่างประเทศ ครอบคลุมตั้งแต่ระดับอนุปริญญาจนถึงปริญญาเอก และเน้นการสร้างทักษะวิชาชีพควบคู่ไปกับความรู้เชิงวิชาการที่เข้มข้น
ด้านนางอุษา สมบูรณ์ นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติมีสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันมีโรงเรียนนานาชาติ 112 แห่ง เมื่อนับจากปี พ.ศ. 2550 ที่มีเพียง1 แห่ง และได้ขยายตัวมากขึ้นในปี พ.ศ. 2536 เนื่องจากรัฐบาลสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เปิดโอกาสให้คนไทยสามารถศึกษาในโรงเรียนนานาชาติได้
ทั้งนี้ในปัจจุบัน มีชาวต่างประเทศเข้ามาเป็นครูในหลักสูตรนานาชาติ 3,000 คน มีนักเรียนที่เรียนในหลักสูตรนานาชาติ 35,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นนักเรียนชาวต่างชาติ กว่า 20,000 คน ถ้าคิดเฉพาะนักเรียนชาวต่างชาติกับค่าเทอมเฉลี่ยปีละ 500,000 บาท ถือได้ว่าธุรกิจนี้นำรายได้เข้าประเทศในปี 2550 ร่วม 10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในปี 2549 ที่สามารถนำรายได้เข้าประเทศ 8,000 ล้านบาท และช่วยให้คนไทยที่ต้องการส่งบุตรหลานเรียนหลักสูตรนานาชาติประหยัดเงินกว่าการส่งบุตรหลานไปเรียนยังต่างประเทศหลายเท่า อีกทั้งช่วยให้ครอบครัวอบอุ่นเพราะไม่ต้องแยกจากกัน ตลอดจนช่วยให้เงินไม่ไหลออกนอกประเทศ จึงมองว่าภาครัฐควรให้ความสำคัญในธุรกิจนี้ ทั้งในเรื่องของการอำนวยความสะดวกในการเข้ามาของครูชาวต่างชาติในลักษณะของ One Stop Service ในเรื่องของการจัดทำและตรวจสอบเอกสาร จากที่ปัจจุบันมีขั้นตอนยุ่งยากมาก
นางอุษา สมบูรณ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนนานาชาติขอให้วางใจได้เนื่องจากทุกหลักสูตรผ่านการอนุมัติของกระทรวงศึกษาของไทย และเป็นหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ อีกทั้งเด็กที่เรียนในระบบนี้จะถูกฝึกให้เป็นคนที่มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต รู้จักการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา คิดอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะเด็กที่ได้เรียนในหลักสูตรภาษาอังกฤษจะถือว่าสำคัญมาก เพราะเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารและทำธุรกิจกันทั่วโลก และเด็กจะได้รับการดูแลเอาใจใส่จากครูอย่างใกล้ชิด เนื่องจากครูชาวต่างชาติจะมีหน้าที่สอนหนังสือเพียงอย่างเดียว ต่างจากครูในโรงเรียนไทยที่ต้องทำหน้าที่อื่นควบคู่ไปด้วยเช่น งานธุรการต่าง ๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ ภายใน งาน TIEE 2008 จะมีสมาชิกของสมาคมฯ เข้าร่วม 44 โรงเรียนใน 44 คูหา ซึ่งคาดว่าจะช่วยประชาสัมพันธ์ศักยภาพการศึกษานานาชาติในประเทศไทยให้คนรู้จักแพร่หลายมากขึ้น ว่ามีตั้งแต่ระดับประถม มัธยมศึกษา จนถึงอุดมศึกษา
งาน TIEE 2008 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ 2551 ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2512 0093-104 ต่อ 249, 311 หรือ www.thaitradefair.com