เวิร์คชอปโครงการ “ศิลป์เสริมเติมสุข” ชูศิลปะ เพื่อบรรเทา “เหยื่อ” ผู้พิการ

บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด ร่วมกับ มูลนิธิเมาไม่ขับ จัดกิจกรรมเวิร์คชอป “ศิลป์เสริมเติมสุข” หวังเติมสุขแก่เหยื่อผู้พิการจากการเมาแล้วขับ เพื่อเยียวยา และฟื้นฟูสภาพจิตใจให้มีกำลังใจในการต่อสู้ชีวิตต่อไป โดยศิลปินอิสระชื่อดัง อาจารย์ชลิต นาคพะวัน (ชลิต กลิ่นสี) เป็นวิทยากรตลอดโครงการ ที่โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้

มร.เท็ตสึโอะ อุนโน่ ผู้ช่วยผู้จัดการสาขาประเทศไทย บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด สาขาประเทศไทย กล่าวว่าโครงการ “ศิลป์เสริมเติมสุข” กิจกรรมสำหรับเหยื่อผู้พิการ ในความร่วมมือของบริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด และมูลนิธิเมาไม่ขับ ซึ่งนับเป็นปัญหาระดับประเทศที่รอการแก้ไขอย่างจริงจังสำหรับผู้ที่เมาแล้วขับ อันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งส่งผลให้มีการสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินปีละหลายล้านบาท โดยผู้ที่บาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเกือบร้อยละ 50 มีสาเหตุเกี่ยวกับการดื่มสุรา นอกจากนี้ ในจำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่เป็นเหยื่อจากการเมาแล้วขับ จนถึงขั้นพิการมีจำนวนเฉลี่ยปริมาณปีละ 35,000 คน ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะพบกับปัญหา และความทุกข์ทรมานไปตลอดชีวิตทั้งต่อตัวเอง และครอบครัว

ภายในงานจะเป็นการฝึกสนเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดยการจินตนาการผ่านออกมาในรูปแบบของการลงเส้น วาดรูป และระบายสีตามแต่อารมณ์ของเหยื่อแต่ละคนว่าคิดอย่างไร มีความรู้สึกอย่างไร ซึ่งหลังจากทำผลงานเสร็จ อาจารย์ชลิตจะมาวิเคราะห์ผลงานของเหยื่อในแต่ละคนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร จึงเกิดผลงานในรูปแบบเช่นนี้ ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม ผู้เข้าร่วมแต่ละคนเกิดความรู้สึกที่ดี มีความผ่อนคลาย และคิดว่าจะสามารถนำศิลปะไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปในภายภาคหน้าได้อีกด้วย

ในส่วนของวิทยากร ศิลปินอิสระชื่อดัง อาจารย์ชลิต นาคพะวัน (ชลิต กลิ่นสี) กล่าวเพิ่มเติมในโครงการนี้ว่า จากการที่ทำงานด้านศิลปะมาหลายปี พบว่าคนที่เข้ามาเรียนศิลปะมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยมีระดับอายุตั้งแต่ 3 – 75 ปี ศิลปะจะช่วยในเรื่องของสมาธิ และส่งเสริมด้านการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง หลายคนที่มาเรียนศิลปะเป็นถึงระดับผู้บริหารขององค์กรที่ต้องการความผ่อนคลายจากความตรึงเครียดในที่ทำงาน หรือแม้แต่ในวัยรุ่นหนุ่มสาวที่เอาศิลปะมาเป็นเครื่องมือบำบัดจิตใจเมื่อมีอาการผิดหวังจากความรัก หรืออาการอกหัก จะเห็นว่าศิลปะอยู่ทุกหนทุกแห่ง แม้กระทั่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ที่จะเอาศิลปะมาใช้กับผู้ที่เป็นเหยื่อผู้พิการ หรืออาจเรียกได้ว่า “ศิลปะ…เพื่อศิลปะในการพัฒนาตนเอง” เพื่อการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ช่วยให้มีอาการทุเลา และผ่อนคลายความรู้สึกได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการทำงานศิลปะสามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา ทำด้วยตัวเองคนเดียวได้โดยไม่ต้องพึ่งผู้อื่น จึงส่งผลให้ผู้ที่เรียนศิลปะมีความภาคภูมิใจในผลงาน มีภูมิต้านทานต่อสภาพแวดล้อม และดำเนินชีวิตต่อไปในโลกอย่างเข้มแข็ง และมั่นคงมากยิ่งขึ้น