ย้อนรอยภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ…ไทยเตรียมรับมือ

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds rate) ลงมากถึงร้อยละ 0.75 ในการประชุมที่จัดขึ้นอย่างฉุกเฉินในวันที่ 22 มกราคม 2551 และต่อเนื่องด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งอีกร้อยละ 0.50 ในการประชุมตามกำหนดการปกติระหว่างวันที่ 29-30 มกราคม 2551 ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้ง 2 ครั้ง (รวมร้อยละ 1.25) ในรอบประมาณ 1 สัปดาห์ ได้ส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดปรับตัวลงอย่างรวดเร็วจากระดับร้อยละ 4.25 (หลังการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550) มาอยู่ที่ร้อยละ 3.00 (หลังการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 29-30 มกราคม 2551) ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4.00 นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่ระดับดังกล่าวยังเป็นเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำที่สุดในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมอีกด้วย

และหากนับรวมการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในช่วงปลายปี 2550 (กันยายน ตุลาคม และธันวาคม 2550) เป็นต้นมานั้น จะพบว่า เฟดได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้วทั้งสิ้นร้อยละ 2.25 ในช่วงวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ รอบ 5 เดือนที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2551) อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวยังคงไม่เพียงพอที่จะทำให้นักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกมั่นใจได้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถหลีกเลี่ยงหรือหลุดพ้นจากภาวะถดถอย (Recession) ได้ และล่าสุดข้อมูล GDP ของสหรัฐฯ ประจำไตรมาส 4/2550 สะท้อนให้เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 ต่อปี ซึ่งลดลงจากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการวิเคราะห์และเปรียบเทียบรูปแบบของการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 ดังนี้

ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ

จากการศึกษาวัฏจักรของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา จะพบว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว จะต้องใช้เวลาประมาณ 4-7 ไตรมาสหลังจากนั้นกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้น ซึ่งในที่นี้หมายถึงมีอัตราการขยายตัวของ GDP เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Quarter on Quarter) เป็นบวกติดต่อกัน 2 ไตรมาส โดยระยะเวลาและรูปแบบของการฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยในแต่ละครั้งมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับต้นตอปัญหาที่กดดันเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา อาทิ ช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญกับปัญหาฟองสบู่แตกในหุ้นกลุ่มไฮเทค (Dot.Com Bubble) ในช่วงปี พ.ศ. 2543 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5-6 ไตรมาส (โดยเริ่มจากไตรมาส 2/2543 จนถึงไตรมาส 3/2544) ก่อนจะฟื้นตัวกลับมามีอัตราการขยายตัวเหนือร้อยละ 0.00 ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2544

พิจารณาย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า ปัญหาฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น เคยเป็นชนวนที่ทำให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 ตามลำดับ โดยภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจทั้ง 2 ครั้งล้วนเป็นผลพวงมาจากวิกฤตการณ์สถาบันเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย (Savings and Loan Associations) หรือที่รู้จักกันในนาม S&L Crisis โดยในช่วงต้นทศวรรษ 1980 นั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อเป็นตัวเลข 2 หลัก ซึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤตน้ำมันในช่วงปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) ในขณะที่ การคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟดด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่ฐานะทางการเงินของ Savings and Loans ที่ระดมเงินทุนระยะสั้นซึ่งต้นทุนจะเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะตลาดเงิน แต่ปล่อยกู้ระยะยาวในสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มักจะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นแบบคงที่ ทั้งนี้ วิกฤต S&L ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1980 นี้ ได้ฉุดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้เข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นระยะเวลา 6-7 ไตรมาส (โดยเริ่มจากไตรมาส 1/2524 จนถึงไตรมาส 1/2526) ก่อนที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2526

ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 ผลพวงจากวิกฤต S&L กลับมาสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงประจวบเหมาะกับการเกิดสงครามอิรัก โดยผลกระทบจากทั้ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าว ได้ฉุดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาส 1/2533 ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 1/2534 เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะเห็นว่าภาวะถดถอยในรอบนี้น่าจะจัดเป็น “ภาวะถดถอยทางเทคนิค” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหดตัวลง (ติดลบ) ติดต่อกันอย่างน้อย 2 ไตรมาส โดยในครั้งนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ใช้เวลา 4 ไตรมาสเท่านั้นในการฟื้นตัวกลับมา

วัฏจักรฟองสบู่แตกกับการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

หากพิจารณาภาวะถดถอยใน 3 ช่วงเวลาที่กล่าวข้างต้น โดยเรียงจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 และภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในช่วงปี ค.ศ. 2000-2001 จะพบว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตอบรับกับเหตุการณ์ภาวะถดถอยทั้ง 3 ช่วงด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่แตกต่างกัน แต่รอบระยะเวลาของวัฏจักรการผ่อนคลายนโยบายการเงินใกล้เคียงกัน กล่าวคือ

ภาวะถดถอยช่วงต้นทศวรรษ 1980 (วิกฤตน้ำมัน + วิกฤต S&L)
วัฏจักรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ กินเวลาประมาณ 3 ปี โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้นร้อยละ 4.75 จากระดับร้อยละ 13.00 ในเดือนพฤศจิกายน 2524 ลงสู่ระดับร้อยละ 8.25 ในเดือนธันวาคม 2527

 ภาวะถดถอยในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึง ต้นทศวรรษ 1990 (สงครามอิรัก + วิกฤต S&L)
วัฏจักรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ กินเวลามากกว่า 3 ปี โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมทั้งสิ้นร้อยละ 6.81 จากระดับร้อยละ 9.81 ในเดือนพฤษภาคม 2532 ลงสู่ระดับร้อยละ 3.00 ในเดือนกันยายน 2535 และเป็นที่น่าสังเกตว่า จำนวนครั้งของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในรอบนี้ มากกว่าจำนวนครั้งของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเศรษฐกิจถดถอยในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ถึงประมาณ 2 เท่า

ภาวะถดถอยช่วงค.ศ.2000-2001 (ฟองสบู่ในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี)
วัฏจักรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ กินเวลาประมาณ 3 ปีเช่นกัน โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมทั้งสิ้นร้อยละ 5.50 จากระดับร้อยละ 6.50 ในเดือนพฤษภาคม 2543 ลงสู่ระดับร้อยละ 1.00 ในเดือนมิถุนายน 2546

วิกฤตซับไพร์ม…ความเป็นไปได้ของการเกิดภาวะถดถอย

จากเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในแต่ละช่วงเวลานั้น มีความซับซ้อนและมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป โดยภาวะถดถอยที่เกิดจากวิกฤต S&L นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นเวลายาวนานมากที่สุด และหากพิจารณาเปรียบเทียบต้นตอของวิกฤต S&L ในช่วงต้นและปลายทศวรรษ 1980 เทียบกับวิกฤตซับไพร์มในครั้งนี้ จะพบว่า มีความคล้ายคลึงกันคือ มีชนวนของปัญหาอยู่ที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นหลังจากภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านตัวเลขการหดตัวลงของยอดขายบ้าน โดยในช่วงวิกฤต S&L ต้นทศวรรษ 1980 ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐฯ หดตัวลงถึง 28 เดือนติดต่อกัน (เดือนพฤศจิกายน 2521 – เดือนกุมภาพันธ์ 2524) ในขณะที่ วิกฤตซับไพร์มในรอบนี้ ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐฯ หดตัวลงแล้ว 25 เดือนติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ตัวเลขภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ยังคงรอเวลาที่จะผ่านพ้นจุดต่ำสุดต่อไปอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ปัญหาของวิกฤตซับไพร์มในรอบนี้ มีความคล้ายคลึงกับปัญหาของวิกฤต S&L ตรงที่ชนวนของปัญหาเกิดขึ้นมาจากความไม่มีเสถียรภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์และปัญหาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งการบริโภคภาคเอกชนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 70 ของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างวิกฤตการณ์ทั้ง 2 รอบอยู่ที่ ในวิกฤต S&L นั้น สถาบันการเงินประเภท Savings and Loans เป็นสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด ซึ่งผลที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นก็คือ สถาบันการเงินประเภท Savings and Loans กว่าพันแห่งจากทั้งหมดราวสี่พันแห่งต้องทยอยปิดตัวลง ในขณะที่ วิกฤตซับไพร์มในรอบนี้มีความแตกต่างออกไป เนื่องจากความเสียหายทางการเงินไม่เพียงจะเกิดขึ้นกับบริษัทปล่อยกู้จำนองในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่สถาบันการเงินอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งหมายความรวมถึง ธนาคารชั้นนำ นักลงทุนสถาบัน และกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ที่ถือครองตราสารที่หนุนหลังด้วยสินเชื่อด้อยคุณภาพก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

และหากประเมินผลกระทบของวิกฤตซับไพร์มในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า ความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในรอบนี้อยู่ในระดับที่สูงมาก และมีความเป็นไปได้ที่ผลพวงของปัญหาอาจลุกลามออกไปกระทบต่อสถาบันการเงินชั้นนำหลายประเภท ซึ่งรวมถึง ธนาคาร บริษัทประกันตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบัน ตลอดจนกองทุนเพื่อการลงทุนประเภทต่างๆ ผ่านการเสื่อมค่าลงของตราสารทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งได้นำไปสู่การปรับลดมูลค่าในบัญชีของตราสารหนี้และตราสารอนุพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ของสถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐฯ แล้วหลายแห่ง

สถานการณ์อาจจะเลวร้ายลงไปอีกหากตลาดการเงินยังคงขาดเสถียรภาพเนื่องจากความเชื่อมั่นยังไม่กลับคืนมา และทำให้สถาบันการเงินชั้นนำที่กำลังเผชิญปัญหาต้องทำการผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นของตนเองให้กับลูกหนี้พร้อมๆ กับการควบคุมการปล่อยสินเชื่อประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้มีมาตรฐานที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุด วิกฤตซับไพร์มในครั้งนี้ ก็อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องเข้าสู่ “ภาวะชะลอตัว/ถดถอย” ไปอย่างน้อยอีก 4-6 ไตรมาส ซึ่งก็จะสะท้อนให้เห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจต้องทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องไปอีกเช่นกัน ทั้งนี้ สัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า (Fed Funds Futures) ล่าสุด ณ วันที่ 30 มกราคม 2551 สะท้อนการคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ย Fed Funds อาจลดลงไปสู่ร้อยละ 2.25 ภายในกลางปีนี้

บทสรุป

จากการศึกษาวัฏจักรของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา พบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะต้องใช้เวลาประมาณ 4-7 ไตรมาสในการฟื้นตัวขึ้นหากเศรษฐกิจปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอย และธนาคารกลางสหรัฐฯ ตอบรับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับภาวะถดถอยด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งระดับของการผ่อนคลายนโยบายการเงินมีความแตกต่างกันไปตามต้นตอของปัญหาและความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

และเมื่อทำการเปรียบเทียบชนวนของการเกิดวิกฤตซับไพร์มกับวิกฤต S&L จะพบว่า วิกฤตเศรษฐกิจทั้ง 2 ครั้งนั้นมีต้นตอมาจากปัญหาของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดการเงินจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดเนื่องจากปัญหาความไร้เสถียรภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ (ซึ่งได้ลุกลามไปยังตลาดสินเชื่อทั่วโลก การปรับลดมูลค่าทางบัญชีและผลประกอบการที่อ่อนแอของสถาบันการเงินชั้นนำหลายแห่ง และล่าสุดกำลังส่งกระทบต่อไปยังอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทประกันตราสารหนี้ที่กำลังได้รับความเสียหายจากการปรับลดมูลค่าในบัญชีครั้งใหญ่ของตราสารหนี้และตราสารอนุพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ซับไพร์ม) อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐฯ ในขณะที่ ความเสียหายทางการเงินที่ทยอยปรากฏออกมาในงบดุลของสถาบันการเงิน ก็อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดการเงิน และอาจทำให้สถาบันการเงินต้องทำการคุมเข้มมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภคในรูปแบบอื่นๆ (นอกเหนือไปจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย) ซึ่งในท้ายที่สุด ความเสี่ยงของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากปัญหาดังกล่าวมาทั้งหมดได้ส่งผลกระทบกลับไปยังการบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70 ของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

และแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และนโยบายการคลังของรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้เอนเอียงไปในเชิงที่ผ่อนคลายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว แต่ดูเหมือนว่า ความเสี่ยงของการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ต่อไป ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบการประชุมตามปกติและแบบฉุกเฉินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองทางเศรษฐกิจในเชิงลบของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งได้รับการสนันสนุนจากประธานาธิบดีบุช ที่ได้รับความเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2551 ด้วยคะแนนที่ท่วมท้นนั้น อาจต้องเผชิญความล่าช้าในการพิจารณาในวุฒิสภาในขั้นตอนถัดไป ซึ่งก็จะทำให้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวกลายเป็นประเด็นถกเถียงทางการเมืองก่อน แทนที่จะถูกเร่งประกาศออกมาเป็นข่าวดีของผู้บริโภคสหรัฐฯ นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางการคืนเงินภาษียังถูกวิจารณ์โดยนายพอล ครุกแมนว่า แผนการดังกล่าวอาจไม่มีประสิทธิภาพมากนักในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการคืนเงินภาษีดังกล่าว (ผู้มีรายได้น้อยกว่า 75,000 เหรียญสหรัฐฯ) อาจเป็นกลุ่มผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่ไม่ได้กำลังประสบกับความเดือดร้อนทางการเงิน ซึ่งเงินภาษีที่ได้รับคืนไปนั้นอาจถูกนำไปเก็บเป็นเงินออมและจ่ายหนี้มากกว่าจะถูกนำมาจับจ่ายใช้สอย

ดังนั้น หากประกอบภาพทั้งหมดเข้าด้วยกัน ก็พบว่า ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ช่วงตกต่ำยาวนานจนอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่คาดก็ยังคงมีอยู่ โดยแม้ว่าตลาดการเงินได้รับรู้ข่าวร้ายที่เกี่ยวเนื่องกับวิกฤตซับไพร์มในครั้งนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงไม่สามารถประเมินระดับความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัดส่วนสูงถึงประมาณ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น แม้ว่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 12.8 ของการส่งออกโดยรวมในปี 2550 (ลดลงจากสัดส่วนประมาณ 16.1 ในปี 2547) อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า ตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยังคงมีความสำคัญต่อภาคส่งออกของไทย หากพิจารณาถึงผลทางอ้อมที่ปรากฏผ่านการส่งออกสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางไปยังประเทศคู่ค้าของไทยเพื่อที่จะนำไปผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายที่มีจุดหมายปลายทางคือตลาดสหรัฐฯ โดยหากย้อนกลับไปในปี 2543-2544 ซึ่งช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญกับภาวะถดถอยครั้งล่าสุด จะพบว่า ภาคส่งออกของไทยหดตัวลงถึงร้อยละ 7.1

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างของตลาดส่งออกของไทยที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน โดยตลาดส่งออกอื่นๆ อาทิ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ตลอดจน บางประเทศในยุโรป และตะวันออกกลาง เติบโตได้ดีและมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ก็อาจช่วยลดผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตระหนักถึงประเด็นความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวในแถลงการณ์ประจำปีที่ระบุถึง แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่าเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ และธปท.จะยึดกรอบนโยบายการเงินที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อไม่ขยายตัวเกินกว่าเป้าที่กำหนดไว้ ดังนั้นตลาดการเงินและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องคงจะต้องติดตามความคืบหน้าของพัฒนาการของวิกฤตการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป เนื่องจากวิกฤตดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังค่าเงินดอลลาร์ฯ ตลอดจนตลาดการเงินอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้