ราคาข้าวที่สูงเป็นประวัติการณ์ … เพิ่มแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ

นับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2551 ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศในแต่ละเดือนสูงเหนือความคาดหมายของตลาด โดยในเดือนมีนาคม 2551 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 5.3 ใกล้เคียงกับร้อยละ 5.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ (ที่เป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 เดือน) ส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2549 และถ้ามองสถานการณ์ราคาสินค้าในขณะนี้จะเห็นได้ว่ายังมีปัจจัยกระทบจากหลายด้านที่อาจส่งผลกดดันต่อภาวะค่าครองชีพ จนอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าไม่สามารถชะลอตัวได้มากดังที่เคยคาดการณ์ไว้ และมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เงินเฟ้อโดยเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2551 มีโอกาสที่จะโน้มเอียงเข้าหากรอบบนของช่วงประมาณการเดิมของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ร้อยละ 3.5-4.5

สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งในขณะนี้คือสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกที่ทะยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลมาจากประเทศผู้ผลิตรายสำคัญโดยเฉพาะเวียดนามและอินเดียประสบภาวะผลผลิตเสียหายจากภัยธรรมชาติ ปริมาณผลผลิตข้าวลดลง ทำให้รัฐบาลทั้งสองประเทศมีมาตรการชะลอการส่งออก โดยการเพิ่มเพดานราคาส่งออกข้าวขั้นต่ำและระงับการทำสัญญาการส่งออกข้าว ทั้งนี้เพื่อประคองไม่ให้ราคาข้าวในประเทศสูงขึ้นมากเกินไปและส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ในขณะที่ประเทศผู้นำเข้าข้าวโดยเฉพาะฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีน ต่างเกรงว่าราคาข้าวจะมีแนวโน้มสูงขึ้นและมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศ ทำให้ต่างเร่งนำเข้าข้าวตั้งแต่ต้นปี ซึ่งการที่ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้ราคาข้าวในประเทศไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ประเมินแนวโน้มผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อในกรณีถ้าหากราคาข้าวภายในประเทศยังปรับตัวสูงขึ้นต่อไปอีก โดยประเด็นที่สำคัญมีดังนี้

สถานการณ์ราคาข้าว … อาจยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้าวนับเป็นอาหารบริโภคมื้อหลักที่สำคัญของคนไทย ความต้องการข้าวในตลาดต่างประเทศผลักดันให้ราคาส่งออกข้าว (เอฟโอบี) พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ ณ วันที่ 26 มีนาคม 2551 ราคาข้าวหอมมะลิเกรดเอ (ข้าวใหม่) พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 920 ดอลลาร์ฯต่อตัน จากที่เคยอยู่ในระดับ 633.50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันในช่วงปลายปี 2550 นับว่าในช่วงระยะเวลาเพียง 3 เดือนราคาข้าวหอมมะลิส่งออกเพิ่มขึ้นไปแล้วร้อยละ 45.2 ส่วนข้าวขาว 100% เกรดบีอยู่ที่ 624 ดอลลาร์ฯต่อตัน จากที่เคยอยู่ในระดับ 336.17 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันในช่วงปลายปี 2550 หรือ ในช่วงระยะ 3 เดือนราคาข้าวขาวส่งออกเพิ่มขึ้นไปร้อยละ 85.6 ราคาข้าวส่งออกยังมีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก เมื่อประเทศผู้ผลิตข้าวรายสำคัญได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการปริมาณการส่งออกข้าวเพื่อให้มีปริมาณข้าวเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และผู้บริโภคในประเทศไม่ต้องรับภาระราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเท่ากับเป็นมาตรการควบคุมอัตราเงินเฟ้อในประเทศ เช่น การจำกัดการส่งออก โดยการกำหนดเพดานราคาส่งออกข้าวขั้นต่ำ ระงับการรับคำสั่งซื้อข้าวของผู้ส่งออก ผู้ส่งออกจะส่งออกข้าวได้ต่อเมื่อมีปริมาณข้าวอยู่ในมือแล้วประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณข้าวในสัญญาสั่งซื้อ เป็นต้น ทำให้มีการคาดการณ์ว่าราคาข้าวจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิซึ่งผลิตได้เฉพาะในช่วงนาปี (ผลผลิตฤดูใหม่จะออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551) ส่วนข้าวขาวก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่อัตราการเพิ่มจะไม่สูงเท่ากับข้าวหอมมะลิ เนื่องจากคาดการณ์ว่าชาวนาในบางพื้นที่จะหันมาปลูกข้าวนาปรังรอบสองและรอบสาม หลังจากที่ข้าวนาปรังรอบแรกออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนมีนาคม ทำให้จะยังคงมีข้าวขาวออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

ในด้านราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับราคาส่งออกข้าว กล่าวคือ ข้าวหอมมะลิเกรดเอ (ข้าวใหม่) ณ วันที่ 26 มีนาคม 2551 เท่ากับ 27,500 บาทต่อตัน จากที่เคยอยู่ในระดับเพียง 17,000 บาทต่อตันในช่วงปลายปี 2550 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 61.8 ส่วนข้าวขาว 100% เกรดบีเพิ่มขึ้นเป็น 18,500 บาทต่อตันจากที่เคยอยู่ในระดับ 11,000 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.2 และมีโอกาสที่จะสูงขึ้นไปอีกเนื่องจากราคาส่งออกข้าวยังคงมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในกรณีที่ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิสูงไปถึง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จะเท่ากับว่าผู้ค้าข้าวมีโอกาสขายได้ที่ราคาประมาณ 30,000 บาท หรือสูงขึ้นเกือบเท่าตัวจากราคาในช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวภายในประเทศยังขึ้นอยู่กับตัวแปรที่สำคัญคือ ปริมาณข้าวนาปรังที่จะออกสู่ตลาด และการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบราคาข้าวที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องให้ประชาชน โดยรัฐบาลมีแนวโน้มนำข้าวในสต็อกของรัฐบาลประมาณ 900,000 ตันจากปริมาณสต็อก 2.1 ล้านตันมาแบ่งบรรจุเป็นข้าวสารบรรจุถุงขายในประเทศ โดยกำหนดราคาจำหน่ายถูกกว่าท้องตลาด ซึ่งคงจะลดความตึงตัวของอุปทานได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผลของแนวทางของรัฐบาลดังกล่าวต่อการดึงราคาข้าวที่บริโภคในประเทศไม่ให้สูงไปตามราคาตลาดส่งออกก็มีข้อจำกัดบางประการ คือ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าประเภทและคุณภาพข้าวในสต็อกของรัฐบาลเป็นอย่างไร ในขณะที่สต็อกข้าวที่มีอยู่อาจรองรับการบริโภคภายในประเทศได้ในระยเวลาไม่นานนักเนื่องจากมีปริมาณจำกัด นอกจากนี้ แม้ว่าจะมีข้าวนาปรังทยอยเข้าสู่ตลาด แต่การเพิ่มผลผลิตข้าวนาปรัง โดยการปลูกข้าวนาปรังในรอบที่สองและสามนั้นมีข้อจำกัดสำคัญคือ ปริมาณน้ำอาจจะไม่เพียงพอ และการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เนื่องจากการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องโดยไม่ปล่อยให้พื้นที่ปลูกได้เว้นระยะการปลูก ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณข้าวนาปรังอาจจะไม่สูงอย่างที่คาดและคุณภาพข้าวอาจจะไม่ดีพอสำหรับความต้องการของตลาด ขณะเดียวกัน ราคาข้าวหอมมะลิน่าจะเผชิญการปรับตัวขึ้นของราคาทั้งในประเทศและราคาส่งออกในอัตราที่เร่งกว่าข้าวขาว เนื่องจากข้าวหอมมะลิสามารถปลูกเฉพาะในช่วงนาปี ผลผลิตฤดูกาลใหม่จึงต้องรอไปจนถึงเดือนตุลาคมหรือในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ดังนั้นในช่วงไตรมาสที่สองและสามนี้ราคาข้าวหอมมะลิยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ราคาข้าวและผลกระทบต่อเงินเฟ้อ
ราคาข้าวที่สูงขึ้นจะมีผลต่อประชาชนในวงกว้าง เพราะเป็นสินค้าจำเป็นที่ทุกคนต้องบริโภคในชีวิตประจำวัน และถ้าพิจารณาถึงภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา สินค้าอาหารและเครื่องดื่มมีราคาสูงขึ้นร้อยละ 6.8 โดยเฉพาะอาหารสดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.2 ขณะที่สินค้าพลังงานมีราคาสูงขึ้นร้อยละ 17.2 ทั้งนี้ สินค้าทั้งสองหมวดรวมกันถือเป็นค่าใช้จ่ายมากกว่าร้อยละ 40 ของรายจ่ายทั้งหมดของผู้บริโภค สะท้อนถึงแรงกดดันต่อภาวะค่าครองชีพ

จากการประเมินผลกระทบของทิศทางราคาข้าวต่อภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค พบว่าในกรณีที่ราคาข้าวในประเทศยังคงปรับตัวสูงขึ้นไปในระยะ 3 เดือนข้างหน้า แม้ว่าจะไม่สูงไปจนถึงระดับราคาที่ส่งออก ประกอบกับมีผลของแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่ก็คาดว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่อาจส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศโดยเฉลี่ยในปีนี้จะสูงขึ้นประมาณร้อยละ 40-60 เมื่อเทียบกับปีก่อน ราคาข้าวที่สูงขึ้นเกินความคาดหมายนี้จะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอีกร้อยละ 0.6-1.0 จากกรอบประมาณการเดิม ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2551 นี้ขึ้นไปเป็นร้อยละ 4.0-5.5 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 4.8 จากประมาณการเงินเฟ้อเดิมอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.5 ซึ่งช่วงประมาณการที่กว้างนี้สะท้อนความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากราคาสินค้าอาหารและพลังงานที่อาจปรับตัวสูงกว่าที่คาด

เมื่อพิจารณาเงินเฟ้อเป็นรายไตรมาส ประมาณการเดิมของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอลงค่อนข้างมากหลังจากไตรมาสที่ 2 ไปแล้ว เนื่องจากเป็นผลของวิธีการคำนวณเงินเฟ้อที่เปรียบเทียบระดับราคาปัจจุบันกับราคาในช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งฐานเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมาเป็นระดับที่สูง แต่ด้วยสถานการณ์ราคาข้าวที่สูงขึ้นในขณะนี้และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีก อาจทำให้ภาวะเงินเฟ้อในไตรมาสที่เหลือของปีไม่สามารถชะลอลงไปได้มาก โดยในไตรมาสที่ 2 อัตราเงินเฟ้ออาจต่ำลงมากว่าระดับร้อยละ 5.0 ของไตรมาสแรกเพียงเล็กน้อย แต่จะเร่งตัวขึ้นอีกในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่เงินเฟ้อจะมีค่าเฉลี่ยสูงเกินร้อยละ 5.0 ขณะที่ในไตรมาสสุดท้ายถ้าปริมาณข้าวนาปีออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น แรงกดดันจากราคาข้าวต่อภาวะเงินเฟ้อก็อาจจะอ่อนตัวลง

แนวโน้มเงินเฟ้อและประเด็นด้านนโยบาย
ปัญหาราคาสินค้าที่สูงขึ้นในขณะนี้นับเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่เร่งด่วน ที่รอคอยให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไข สถานการณ์ราคาข้าวและราคาสินค้าต่างๆทั่วโลกในขณะนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ปกติ หากแต่เป็นผลที่โยงใยมาจากปัญหาวิกฤติพลังงานและปัญหาการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ และยิ่งประสบกับช่วงจังหวะที่เกิดการขาดแคลนอุปทานสินค้าโภคภัณฑ์ การบริหารจัดการกับปัญหาราคาสินค้าในขณะนี้จึงถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะในด้านราคาข้าว ในฐานะที่กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานที่ดูแลทั้งเรื่องราคาสินค้าภายในประเทศ และการบริหารนโยบายการส่งออก ควรมีการวางแนวทางบริหารจัดการอย่างเหมาะสมและสมดุล ในด้านหนึ่งราคาข้าวในตลาดโลกที่สูงขึ้น เป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันการส่งออกเพื่อให้ได้ประโยชน์จากช่วงจังหวะราคาสินค้าที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ แต่เป้าหมายอีกด้านหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์คือต้องควบคุมดูแลราคาสินค้าภายในประเทศไม่ให้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้บริโภค ที่สำคัญ ข้าวนับเป็นอาหารบริโภคมื้อหลักที่สำคัญของคนไทย การบริหารการส่งออกอาจต้องมองถึงความมั่นคงทางด้านการสำรองอาหารภายในประเทศ และบริหารกลไกราคาให้ผู้บริโภคได้รับความเดือนร้อนน้อยที่สุด ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ได้มีแนวทางที่จะร่วมหารือกับผู้เกี่ยวข้องในเรื่องข้าวทั้งระบบ 13 องค์กร เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาข้าวทั้งระบบ ซึ่งคงต้องติดตามข้อสรุปมาตรการในการดำเนินการกับปัญหานี้

ในภาวะปัญหาราคาสินค้าแพงนั้นย่อมจะมีความคาดหวังเพิ่มขึ้นต่อนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ในการที่จะดำเนินนโยบายเพิ่มอำนาจซื้อให้แก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์เช่นนี้ผลที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายการเงินและการคลังในการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะมีข้อจำกัด เช่น การปรับขึ้นเงินเดือน ตลอดจนการกระตุ้นทางการเงินการคลังต่างๆอาจเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการนำไปใช้เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นราคาขึ้นไปอีก จากเดิมที่เคยพยายามแบกรับภาระโดยตรึงราคาไว้เพราะรู้ว่าถ้าขึ้นราคาไปผู้บริโภคก็จะไม่ซื้อ จึงทำให้ผลของนโยบายการเงินและการคลังเข้ามาช่วยได้เพียงในระดับหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ มาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องทำภายใต้กรอบการรักษาเสถียรภาพ โดยหากรัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจนนำไปสู่การขาดดุลงบประมาณในระดับสูง ท้ายที่สุดก็อาจจะกลายเป็นปัญหาต่อการดำเนินนโยบายในอนาคตที่จะต้องตามแก้ปัญหาต่อไปอีก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหนทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าที่เกิดจากด้านอุปทานจึงควรแก้ไขที่ต้นทาง โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการดูแลราคาสินค้าและความสมดุลของกลไกอุปสงค์และอุปทาน รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะถัดๆไป มากกว่าที่จะหันไปหวังพึ่งผลจากนโยบายการเงินและการคลังที่มีข้อจำกัดในประสิทธิผลของนโยบายภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ จากปัจจัยนอกเหนือความคาดหมายหลายประการ โดยเฉพาะผลกระทบจากวิกฤติราคาสินค้าพลังงานและอาหารที่ทะยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ องค์กรระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก (World Bank) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ออกมาเตือนถึงความเสี่ยงที่โลกจะเผชิญกับภาวะราคาอาหารที่แพงต่อไปอีกในตลอดทศวรรษจากนี้ อันเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ผิดปกติ ภาวะโลกร้อน และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงจนทำให้มีความต้องการนำพืชผลทางการเกษตรมาใช้เพื่อผลิตพลังงานทดแทน

สถานการณ์ดังกล่าวได้สะท้อนผลกระทบที่ชัดเจนยิ่งขึ้นจากปรากฏการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศในเอเชียพุ่งทำสถิติสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ สำหรับประเทศไทยอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกมีระดับเฉลี่ยที่ร้อยละ 5.0 สูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 และ จากสถานการณ์ราคาข้าวที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 2551 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 4.0-5.5 จากประมาณการเงินเฟ้อเดิมอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.5 ซึ่งช่วงประมาณการที่กว้างนี้สะท้อนความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากราคาสินค้าอาหารและพลังงานที่อาจปรับตัวสูงกว่าที่คาด

แรงกดดันเงินเฟ้ออาจจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยอาจจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ อันจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ได้ ดังนั้น ปัญหาราคาสินค้าที่สูงขึ้นในขณะนี้จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รอคอยการแก้ไข ทั้งนี้ ในภาวะที่ปัญหาราคาสินค้าแพงขึ้นเนื่องมาจากปัจจัยด้านอุปทานดังเช่นในขณะนี้ หนทางออกที่ดีที่สุดควรเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง โดยในเรื่องปัญหาราคาข้าว กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ควรร่วมกันหาแนวทางในการดูแลระดับราคา ความสมดุลของกลไกอุปสงค์และอุปทาน รวมถึงการบริหารนโยบายการส่งออกข้าวอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้บริโภคในประเทศได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุดจากราคาในตลาดโลกที่พุ่งสูง ขณะที่มาตรการทางการเงินและการคลังที่มีเป้าหมายในการเพิ่มอำนาจซื้อแก่ผู้บริโภคนั้น อาจมีข้อจำกัดในด้านประสิทธิผลของนโยบาย รวมทั้งยังมีประเด็นในด้านเสถียรภาพที่จะต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังรอบคอบ