อุตสาหกรรมล้อยางรถยนต์ของจีนและผลกระทบต่อไทย

หลังจากที่จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกหรือ WTO ในปี 2544 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ของจีนได้ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่มีการขยายตัวถึงกว่าร้อยละ 160 ในช่วงระหว่างปี 2545 -2550 คาดว่าภายในปี 2553 จีนจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ถึงปีละ 10 ล้านคัน และมีจำนวนรถยนต์บนท้องถนนถึง 62 ล้านคัน การขยายตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าวช่วยเกื้อหนุนให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตล้อยางสำหรับยานพาหนะประเภทต่างๆ

อุตสาหกรรมล้อยางของจีนเติบโตท่ามกลางการขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดล้อยางในประเทศ ภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดล้อยางของจีนทำให้ผู้ผลิตล้อยางชาวจีนเริ่มหันไปให้ความสำคัญต่อตลาดส่งออกมากยิ่งขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากตลาดในประเทศ ทำให้ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาจีนเองก็ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกล้อยางรายใหญ่รายหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตามในระยะหลังอุตสาหกรรมการผลิตล้อยางของจีนต้องเผชิญกับปัญหาด้านภาพลักษณ์ด้านคุณภาพสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ในช่วงกลางปี 2550 สำนักงานความปลอดภัยด้านการจราจรบนทางหลวงของสหรัฐ (National Highway Traffic Safety Administration, NHTSA) ได้สั่งให้บริษัทนำเข้ายางรถยนต์รายใหญ่ของตนหรือ Foreign Tire Sales เรียกคืนยางรถยนต์กว่า 450,000 เส้นที่ผลิตโดยบริษัทหังโจวจงเช่อรับเบอร์ (Hangzhou Zhongce Rubber) ของจีนเนื่องจากตรวจพบว่าอาจเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ กรณีดังกล่าวได้กลายเป็นคดีฟ้องร้องต่อศาลสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา โดยบริษัทผู้นำเข้าล้อยางได้ฟ้องร้องบริษัทจีนในข้อหาที่บริษัทจีนไม่ได้ใส่ยางในให้แก่ล้อยางตามมาตรฐานที่กำหนด

ในส่วนของไทยเอง ปัจจุบันไทยก็เป็นหนึ่งในฐานการผลิตล้อยางที่ใหญ่ที่สุดในโลก แม้ว่าที่ผ่านมาไทยจะยังไม่เผชิญกับปัญหาด้านคุณภาพล้อยางส่งออกไม่ได้มาตรฐาน แต่ภาครัฐและภาคเอกชนก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ในทางกลับกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรเร่งศึกษากรณีที่เกิดขึ้นกับจีนเพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับการควบคุมคุณภาพการผลิตและการส่งออกล้อยางเพื่อให้ตรงตามมาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติอีกด้วย

อุตสาหกรรมล้อยางจีนก้าวสู่ยุคแห่งการพัฒนาก้าวกระโดด
ที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ยกให้อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเสาหลักของประเทศ และได้มีการเปิดให้ผู้บริโภคชาวจีนมีเสรีภาพในการซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมากขึ้น ความพยายามดังกล่าวของรัฐบาลจีนได้ช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนของจีนเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน ในส่วนของอุตสาหกรรมล้อยาง ปัจจุบันจีนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตล้อยางรายใหญ่ของโลก ทั้งนี้ ล้อยางสำหรับยานพาหนะที่จีนผลิตสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทหลักซึ่งได้แก่ยางธรรมดาและยางเรเดียล ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 ปริมาณการผลิตยางธรรมดาของจีนขยายตัวร้อยละ 21.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 ส่วนการผลิตยางเรเดียลมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 42.2 ยางที่จีนผลิตนอกจากจะป้อนโรงงานผลิตรถยนต์และยานพาหนะประเภทต่างๆแล้ว ยังป้อนตลาดยางอะไหล่ทดแทนยางเก่าที่เสื่อมสภาพ รวมถึงตลาดส่งออกอีกด้วย

ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ท่ามกลางภาวะราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลจีนต้องออกมาตรการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมการใช้พลังงาน และได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของจีนผลิตรถยนต์ที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น มาตรการดังกล่าวได้ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตยางเรเดียลของจีน เนื่องจากยางเรเดียลมีคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่ายางธรรมดาเพราะไม่เพียงแต่จะช่วยประหยัดเชื้อเพลิงเท่านั้น แต่ยังปลอดภัยมากกว่าเพราะสามารถยึดเกาะถนนได้ดีกว่า ปัจจุบันล้อยางที่จีนผลิตได้จะเป็นยางเรเดียลเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นซึ่งถือว่าไม่สูงนัก เนื่องจากการผลิตยาง
เรเดียลต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงซึ่งผู้ผลิตล้อยางท้องถิ่นของจีนเองจำนวนไม่น้อยยังขาดความชำนาญในการผลิต บริษัทท้องถิ่นของจีนเองก็ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และได้เร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยางเรเดียลเพื่อให้ทัดเทียมบริษัทข้ามชาติมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตยางเรเดียลในจีนที่เพิ่มสูงขึ้น และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต อนึ่ง เป็นที่คาดว่าภายในปี 2553 อุปสงค์ยางเรเดียลในจีนจะสูงถึง 210 ล้านเส้นต่อปี จากปริมาณความต้องการล้อยางสำหรับยานพาหนะรวมทั้งสิ้น 300 ล้านเส้นต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณล้อยางทั้งหมดที่ใช้ในจีน

การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตล้อยางของจีน
การขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดล้อยางของจีนทำให้จีนสามารถดึงดูดผู้ผลิตยางรายใหญ่ทั่วโลกไม่น้อยกว่า 20 รายเข้าไปลงทุนในจีน อาทิ บริดจสโตน มิชลิน กู๊ดเยียร์ คอนติเนนตัล เป็นต้น ผู้ผลิตยางข้ามชาติเหล่านี้เข้าสู่ตลาดจีนโดยใช้วิธีร่วมทุนกับผู้ประกอบการของจีนหรือควบรวมกิจการกับผู้ประกอบการรายย่อยของจีนเป็นหลัก ปัจจุบันผู้ผลิตยางข้ามชาติเหล่านี้ได้เข้าไปตั้งโรงงานผลิตยางจำนวนมาก และสามารถครอบครองร้อยละ 80 ของตลาดล้อยางรถยนต์ของจีน ตลาดล้อยางของผู้ประกอบการต่างชาติเหล่านี้เป็นตลาดยางรถยนต์ระดับบน (High-End Market) ซึ่งให้อัตราผลกำไรต่อยอดขายสูงถึงกว่าร้อยละ 20 ในขณะที่ตลาดผู้ผลิตล้อยางรถยนต์ของจีนเองมีอัตราผลกำไรไม่ถึงร้อยละ 10

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ในจีนมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ทำให้ราคารถยนต์ในจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง การแข่งขันดังกล่าวส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายต้องหาช่องทางลดต้นทุนของชิ้นส่วนรถยนต์ และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตยางรายใหม่เข้ามาตีตลาดจีนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตชาวเกาหลีและไต้หวัน ผู้บริโภคชาวจีนเองก็มีแนวโน้มให้ความสำคัญต่อคุณภาพเหนือราคามากยิ่งขึ้น และพร้อมจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ยางคุณภาพระดับสูง ทั้งหมดนี้จะเป็นแรงกดดันให้ผู้ผลิตยางรถยนต์คุณภาพปานกลางของจีนหันมาพัฒนาล้อยางให้มีคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้นและเพิ่มการส่งออกเพื่อความอยู่รอดในธุรกิจ

ความเสี่ยงในอุตสาหกรรมล้อยางของจีน

ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตล้อยางสำหรับยานพาหนะในจีนยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในอนาคต แต่อุตสาหกรรมดังกล่าวก็ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ ซึ่งอาจสรุปได้ดังนี้

ความเสี่ยงด้านโครงสร้างของอุตสาหกรรม

ในปี 2550 จีนมีผู้ผลิตล้อยางยานพาหนะอยู่ประมาณ 370 ราย และกว่า 1 ใน 4 มีฐานการผลิตอยู่ในมณฑลซานตงทางตอนเหนือของจีน ผู้ผลิตยางที่เป็นของคนจีนเองยังมีกำลังผลิตที่น้อยกว่าบริษัทข้ามชาติอยู่มาก โดยผู้ผลิตชาวจีนที่สามารถผลิตล้อยางยานพาหนะได้ปีละกว่า 3 ล้านเส้นมีเพียง 3 รายเท่านั้น ที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 70 ของผู้ผลิตสัญชาติจีนมีกำลังการผลิตน้อยกว่า 5 แสนเส้นต่อปี ทางด้านยอดขาย ผู้ผลิตของจีนเองก็ยังอยู่ฐานะเป็นรองผู้ผลิตชาวต่างชาติเช่นกัน แม้แต่ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของจีนซึ่งได้แก่บริษัทเจียทงก็มียอดขายรวมในตลาดจีนเพียงร้อยละ 8 ของบริษัทมิชลินของจีนเท่านั้น อนึ่ง ผู้ผลิตชาวจีนส่วนใหญ่ยังขาดทั้งเทคโนโลยีและเงินทุนในการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตให้ทัดเทียมบริษัทข้ามชาติ คาดว่าในอนาคตท่ามกลางตลาดล้อยางที่ถูกยึดครองโดยบริษัทข้ามชาติเป็นส่วนใหญ่ ผู้ผลิตยางรายย่อยของจีนเองจะต้องหันมาควบรวมกิจการมากขึ้นเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ส่วนผู้ผลิตชาวจีนที่ไม่สามารถพัฒนาตนเองให้สามารถแข่งขันได้อาจต้องพึ่งพาตลาดยางระดับกลางและระดับล่างที่มีการแข่งขันด้านราคามากขึ้น และยังต้องเสี่ยงต่อการล้มเลิกกิจการอีกด้วย

ความเสี่ยงด้านวัตถุดิบยางพารา

ราคายางพาราในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3- 4 ปีที่ผ่านมา จากปัจจัยต่างๆ อาทิ ตลาดรถยนต์ของจีนและอินเดียที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้มีความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้นมาก กอปรกับราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ราคายางสังเคราะห์ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ทดแทนยางธรรมชาติมีราคาสูงเช่นกัน นอกจากนี้สภาพอากาศของโลกที่มีความผันผวนมากขึ้นยังได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตยางพาราที่จะออกสู่ท้องตลาด ในทางกลับกันจีนเองมีความต้องการยางพาราเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตยางพาราให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ และต้องนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ อาทิ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มากขึ้นทุกปี

เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนยางพาราในประเทศ ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจีนเริ่มจับมือกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว กัมพูชา และพม่า เพื่อทำ Contract Farming โดยประเทศเหล่านี้อนุญาติให้จีนเช่าที่ดินเพื่อทำการเพาะปลูกยางพารานับล้านไร่ คาดว่าอุปทานยางพาราที่ผลิตจาก Contract Farming จะเริ่มให้ผลผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2552 – 2554 เป็นต้นไป และจะช่วยให้จีนลดการพึ่งพาการนำเข้ายางพาราจากต่างประเทศได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นคาดว่าอุปสงค์ยางพาราในช่วงปี 2551-2552 ยังคงสูงกว่าปริมาณยางที่ออกที่ผลิตได้

ความเสี่ยงจากตลาดยานยนต์ในประเทศ

ภาวะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลกและอุปทานน้ำมันที่ตึงตัวในประเทศทำให้รัฐบาลจีนต้องปรับขึ้นราคาน้ำมันในประเทศตั้งแต่เดือน พ.ย. 2550 เป็นต้นมาหลังจากที่ได้ดำเนินนโยบายการตรึงราคาน้ำมันมาหลายปี ต้นทุนน้ำมันที่คาดว่าจะคงระดับสูงอย่างต่อเนื่องอาจทำให้ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งชะลอการตัดสินใจซื้อยานพาหนะออกไปก่อน นอกจากนี้ราคารถยนต์ในตลาดจีนที่มีแนวโน้มลดลงทำให้ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งชะลอการซื้อรถยนต์ออกไปอีกระยะหนึ่งเพื่อรอดูทิศทางราคาก่อนตัดสินใจซื้อ ทั้งหมดนี้อาจส่งผลต่ออุปสงค์รถยนต์รวมถึงชิ้นส่วนล้อยางรถยนต์ในระยะสั้นถึงระยะยาว

ตลาดล้อยางของไทยและการค้าระหว่าง ไทย – จีน

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการผลิตล้อยางของไทยเติบโตขึ้นโดยอาศัยความได้เปรียบของไทยในฐานะที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบยางพารารายใหญ่ของโลกและฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งได้ช่วยผลักดันให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตล้อยางอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน ในปัจจุบัน ผู้ผลิตส่วนใหญ่ในประเทศยังคงเป็นผู้ผลิตขนาดเล็กที่มีเงินทุนไม่มากนัก ส่วนผู้ผลิตล้อยางรายใหญ่ในไทยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากต่างชาติที่มีเงินทุนและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง อาทิ บริดจสโตน กู๊ดเยียร์ และสยามมิชลิน เป็นต้น สำหรับผู้ผลิตขนาดใหญ่และขนาดกลางสัญชาติไทยเองยังมีจำนวนไม่มากนักเช่น ยางโอตานิ ดีสโตน และวีรับเบอร์ ทั้งนี้ ตลาดล้อยางสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะเป็นตลาดระดับบนที่ถูกครอบครองโดยผู้ผลิตล้อยางต่างประเทศหรือยางนำเข้าเป็นหลัก ส่วนตลาดของผู้ใช้ยานพาหนะเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์จะเป็นตลาดระดับกลางลงไปซึ่งครอบคลุมถึงตลาดผู้ใช้รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก รถกระบะ รถรับส่งผู้โดยสารเช่นรถเมล์และรถแท๊กซี่ ฯลฯ ตลาดกลุ่มนี้เป็นตลาดที่มีความอ่อนไหวด้านราคามากกว่าตลาดระดับบน และบ่อยครั้งจะเลือกซื้อล้อยางโดยดูปัจจัยด้านราคาเป็นหลักมากกว่าปัจจัยด้านคุณภาพและยี่ห้อของล้อยาง

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ที่ผ่านมาผู้ผลิตยางของไทยนอกจากจะผลิตยางเพื่อป้อนตลาดในประเทศแล้ว ยังส่งออกยางไปต่างประเทศอีกด้วย ในช่วงเดือน ม.ค. – พ.ย. 2550 การส่งออกล้อยางสำหรับยานพาหนะของไทยคิดเป็นมูลค่ารวม 1,166.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามไทยมีการส่งออกล้อยางไปจีนไม่มากนักเมื่อเทียบกับการส่งออกไปประเทศอื่นๆ โดยในช่วงดังกล่าวไทยส่งออกล้อยางไปจีนรวม 19.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 1.7 ของมูลค่าการส่งออกล้อยางเท่านั้น ส่วนสาเหตุที่ไทยยังส่งออกล้อยางไปจีนไม่มากนัก เนื่องจากจีนเองก็เป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่และเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง อีกทั้งจีนเองก็มีผู้ผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เข้าไปลงทุนผลิตยางทำให้จีนสามารถผลิตยางหลากหลายประเภทและหลากหลายคุณภาพตามความต้องการของตลาด จึงมีการนำเข้าล้อยางจากไทยในปริมาณจำกัด

ด้านการนำเข้า ในอดีตญี่ปุ่นเคยเป็นประเทศที่ไทยนำเข้าล้อยางยานพาหนะมากที่สุด อย่างไรก็ตามในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การนำเข้ายางรถยนต์จากจีนได้เพิ่มสูงขึ้นมาก เฉพาะในช่วงปี 2547 – 2549 การนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 118.5 ต่อปี ส่งผลให้ปัจจุบันจีนกลายเป็นประเทศที่ไทยนำเข้าล้อยางยานพาหนะมากที่สุด โดยประมาณหนึ่งในสี่ของล้อยางที่ไทยนำเข้าจากต่างประเทศเป็นยางที่ผลิตในจีน ทั้งนี้ ไทยมีการนำเข้าล้อยางสำหรับยานพาหนะจากจีนหลากหลายประเภท อาทิ ยาง OTR (Off-The-Road) ซึ่งเป็นยางที่ใช้สำหรับรถลาก รถแทรกเตอร์ เครื่องจักรการเกษตร รวมไปถึงล้อยางสำหรับรถยนต์และจักรยานยนต์อีกด้วย โดยเป็นการนำเข้ายางยี่ห้อต่างๆ ที่ผลิตโดยผู้ผลิตชาวจีนเช่น Superstone, Double Coin และ Aeolus เป็นต้น

ปัจจุบัน ล้อยางนำเข้าจากจีนจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายของตลาดไทยมากนัก แต่ด้วยราคาที่ถูกกว่าล้อยางที่นำเข้าจากประเทศอื่นรวมถึงล้อยางที่ผลิตในไทยเอง จึงทำให้ล้อยางของจีนเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มลูกค้าเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นตลาดระดับกลางและล่างที่นิยมเลือกซื้อล้อยางโดยดูปัจจัยด้านราคาเป็นหลักนอกเหนือจากปัจจัยด้านคุณภาพและยี่ห้อของล้อยาง คาดว่าในอนาคตล้อยางนำเข้าจากจีนจะเข้ามายึดส่วนแบ่งตลาดระดับกลางและล่างมากขึ้น และจะเพิ่มแรงกดดันให้กับผู้ผลิตล้อยางขนาดกลางและขนาดเล็กของไทยซึ่งแต่เดิมมีฐานลูกค้าเป็นกลุ่มผู้ซื้อระดับกลางและล่าง หากผู้ผลิตของไทยเหล่านี้ไม่สามารถลดต้นทุนการผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าและตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น ก็อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงค่อนข้างมาก ส่วนผู้ผลิตล้อยางขนาดใหญ่ของไทยอาจยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักในระยะสั้นเนื่องจากตลาดของผู้ผลิตเหล่านี้เป็นตลาดระดับบนซึ่งจีนยังไม่สามารถเข้าถึงได้

โอกาสและแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมล้อยางของไทย

ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมการแปรรูปยางพาราดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ยางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า อนึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อุตสาหกรรมการผลิตล้อยางในประเทศยังมีโอกาสขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปัจจัยบวกทั้งในด้านวัตถุดิบและโครงสร้างของอุตสาหกรรม และได้เสนอแนวทางสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตล้อยางเพื่อให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนี้

ผู้ประกอบการไทยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตยางเรเดียล

แม้ว่าปัจจุบันผู้ผลิตล้อยางของจีนจะเน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางและล่างเป็นหลัก แต่ความรุดหน้าทางด้านเทคโนโลยีการผลิตล้อยางของจีนจะทำให้จีนสามารถผลิตยางที่มีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งของตลาดระดับกลางได้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตล้อยางขนาดกลางและขนาดเล็กของไทยที่ยังมีตราสินค้าที่ไม่เข้มแข็งมากนัก เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รัฐบาลไทยควรส่งเสริมให้ผู้ผลิตของไทยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดีด้วยต้นทุนที่ลดต่ำลง นอกจากนี้ภาครัฐยังควรส่งเสริมให้ผู้ผลิตของไทยพิจารณาขยายสายการผลิตไปสู่ล้อยางหลากหลายประเภทมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตยางเรเดียลที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น อนึ่ง การผลิตยางประเภทดังกล่าวต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงและอาจจะเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ผลิตล้อยางขนาดเล็กที่ยังมีเงินลงทุนไม่มากนัก ดังนั้นภาครัฐควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านแหล่งเงินทุนและองค์ความรู้ในการผลิตยางประเภทดังกล่าวอีกด้วย

ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้มากขึ้น

จากความได้เปรียบของไทยในฐานะที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกและผู้ผลิตยางธรรมชาติอันดับต้นๆของโลก ทำให้ไทยยังมีโอกาสในการดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตล้อยางในประเทศเพิ่มขึ้น เช่นในปลายปี 2550 ที่ผ่านมา บริษัท Maxxis ของไต้หวันเองก็ได้เล็งเห็นถึงโอกาสของตลาดล้อยางของไทยที่กำลังขยายตัว และได้วางแผนเพิ่มการลงทุนในไทยอีกกว่า 9 พันล้านบาทเพื่อขยายการผลิตล้อยางสำหรับรถยนต์นั่งและรถบรรทุกขนาดเล็ก เป็นต้น ภาครัฐควรพิจารณาให้สิทธิประโยชน์สำหรับบริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทของไทยและส่งเสริมให้มีการร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับผู้ผลิตของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทต่างชาติที่ที่มีความชำนาญในการผลิตยางเรเดียลคุณภาพสูง อันจะเป็นการยกระดับมาตรฐานล้อยางของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น

พัฒนาคุณภาพและสร้างภาพลักษณ์มาตรฐานล้อยางของไทย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกล้อยางของจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนปัจจุบันจีนกลายเป็นผู้ผลิตยางล้อที่สำคัญรายหนึ่งของโลกและเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย อย่างไรก็ตามในปี 2550 ที่ผ่านมา จีนเองต้องเผชิญกับปัญหาภาพลักษณ์คุณภาพของล้อยางหลังจากที่ทางการสหรัฐฯออกมาระบุว่าเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตบนท้องถนน กรณีดังกล่าวได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสินค้าที่ผลิตในจีนเป็นอย่างมาก แม้ว่าเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวจะยังไม่เกิดขึ้นกับล้อยางที่ผลิตในไทย แต่ก็อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตของไทยได้เช่นกัน ภาครัฐควรให้ความสำคัญเร่งด่วนในการควบคุมคุณภาพล้อยางของผู้ผลิตของไทย และพิจารณาตั้งคณะทำงานที่เข้าไปตรวจสอบคุณภาพล้อยางโดยตรง รวมถึงการให้คำชี้แนะแก่ภาคเอกชนถึงคุณภาพล้อยางที่ตรงตามมาตรฐานที่กำหนดเพื่อสร้างภาพลักษณ์คุณภาพล้อยางของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในส่วนของผู้ผลิตเอง ควรมีการประชาสัมพันธ์สินค้าของตนมากขึ้น และเน้นให้ผู้บริโภครับรู้ถึงมาตรฐานความปลอดภัยของล้อยางของตนให้มากขึ้นอีกด้วย
.
ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความปลอดภัยของล้อยาง

ในปัจจุบัน ยังกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางลงไปจำนวนหนึ่งยังนิยมเลือกใช้ล้อยางที่มีราคาถูกเป็นหลักจนบางครั้งอาจจะละเลยมาตรฐานด้านความปลอดภัยของสินค้า การตรวจสอบและควบคุมคุณภาพมาตรฐานของล้อยางที่นำเข้าจากต่างประเทศเช่นจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฯลฯ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อปกป้องผู้บริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ภาครัฐควรกวดขันด้านการลักลอบนำเข้าล้อยางผ่านทางชายแดนให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันควรมีการสุ่มตรวจสภาพของล้อยางบนท้องถนนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ยานพาหนะเช่นรถจักรยานยนต์ รถบรรทุก รถเมล์และรับจ้าง เป็นต้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างมั่นใจว่าจะไม่มีการนำล้อยางที่ไม่ได้คุณภาพหรือเสื่อมคุณภาพมาใช้บนท้องถนนอันจะนำมาซึ่งอุบัติเหตุและความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ภาครัฐยังควรชี้แนะแนวทางในการเลือกซื้อล้อยางให้แก่ผู้บริโภค โดยให้ความสำคัญต่อมาตรฐานความปลอดภัยให้มากขึ้น

เร่งศึกษามาตรฐานการทดสอบคุณภาพล้อยางตันและผลักดันให้เป็นมาตรฐานสากล

ล้อยางตันเป็นล้อยางประเภทหนึ่งที่มีความเหมาะสมสำหรับการใช้บนพื้นผิวหยาบและในงานอุตสาหกรรมบางประเภทเพื่อลดความเสี่ยงจากการระเบิดของล้อและเพื่อความคงทน คาดว่าในปี 2551 มูลค่าตลาดล้อยางตันอาจสูงถึง 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบันประเทศศรีลังกาได้อาศัยความได้เปรียบในฐานะผู้ผลิตยางพารารายใหญ่รายหนึ่งของโลก และได้พัฒนาอุตสาหกรรมล้อยางตันของตนจนกลายมาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกด้วยส่วนส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 25 ทั้งนี้ยางประเภทดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักในอัตราส่วนที่สูงกว่ายางลม ส่วนผู้ผลิตของไทยเองก็มีความสามารถในการผลิตยางประเภทดังกล่าวอีกด้วย จึงเป็นสินค้ายางที่ภาครัฐควรให้ความสนใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จวบจนปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดที่มีการกำหนดมาตรฐานการทดสอบความคงทนของล้อยางตัน

ในส่วนของไทยเองสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เริ่มพัฒนามาตรฐานการทดสอบและข้อกำหนดคุณภาพล้อยางตันเพื่อใช้ในการวัดระดับมาตรฐานคุณภาพของล้อยางตันโดยเฉพาะ ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าภาครัฐควรเร่งศึกษามาตรฐานการทดสอบล้อยางตัน และผลักดันให้มาตรฐานดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของสากล ซึ่งหากขั้นตอนดังกล่าวสัมฤทธิ์ผล ไม่เพียงแต่จะเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรผู้ปลูกยางของไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตล้อยางตันของไทยสู่ระดับสากล และช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์คุณภาพของล้อยางไทยอีกด้วย

สรุป

ในปี 2550 รัฐบาลไทยเริ่มให้สิทธิพิเศษด้านการลงทุนแก่ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายเพื่อส่งเสริมโครงการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการล้อยางมากขึ้น คาดว่า อุตสาหกรรมการผลิตล้อยางของไทยจะได้รับอานิสงค์จากโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไป แม้ว่าปัจจุบันผู้ผลิตล้อยางของไทยจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากล้อยางนำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีนมากขึ้น แต่อุตสาหกรรมดังกล่าวก็ยังมีโอกาสแข่งขันได้ โดยอาศัยการชูภาพลักษณ์ล้อยางที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย อนึ่ง การสร้างภาพลักษณ์ล้อยางคุณภาพจะประสบผลสำเร็จตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่นั้น ยังต้องขึ้นอยู่กับความตื่นตัวของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ควรเร่งให้ความสำคัญต่อการควบคุมคุณภาพสินค้าอีกด้วยเพื่อให้ล้อยางของไทยสามารถรักษาระดับมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับของสากล