อินเตอร์แมค 2008 การประชุมของอุตสาหกรรมยานยนต์และระบบโลจิสติกส์ครั้งสำคัญ

ซีเอ็มพี มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (TAIA) และสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต (TLAPS) จัดการประชุมอุตสาหกรรมยานยนต์และระบบโลจิสติกส์เพื่อการผลิต ซึ่งจะมีขึ้นจะมีขึ้นในงาน Intermach 2008 และ Subcon Thailand 2008 เพื่อเปิดมุมมองและสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมในประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมนี้

นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริษัท ซีเอ็มพี มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การประชุมอุตสาหกรรมยานยนต์และระบบโลจิสติกส์เพื่อการผลิต (Automotive Industry & Manufacturing Logistics Conference) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 14 และ 15 พฤษภาคมศกนี้ โดยเป็นการจัดร่วมกันระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต และบริษัท ซีเอ็มพี มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด โดยการประชุมดังกล่าวจะให้ข้อมูลสำคัญมากมายแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิต ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์เอเชีย และประเทศไทย ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกับนโยบายภายใต้รัฐบาลใหม่ การเตรียมความพร้อมของผู้ผลิตชิ้นส่วน ก้าวสู่เสรีทางการค้า และมุมมองตลาดรถในประเทศจีน รวมถึงกรณีศึกษาสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยด้วย และในเรื่องระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย แนวโน้มการพัฒนาโลจิสติกส์ในประเทศจีน รวมถึงโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อเชื่อมต่อทางการค้าตามชายแดนโดยระบบโลจิสติกส์ นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีการสัมมนาโต๊ะกลมระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิตอีกด้วย ในเรื่องโครงสร้างโลจิสติกส์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ และบทบาทของโลจิสติกส์การผลิตกับการพัฒนาและการลงทุนกับอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิระดับแนวหน้าของเมืองไทย อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน, ดร.อำพน กิตติอำพล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม, ปลัดกระทรวงพลังงาน, ปลัดกระทรวงคมนาคม, ผู้บริหารระดับสูงจาก Cherry Automobile ประเทศจีน และคุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานคณะกรรมการ

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยการประชุมดังกล่าวจะจัดควบคู่ไปกับงานแสดงอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตในระดับภูมิภาค “ซับคอน ไทยแลนด์ 2008” โดยทั้งสองรายการสำคัญนี้จะทำให้ อินเตอร์แมค 2008 เป็นงานแสดงทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความสำคัญที่สุดเท่าที่เคยจัดมาในประเทศไทย

“ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์เติบโตอย่างรวดเร็วทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากการขยายตัวทางอุตสาหกรรมดังกล่าวในโลกตะวันตกกำลังจะถึงจุดอิ่มตัว จีน อินเดียและประเทศในกลุ่มอาเซียนอีกหลายประเทศได้กลายเป็นตลาดสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยซึ่งกำลังเป็นศูนย์กลางการผลิตสำหรับบริษัทต่างชาติ เนื่องจากเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) มีส่วนทำให้ภาษีการส่งออกต่ำลง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทยเองก็เป็นที่คาดว่าจะทวีความสำคัญมากขึ้นทางด้านนี้เช่นกัน การประชุมอุตสาหกรรมยานยนต์และระบบโลจิสติกส์เพื่อการผลิต จะเปิดมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับโอกาสในการเติบโตและขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และเป็นที่คาดว่าการประชุมนี้จะเป็นการประชุมที่มีความสำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมยานยนต์ของเอเชียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” นายมนู กล่าว

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (TAIA) กล่าวว่า “ประเทศไทยมุ่งหวังที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ และการประชุมนี้ก็จัดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ทุกวันนี้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมียอดการผลิตเป็นอันดับที่ 15 ของโลกโดยมีการผลิตยานยนต์กว่า 1 ล้านคันต่อปี ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากการสนับสนุนของภาครัฐในรูปของนโยบายที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ดังนั้นรัฐบาลจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์และแนวนโยบาย เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นฐานการพัฒนาและวิจัย ตลอดจนเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนแห่งเอเชีย เพื่อใช้ภายในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดโลก เงินทุนจำนวนหลายพันล้านบาทกำลังจะถูกนำมาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และจะทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างมากมาย อันจะเป็นการเพิ่มความสำคัญและความน่าสนใจของการประชุมในครั้งนี้”

ดร. กฤษณ์ ฉันทจิราพร นายกสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต (TLAPS) เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ดังนั้น การรักษาระดับการเจริญเติบโต ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นกว่าปัจจุบัน ทำให้บริการโลจิสติกส์เพื่อธุรกิจยานยนต์มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น การลงทุนในกิจการนี้จึงมีการตื่นตัวเป็นอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ประเทศไทยมีช่างฝีมือและแรงงานที่มีคุณภาพและความสามารถเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การขยายท่าเรือน้ำลึกที่แหลมฉบัง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคของไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การทำธุรกิจและระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาคเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่งกับโอกาสสำคัญในการเข้าร่วมรับฟังข่าวสาร ข้อมูล ในเชิงลึกทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ และโลจิสติกส์เพื่อการผลิตในครั้งนี้’’

“ขณะนี้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยมีผู้ผลิตรวมกว่า 1,700 ราย ซึ่งมีความสามารถในการผลิตเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนตัวถัง ระบบเบรกและพวงมาลัย ช่วงล่าง ระบบส่งกำลังและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การประชุมนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ผลิตและผู้รับช่วงการผลิตทุกรายและผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้จัดแสดงภายในงานอินเตอร์แมคและซับคอน ไทยแลนด์ จะได้เก็บเกี่ยวประโยชน์เต็มที่จากการที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานสำคัญนี้” นายมนูกล่าวปิดท้าย

สำหรับผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่งได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 2 พฤษภาคมศกนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และลงทะเบียนได้ที่คุณสิริวรรณ หรือ คุณโนรีที่ โทรศัพท์ 0-2642-6911-8 ต่อ 131 หรือ 195 โทรสาร 0-2642-6919-20 หรืออีเมล์ conference@cmpthailand.com