ปาล์มน้ำมัน: อุปสงค์เพิ่มจากการบริโภคและไบโอดีเซล…กดดันให้ราคาวัตถุดิบสูง

จากการที่ครม. มีมติเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา อนุมัติให้นำเข้าน้ำมันปาล์มโอเลอินดิบ (Crude Palm Olein) ปริมาณ 30,000 ตัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ผลิตน้ำมันพืช โรงงานผลิตไบโอดีเซล และผู้บริโภคน้ำมันพืช รวมทั้งแก้ปัญหาการสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติจากความตื่นตระหนกและความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำมันพืชเพื่อการบริโภคในร้านจำหน่ายปลีกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีจนถึงช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากมาตรการผ่อนคลายการนำเข้าดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบันสถานการณ์อุปทานน้ำมันปาล์มเริ่มผ่อนคลายลง ทำให้กระทรวงพลังงานยืนยันการบังคับใช้น้ำมันไบโอดีเซล B2 ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 จากเดิมผ่อนผันให้ใช้ในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยให้คงสัดส่วนการผสมน้ำมันดีเซลกับไบโอดีเซลบริสุทธิ์หรือ B100 อยู่ที่ร้อยละ 1.5-2 อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้อนุมัติให้มีการปรับราคาน้ำมันปาล์มตามต้นทุนวัตถุดิบได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดสูงกว่าราคาน้ำมันถั่วเหลืองเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี

ทั้งนี้จากมาตรการแก้ปัญหาของภาครัฐดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการบริหารความสมดุลระหว่างความต้องการใช้ไบโอดีเซลและอุปทานของน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค ในขณะที่ปัจจุบันปาล์มน้ำมันเข้ามามีบทบาทในฐานะพืชพลังงานเพื่อนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลมากขึ้น ส่งผลให้ทั่วโลกรวมทั้งไทยเองมีความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันขยายตัว จากการที่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูง กอปรกับเป็นช่วงปลายฤดูกาลผลิตปาล์มน้ำมันทำให้เกิดปัญหาการแย่งกันซื้อวัตถุดิบผลปาล์มระหว่างผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากน้ำมันปาล์มกับโรงงานผลิตไบโอดีเซล รวมทั้งผู้ผลิตหันไปผลิตน้ำมันบรรจุปี๊ปแทนการผลิตแบบบรรจุขวด ทำให้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันพืช ผู้ผลิตต้องแบกภาระราคาปาล์มน้ำมันสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น จนต้องเรียกร้องขอปรับขึ้นราคาน้ำมันพืชบรรจุขวดดังกล่าว แต่ในระยะยาวหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงานต้องหารือกันเพื่อรับมือปัญหาในระยะยาวต่อไป ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ประเด็นปัญหาของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไว้ดังนี้

น้ำมันปาล์ม…สัดส่วนร้อยละ 65 ของตลาดน้ำมันพืช
อุตสาหกรรมน้ำมันพืชมีมูลค่าตลาดรวม 9,000 ล้านบาท แบ่งเป็นน้ำมันปาล์มสัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 65 รองลงมาเป็นน้ำมันถั่วเหลืองร้อยละ 25 น้ำมันรำข้าวร้อยละ 6 ที่เหลือร้อยละ 4 เป็นน้ำมันพืชอื่นๆ อาทิ น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดทานตะวัน และน้ำมันมะกอก เป็นต้น สำหรับความต้องการใช้น้ำมันปาล์มแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ความต้องการใช้เพื่อเป็นน้ำมันพืชบริโภคโดยตรงสัดส่วนร้อยละ 59 ที่เหลือร้อยละ 41 ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (ไม่รวมความต้องการผลิตเป็นไบโอดีเซล) อาทิ อุตสาหกรรมสบู่ร้อยละ 10 ขนมขบเคี้ยวร้อยละ 9 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปร้อยละ 6 นมข้นหวานและนมจืดร้อยละ 5 ครีมเทียมร้อยละ 2 เนยขาวและเนยเทียมร้อยละ 1 ที่เหลือร้อยละ 8 เป็นอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ พลาสติก เครื่องสำอาง น้ำมันหล่อลื่น และยางรถยนต์ เป็นต้น

จากสถานการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันในปัจจุบันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้พืชน้ำมันเพื่อเป็นพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง อ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งล้วนเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้รถ และลดการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้มีความต้องการน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นมากทั้งตลาดเพื่อการบริโภคและตลาดพลังงานทดแทน จนปัจจุบันเกิดปัญหาการแข่งขันกันครอบครองวัตถุดิบระหว่างผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและโรงงานไบโอดีเซล ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบปรับเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของความต้องการใช้

ราคาน้ำมันปาล์มดิบพุ่งตามความต้องการของโลกและตลาดในประเทศขยายตัว
 ความต้องการตลาดโลกสูงจากอุปสงค์ของจีนและอินเดีย

จากการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มของโลกปี 2550/51 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 อีกทั้งสต็อกน้ำมันปาล์มในตลาดโลกลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ปี 2551 คาดว่า ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดมาเลเซียจะปรับเพิ่มร้อยละ 4-6 จากปี 2550 เฉลี่ยอยู่ที่ 25,000 บาท/ตันเป็น 26,000 บาท/ตัน จากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มที่ขยายตัวสูงโดยเฉพาะในตลาดจีนและอินเดีย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีภาวะเศรษฐกิจเติบโตในอัตราสูงในระยะหลายปีติดต่อกัน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาน้ำมันปาล์มดิบจะยังคงสูงต่อไปอีก เนื่องจากความต้องการน้ำมันเพื่อบริโภคและความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซลในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และแรงกดดันด้านอุปทานจากการที่มาเลเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลกประสบปัญหาผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ

ความต้องการภายในประเทศเพิ่มจากมาตรการบังคับใช้ไบโอดีเซล B2
ความเคลื่อนไหวด้านราคาน้ำมันปาล์มของไทยเปลี่ยนแปลงตามราคาของตลาดโลก ขณะที่ช่วงไตรมาสแรกปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทยออกมาสู่ตลาดน้อยตามวัฎจักรการให้ผลผลิต ส่งผลให้ราคาผลปาล์มดิบในประเทศ ณวันที่ 23 มกราคม 2551 อยู่ที่ 6-6.30 บาท/กิโลกรัม ปรับเพิ่มจากปี 2549 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 2.39 บาท/กิโลกรัม นับเป็นราคาที่สูงที่สุดในประวัติการณ์และมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นอีก สำหรับราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ ณวันที่ 15 มกราคม 2551อยู่ที่ 36.75-37 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจาก 31.50 บาท/กิโลกรัม ในเดือนธันวาคมปีที่แล้วกว่าร้อยละ 17.5 ซึ่งเป็นผลจากแรงกดดันของปัญหาราคาน้ำมันที่ทยอยปรับขึ้นโดยตลอด และความต้องการนำไปผลิตไบโอดีเซลเพื่อรองรับการบังคับใช้น้ำมันไบโอดีเซล B2 ภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ทั้งนี้คาดว่าแนวโน้มปี 2551 ความต้องการไบโอดีเซลจะเพิ่มสูงถึง 1.2 ล้านลิตร/วัน ขณะที่คาดว่า กำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบของไทยปีนี้อยู่ที่ 1.3-1.4 ล้านตัน แบ่งเป็นนำมาบริโภค 0.9 ล้านตัน ที่เหลือ 0.4 ล้านตันนำไปผลิตไบโอดีเซล

นอกจากนี้ยังมีน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งเป็นน้ำมันพืชอีกประเภทหนึ่งที่เป็นที่นิยมบริโภคในประเทศก็มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย เนื่องจากผลผลิตถั่วเหลืองโลกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน และคาดว่า ราคาถั่วเหลืองจะปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกับทิศทางการเพิ่มของราคาพืชน้ำมันอื่นๆ โดยราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 479 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันเมื่อเดือนธันวาคมปี 2550 เป็น 576 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันในช่วงเดือนมกราคม 2551 หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 โดยมีสาเหตุหลักจากปัญหาภาวะความแห้งแล้งของแหล่งผลิตสำคัญของโลกและความต้องการถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีความต้องการใช้ถั่วเหลืองมาผลิตเป็นไบโอดีเซลมากขึ้น ส่งผลให้ระดับราคาถั่วเหลืองโลกในฤดูผลิตปี 2550/51 มีแนวโน้มสูงขึ้น สำหรับถั่วเหลืองในประเทศปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ 19.40 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีที่แล้วที่มีราคา 13 บาท/กิโลกรัม

ราคาวัตถุดิบพุ่ง…ผู้ผลิตน้ำมันพืชขอปรับราคา
จากภาวะความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ผลิตน้ำมันพืชเพื่อบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ต้นปี 2550 เป็นต้นมา ทำให้ผู้ผลิตเสนอปรับราคาขายปลีกน้ำมันพืชเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่ขยับตัวสูงขึ้น โดยปลายปี 2550 ระดับราคาจำหน่ายน้ำมันพืชบรรจุขวดทั้งน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีถึงร้อยละ 30 และร้อยละ 18 ตามลำดับ ขณะที่มาตรการที่ผ่านมาของภาครัฐกำหนดโควตาปริมาณนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบซึ่งผูกพันกับ WTO แต่อนุญาตให้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบหากราคาภายในประเทศมีราคาต่ำ ทำให้ปี 2550 การส่งออกขยายตัวทั้งปริมาณและมูลค่าเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเกือบเท่าตัว กอปรกับในช่วงไตรมาสแรกเป็นช่วงที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดน้อย ทำให้ราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงและส่งผลกดดันตลาดน้ำมันพืช จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคประสบปัญหาสินค้าน้ำมันพืชบรรจุขวดที่วางขายในท้องตลาดขาดตลาด ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขน้ำมันปาล์มอนุมัติให้องค์การคลังสินค้าเป็นผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มโอเลอินดิบ 30,000 ตัน โดยนำเข้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และจัดสรรให้สมาชิกสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์มตามสัดส่วนการรับซื้อผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ โดยให้นำเข้าภายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้เพื่อไม่ให้ตรงกับช่วงฤดูกาลผลิตคือช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ซึ่งมาตรการดังกล่าวถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อไม่ให้มีการสต็อกสินค้ามากกว่าปกติและบรรเทาความขาดแคลนของทั้งผู้บริโภคน้ำมันพืชและผู้ผลิตน้ำมันไบโอดีเซล เพราะปัจจุบันเหลือสต็อกน้ำมันปาล์มดิบไม่เกิน 82,000 ตันเท่านั้น จากภาวะปกติที่มีประมาณ 1.1-1.6 แสนตัน

ทั้งนี้น้ำมันปาล์มดิบส่วนใหญ่นำเข้าจากมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นหลัก ภายใต้ความตกลง AFTA โดยเสียภาษีอัตราร้อยละ 5 ทั้งนี้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดมาเลเซีย ณวันที่ 15 ม.ค. 2551 อยู่ที่ 34.15 บาท/กก. ขณะที่น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มีราคาสูงกว่าน้ำมันปาล์มดิบอีก 1.50 บาท ซึ่งหากรวมภาษีนำเข้าแล้วอาจทำให้ราคานำเข้ากับราคาในประเทศไม่ต่างกันมากนัก ขณะที่มาเลเซียซึ่งเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ของโลกก็กำลังประสบปัญหาภาวะขาดแคลนสต็อกน้ำมันปาล์มเช่นกัน

สำหรับสินค้าน้ำมันพืชจัดเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมราคา และในช่วงที่ผ่านมากรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์อนุมัติปรับขึ้นราคาน้ำมันพืชไปแล้วถึง 2 ครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมปี 2550 กล่าวคือ ในเดือนพฤศจิกายนกรมการค้าภายในอนุมัติปรับราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดจาก 38 บาท/ลิตร เป็น 41 บาท/ลิตร และเดือนธันวาคมปรับจาก 41 บาท/ลิตรเป็น 43.50 บาท/ลิตร ส่วนราคาน้ำมันถั่วเหลืองเดือนพฤศจิกายนปรับจาก 40 บาท/ลิตรเป็น 43 บาท/ลิตร และเดือนธันวาคมปรับราคาจาก 43 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ 45.50 บาท/ลิตร ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2551 กรมการค้าภายในได้อนุมัติปรับราคาเฉพาะน้ำมันปาล์มบรรจุขวดจาก 43.50 บาท/ลิตร เป็น 47.50 บาท/ลิตร เท่ากับว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีการปรับราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดแล้ว 9.50 บาท/ลิตร และน้ำมันถั่วเหลืองปรับเพิ่มขึ้น 5.50 บาท/ลิตร ทำให้ล่าสุดน้ำมันปาล์มมีราคาสูงกว่าราคาน้ำมันถั่วเหลืองเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตสินค้าหลายรายการซึ่งใช้น้ำมันพืชโดยเฉพาะน้ำมันปาล์มในกระบวนการผลิต เช่น ปลากระป๋อง นมข้นหวาน นมจืด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวต่างก็ได้รับผลกระทบจากการต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเสนอให้มีการถอดน้ำมันพืชออกจากรายการสินค้าควบคุม โดยปล่อยให้ราคาจำหน่ายปรับตามต้นทุนที่แท้จริงเพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาด ขณะที่ภาครัฐกำลังพิจารณาเกี่ยวกับข้อเรียกร้องดังกล่าว

มาตรการของรัฐ…แก้ปัญหาเฉพาะหน้า
แนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลโดยการอนุมัติให้นำเข้าน้ำมันปาล์มโอเลอินดิบจำนวน 30,000 ตันภายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 นับว่าเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เหมาะสม โดยช่วยบรรเทาความกังวลเรื่องภาวะการขาดแคลนจากความต้องการใช้และอุปทานน้ำมันปาล์มที่ไม่สมดุลกัน รวมทั้งทำให้ปัญหาการสต็อกสินค้าจากความวิตกกังวลลดลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศยังคงปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก และมีผลกระทบต้นทุนน้ำมันปาล์มบรรจุขวดเพิ่มขึ้น ทำให้กระทรวงพาณิชย์ประกาศอนุมัติให้ปรับเพิ่มราคาจำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตรแล้ว และพิจารณาศึกษาผลกระทบของราคาน้ำมันปาล์มที่มีต่อผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ต้องใช้น้ำมันพืชเป็นวัตถุดิบทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตสินค้าอุปโภคต่างๆ และธุรกิจบริการด้านอาหาร โดยคาดว่า คงจะพิจารณาความเหมาะสมให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้น

บทสรุป
จากความต้องการปาล์มน้ำมันเพื่อใช้ในการบริโภคทั้งโดยทางตรงอุตสาหกรรมต่อเนื่องและใช้ผลิตไบโอดีเซล ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังเผชิญแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทุกประเทศจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งพลังงานทดแทนเพื่อการพึ่งพิงการใช้น้ำมัน ทำให้ความต้องการพืชน้ำมันเพื่อนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลขยายตัวขึ้น ส่งผลให้เกิดการแย่งวัตถุดิบระหว่างผู้ผลิตในอุตสาหกรรมน้ำมันพืชและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากน้ำมันปาล์มและผู้ผลิตไบโอดีเซล เกิดผลกระทบไปยังอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แนวโน้มราคาน้ำมันปาล์มดิบจะยังทรงตัวในระดับสูงต่อไป จากความต้องการผลิตเพื่อบริโภคและความต้องการผลิตไบโอดีเซลที่เพิ่มขึ้นมาก

แม้ว่าการอนุมัตินำเข้าน้ำมันปาล์มดิบในช่วงที่ขาดแคลนนั้นจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เหมาะสม แต่จากการที่ปัญหาปาล์มน้ำมันได้ทวีความสำคัญขึ้นตามลำดับ และได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิตในภาคเกษตร การบริโภคอุปโภคสินค้าที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ ตลอดจนด้านนโยบายพลังงานของประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงพาณิชย์ ควรเร่งดำเนินการวางกรอบแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มแบบบูรณาการโดยประสานข้อมูลและการดำเนินงานระหว่าง 3 กระทรวงอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะวางแผนความต้องการใช้น้ำมันปาล์มกับปริมาณผลผลิตให้สอดคล้องกันเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น ปานกลางและระยะยาวอย่างเหมาะสมต่อไป โดยอาจจะต้องครอบคลุมถึงประเด็นในเรื่องการขยายพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งประเด็นผลกระทบจากการเปิดเสรีตามภาระผูกพันที่ประเทศไทยมีตามข้อตกลง AFTA และ WTO