โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ รุกยุทธศาสตร์พัฒนาสารสนเทศ รวมข้อมูลอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของไทยทั้งระบบ จัดทำเป็นดัชนีสร้างระบบเตือนภัยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยใช้เป็นเข็มทิศพัฒนาธุรกิจ ย้ำข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว เข้าถึง เป็นต้นทุนสำคัญสำหรับผู้ประกอบการในยุคการแข่งขันไร้พรมแดน
รศ.ณรงค์ วรงศ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน ในฐานะผู้ดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เปิดเผยว่า นอกจากปัญหาด้านการขาดแคลนช่างฝีมือแม่พิมพ์ ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี และการขาดอำนาจต่อรองของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยแล้ว ปัญหาการขาดแคลนข้อมูลอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ที่ถูกต้อง แม่นยำ เข้าถึงได้ง่าย เป็นอีกอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถรับรู้สถานการณ์ แนวโน้ม แม้กระทั่งสภาพการแข่งขัน ที่แท้จริงได้ เนื่องจากในอดีตยังไม่มีหน่วยงานหรือสถาบันใดรวมรวมและติดตามข้อมูลอุตสาหกรรมแม่พิมพ์อย่างต่อเนื่อง
“ ตัวอย่างเช่น จากรายงานสภาวะอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย พบว่ามีโรงงานแม่พิมพ์ที่ตั้งอยู่ในเขตภาคกลางและภาคตะวันออกมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตแม่พิมพ์โลหะ ที่เป็นโรงงานขนาดเล็ก และกลาง มีมูลค่าการนำเข้าแม่พิมพ์มากกว่าส่งออกถึง 4-5 เท่า เป็นต้น ซึ่งหากมีการศึกษาและจัดทำดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมในประเด็นต่างๆ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการและภาครัฐให้ทราบถึงสภาวการณ์ที่แท้จริงของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ จะสามารถช่วยให้วางแผนการตัดสินใจรองรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม ส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายเป็นอย่างดี ” รศ.ณรงค์ กล่าว
โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ จึงได้กำหนดให้การพัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์เป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งของโครงการฯ เพื่อสร้างเป็นฐานข้อมูลสำหรับ ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้อ้างอิง หรือเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนได้แม่นยำขึ้น โดยสารสนเทศอุตสาหกรรมแม่พิมพ์นี้จะครอบคลุมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิต ผู้ใช้ ผู้ค้า และผู้จำหน่ายวัตถุดิบและเครื่องจักร รวมถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง โดยนำเสนอผ่านเว็บท่า www.thaimould.com ซึ่งผู้ประกอบการหรือบุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาค้นหาข้อมูลได้สะดวกและรวดเร็ว เปิดให้ใช้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมา และจะมีการเพิ่มเติมและปรับปรุงข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
รศ. ณรงค์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ ล่าสุดโครงการฯ ได้จัดให้มีการสัมมนา “การระดมสมอง ผู้ประกอบการ เพื่อจัดทำดัชนีอุตสาหกรรมแม่พิมพ์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงถึงความ จำเป็นที่ต้องมีการจัดทำดัชนีอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ และอธิบายถึงขั้นตอนในการจัดทำดัชนี ผลของดัชนีที่ได้ และระบบเตือนภัยอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ต่างๆ เข้าร่วมสัมมนาให้ข้อมูลเป็นมาก ทั้งนี้ตลอดปี พ.ศ.2551 โครงการฯ จะจัดเก็บข้อมูล ผู้ประกอบการแม่พิมพ์ต่อเนื่องทุกไตรมาส และเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว จะนำไปบรรจุในสารสนเทศ สำหรับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.thaimould.com เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป สามารถใช้ประโยชน์ต่อไป ”