การเลือกตั้งไต้หวัน: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สส.) ในไต้หวัน สมัยที่ 7 ที่ผ่านมา เป็นไปตามความคาดหมาย โดยพรรคฝ่ายค้านคณะชาติแห่งกั๋วหมินตั่ง มีคะแนนนำพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าอย่างท่วมท้นด้วยจำนวนที่นั่งในสภานิติบัญญัติถึง 81 ที่นั่งจากจำนวนทั้งหมด 113 ที่นั่ง ซึ่งตลาดหุ้นไต้หวันตอบรับผลการเลือกตั้ง โดยปรับตัวสูงขึ้นเกือบร้อยละ 5 สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงแนวคิดและแรงสนับสนุนจากประชาชนไต้หวันที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า นโยบายของพรรคการเมืองทั้งสองพรรคมีความแตกต่างกันในประเด็นหลักของความสัมพันธ์ต่อประเทศคู่ค้ารายสำคัญอย่าง จีน โดยพรรคฝ่ายค้านคณะชาติแห่งกั๋วหมินตั่งนำโดยนาย หม่า อินจิ่ว มีนโยบายมุ่งเน้นกระชับความสัมพันธ์อันดีกับจีน (Cross-Straits Relation) และแก้ไขสภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวัน ขณะที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า โดยมีนาย เฉิน สุ่ยเปี่ยน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธาธิบดีของไต้หวันเป็นระยะเวลา 8 ปี ยึดนโยบายสร้างความเป็นเอกราชให้ไต้หวันจากจีน ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและจีนเป็นไปอย่างตึงเครียด

ประเด็นที่น่าจับตามองคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 มีนาคม 2551 นี้ คาดว่าหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านคณะชาติแห่งกั๋วหมินตั่งจะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน ซึ่งหากผลการเลือกตั้งเป็นไปตามที่คาดหมายไว้ ความมั่นคงทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาล รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวันที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนไต้หวันก็จะกลับฟื้นคืนมา เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านมีนโยบายที่เน้นบทบาทการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างไต้หวันและจีน จากปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้น่าจะส่งผลบวกต่อผลประโยชน์ร่วมทางการค้าและเศรษฐกิจของสองประเทศ ในทางกลับกันจีนได้รับประโยชน์จากการดึงดูดนักลงทุนไต้หวันเพื่อไปลงทุนในจีน โดยปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ได้รับการลงทุนจากนักลงทุนไต้หวันมากที่สุด ในสัดส่วนร้อยละ 63.9 นอกจากนี้ โอกาสสำคัญที่น่าจับตามองสำหรับประเทศไทยคือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันและจีน ซึ่งอาจส่งผลบวกและลบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในด้านการค้าและการลงทุน

การค้าระหว่างไทย-ไต้หวันในปี 2550

ด้านการส่งออกสินค้าจากไทยไปไต้หวันในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2550 สินค้าส่งออกของไทยไปไต้หวันคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,067.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2549 ร้อยละ 0.13 สินค้าส่งออกหลักของไทยไปไต้หวันคือ แผนวงจรไฟฟ้า โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 25 ของสินค้าที่ส่งออกทั้งหมดไปยังไต้หวัน โดยมีมูลค่าการส่งออกในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2550 เป็นจำนวน 784.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง เม็ดพลาสติก และ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งมีสัดส่วน ร้อยละ 11.16, 5.85, 4.73 และ 3.92 ตามลำดับ ส่วนสินค้าส่งออกภาคเกษตรกรรมที่สำคัญได้แก่ ยางพารา และ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กระดาษและน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น

ด้านการนำเข้า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2550 ไทยนำเข้าสินค้าจากไต้หวัน คิดเป็นมูลค่ารวม 5,272.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2549 ร้อยละ 12.76 สินค้านำเข้าจากไต้หวันมาไทยมากที่สุดคือ แผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนสูงเกือบร้อยละ 27 โดยมีมูลค่ารวม 1,420.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2549 ในสัดส่วนร้อยละ 27.23 สินค้านำเข้าอื่น ๆ ที่สำคัญได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ โดยแต่ละประเภทสินค้ามีสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 9.51, 9.41, 6.93, และ 6.49 ตามลำดับ

แนวโน้มการค้าไทย-ไต้หวัน….ทิศทางที่น่าจับตามอง

ในช่วงที่ผ่านมาการค้าระหว่างไทยกับไต้หวันประสบปัญหาจากปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจหลายด้าน อาทิ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ราคาน้ำมันที่ทะยานตัวสูงขึ้นและการแข่งขันที่ดุเดือดจากประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียอย่างจีนและเวียดนาม ส่งผลให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกจากไทยไปยังไต้หวันลดลง กอปรกับปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ แม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันถูกมองว่า อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ (Sub-prime) ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์หลายแห่งได้ปรับลดการคาดการณ์ทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันสำหรับปี 2551 นี้เป็นร้อยละ 4.3 จากเดิมที่ร้อยละ 4.6 อย่างไรก็ตาม บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดมองว่า ผลการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ (สส.) ของไต้หวันที่ผ่านมา น่าจะส่งผลช่วยประคับประคองภาวะเศรษฐกิจของไต้หวันได้ โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีและจัดตั้งคณะบริหารประเทศของไต้หวันที่จะเสร็จสิ้นหลังไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งหากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นไปตามคาด ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจและการลงทุนในไต้หวันได้อีกระดับหนึ่ง

สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยไปไต้หวันนั้น คาดว่าน่าจะมีทิศทางการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากไต้หวันมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่องในปี 2550 โดยไทยอาจได้รับอานิสงค์ด้านการส่งออกสินค้าไทยไปไต้หวันเนื่องจากไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญรายหนึ่งของไต้หวัน ซึ่งอาจมีการส่งออกสินค้าภาคเกษตรกรรมเพิ่มมากขึ้นอาทิ ยางพารา และ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ส่วนด้านนำเข้า ผู้ประกอบการไทยที่นำเข้าสินค้าจากไต้หวันสามารถได้รับประโยชน์จากมูลค่าสินค้าที่ลดลงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นผลให้สินค้าและวัตถุดิบที่นำเข้าจากไต้หวันมีมูลค่าต่ำลง

การลงทุนจากไต้หวันในไทย…..ภายใต้ปัจจัยบวกหลังการเลือกตั้ง

ด้านการลงทุนจากไต้หวันในไทยในเดือน ม.ค-พ.ย ของปีที่ผ่านมา จำนวนโครงการที่ยื่นขอส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 40 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวม 5,266 ล้านบาท ลดลงจากเดิมในช่วงเดียวกันของปี 2549 ซึ่งมีจำนวนโครงการ 62 โครงการ รวมเป็นมูลค่า 11,167 ล้านบาท โดยโครงการที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนส่วนมากเป็นโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมแร่และเซรามิก รวมถึงอุตสาหกรรมการบริการ ฯลฯ

ทั้งนี้บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า แม้ว่าปีที่ผ่านมา นักลงทุนไต้หวันที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมีการชะลอตัวลง แต่หากการคาดการณ์ที่ว่า พรรคฝ่ายค้านคณะชาติแห่งกั๋วหมินตั่ง ได้ขึ้นมาเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลไต้หวันในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเป็นจริง กอปรกับความมีเสถียรภาพทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นของทั้งไต้หวันและไทยเอง จะทำให้สามารถดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนไต้หวันให้กลับฟื้นคืนมา อีกทั้งไทยอาจได้รับอานิสงค์ในด้านการขยายการลงทุนของไต้หวันตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวัน ซึ่งอาจส่งผลให้การลงทุนจากไต้หวันในไทยเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดมีความเห็นว่า ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างไต้หวันกับจีน อาจส่งผลให้นักลงทุนไต้หวันขยายการลงทุนไปยังจีนเพิ่มมากขึ้นไปอีก ในขณะเดียวกันทางการจีนเองก็คงจะต้อนรับการลงทุนจากไต้หวัน เพราะต้องการที่จะกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไต้หวัน-จีนให้แนบแน่นขึ้นไปอีก ซึ่งประเทศไทยเองก็ไม่ควรมองข้ามผลกระทบที่อาจมีต่อเนื่องไปยังตัวเลขการส่งออกสินค้าของไทยไปยังไต้หวัน โดยอาจทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปยังไต้หวันชะลอตัวลงตามการเพิ่มน้ำหนักของการลงทุนจากไต้หวันในจีน โดยเฉพาะสินค้าในหมวด เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งจากมุมมองผลกระทบด้านลบต่อการลงทุนโดยตรงของไต้หวันที่จะมายังไทยทั้งหมดนี้นำไปสู่โจทย์ที่ทางการไทยควรเร่งเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อรักษาและดึงดูดเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศในระยะยาว

สรุป
โดยสรุปแล้ว ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สส.) ที่เพิ่งผ่านพ้นมาเป็นเพียงสัญญาณการเริ่มต้นสำหรับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไต้หวัน-จีน ซึ่งอาจทำให้แนวโน้มการลงทุนและธุรกิจ ไต้หวัน-จีนไปในทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้งยังอาจส่งผลเชื่อมโยงด้านบวกต่อไทยโดยเฉพาะด้านการส่งออกสินค้าในหมวดเกษตร อาหาร และวัตถุดิบไปยังไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไต้หวัน-จีน อาจจะส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไต้หวันที่จะมายังไทย ทำให้ไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในรูปแบบใหม่ทั้งในด้านการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นภายใต้สายสัมพันธ์อันดีระหว่างไต้หวัน-จีน

แนวโน้มจากผลกระทบต่อไทยที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่จะต้องให้การดูแลและดำเนินมาตรการอย่างเร่งด่วนเพื่อโอกาสทางธุรกิจและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในระยะยาว โดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีความคิดเห็นสำหรับภาครัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ดังนี้คือ :-

• ควรสนับสนุนและผลักดันการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นตัวอันก่อให้เกิดการจ้างงานและการกระจายรายได้ในประเทศมากยิ่งขึ้น โดยวางนโยบายส่งเสริมการลงทุนในภาพรวมให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นการดึงดูดนักลงทุนจากจีนและไต้หวัน เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายทางการแข่งขันจากประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย อาทิ จีน อินเดีย และ เวียดนาม เป็นต้น

• ควรดำเนินการออกแผนการพัฒนาประเทศและกำหนดยุทธศาสตร์ทางการค้าและการลงทุนที่เด่นชัดเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้ยั่งยืน

• ควรเร่งนโยบายด้านการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายในประเทศให้ชัดเจน อีกทั้งควรดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขระบบโลจิสติกส์ให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันและประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศ

• ควรผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ในแขนงต่าง ๆ แก่บุคลากรในประเทศเพื่อรองรับสายงานในแต่ละอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการขยายตัวในอนาคต นอกจากนี้ควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาในภาคธุรกิจต่างๆ ของประเทศ