การปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินของเฟด … ตอกย้ำความกังวลต่อภาวะถดถอย

ภายหลังการประชุมฉุกเฉินที่จัดขึ้น 1 สัปดาห์ก่อนหน้าการประชุมตามกำหนดการปกติที่จะมีขึ้นในวันที่ 29-30 มกราคม 2551 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงร้อยละ 0.75 จากร้อยละ 4.25 มาที่ร้อยละ 3.50 ในวันที่ 22 มกราคม 2551 พร้อมกันนั้น เฟดยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Discount rate ลงร้อยละ 0.75 เช่นกัน จากร้อยละ 4.75 มาที่ร้อยละ 4.00 ทั้งนี้เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯให้รอดพ้นจากความเสี่ยงในช่วงขาลงของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความคิดเห็นต่อการดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างเร่งด่วนและรุนแรงของเฟดในครั้งนี้ ดังต่อไปนี้ :-

เฟดถูกกดดันจากความตื่นตระหนกของตลาดการเงิน
ณ ขณะนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ บ่งชี้ไปในทางลบเป็นอย่างมาก เนื่องจากวิกฤตการณ์ในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ในสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มจะเลวร้ายลงต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากราคาบ้านยังคงเผชิญความเสี่ยงที่จะร่วงลงต่อไป ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ลดน้อยลงได้สะท้อนออกมาสร้างความเสียหายต่อการจ้างงาน และระดับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนสหรัฐฯ ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะส่งผลย้อนกลับไปสร้างความกดดันต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจอีกระลอกหนึ่ง

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ประกาศออกมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2550 ถึงปัจจุบันนั้น สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จาก

ภาคการบริโภคที่ซบเซา ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขยอดค้าปลีกที่ร่วงลงอย่างรุนแรงเกินคาดในเดือนธันวาคม 2550 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ในระดับที่อ่อนแอที่สุดในรอบ 5 ปี แม้ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ก็ตาม
ตลาดแรงงานที่อ่อนแอ ซึ่งสะท้อนจากการพุ่งขึ้นของอัตราการว่างงานสู่ร้อยละ 5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี ในขณะที่การเติบโตของตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรกรรมในเดือนเดียวกันเกือบหยุดชะงักลง โดยตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นในระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2546 เพียง 18,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า การจ้างงานในภาคเอกชนหดตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2546

ภาคการผลิตเริ่มหดตัว ซึ่งสะท้อนจากดัชนีภาคการผลิตของสถาบันจัดการอุปทาน (Institute for Supply Management: ISM) ในเดือนธันวาคม 2550 ที่ร่วงลงต่ำกว่าระดับ 50 (บ่งชี้ถึงภาวะหดตัวในภาคการผลิต) เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในเขตมิด-แอตแลนติกในเดือนมกราคม 2551 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาฟิลาเดลเฟียที่หดตัวลงอย่างรุนแรงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2544 ในขณะที่ ดัชนีภาวะธุรกิจทั่วไป “Empire State” ของธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์กในเดือนเดียวกันปรับตัวลงมากเกินคาด

ข่าวร้ายในภาคการเงิน อาจยังมีอยู่ต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก
แม้ว่าวิกฤติตลาดสินเชื่อจะเริ่มคลี่คลายลงบางส่วน หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ กับธนาคารกลางแห่งอื่นๆ ได้ร่วมมือกันในเดือนธันวาคม 2550 ในการจัดตั้งระบบประมูลเงินกู้ Term Auction Facility หรือ TAF เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมากเข้าสู่ระบบการเงิน โดยสะท้อนได้จากการปรับตัวลงของอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคาร ณ ตลาดลอนดอน (LIBOR) มาอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐฯ (Fed Funds Rate) ในช่วงก่อนการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบฉุกเฉินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า ความเสียหายจากวิกฤติซับไพร์มที่สถาบันการเงินต้องแบกรับอยู่ในขณะนี้ ได้จบสิ้นลงแล้ว ทั้งนี้ ฤดูการประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส 4/2550 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มต้นขึ้นอย่างน่าผิดหวัง เนื่องจากบริษัททางการเงินชั้นนำ อาทิ ซิตี้กรุ๊ปรายงานยอดขาดทุนของบริษัทในไตรมาส 4/2550 สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 9.83 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ เมอร์ริล ลินช์ รายงานยอดขาดทุนสุทธิในไตรมาสเดียวกันที่ 9.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ข่าวด้านลบของสถาบันการเงินสหรัฐฯ อาจจะทยอยถูกเปิดเผยออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่ได้ทำการปรับลดมูลค่าในบัญชีไปแล้ว แต่เนื่องจากต้นตอของปัญหาความอ่อนแอในภาคธนาคารนั้น เกิดจากภาวะถดถอยในภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ซึ่งยังคงรอที่จะผ่านพ้นจุดต่ำสุด และหากสถานการณ์ของภาวะถดถอยมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะหากความเสียหายลุกลามเป็นวงกว้างและกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคตลอดจนคุณภาพของสินเชื่อเพื่อการบริโภครูปแบบอื่นๆ แล้ว อาจส่งผลต่อเนื่องกลายเป็นปัญหาระลอกใหม่สร้างความเสียหายให้แก่สถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หลังจากที่ ตลาดเงินและตลาดพันธบัตรซึมซับข่าวร้ายที่เกี่ยวโยงกับวิกฤติซับไพร์มมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2550 ตลาดหุ้นทั่วโลกได้ดิ่งลงอย่างหนักในช่วงต้นสัปดาห์นี้ (ระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม 2551) เนื่องจากความเป็นไปได้ของการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากความไร้เสถียรภาพของตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ หรือซับไพร์ม) เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ และสถานการณ์เช่นนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยความกังวลดังกล่าวเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นภายหลังจากกรรมการบริหารของธนาคารกลางยุโรปได้ออกมากล่าวเตือนถึงแนวโน้มการชะลอตัวลงมากเกินคาดในยูโรโซน

ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เอนเอียงไปในเชิงที่ผ่อนคลายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
นโยบายการเงิน: การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึงร้อยละ 0.75 ของเฟดในการประชุมฉุกเฉินเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา นอกจากจะบ่งชี้ว่าเฟดมีมุมมองในเชิงลบต่อความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มากกว่าที่เคยประเมินไว้ แล้ว การดำเนินการดังกล่าว ยังสะท้อนถึงท่าทีและความพร้อมของเฟดในการเข้าดำเนินนโยบายการเงินอย่างทันท่วงทีเพื่อที่จะประคับประคองการทรุดตัวลงของเศรษฐกิจและตลาดการเงินของสหรัฐฯ และเรียกฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาโดยเร็ว ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ความยืดหยุ่นในการดำเนินการดังกล่าว เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าเฟดจะยังคงพร้อมทุกเมื่อสำหรับการดำเนินการนโยบายการเงินและมาตรการต่างๆ ในเชิงที่ผ่อนคลายเพิ่มเติมมากขึ้นอีกในอนาคต หากสัญญาณเศรษฐกิจในเชิงลบยังคงปรากฏให้เห็นสืบเนื่องต่อไป โดยมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกในการประชุมวันที่ 29-30 มกราคม 2551 หรือในอีก 1 สัปดาห์ให้หลัง ตามกำหนดการปกติ ถึงแม้ว่าขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันดังกล่าวอาจจะไม่ได้มากถึงร้อยละ 0.75 ก็ตาม

ทั้งนี้ สัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า หรือ Interest Rate Futures ล่าสุด ณ วันที่ 22 มกราคม 2551 บ่งชี้ว่า ตลาดเชื่อมั่นว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก โดยมองว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงร้อยละ 0.50 จากร้อยละ 3.50 มาที่ร้อยละ 3.00 ในการประชุมวันที่ 29-30 มกราคม 2551 ด้วยความเป็นไปได้ถึงเกือบร้อยละ 80 นอกจากนี้ ตลาดล่วงหน้ายังประเมินว่า อัตราดอกเบี้ย Fed Funds อาจจะลดลงสู่ร้อยละ 2.25 ภายในกลางปี 2551 นี้ด้วย ในขณะเดียวกัน ค่ากลาง (Median) ของผลสำรวจความคิดเห็นของ Primary Dealers จำนวน 19 รายที่ประกอบธุรกรรมกับเฟด รวบรวมโดย Reuters ณ 22 มกราคม 2551 บ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ตามวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาลงของเฟดในรอบนี้อาจจะลดลงไปต่ำสุดที่ระดับร้อยละ 2.50 ภายในกลางปีนี้

นโยบายการคลัง: ถึงแม้ว่าตลาดจะตอบรับด้วยท่าทีที่ค่อนข้างผิดหวังกับการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วคราวของรัฐบาลบุชเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา โดยมองว่าเป็นมาตรการช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจที่น้อยและออกมาล่าช้าเกินไป อีกทั้งกว่าที่มาตรการดังกล่าว (ซึ่งครอบคลุมวงเงินรวมประมาณ 1.4-1.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 1 ของจีดีพีสหรัฐฯ ผ่านการปรับลดภาษีให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือน) จะผ่านการพิจารณาของสภาคองเกรสและมีผลบังคับใช้ อาจเป็นในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้าเป็นอย่างเร็ว แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ที่ทางการสหรัฐฯอาจจะใช้นโยบายการคลังในเชิงที่ผ่อนคลายมากขึ้นอีกในระยะถัดไป ทั้งด้วยการเพิ่มขนาดวงเงินความช่วยเหลือและการขยายขอบเขตความช่วยเหลือให้มีความทั่วถึงหรือครอบคลุมผู้บริโภคและนักลงทุนมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางภาวะการแข่งขันกันนำเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพทั้งจากสภาคองเกรสและทำเนียบขาวเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบและสร้างคะแนนนิยมให้กับพรรคของตนก่อนการเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในช่วงปลายปีนี้

สรุป: มุมมองที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯในระยะข้างหน้า
แม้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างฉุกเฉินและรุนแรงของเฟดในวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา อาจเป็นการตอกย้ำมุมมองของตลาดที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยหรือว่าได้เข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้นำมาสู่การคาดการณ์ว่าเฟดคงจะเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกด้วยขนาดที่ค่อนข้างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 โดยดีลเลอร์ชั้นนำส่วนใหญ่คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปที่ร้อยละ 2.50 ภายในกลางปีนี้ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ กอปรกับนโยบายการเงินและนโยบายการคลังของทางการสหรัฐฯที่มีแนวโน้มจะผ่อนคลายมากขึ้นอีกในระยะข้างหน้า ก็อาจนับว่าเป็นข่าวดี เพราะน่าที่จะช่วยเพิ่มโอกาสสำหรับการฟื้นตัวกลับมาของเศรษฐกิจสหรัฐฯได้ในช่วงครึ่งปีหลัง หากการดำเนินการนโยบายทั้งหลายนั้นมีประสิทธิภาพและสามารถช่วยเรียกฟื้นความเชื่อมั่นโดยรวมให้คืนกลับมาได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว และปัญหาสินเชื่อมิได้ลุกลามไปในวงกว้างมากกว่าที่คาดไว้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เกิดขึ้นในรอบนี้ มาจากปัญหาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ซึ่งอาจจะลุกลามและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคสหรัฐฯในวงกว้างซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แตกต่างกับวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เคยเกิดขึ้นในรอบก่อนๆ หน้าที่จำกัดขอบเขตอยู่ที่เพียงบางภาคธุรกิจของสหรัฐฯเท่านั้น ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาผู้บริโภคสหรัฐฯก็มีการใช้จ่ายที่เกินตัวและมีการออมในระดับต่ำอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ดังนั้น ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจประสบกับภาวะตกต่ำเรื้อรังและยาวนานจนผลักดันให้เฟดจำต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมามากกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ ก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งทำให้คงจะต้องติดตามและประเมินความคืบหน้าของสถานการณ์ความเชื่อมั่นและสัญญาณการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯเป็นระยะๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป 