TICON เดินเครื่อง TPARK เต็มสูบ ทุ่มงบกว่า 3 พันล. พัฒนาศูนย์กระจายสินค้าครบวงจรเพื่อให้เช่า

TICON ผลักดันโลจิสติกส์ พาร์ค ‘TPARK’ เดินหน้าเต็มพิกัด หลังทุ่มงบ กว่า 3 พันล้านบาท พัฒนาพื้นที่ 450 ไร่บนถนนบางนา-ตราด สร้างเขตอุตสาหกรรมโลจิสติคส์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า คลังสินค้าและโรงงานอุตสาหกรรมครบวงจร ชูจุดเด่นทั้งทำเลที่ตั้งเหมาะกับการกระจายสินค้า ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ขณะที่รูปแบบของคลังสินค้าก็สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดีด้วยงบกว่า 1 พันล้าน ลุยพัฒนาโครงการพร้อมขยายพื้นที่เพิ่ม

นายวีรพันธ์ พูลเกษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON เปิดเผยถึงความคืบหน้าของแผนการลงทุนในการสร้างเขตอุตสาหกรรมโลจิสติคส์แบบครบวงจร เพื่อเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า คลังสินค้าและโรงงานอุตสาหกรรม หรือ TICON LOGISTICS PARK (TPARK) ว่าหลังจากที่ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ บริษัท ไทคอน โลจิสติคส์ พาร์ค จำกัด ทุนจดทะเบียน 1 พันล้านบาท โดยได้ซื้อที่ดินแห่งใหม่จากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) จำนวน 450 ไร่ บนถนนบางนา-ตราด กม.39 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ต้นปี 2549 เป็นต้นมา ด้วยมูลค่าเงินลงทุน กว่า 3 พันล้านบาทนั้น ขณะนี้ TPARK ได้ก่อสร้างจนสามารถให้บริการได้แล้ว โดยลูกค้ารายแรกที่เข้าไปเช่าพื้นที่ ได้แก่ บริษัท MITS Logistics ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัท MitsuiSoKo ได้เข้าไปใช้คลังสินค้าในพื้นที่เพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน (White Goods) จากทวีปยุโรป นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการของ TPARK นั้น มีทั้งกลุ่มผู้ให้บริการโลจิสติคส์ และ กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ เช่น บริษัท Takata-Toa จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผู้ผลิตเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัยและพวงมาลัยสำหรับกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น บริษัท NEC Logistics (ประเทศไทย) จำกัด ผู้กระจายสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือนไปยังเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร บริษัท Chantasia จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายชุดชั้นในสตรีไปต่างประเทศ และ บริษัท LG Electronics (ประเทศไทย) จำกัด ก็เป็นอีกหนึ่งผู้เช่าที่ใช้คลังสินค้าเพื่อเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าเพื่อการส่งออก เป็นต้น

“การลงทุนสร้าง TPARK เกิดจากการที่ TICON ต้องการรองรับความต้องการใช้พื้นที่เพื่อเป็นคลังสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นของลูกค้า โดยกลุ่มลูกค้าหลักของทางบริษัท ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนอยู่ถึงประมาณ 50% รวมถึงลูกค้ากลุ่มยานยนต์อีก ประมาณ 20% ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าจากประเทศญี่ปุ่นถึง 50% รองลงมาเป็นยุโรปและสิงคโปร์ ที่คาดว่าจะเข้ามาใช้บริการ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ให้การส่งเสริมธุรกิจนี้อย่างมาก ซึ่งถือเป็นปัจจัยสนับสนุนอีกทางหนึ่งด้วย” นายวีรพันธ์กล่าว

สำหรับแผนงานในปี 2551 นั้น จะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท ในการเดินหน้าขยายธุรกิจ ประกอบด้วย ส่วนแรก ขยายพื้นที่ Logistics Park ที่มีอยู่แล้ว 3 แห่ง คือ โครงการ TPARK บางนา ตั้งอยู่บนถนน บางนา-ตราด กม. 39 โครงการ TPARK วังน้อย ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน กม. 55 และ โครงการ TPARK แหลมฉบัง ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 7 ทางแยกเข้าท่าเรือแหลมฉบัง

โดยโครงการ TPARK บางนา เป็นโครงการแรกที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)ให้การส่งเสริมเมื่อปี 2550 ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ดินขนาด 450 ไร่ที่ขณะนี้เพิ่งใช้พื้นที่ไปเพียง 40,000 ตารางเมตร โดยปีนี้จะขยายพื้นที่อีก 50,000 ตารางเมตร ทำให้ในปี 2551 จะมีการพัฒนาพื้นที่เพิ่มเป็นจำนวนทั้งสิ้น 90,000 ตารางเมตร ทั้งนี้ ลูกค้าหลักของโครงการดังกล่าวจะเป็นกลุ่มลูกค้าจากภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้ประกอบการโลจิสติคส์ ที่ประกอบกิจการนำเข้าและส่งออกทั้งทางอากาศ และ ทางน้ำ โดยประเภทของธุรกิจนั้น มีทั้งกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้าอุตสาหกรรม และ สินค้าอุปโภคบริโภค

“เราคาดว่า ในปี 2552-2553 ที่บางนาจะเป็นจุดสำคัญในการกระจายสินค้าไปยังกทม.และส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งโครงการ TPARK บางนา ได้มีการจัดตั้งเขตปลอดอากร(Customs Free Zone) ขึ้นเป็นที่แรก โดยลูกค้าที่มาใช้บริการส่วนใหญ่จะมาจากโรงงานอุตสาหกรรมย่านบางนา บางปะกง ฉะเชิงเทรามากขึ้น”

โครงการ TPARK วังน้อย เป็นโครงการโลจิสติคส์ พาร์ค โครงการที่ 2 ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน กม. 55 พื้นที่ของโครงการทั้งหมดกว่า 200 ไร่ ปัจจุบันมีลูกค้ารายแรกได้ทำการเซ็นต์สัญญาเช่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคลังสินค้าแบบห้องเย็นก็จะแล้วเสร็จพร้อมใช้ในปลายเดือนพฤษภาคมปีนี้

ส่วนโครงการ TPARK แหลมฉบัง เป็นโครงการโลจิสติคส์ขนาดย่อม ซึ่งปัจจุบันมีคลังสินค้าสร้างแล้วเสร็จขนาด 20,000 ตารางเมตร และมีผู้เช่าเข้าใช้พื้นที่แล้ว ซึ่งใน ขณะนี้ก็กำลังขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 30,000 ตารางเมตร

นายมานพ เจริญขจรกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทคอน โลจิสติคส์ พาร์ค จำกัด หรือ TPARK ผู้ให้บริการคลังสินค้า เพื่อให้เช่า และพัฒนาเขตอุตสาหกรรมโลจิสติคส์ กล่าวถึงโครงการ TPARK ว่ามีจุดเด่นที่สำคัญหลายด้าน อาทิเช่น ทำเลที่ตั้ง ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของคลังสินค้า เพราะเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ กับท่าเรือแหลมฉบัง ที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมชายฝั่งตะวันออก (Eastern Seaboard) นอกจากนี้ ยังอยู่ใกล้กับท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิอีกด้วย ซึ่งจุดนี้เอง ทำให้คลังสินค้าของ TPARK เป็นคลังสินค้าที่เหมาะแก่การเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางบก และการขนส่งทางน้ำ

ขณะเดียวกัน ยังมีจุดเด่นด้านตัวอาคารคลังสินค้าที่ได้ออกแบบอย่างเหมาะสมกับกิจกรรมภายในคลังสินค้า รูปแบบของตัวอาคารจะคำนึงถึงระยะห่างของช่วงเสา ความสามารถในการรับน้ำหนักของพื้น ความสูงของอาคาร จำนวนประตูสำหรับขนถ่ายสินค้า และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก ภายในเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Park) ได้จัดตั้งคลังสินค้าในเขตปลอดอากร (Customs Free Zone) เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากคลังสินค้าอย่างเต็มขีดความสามารถ รวมถึงมีสำนักงานศุลกากร (Customs House) ภายในเขตอุตสาหกรรมโลจิสติคส์ ที่เปิดให้บริการแบบ One-Stop Service ตลอด 24 ชม.

นายมานพ ยังกล่าวต่ออีกว่า TPARK ยังมีบริการถึง 3 รูปแบบด้วยกันเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งบริการแรกได้แก่ Ready-Built Warehouses หรือการพัฒนาพื้นที่และสร้างคลังสินค้าล่วงหน้าไว้รองรับความต้องการของลูกค้า ซึ่งบริการนี้จัดเป็นกลยุทธ์สำคัญที่สร้างจุดเด่นให้กับบริษัทฯ ซึ่งลูกค้าสามารถมีคลังสินค้าคุณภาพดีใช้งานได้ทันที ในส่วนของบริการที่สองได้แก่ Built-To-Suit Warehouses หรือบริการที่ยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ทั้งสถานที่ตั้งของคลังสินค้า รวมถึงรูปแบบคลังสินค้าที่ต้องการ บริษัทฯ ก็สามารถเข้าไปพัฒนาและสร้างคลังสินค้าตามรายละเอียดเฉพาะทางต่างๆ

และบริการสุดท้ายได้แก่ Sale-and-Leaseback ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับลูกค้า บริการนี้จะเป็นการต่อยอดของกลุ่มลูกค้าที่เคยใช้บริการและพึงพอใจในรูปแบบการให้บริการของ TICON มาแล้ว เนื่องจากบริการ Sale-and-Leaseback คือการขายสินทรัพย์ของลูกค้าให้แก่บริษัทฯ หลังจากที่บรรลุข้อตกลงเรื่องการซื้อขายกันแล้ว ลูกค้าก็กลับเข้าไปใช้พื้นที่หรือคลังสินค้าดังกล่าวเหมือนเดิม แต่แทนที่จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็เปลี่ยนมาเป็นลูกค้าที่ทำสัญญาเช่าคลังสินค้าแทน ซึ่งบริการนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการปรับโครงสร้างองค์กรให้กลายมาเป็น asset-light company อีกด้วย