พลาสติกชีวภาพ ตลาดโตตามกระแสโลกร้อน…บวกแรงหนุนกรีนโอลิมปิกในจีนปี 2551

จากปริมาณการใช้พลาสติกและโฟมทั่วโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนกลายเป็นปัญหาขยะส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทั้งนี้ ไทยมีปริมาณขยะประเภทพลาสติกและโฟมสูงกว่าปีละ 2.3 ล้านตัน ซึ่งพลาสติกจากปิโตรเคมีเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายนานหลายร้อยปี และหากนำมาเผาทำลายจะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกจนนำไปสู่ภาวะโลกร้อน ซึ่งขณะนี้โลกกำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากปริมาณการใช้พลาสติกที่คาดว่าจะสูงขึ้นในอนาคต ทำให้ผู้คนทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทำให้มีการคิดค้นพลาสติกชีวภาพซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถย่อยสลายได้ง่าย รวมทั้งช่วยลดงบประมาณของรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกได้อีกด้วย ขณะเดียวกันในโลกยุคใหม่ก็มีแนวโน้มการค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าแนวโน้มปริมาณความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพจะขยายตัวสูงขึ้นจากกระแสห่วงใยทั่วโลกเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน และแรงผนวกจากนโยบายการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ในจีนในเดือนสิงหาคม ปี 2551 ซึ่งกำหนดให้บรรจุภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งของที่ระลึกที่ใช้ในการจัดการแข่งขันกีฬาต้องผลิตจากพลาสติกชีวภาพเพื่อประกาศเจตนารมณ์ตามนโยบาย Green Olympic

สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค หากไทยสามารถดึงศักยภาพด้านวัตถุดิบมันสำปะหลังมาพัฒนาและแปรรูปเป็นแป้งมันสำปะหลัง และต่อยอดการผลิตพลาสติกชีวภาพให้เกิดการพัฒนาเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อวิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญในการที่ไทยควรเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพดังนี้

ความสำคัญของพลาสติกชีวภาพ
พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) เป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยกระบวนการทางชีวภาพ ซึ่งสามารถแบ่งตามวัตถุดิบที่ใช้ได้ออกเป็น 2 ประเภท คือ พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ผลิตจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (petroleum-based biodegradable plastics) และพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ผลิตจากวัตถุดิบมวลชีวภาพ (bio-based biodegradable plastics) ซึ่งในปัจจุบันพลาสติกประเภทหลังกำลังได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งนี้วัตถุดิบมวลชีวภาพ (biomass) ที่นำมาใช้ผลิตพลาสติกชีวภาพได้มาจากผลผลิตทางการเกษตร อาทิ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าว และอ้อย เป็นต้น และพืชเหล่านี้ล้วนมีส่วนประกอบของแป้ง (คาร์โบไฮเดรต) น้ำตาล (กลูโคส) และเส้นใย (เซลลูโลส) ซึ่งใช้เป็นองค์ประกอบหลักในการนำมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพ จากนั้นจึงนำมาผ่านกระบวนการผลิตทั้งกระบวนการต้นน้ำ กระบวนการกลางน้ำ และกระบวนการปลายน้ำ จนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ได้แก่ บรรจุภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ภาชนะใส่อาหารและเครื่องดื่ม ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องมือและวัสดุทางการแพทย์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ เป็นต้น

ในส่วนของรัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพซึ่งกำลังเป็นกระแสที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ ทำให้รัฐบาลมีมติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ปี 2549 มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และองค์การความร่วมมือทางวิชาการแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี (German Technical Cooperation: GTZ) ร่วมมือกันจัดทำแผนที่นำทางเพื่อพัฒนาและผลักดันให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเป็นอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่ (New Wave Industries) เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าใหม่ ( Value Creation) ให้กับวัสดุธรรมชาติ และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งในระยะยาวจะก่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาแก่พืชผลการเกษตรของไทย โดยเสนอแผนพัฒนาอุตสาหกรรรมพลาสติกชีวภาพระยะเวลา 5 ปี (ปี 2550-2554) วงเงินงบประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยกำหนดเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมทั้งเป้าหมายด้านวัตถุดิบ เป้าหมายด้านเทคโนโลยี เป้าหมายด้านอุตสาหกรรมและธุรกิจการค้า และเป้าหมายเชิงนโยบายเพื่อช่วยผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ประเมิน ว่า ภายในอีก 5 ปีข้างหน้ามูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทยจะอยู่ที่ระดับ 5,500 ล้านบาท และจะช่วยลดปัญหาการจัดการกำจัดผลิตภัณฑ์พลาสติกได้ปีละกว่า 500 ล้านบาท

พลาสติกชีวภาพในตลาดโลก
 แนวโน้มความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพทั่วโลกจะขยายตัวแบบก้าวกระโดด

ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกมีปริมาณการใช้พลาสติกสูงถึงปีละ 200 ล้านตัน และมีอัตราการเติบโตร้อยละ 5 ต่อปี เนื่องจากพลาสติกจัดเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติน้ำหนักเบา ทนทาน ราคาถูกและสามารถนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ง่ายทำให้เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ขณะที่ปริมาณการใช้พลาสติกชีวภาพยังคงมีสัดส่วนน้อยเพียง 7 แสนตันต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.4 ของปริมาณการใช้พลาสติกทั้งหมดทั่วโลก แต่จากกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติและความตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกัน ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในตลาดโลกมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นมาก โดยมีปริมาณความต้องการใช้ทั่วโลก ในปี 2550-2551สูงถึง 500,000 ตันต่อปี และมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 70 เทียบกับปี 2548 โดยเฉพาะตลาดสำคัญซึ่งมีปริมาณการใช้พลาสติกชีวภาพขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้คาดการณ์ ว่า ตลาดสหภาพยุโรปมีแนวโน้มปริมาณการใช้พลาสติกชีวภาพ 40,000-50,000 ตันต่อปี (ขยายตัวร้อยละ 20) ส่วนสหรัฐฯมีปริมาณความต้องการใช้ 70,000-80,000 ตันต่อปี (ขยายตัวร้อยละ 16)และตลาดญี่ปุ่นมีปริมาณความต้องการใช้ 15,000 ตันต่อปี (ขยายตัวร้อยละ 100)

ตลาดพลาสติกชีวภาพสำคัญของโลก
สถานการณ์ปัจจุบันพลาสติกชีวภาพมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้หลายประเทศหันมาส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกชีวภาพอย่างจริงจังเพื่อยกระดับการผลิตพลาสติกชีวภาพในระดับอุตสาหกรรมต่อไป สำหรับประเทศที่เป็นผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพในตลาดโลก ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมันนี ฝรั่งเศส อิตาลีและญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งมีกระบวนการผลิตครบวงจร ประกอบกับทั่วโลกสนับสนุนการใช้พลาสติกชีวภาพในระดับนานาชาติตามนโยบายด้านการอนุรักษ์สิ่งแวล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (UN Millennium Development Goals) สำหรับตลาดที่สำคัญของพลาสติกชีวภาพในระดับโลก ได้แก่

-สหรัฐฯ มีการตั้งเป้าหมายการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 12 ในปี 2553 และเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ในปี 2573

-สหภาพยุโรป หลายประเทศต่างให้การสนับสนุนการรณรงค์ให้ประชาชนใช้พลาสติกชีวภาพมากขึ้นตามนโยบายของกลุ่มอียูเกี่ยวกับการพัฒนาพลาสติกชีวภาพที่สามารถลดปัญหาปริมาณก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงตามพิธีสารเกียวโต

-บราซิล ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานต้นแบบผลิตพลาสติกชีวภาพในบราซิลซึ่งเป็นพลาสติกชนิด PHAs โดยใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิต เนื่องจากบราซิลเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ทำให้เล็งเห็นศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นการต่อยอดให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้แก่ประเทศของตนในอนาคต

-ญี่ปุ่น มีความพยายามเตรียมลงทุนโครงการผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA และเข้าไปลงทุนผลิตพลาสติกชีวภาพจากมันสำปะหลังในเวียดนาม

-จีน ปัจจุบันธุรกิจพลาสติกชีวภาพในประเทศจีนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีบริษัทรายใหญ่หลายบริษัทซึ่งเป็นบริษัทซึ่งจีนร่วมทุนกับต่างชาติ อาทิ เบลเยี่ยม และเกาหลี เป็นต้น และขณะนี้จีนมีโรงงานต้นแบบเพื่อผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA แล้ว รวมทั้งมีมาตรการกำหนดให้กีฬาโอลิมปิกที่จะจัดขึ้นที่ประเทศจีนในเดือนสิงหาคมปีนี้เป็น Green Olympic โดยกำหนดให้บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ถุงขยะ และของที่ระลึกต้องผลิตจากพลาสติกชีวภาพทั้งหมด สำหรับมาตรการล่าสุดเกี่ยวกับการจัดการพลาสติกของทางการจีนที่จะนำมาบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน ปี 2551 โดยมีคำสั่งห้ามผลิต จำหน่าย และแจกถุงพลาสติกขนาดบางกว่า 0.025 มิลลิเมตร รวมทั้งห้ามร้านค้าทุกประเภทแจกถุงพลาสติกให้กับลูกค้า ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาสภาพแวดล้อม และต้องการลดปริมาณการใช้น้ำมันเพื่อนำมาผลิตเป็นพลาสติกซึ่งแต่ละปีจีนมีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นทุกปี จากนโยบายดังกล่าวที่ทางการจีนนำมาใช้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ทั่วโลกเห็นว่าจีนตระหนักและเห็นความสำคัญของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากที่ผ่านมาทั่วโลกต่างจับตามองจีนว่าเป็นประเทศที่มีจุดอ่อนเรื่องการรักษาสภาพแวดล้อมมาโดยตลอด และหากสัมฤทธิผลก็จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศจีนได้ยั่งยืนในระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าจากปัจจัยเอื้อหลายประการจะช่วยส่งผลให้แนวโน้มความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพจะขยายตัวต่อไปได้อย่างมีศักยภาพ ทั้งจากกระแสความใส่ใจต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของคนทั่วโลก ขณะเดียวกันพลาสติกชีวภาพนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยต่อสุขอนามัยในการบริโภค อีกทั้งไม่ต้องพึ่งพิงวัตถุดิบจากน้ำมันปิโตรเลียม ในขณะที่พลาสติกต้องใช้วัตถุดิบจากน้ำมันซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดและใช้แล้วหมดไป และสถานการณ์ที่ผ่านมาราคาเม็ดพลาสติกที่ยังคงผันผวนและยังคงปรับราคาสูงขึ้นตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลให้พลาสติกชีวภาพได้รับอานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าว

โอกาสและความพร้อมของพลาสติกชีวภาพในไทย
 จุดแข็งของไทยมีวัตถุดิบมันสำปะหลังมากได้เปรียบด้านราคาแป้งมันสำปะหลังดิบ
ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบมวลชีวภาพในการผลิตพลาสติกชีวภาพได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ผลผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสมในการนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวคือ มันสำปะหลัง ซึ่งไทยสามารถผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังได้เป็นอันดับต้นของโลก สำหรับในปี 2550/51 ไทยมีผลผลิตมันสำปะหลัง ราว 28 ล้านตัน ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 3.9 ทำให้มันสำปะหลังเป็นพืชที่มีความเป็นไปได้และเหมาะสมมากที่สุดในการนำมาผลิตพลาสติกชีวภาพ เนื่องจากเมื่อนำมาแปรรูปจะทำให้ได้แป้งมันสำปะหลังดิบซึ่งมีราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบกับราคาของแป้งดิบชนิดอื่น สำหรับราคาแป้งมันสำปะหลังดิบในตลาดโลกปี 2550 อยู่ที่ระดับ 270-290 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ขณะที่ราคาแป้งดิบประเภทอื่น ได้แก่ แป้งข้าวโพด แป้งสาลี และแป้งมันฝรั่ง เป็นต้น ยืนอยู่ที่ระดับ 300-500 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน

จุดแข็งของไทยด้านอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกที่มีศักยภาพการแข่งขันสูง
อุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ครบวงจรและมีศักยภาพสูงในตลาดโลก ดังจะเห็นได้จากการที่ไทยมีอุตสาหกรรมการขึ้นรูปพลาสติกจัดอยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ทำให้เป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยที่จะต่อยอดไปยังการผลิตพลาสติกชีวภาพได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกและอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกชีวภาพมีกระบวนการผลิตหลักๆ แตกต่างกันไม่มากนัก

ภาครัฐมีนโยบายผลักดันพลาสติกชีวภาพอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางยุทธศาตร์และศึกษาโอกาสความเป็นไปได้ในการพัฒนาพลาสติกชีวภาพของไทยทั้งการแสวงหาความร่วมมือกับต่างชาติทั้งการวิจัยถ่ายทอดเทคโนโลยีต่อกัน และการร่วมลงทุนกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ล่าสุดมีการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างประเทศ โดยบริษัทจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เข้ามาลงทุนผลิตกรดแลคติกในไทยเพื่อนำไปป้อนการผลิตเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพต่อไป และภาครัฐเตรียมเสนอเงินทุนสนับสนุนให้บริษัทเอกชนไทยและบริษัทจากญี่ปุ่นร่วมมือกันจัดตั้งโรงงานเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA ขึ้นในเมืองไทย ตลอดจนดำเนินการจัดตั้งสมาคมพลาสติกชีวภาพไทยเพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิตพลาสติกชีวภาพ และร่วมจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพตามนโยบายการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยหันมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรรมใหม่ที่มีอนาคตมากขึ้น

ปัญหาและอุปสรรคของพลาสติกชีวภาพในไทย
อย่างไรก็ตาม การยอมรับต่อผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของผู้บริโภคขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยสำคัญ กล่าวคือ ปัจจัยที่1) ความเข้าใจตลอดจนการตระหนักรับรู้เกี่ยวกับปัญหาและความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค ส่วนปัจจัยที่2) คือ ปัจจัยราคา ซึ่งหากพลาสติกชีวภาพมีราคาถูกลง ก็จะส่งผลให้คนหันมานิยมใช้พลาสติกชีวภาพกันอย่างกว้างขวางขึ้น ทั้งนี้สามารถแบ่งประเด็นการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยดังนี้

กระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพต้องใช้เทคโนโลยีค่อนข้างสูง สำหรับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของไทยยังมีปัญหาการพัฒนาเพื่อยกระดับเทคโนโลยีการผลิต โดยส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพจากบริษัทต่างชาติเพียงไม่กี่รายแล้วนำมาผ่านกระบวนการขึ้นรูปภายในประเทศ แม้ปัจจุบันก็เริ่มมีผู้ผลิตไทยบางรายที่สามารถคิดค้นเทคโนโลยีการผลิตของตนเองได้ แต่ยังมีปัญหาต้นทุนการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพมีราคาสูง ซึ่งปัจจุบันราคาของเม็ดพลาสติกชีวภาพยังคงสูงกว่าราคาเม็ดพลาสติกทั่วไปประมาณ 3 เท่า สำหรับแนวทางของรัฐในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ คือ การแสวงหาความร่วมมือกับต่างชาติ ทั้งการร่วมวิจัยเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพจากพืชผลการเกษตรให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนการร่วมลงทุน การสร้างตลาด การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาและให้ความรู้แก่บุคลากร อีกทั้งภาครัฐยังสนับสนุนการนำเข้าเทคโนโลยีโดยการลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรในการผลิต ตลอดจนพยายามส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักและใส่ใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งนี้หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้ธุรกิจพลาสติกชีวภาพสามารถขยายตัวต่อไปได้ในอนาคต

พื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังของไทยยังขยายไปได้ไม่มาก ที่ผ่านมาพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังของไทยยังขยายตัวไม่มากนัก สำหรับในปี 2551 คาดว่า พื้นที่เก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียงร้อยละ 0.82 เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนในช่วงที่ผ่านมา แต่คาดว่า เกษตรกรจะหันมาปลูกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐในการส่งเสริมการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง

สำหรับปัญหาที่ไทยประสบเกี่ยวกับพื้นที่เพาะปลูกพืชของไทยที่ไม่สามารถขยายให้ทันเพียงพอกับความต้องการวัตถุดิบมันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้นมากทั้งในส่วนของความต้องการใช้เพื่อบริโภคเป็นอาหาร ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ความต้องการใช้เพื่อเป็นเอทานอล และความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ จนอาจส่งผลให้เกิดจากการแย่งชิงวัตถุดิบมันสำปะหลังกันในอนาคต ดังนั้นทางออกของปัญหาดังกล่าวคือ การเร่งปรับปรุงพัฒนามันสำปะหลังสายพันธุ์ดี ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ขณะเดียวกันไทยเองก็มีโอกาสขยายพื้นที่เพาะปลูกไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยการทำ Contract Farming มากขึ้น และส่งเสริมการพัฒนาทักษะการบริหารจัดการแปลงเพาะปลูกอย่างเหมาะสม เพื่อขยายตลาดตามปริมาณความต้องการใช้มันสำปะหลังที่จะเพิ่มขึ้นต่อไป

สรุป
จากปัญหาปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่น้ำมันปิโตรเลียมซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป ประกอบกับกระแสความตระหนักต่อการรักษาสภาพแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งความใส่ใจต่อความปลอดภัยในการบริโภคทำให้หลายประเทศต่างตื่นตัวหันมาผลิตคิดค้นและพัฒนาการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพมากขึ้น เนื่องจากพลาสติกชีวภาพมีข้อดีหลายอย่าง ทั้งการเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และใช้วัตถุดิบจากมวลชีวภาพซึ่งได้มาจากพืชผลทางการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าว และอ้อย เป็นต้น ทำให้พลาสติกชีวภาพไม่ต้องพึ่งพิงวัตถุดิบจากน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งสถานการณ์ภาวะราคาน้ำมันนับวันจะยิ่งผันผวนและมีแนวโน้มปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าว จะส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกชีวภาพทั้งในระดับโลกและในส่วนของประเทศไทยด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ประเด็นที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทยคือ การที่ไทยมีจุดแข็งด้านความพร้อมของวัตถุดิบมันสำปะหลังซึ่งนำมาแปรรูปเป็นแป้งมันสำปะหลังดิบแล้วจะมีความได้เปรียบด้านต้นทุนเมื่อเปรียบเทียบกับราคาแป้งดิบชนิดอื่นมาก ประกอบกับไทยยังมีศักยภาพในด้านอุตสาหกรรมพลาสติกขั้นปลายน้ำในการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างนวัตกรรมใหม่และพัฒนาการผลิตจนนำไปสู่การผลิตพลาสติกชีวภาพในระดับอุตสาหกรรมต่อไป โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งของการผลิตขั้นต้นน้ำ โดยการส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ดี ตลอดจนปรับปรุงการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น และสนับสนุนการขยายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังไปยังประเทศใกล้เคียงในรูปแบบ Contract Farming เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอกับความต้องการใช้ที่ขยายตัวมากทั้งจากการใช้บริโภคเป็นอาหาร การใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ การใช้ผลิตเอทานอล และการใช้ผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้ อย่างไรก็ตาม การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของไทยกำลังอยู่ในขั้นการพัฒนาทักษะความชำนาญในการผลิต และยังไม่สามารถผลิตได้มากเพียงพอแก่ความต้องการใช้ ทำให้ยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพจากบริษัทต่างชาติ อีกทั้งต้นทุนการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพยังคงสูงเมื่อเทียบกับเม็ดพลาสติกสังเคราะห์ที่ได้จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่หากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันผลักดันนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอย่างเป็นระบบ โดยการร่วมมือกับต่างชาติในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี การส่งเสริมการร่วมทุนกัน การพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีของบุคลากร รวมทั้งสนับสนุนการนำเข้าเทคโนโลยีโดยการลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร และสนับสนุนการปลุกกระแสความสำนึกที่ดีของผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจัยดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกชีวภาพของไทยสามารถขยายตัวได้อย่างมีศักยภาพในอนาคต