จากภาพ : (จากซ้าย) มร .ชาร์ลีย์ เคกลีย์ ประธานเจ้าหน้าที่ ด้าน Healthcare Solutions Division ของ Swisslog, มร. แมค แบนเนอร์ ผู้อำนวยการด้านบริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ฯ, นายแพทย์การุณ เมฆานนท์ชัย ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ฯ และ มร. แพททริก ดาวน์นิ่ง ผู้จัดการหน่วย (HIS/RIS/PACS) ของ Microsoft’s Health Solutions Group
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ติดตั้งระบบการจัดการยาอัตโนมัติ เพื่อช่วยบริหารจัดการยาสำหรับผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเน้นถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นวัตถุประสงค์สำคัญ ระบบการจัดการยาแบบอัตโนมัตินี้ นิยมเรียกกันว่า “หุ่นยนต์จัดยา” หรือ Pharmacy Robot เป็นเทคโนโลยีของ Swisslog นับเป็นเทคโนโลยีการจัดการยาที่มีความแม่นยำสูง รวดเร็ว และช่วยป้องกันความคลาดเคลื่อนอันเกิดจากการจัดจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ผู้ป่วยจะได้รับยาที่ถูกต้อง ถูกขนาด ถูกเวลา เป็นไปตามที่แพทย์สั่ง และนับได้ว่าโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ฯ เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในเอเชียที่ได้นำระบบนี้มาใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพการรักษาพยาบาลและความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย อันเป็นนโยบายหลักที่สำคัญของโรงพยาบาลที่ดำเนินมาโดยตลอด
งานด้านเภสัชกรรม โดยเฉพาะการจัดเตรียมและการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลถือได้ว่าเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งอาจมีขั้นตอนต่างๆ มากกว่า 100 ขั้นตอน นับตั้งแต่การเขียนใบสั่งยาไปจนถึงเมื่อผู้ป่วยได้รับยา เทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยลดความคลาดเคลื่อนทางยา (Medication Errors) ด้วยการลดความยุ่งยากซับซ้อนลง ลดขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ให้เหลือเท่าที่จำเป็น จึงช่วยลดความเป็นไปได้ที่จะเกิดข้อผิดพลาดเนื่องจากผู้ใช้งาน (Human Error) ระบบดังกล่าวนี้ยังช่วยให้เภสัชกรและเจ้าหน้าที่ สามารถลดเวลาการทำงานในส่วนนี้ และให้เวลาในการดูแลและให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยได้มากขึ้น
ขั้นตอนการทำงานของระบบจะเริ่มจากรายการยาจำนวนมากจะถูกบรรจุหีบห่อ ซึ่งสามารถบรรจุหีบห่อทั้งที่เป็นในรูปของยาเม็ดรับประทานและรายการยาอื่นๆ เช่น หลอดแก้วบรรจุยาฉีด ขวดยาน้ำ กระบอกฉีดยา ยาแผงอลูมิเนียม ต่อจากนั้นจะมีการกำหนดบาร์โค้ด และติดฉลากเป็นแต่ละยูนิตโดส จากนั้นยูนิตโดสเหล่านี้จะถูกนำไปเก็บไว้ในหน่วยจัดเก็บชั่วคราว เพื่อการค้นคืนในอนาคตและจ่ายยาให้แก่แผนกผู้ป่วยและติดป้ายระบุการจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน ทันทีที่แพทย์สั่งยาให้แก่ผู้ป่วยคำสั่งนั้นจะถูกส่งไปยังแผนกเภสัชกรรม เพื่อการตรวจสอบความถูกต้องก่อนที่กระบวนการจ่ายยาจะเริ่มต้นขึ้น
ซอฟต์แวร์การจัดการยาของระบบจะได้รับคำสั่งยาของผู้ป่วยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และจัดเรียงคำสั่งตามลำดับความสำคัญ ก่อนจะแยกออกเป็น 2 กลุ่มคือ การจ่ายยาอัตโนมัติ และการรับยาด้วยตนเอง ระบบสามารถดำเนินการจัดหายาเฉพาะในระบบยูนิตโดสให้แก่ผู้ป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมง และจัดรวมเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มๆ โดยใช้วงแหวน
พลาสติก ซึ่งประกอบด้วยป้ายฉลากพร้อมข้อมูลผู้ป่วย รายการยาที่ต้องรับประทานในช่วง 24 ชั่วโมง เวลาการให้ยา และข้อมูลอื่นๆ ที่ทางโรงพยาบาลสามารถกำหนด โดยทั่วไป ยาของผู้ป่วยทุกคนจะบรรจุลงในรถเข็นและส่งไปยังแผนกผู้ป่วย และจัดเก็บในห้องยา หรือส่งไปที่ห้องพักผู้ป่วยโดยตรง นอกจากนี้ ยาที่ถูกส่งคืนจากแผนกผู้ป่วยสามารถนำกลับเข้าสต็อกยาได้โดยอัตโนมัติ
ระบบการบรรจุและจ่ายยาอัตโนมัติสำหรับการดำเนินการตามคำสั่งยาสำหรับผู้ป่วยนี้ เป็นระบบที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไปในโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากประชาชนต่างมีความตระหนักถึงปัญหาความคลาดเคลื่อนทางยากันอย่างกว้างขวาง ด้วยเทคนิคการกำหนดบาร์โค้ดจะช่วยลดความคลาดเคลื่อนทางยาในขั้นตอนการจ่ายยาและการให้ยาแก่ผู้ป่วย
มร. แมค แบนเนอร์ ผู้อำนวยการด้านบริหารของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อธิบายว่า การนำเทคโนโลยีใหม่ด้านระบบการจัดการยาอัตโนมัติของ Swisslog มาใช้ในงานเภสัชกรรมในครั้งนี้ จะช่วยให้การขยายงานด้านการบริการผู้ป่วยของโรงพยาบาลเป็นไปได้ดีขึ้น เขากล่าวว่า “การจัดสร้างอาคารผู้ป่วยนอกหลังใหม่ของเราได้รับการออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการรักษาพยาบาล จากที่เคยรองรับผู้ป่วยนอกได้วันละ 3,500 คน เป็นวันละ 6,500 คน และรองรับผู้ป่วยในได้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 25” ระบบการบริหารจัดการยาอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์จัดยานี้ จะช่วยให้เราสามารถมอบบริการที่ได้มาตรฐานให้แก่ผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยขึ้น”
นายแพทย์การุณ เมฆานนท์ชัย ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ฯ กล่าวเสริมว่า “ระบบการจัดการยาแบบอัตโนมัตินี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของโรงพยาบาล ในอันที่จะปรับปรุงคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย ระบบอัตโนมัติดังกล่าวจะช่วยลดความคลาดเคลื่อนทางยาที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การบรรจุ จัดเก็บ และจ่ายยา ระบบนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบคุณภาพของโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น”
มร .ชาร์ลีย์ เคกลีย์ ประธานเจ้าหน้าที่ ด้าน Healthcare Solutions Division ของ Swisslog เสริมว่า ระบบการจัดการยาแบบอัตโนมัติของ Swisslog (ADMS) เป็นระบบอัตโนมัติแบบครบวงจรด้านการบรรจุ การจัดเก็บ และการจ่ายยาแบบยูนิตโดส ซึ่งช่วยปรับปรุงผลิตภาพของงานเภสัชกรรมและเพิ่มความปลอดภัยของผู้ป่วย ระบบนี้ถูกนำมาใช้โดยลูกค้าจำนวนมากกว่า 30 รายทั่วโลก และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในเอเชียที่นำระบบนี้ของ Swisslog มาใช้ในการดำเนินงาน”
มร. แพททริก ดาวน์นิ่ง ผู้จัดการหน่วย (HIS/RIS/PACS) ของ Microsoft’s Health Solutions Group กล่าวเสริมว่า “ความปลอดภัยของผู้ป่วย ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญในระดับแรกๆ ของระบบปฎิบัติการทางด้านการบริการสุขภาพ ความร่วมมือในการการทำงานกับระบบหุ่นยนต์จัดยา Swisslog และระบบปฎิบัติการของไมโครซอฟท์ CPOE และการบริหารจัดการยา ในครั้งนี้เราได้จัดเตรียมระบบเพื่อสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่ในทุกด้าน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ป่วยของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ฯ จะได้รับยาที่ถูกต้องภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว”
ในแต่ละปีโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ฯ ให้บริการผู้ป่วยมากกว่า 1.2 ล้านรายจากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก โดยใช้ระบบสารสนเทศของ Microsoft Amalga Hospital Information System ในการจัดการขั้นตอนงานทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ การออกใบเสร็จรับเงิน การปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ รวมถึงการจัดเก็บประวัติการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย ซึ่ง “ระบบ Amalga จะทำงานเชื่อมโยงกับซอฟต์แวร์ของ Swisslog เพื่อให้การจัดการงานด้านเภสัชกรรมนั้นรวมกันเป็นหน่วยเดียวและมีประสิทธิภาพสูงสุด” มร. แพททริก ดาวน์นิ่ง กล่าวปิดท้าย